CITY CRACKER

Anonym Studio สตูดิโอออกแบบบ้าน ผ่านความเข้าใจผู้คน พื้นที่ว่าง และแลนด์สเคป

Anonym Studio คือสตูดิโอสถาปัตย์ที่รับออกแบบบ้านเป็นหลัก มีเอกลักษณ์ที่เห็นได้ชัดคือตัวบ้านที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา พื้นที่ว่างรับลมกับแสงธรรมชาติ และแลนด์สเคปที่เปรียบเสมือนเพื่อนที่ขาดไม่ได้ในงานออกแบบ ทั้งหมดล้วนสะท้อนถึงตัวตนของผู้อยู่อาศัยผ่านดีเทลที่ต่างกันไปในแต่ละหลัง

บอย-พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และปาน-ปานดวงใจ รุจจนเวท สองผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Anonym studio เปิดมาแล้วเกือบยี่สิบปี ทำงานออกแบบบ้านผ่านการตีความตัวตนของผู้อาศัย รวมถึงให้ความสำคัญกับบริบท พื้นที่ว่างและแลนด์สเคป เพื่อให้เกิดความสุขและประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้แก่ผู้อาศัย โดยไม่หลงลืมความเป็นตัวตนของสตูดิโอ 

City cracker พาไปรู้จักกับ Anonym Studio ผ่านการพูดคุยกับ 2 สถาปนิกเจ้าของสตูดิโอ ชวนมาพูดคุยถึงแนวคิด ที่มาที่ไปและเทรนด์การสร้างบ้านที่กำลังมาในช่วงโควิด-19 รวมถึงแนวโน้มถัดไปที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้


Anonym แปลว่านิรนามใช่ไหม ทำไมถึงชื่อนี้ และ Anonym เริ่มต้นมายังไง ?  

บอย: Anonym มันหมายถึง Untitled  คือไร้ชื่อ เป็นเมจเสจกลายๆ ว่าเราอยากจะเน้นเรื่องของเนื้องานมากกว่า เราอยากจะให้เนื้องานมันอธิบายงานสถาปัตยกรรมของเราในทิศทางนั้นๆ จริงๆ จุดเริ่มต้นมันเริ่มตรงที่ทำบ้านให้คุณพ่อปาน เป็นหลังแรกที่ออกแบบตอนปี 2010

 

ทำไม Anonym เน้นออกแบบบ้านมากกว่าสถาปัตยกรรมอื่น ?

ปาน : เราอยากจะทำอะไรที่เราสามารถเลือกอย่างที่เราอยากทำได้ด้วยตนเองและไม่มีเงื่อนไขอะไร อยากจะลงมาดูในจุดที่เป็นงานดีไซน์มากขึ้นเลยชวนกันออกมาทำอะไรของตัวเองกัน รับงานที่สเกลเล็กลงมา ประมาณ 90% ของโปรเจ็กต์ทั้งหมดจึงเป็นงานออกแบบบ้าน 

บอย: พอมาเริ่มทำโครงการเล็กๆ แบบบ้านขนาด 400 ตารางเมตร เลยรู้สึกว่าเหมือนเราได้ทำงานกับคนจริงๆ เรารู้สึกว่ามันลงดีเทล เราได้สังเกตรายละเอียดว่าเจ้าของบ้านต้องการอะไร รู้สึกว่าสนุกและมีความสุขกว่า สำหรับเราการทำบ้านของคนๆ หนึ่ง เรามองว่าคนทำบ้านมันคือความฝัน

 

