สนามบินเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ขนาดยักษ์ที่ประเทศและเมืองสำคัญต่างๆ ต่างลงทุนออกแบบกัน โดยสนามบินเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องแทบในทุกมิติของพื้นที่กายภาพ ทั้งการรองรับผู้คนไปจนถึงการแสดงตัวตนของประเทศนั้นๆ
ล่าสุด อาคารผู้โดยสาร SAT-1 อาคารผู้โดยสารใหม่ของสุวรรณภูมิ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในหกสนามบินที่สวยที่สุดของโลก จัดอันดับโดย Prix Versailles ซึ่งเป็นหนึ่งในสองสนามบินเอเชียที่ติดอันดับร่วมกันกับสนามบินชั้นแนวหน้า อย่างอาคารผู้โดยสาร 2 สนามบินชางอี ของสิงคโปร์ โดย 6 สนามบินนี้จะได้รับการคัดเลือกรางวัลใหญ่สามรางวัลคือ Prix Versailles และรางวัลด้านการออกแบบภายในและภายนอกอีกอย่างละหนึ่งตำแหน่ง
Prix Versailles เป็นรางวัลด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ภายใต้การดูแลของยูเนสโก ซึ่งหนึ่งในคณะกรรมการได้พูดถึงบทบาททางวัฒนธรรมของการออกแบบสนามบินไว้ได้อย่างน่าสนใจ ประกอบกับบทความที่ชี้ให้เห็นว่ากระแสการออกแบบสนามบินของประเทศเอเชีย มีลักษณะของการใส่ตัวตนความเป็นเมือง พื้นที่ต้อนรับและอำลานักเดินทางเป็นเหมือนตัวตนย่อส่วนของเมืองนั้นๆ
สถาปัตยกรรมสร้างความเคารพ
ในการประกวด Prix Versailles แม้ว่าการประกวดจะขึ้นชื่อว่าเป็นสนามบินที่สวยที่ในโลก ทว่าความสวย ไม่ใช่แค่ความงาม นอกจากฟังก์ชั่นของการอำนวยความสะดวกของการเป็นจุดเชื่อมต่อของการเดินทาง สนามบินเริ่มเป็นปลายทางในตัวมันเอง ในการประกาศผู้ชนะ นาย Jérôme Gouadain เลขาธิการ Prix Versailles ได้ระบุถึงบทบาทของวัฒนธรรมในพื้นที่สนามบินที่มีความซับซ้อนขึ้น
ในถ้อยแถลงได้แนบการประกาศรางวัลที่ชี้ให้เห็นว่าสาธารณูปโภคของการเดินทางเหล่านี้ เริ่มมีการนำเอาแง่มุมทางวัฒนธรรมเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญ อย่างแรกคือสนามบินเป็นความประทับใจแรกของนักเดินทาง สนามบินจึงเป็นภาพแรกของประเทศปลายทางที่นักท่องเที่ยวกำลังเดินทางไป
ข้อสังเกตพิเศษจากทางยูเนสโกได้ชี้ว่าการแสดงความรุ่มรวยทางวัตฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของสนามบิน มีส่วนหล่อหลอมการท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้ง สนามบินที่รุ่มรวยทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกเคารพ สร้างความรู้สึกเอาใจใส่ พื้นที่สนามบินจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่รักษาทรัพยากรทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรมและสังคม ทั้งหมดนี้ สนามบินจึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สนามบินเหล่านี้ (รวมถึงสุวรรณภูมิ) เป็นตัวแทนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสำคัญเหล่านี้
พื้นที่ประทับใจแรกและส่งท้าย การสร้างแบรนด์ของประเทศ
นอกจากข้อสังเกตจากยูเนสโกที่มีต่อสนามบินแล้ว ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ArchDaily สื่อด้านสถาปัตยกรรมระดับโลก ก็ได้มีบทความถึงความสำคัญของสนามบินที่สอดคล้องกับแถลงการณ์ของทางยูเนสโก เป็นบทความชื่อ สนามบินในฐานะปลายทางของตัวเอง และการสร้างแบรนด์ของเมืองในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Airports as Destinations: Branding Cities in East and Southeast Asia)