แล้วความสนุกในการออกแบบบ้านคืออะไร 

บอย: เวลาทำบ้านจะมีโปรแกรมน้อยมาก หนึ่งห้องนอน หนึ่งห้องน้ำ หนึ่งห้องนั่งเล่น กินข้าว ครัว จริงๆ แล้วมันมีแค่นี้เลย แต่เชื่อไหม สมมติคน 100 คนออกแบบบ้านให้ 1 ครอบครัว ไม่มีทางเหมือนกันเลยอะ มันมีเรื่องขององค์ประกอบ เรื่องของพฤติกรรม การที่เราเป็นนักออกแบบ เราจะแกะความต้องการเขาออกมาจากประสบการณ์ที่เขาเคยอยู่ ถ้าเราไม่เข้าใจเขาเราก็ต้องตั้งคำถามให้เขาส่งคำตอบอะไรกลับมา เพื่อให้เราแปลออกมาเป็นงานดีไซน์ของเขาจริงๆ คือการที่เราเป็นสถาปนิก หรือนักออกแบบ เราไม่ควรจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง 100% เหมือนเราต้องมีพื้นที่สักครึ่งหนึ่ง ให้มันเป็นงานออกแบบของเราและของเขาด้วย 

 

ถ้าคนต้องการสร้างบ้านคือคนที่มีฝัน เราในฐานะสถาปนิกจะเอางานของเราไปใส่ในฝันของคนที่มีความฝันว่าอยากได้บ้านยังไง 

ปาน: ต้องเริ่มต้นด้วยการคุยเยอะๆ ก่อน แล้วก็ถามความต้องการพื้นฐานอะไรประมาณนั้น แล้วความต้องการนอกเหนือจากนั้นล่ะ สิ่งที่เขาอยากได้ บางคนก็รู้เลยว่าตัวเองอยากได้อะไร บางคนยังไม่รู้แค่รู้สึกว่าเราต้องมีบ้านนะ เพราะความเข้าใจในเรื่องออกแบบของลูกค้าแต่ละค้าที่มาก็มากน้อยต่างกัน แล้วแต่คนบางคนเป็นสายวิทย์ สายบัญชี ก็จะไม่ค่อยเข้าใจ ออกแบบยังไง แปลนคืออะไร มองแล้วจะเข้าใจไหม แต่ว่าพอคนเขากำลังจะสร้างบ้านต้องมีจุดเริ่มต้นอยู่ในใจแล้วล่ะ ว่าทำไมเขาถึงอยากจะสร้างบ้านเพราะอะไร เราก็เริ่มต้นจากจุดนั้นแหละ และเวลาเราทำบ้านให้ลูกค้าเราจะต้องคุยกับเขาไปอีก 2-3 ปี โดยเฉลี่ย เราจะต้องรู้ข้อมูลค่อนข้างลึกพอสมควรเหมือนกัน

บอย: คิดว่ามันคือจริตของครอบครัวนั้น ๆ  มันก็มาจากการที่เราสื่อสารกัน เราเข้าใจว่าเขาเป็นคนแบบไหน ในช่วงการออกแบบเราจะรู้แล้วว่าเขาเป็นคนประเภทไหนยังไง ในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เขาอยู่กับใคร เขาชอบเที่ยวที่ไหน เขาโตมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน อันนี้คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจเขา มันเป็นข้อมูลพื้นฐานที่แบบสำคัญมาก ๆ ในงานออกแบบ คือเราสองคนใช้สัญชาตญาณในการพินิจพิเคราะห์ว่าเขาเป็นคนยังไง แล้วเราก็พยายามจะเข้าใจเขา แปลงให้มันเป็นงานออกแบบ ให้มันเป็นบ้านเขาจริง ๆ 

 

หลังจากที่ออกแบบมากว่าา 30 ครอบครัว Anonym Studio นิยามการออกแบบบ้านของตัวเองไว้ว่าอะไร ?

ปาน: ง่ายๆ อันดับแรกบ้านต้องน่าอยู่ก่อน สองบ้านต้องสะท้อนตัวตนเจ้าของบ้าน

 

เห็นหลายๆ งานมีการนำแลนด์สเคปและพื้นที่ว่างลงไปผสมในงานออกแบบบ้านด้วย มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไง 

บอย: จริงๆ แล้วเรากับปานมีความสนใจในพื้นที่ว่างมาตั้งแต่ออกแบบบ้านหลังแรกแล้ว เรามานั่งทบทวนตัวเองว่าเราสนใจเรื่องอะไร สุดท้ายมันก็จะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับพื้นที่ว่างหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ หรือ Inner court เพราะว่ามันคือสิ่งที่เราสนใจอันดับแรก พอทำมาหลายๆ โปรเจก เราก็เห็นว่าการมีพื้นที่ว่างหรือการผสานพื้นที่บ้านกับ Landscape ทำให้ส่งผลต่อพูดอยู่อาศัยจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงลอดผ่าน พื้นที่สีเขียว อากาศที่เข้ามาในอาคาร อุณหภูมิก็ดีขึ้น แม้กระทั่งมุมมองการคว้านนิดหน่อยทำให้เกิด Value ทำให้ตรงนี้มีคุณค่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราอยู่กับที่นะ เราก็ยังสนใจการคว้านให้มีพื้นที่สีเขียว ทำยังไงกับพื้นที่ที่ทะเลาะกัน ต้นไม้ตั้งชั้นหนึ่งไม่ได้ต้นไม้ยกขึ้นชั้นสองยังไง คือมันมีหลาย Case Study มากที่เรากำลัง Improve ตรงนี้อยู่ ซึ่งก็ถือว่าเราโชคดีที่ได้ทำแล้วดีขึ้นจริงๆ ด้วย

 

ทำไมถึงเลือกที่จะเชื่อมโยง 2 อย่างระหว่างแลนด์สเคปกับการออกแบบบ้านเข้าด้วยกัน ?

บอย: เพราะเราเชื่อว่าสันชาตญานคนต้องอยู่กับธรรมชาตินะ เพราะมันเป็นสิ่งใกล้ตัว ยิ่งช่วงที่เราอยู่บ้านนานๆ สังเกตว่าทำไมเราอยู่ไม่ได้ เราถึงต้องออกไปข้างนอก

ปาน: หรือทำไมต้นไม้ถึงแพง ทำไมมีราคาต้นละล้านโผล่มา เนี่ยแหละมันง่ายๆเลย เมื่ออยู่บ้านหรืออยู่คอนโดเราออกไปใช้ส่วนกลางไม่ได้เราก็ต้องหาธรรมชาติมาทดแทน กลายเป็นว่าไม้กระถางก็บูมขึ้นมา มันชัดเจนในตัวอยู่แล้วว่าเราแยกตัวออกจากธรรมชาติไม่ได้หรอก

บอย: ก็น่าจะเป็นการดีที่เราได้ทำงานสถาปัตยกรรมแล้วเราให้แลนด์สเคปเป็นส่วนหนึ่งในงานออกแบบ เป็นสิ่งที่สำคัญในงานออกแบบของสถาปนิกที่คำนึงถึงเรื่องนี้นะ นึกภาพว่าถ้าเราออกแบบบ้านที่มีความน่าอยู่ในทุกหลัง ในซอยหนึ่งซอย มองในกูเกิ้ลแมพเห็นทุกหลังมีพื้นที่สีเขียว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพื้นที่สาธารณะ เพราะเราก็รู้ว่ารัฐบาลพึ่งไม่ได้มาก และถ้ามันส่งผลไปทุกๆโปรเจค ทุกๆหลัง เมืองเราก็เป็นเมืองที่น่าอยู่นะเอาจริงๆ ไม่ช้าก็เร็ว 10-20 ปีก็ส่งผลแน่นอน แค่ยกตัวอย่างหนึ่งซอยก็ยังเห็นภาพเลย 

 

พอมีตัวอย่างบ้านที่เห็นทั้งแลนด์สเคป พื้นที่ว่าง และงานออกแบบที่แสดงให้เห็นถึงความพอใจทั้งเราและลูกค้าไหม ?