บทความของ ArchDaily ได้ตั้งข้อสังเกต และทำให้เรามองเห็นกระแสการลงทุนของประเทศแถบเอเชีย ในการลงทุนสนามบินอย่างสำคัญ ทำให้สนามบินได้เปลี่ยนจากจุดเปลี่ยนผ่าน ให้กลายเป็นปลายทางที่สมบูรณ์แบบในตัวเอง ภาพของสนามบิน เช่น สนามบินปักกิ่งต้าซิง สนามบินใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของจีน เน้นประสิทธิภาพ และใช้สถาปัตยกรรมล้ำสมัยของซาฮา ฮาดิด สนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นตัวแทนของความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม สนามบินฮ่องกงที่เพิ่งติดอันดับหนึ่งสนามบินแนวหน้าเอเชีย (Asia’s Leading Airport) จาก World Travel Awards พร้อมตัวเลขผู้มาเยือน 60 ล้านคนต่อปี
และแน่นอน ชางงี สนามบินที่เหมือนภาพเมืองในฝันคือเมืองในสวน สะท้อนความล้ำหน้าทางนวัตกรรมและสถาปัตยกรรมของสิงคโปร์ รวมถึงสุวรรณภูมิของประเทศไทยที่สะท้อนตัวตนผ่านความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่ผสานอยู่ในพื้นที่การเดินทางทางอากาศที่ล้ำสมัย
ตัวบทความชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สนามบินกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ครบสมบูรณ์ในตัวเอง และยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้นในปัจจุบัน สนามบินชางอีปกคลุมด้วยต้นไม้และน้ำตก สะท้อนตัวตนของการเป็นเมืองในสวน สนามบินต้าชิงใหม่ต้อนรับผู้มาเยือนและให้ภาพประเทศจีนที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งด้วยเส้นโค้งล้ำสมัยของซาฮ่าและเพดานที่เทลาดลงสู่พื้น เท่าๆ กับความสะดวกรวดเร็วที่สนามบินได้รับการออกแบบให้รับรองผู้โดยสารภายในเวลาที่สั้นที่สุด
นอกจากตัวตนของมรดกประเทศหรือเมืองหนึ่งๆ แล้ว สนามบินเริ่มเป็นอีกพื้นที่สำคัญที่แสดงอุดมการณ์และความฝันของเมืองนั้นๆ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องความยั่งยืน กระแสหนึ่งคือการที่สนามบินได้รับการออกแบบด้วยไม้เช่นสนามบินนานาชาติพอร์ตแลนด์ (Portland International Airport (PDX)) เปิดตัวส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้วยโถงโครงไม้ขนาดยักษ์ หรืออาคารผู้โดยสาร 2 ของสนามบินนานาชาติที่บังกาลอร์ (Kempegowda International Airport Bengaluru) ประเทศอินเดียสร้างเสร็จเมื่อต้นปี 2024 เปิดตัวอาคารผู้โดยสารในสวน เป็นอาคารที่อบอุ่นด้วยสถาปัตยกรรมไม้ และเหล่าพืชพรรณซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมของบังกาลอร์เอง
ความน่าสนใจของสนามบิน คือการลงทุนพื้นที่ที่นอกจากจะเป็นประตู เป็นพื้นที่ด้านความปลอดภัย พื้นที่อำนวยความสะดวก และเป็นพื้นที่รอยต่อนานาชาติของประเทศและเมืองหนึ่งๆ แล้ว สนามบินเป็นการลงทุนที่ผ่านสายตาคนหลักสิบล้าน สุวรรณภูมิของไทยก็คาดว่าจะต้อนรับนักท่องเที่ยว 150 ล้านในปี 2573 และแน่นอนความฝันจะเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub)
ในแง่นี้ การลงทุนด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบภูมิทัศน์ ไปจนถึงพื้นที่ความสะดวกอื่นๆ การทำให้พื้นที่การบินกลายเป็นพื้นที่อำนวยความสะดวกครบวงจร สร้างความประทับใจ สถาปัตยกรรมที่สะท้อนทั้งความก้าวหน้าและการรักษาอัตลักษณ์ วัฒนธรรมไว้ การเป็นพื้นที่ประทับใจแรกและพื้นที่อำลาสุดท้าย สนามบินจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญทางสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมทั้งตัวตน และส่งอิทธิพลสู่นักท่องเท่ียวอย่างละมุนละม่อมต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
bustler.net
wszystkoconajwazniejsze.pl
archdaily.com
thansettakij.com
timeout.com
designboom.com
dezeen.com
bangkokbiznews.com
Graphic Designed by Apicha Tongchin
- Vanat Putnark
Writer