บอย: มีหลังนึงที่รู้สึกว่าเป็นหลังที่ตรงไปตรงมามาก ออกแบบเร็วมากใช้เวลาประมาณ 6 เดือน โปรเจ็กต์ง่ายมาก มีต้นไทรคู่อยู่ตรงกลางเลย ต้นไทรคู่ โจทย์ของเจ้าของบ้านคืออยากสร้างบ้านให้ลูกใกล้ชิดเติบโตกับธรรมชาติ ห้องนอนใหญ่ 2 ห้อง ห้องลูก 2 ห้อง ห้องสำหรับพ่อแม่ มีต้นไทรตรงมีคอร์ท มีมินิคอร์ทที่สำหรับสอนดำน้ำ 

หลังนี้รู้สึกว่ามัน down to earth ดี  มันธรรมดาดีในเชิงออกแบบพื้นที่ เก็บต้นไม้ต้นไทรไว้ แล้วถ้าถามว่าหลังนี้มีความสุขยังไง รู้สึกว่าเจ้าของบ้านเขาเข้าใจภาพรวมในการที่เข้าออกแบบว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัสดุหรือพื้นที่ ทำให้บ้านหลังนี้เวลาไปมีความสุขมาก ลมมันดีมาก เวลาประชุมไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์เลย เจ้าของบ้านค่อนข้างแฮปปี้ ต้องดูว่าบาลานส์งานออกแบบยังไงและเจ้าของบ้านพอใจยังไง 

 

แล้วลูกค้าที่ผ่านๆ มามีการคำนึงเรื่องพื้นที่สีเขียวในบ้านมากน้อยแค่ไหน

บอย: เขาอาจจะคิดถึงหรือคิดไม่ถึงก็ได้ แต่ในฐานะนักออกแบบเราต้องบอกเค้านะ ว่าตรงนี้มันสำคัญ ในฐานะสถาปนิกมันหาเจออยู่แล้วแหละ อย่างน้อยก็มีพื้นที่เล็กๆสำหรับต้นไม้สักกระถางหนึ่ง มันเป็นหน้าที่นักออกแบบที่จะต้องสื่อสารกับเขา ปัญหาเกิดจากอะไร ถ้าเรามีปัญหานี้่มามันแก้ได้ยังไง ซึ่งน้อยคนนะที่จะเห็นพื้นที่สีเขียวโล่งๆแล้วไม่ชอบ 

ปาน: บางทีขึ้นอยู่กับความเคยชิน เขาไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้ เราก็อาจจะต้องแนะนำต้องถามว่าแต่ก่อนอยู่กันยังไง แล้วทำไมถึงสร้างบ้าน ถ้าห้องมันมืดก็ต้องมีช่องเปิดแสงให้มันเข้ามา ถ้าอากาศถ่ายเทไม่ดี ไม่มีทางให้ลมผ่าน เพราะห้องมันขวางทางลมก็ต้องเปลี่ยนให้มันคลี่คลายออก เพราะบางทีเค้าไม่ทราบว่ามันเป็นเพราะอะไร เราก็ต้องค่อยๆอธิบายกันไปอะไรประมาณนี้ บางทีเค้าไม่รู้หรอกมันก็จะไม่ใช่requestแรกๆของบางครอบครัว

 

ถ้านอกจากพื้นที่สีเขียว มีความต้องการในยุคนี้มีจุดร่วมบางอย่างอย่างอื่นอีกมั้ยที่ลูกค้ามีความต้องการเหมือนกันและส่งผลต่อเทรนด์การอยู่อาศัยในอนาคตยังไงบ้าง 

ปาน: ฟังก์ชั่นพื้นฐานก็จะเหมือนกันแต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของการ Work From Home บ้านจะต้องเป็นที่ที่เราหาเงินด้วยได้ เพราะบางคนเป็น Youtuber บางคนต้องประชุมออนไลน์ เอางานกลับไปทำที่บ้าน หรือบางคนไม่ต้องการออกไปซื้อผักข้างนอกบ้าน ไม่อยากออกไปตลาด อยากปลูกผักกินเอง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

บอย: ช่วงโควิดรอบ 2 คิดว่าลูกค้ามีความต้องการชัดเจน ตรงไหนคือปัญหาที่มีอยู่ เขาจะมีความชัดเจนมากในการส่งบรีฟมาให้ ออกเป็นเรื่องของอารมณ์มากกว่าขึ้น เช่น เรื่องของ Outdoor ความเป็นธรรมชาติที่เขาไม่มีและอยากจะมี เรื่องของพื้นที่ว่างซึ่งสำคัญมากในงานแลนด์สเคป นอกจากนี้ยังมีเรื่องวัสดุที่มันไม่มีสารพิษและดูแลรักษาง่าย

 

พอลูกค้าเริ่มมีความชัดเจนในความต้องการบ้าน ทางสตูดิโอมีการปรับตัวยังไงบ้างในการทำงาน?

บอย: เราต้องเข้าใจเขาว่าช่วงเขาทำงานและอยู่บ้าน พฤติกรรมเขาเป็นยังไงและเปลี่ยนยังไง การเชิญคนเข้ามาที่บ้านก็เปลี่ยน มีการเพิ่มพื้นที่ที่เป็นเรือนรับรองแต่ไม่เข้าไปในบ้าน หรือเรื่องของการมีห้องทำงานส่วนตัว ประชุมแล้วต้องมีเรื่องของแสงธรรมชาติเข้ามาซัพพอร์ต แต่โดยรวมมันไม่ต่างจากเดิมมากนะถึงแม้โควิดผ่านมาปี2ปีแล้ว แต่คิดว่าตอนนี้ส่วนใหญ่คนอยากสร้างบ้านก็สร้างเลย ไม่รอแล้ว เพราะเวลามันค่อนข้างมีค่ามากกับคนที่กำลังสร้างบ้านตอนนี้

 

จากมุมมองในตอนนี้ ทั้งบอยและปานเห็นมุมมองของที่อยู่อาศัยอย่างบ้านในอนาคตเปลี่ยนไปยังไง?

ปาน: สิ่งที่สำคัญกว่าโควิดก็คือสังคมผู้สูงอายุ เพราะว่าตอนนี้เราอายุยืนขึ้น มีลูกกันน้อยลง สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นหลักมากกว่าเรื่องลูกคือเรื่องพื้นที่ใช้สอยของพ่อแม่และผู้สูงอายุ อาจมีเรื่องตรงนี้เพิ่มขึ้นเข้ามา อาจมีการซัพพอร์ตที่เพิ่มเข้ามา พวกuniversal design ราวจับ หรือพื้นผิวสัมผัสแบบไหน เพราะงั้นจริงๆตอนนี้สิ่งที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องผู้สูงอายุมากกว่าที่มีแนวโน้มชัดเจนมากกว่าเรื่องโควิดอีก  

บอย: ใช่ แล้วมันไม่มีบ้านไหนที่ให้ออกแบบถึงขนาดมีห้องกักตัวนะ พอมันมีความเป็นบ้านเขาจะมองอะไรที่เป็นพื้นฐานก่อนทำอะไรก็ได้ให้simpleที่สุด ทำให้เรียบง่ายที่สุด ในปัจจุบันโควิิไม่มีใครเพิ่มห้องกักตัวเลยเพราะมันก็เป็นห้องนอนทั่วไปได้ มันก็ได้ถ้าเขาจะปรับเปลี่ยนไป

 

สังเกตเห็นได้ว่าบ้านที่ออกแบบส่วนใหญ่จะมีสีขาว รวมถึงพื้นที่ที่เว้นว่างไว้ อย่างงี้สามารถเรียกตัวเองว่ามินิมอลมั้ย?

บอย: ไม่รังเกียจที่จะมาเรียกว่ามินิมอลเพราะพเราก็ชอบอะไรที่ไม่ปรุงมันก็เพียวดีและตรงไปตรงมา เราชอบอะไรที่เรียบๆธรรมดาๆนะ คนส่วนใหญ่ที่มาหาก็ชอบแบบมินิมอลนะ มันเลยจะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน อย่างบางคนมาหาบอกอยากได้เยอะๆเขาก็จะถามว่าเราทำได้รึเปล่า ถ้าทำไม่ได้เราก็ขออภัยด้วย

 

Share :