CITY CRACKER

เลือกตั้งแล้วไปไหน? 8 สถาปัตยกรรมของรัฐสภาและความหมายที่ซ่อนอยู่

หลังเลือกตั้งก็เตรียมตัวเดินทางเข้าไปทำงานในสภากันต่อ มีคำกล่าวว่าตึกไม่ได้เป็นแค่ตึก แต่เป็นพื้นที่ที่ส่งอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนที่ใช้พื้นที่นั้นๆ ยิ่งถ้าเป็นอาคารรัฐสภา เป็นตึกสำคัญที่แสดงถึงตัวตน เป็นที่ๆ ใช้ออกกฏหมาย ใช้ถกเถียงพูดคุยและตัดสินใจนำประเทศๆ หนึ่งไป สถาปัตยกรรมของรัฐสภาจึงเต็มไปด้วยความหมายที่สะท้อนถึงตัวตน แสดงถึงอุดมคติไปจนถึงแนวคิดเรื่องการปกครองของชาตินั้นๆ รัฐสภาของเยอรมนีพูดเรื่องความโปร่งใส อำนาจของประชาชนที่อยู่เหนือนักการเมือง สภาของอังกฤษวางแนวเก้าอี้ไว้เป็นแถวเพื่อเน้นการโต้เถียง สภาของประเทศที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยมีหน้าตาเหมือนห้องเรียน เน้นเรียงหน้ากระดานเพื่อรับฟังผู้นำ

 

หนังสือ Parliament จากบริษัทสถาปนิก XML ในเนเธอแลนด์พยายามสืบสาวและทำความเข้าใจการวางผังในสภาของประเทศสำคัญทั่วโลกพบว่า ผังที่นั่งสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์และความคิดทางการเมืองของชาตินั้นๆ สภายุคแรกๆ ของยุโรปได้รับอิทธิพลการวางผังทรงครึ่งวงกลมแบบโรงละครกรีก สะท้อนแนวคิดการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยทางตรง เช่น รัฐสภาของอังกฤษที่ได้รับการออกแบบให้หันหน้าเข้าหากัน เจ้าของหนังสือบอกว่าพลังของสถาปัตยกรรมไม่ได้แค่สะท้อนบริบทหรือจุดยืนทางการเมืองของชาติเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปสู่การบริหารประเทศด้วย เช่นบรรยากาศการประชุมที่สมาชิกนั่งติดกันในสภาอังกฤษย่อมมีบรรยากาศที่มาคุมากกว่าสภากว้างๆ ที่มาพร้อมเก้าอี้นั่งสบาย

ในบรรยากาศเลือกคนดีเข้าสภา City Cracker ชวนไปดูความหมายในงานสถาปัตยกรรมของรัฐสภาจากที่ต่างๆ รัฐสภาเยอรมันเน้นการออกแบบด้วยกระจกใสเพื่อแสดงออกถึงความโปร่งใส ตึกรัฐสภาของสก็อตแลนด์ที่ออกแบบเพื่อพูดถึงตัวตนและอิสรภาพของสก็อตแลนด์โดยตรง ไปจนถึง ‘สัปปายะสภาสถาน’ รัฐสภาแห่งใหม่ที่มีแนวคิดทางสถาปัตยกรรมของรัฐสภาใหม่อ้างอิงกับความเชื่อไทยเดิม เช่น เขาพระสุเมรุ ตลอดจนแนวคิดเกี่ยวกับคุณงามความดี

 

Sappaya-Sapasathan, Thailand

ในปี 2551 รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช มีมติให้ใช้ที่ดินบริเวณเกียกกายเพื่อก่อสร้างเป็นรัฐสภาแห่งใหม่ของไทยต่อไป แนวคิดสำคัญของสัปปายะสภาสถานหมายความว่าสภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็น แนวคิดสำคัญเน้นการแก้ปัญหาวิกฤตทางศีลธรรมในสังคมไทย ตัวสถาปัตยกรรมนำเอาความเชื่อไทยในแบบ ‘ไตรภูมิ’ เพื่อออกแบบวางผังให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์กลางอาคารเป็นแกนกลางสำคัญตีความเชื่อมโยงเข้ากับเสาหลักของประเทศคือประชาชน (ประชาธิปไตย), พระมหากษัตริย์(ชาติ) และ พระสยามเทวาธิราช ไปจนถึงระดับโลกุตระคือพระศาสนา ตามแผนการก่อสร้างคาดว่าควรแล้วเร็จในปี 2562 นี้

 

Palais Bourbon, France

Palais Bourbon ปัจจุบันใช้เป็นอาคารประชุมสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของฝรั่งเศส ตัวตึกแต่เดิมสร้างขึ้นในปี 1722 เป็นตำหนักตากอากาศที่หันหน้าเข้าหาแม่น้ำแซน (Palais Bourbon) และในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสทางรัฐบาลมีการใช้และให้ปรับปรุงตำหนัก Bourbon เพื่อใช้ในการประชุมของ the Council of Five Hundred คือการประชุมของประชาชนเพื่อตัดสินใจออกกฏหมายอันเป็นที่มาของสภาผู้แทนฯ ต่อมา ในปี 1795 สถาปนิก Jacques-Pierre Gisors และ Emmanuel-Cherubin Leconte เป็นผู้รับหน้าที่ในการปรับปรุงตำหนักให้เหมาะกับการประชุม ทางสถาปนิกเลือกใช้ผังที่นั่งทรงครึ่งวงกลมตามแบบของโรงละครโรมัน

หลังจากนั้นแม้ว่าตัวอาคารจะผ่านร้อนผ่านหนาวและผ่านการปรับปรุงที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ห้องประชุมและผังที่นั่งทรงอัฒจันทร์ยังคงเป็นจุดเด่นของอาคาร ภายในโถงประชุมปัจจุบันด้านหน้าตกแต่งด้วยรูปปั้นสองรูปเป็นตัวแทนของเสรีภาพ(Liberty) และความสงบเรียบร้อยของประชาชน (Public Order) โถงประชุมทรงครึ่งวงกลมของฝรั่งเศสเป็นการออกแบบเชิงสัญลักษณ์ที่รวมกลุ่มคนในพื้นที่นั้นให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากจุดเริ่มต้นของสภาแบบฝรั่งเศสทำให้หลายชาติและสภาอื่นๆ ภายหลังรับเอาทรงครึ่งวงกลมไปใช้ในการประชุม

 

UK Parliament, UK

House of Commons หรือสภาล่างของอังกฤษเป็นอีกหนึ่งการออกแบบสภาที่เป็นต้นแบบ ‘แบบอังกฤษ’ วิธีของสภาอังกฤษนี้เน้นการแบ่งพรรคแบ่งพวก คือออกแบบให้สองพรรคคือฝ่ายปกครองและฝ่ายค้านหันหน้าเข้าหากัน ในปัจจุบันสภาล่างจัดประชุมสภาในพระราชวังเวสมินสเตอร์ ห้องโถงของ House of Commons ได้รับการออกแบบและสร้างใหม่ในปี 1950 หลังจากที่สภาเดิมเสียหายจากระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Winston Churchill นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นบอกสถาปนิกว่าให้ออกแบบห้องประชุมโดยเอาแนวคิดดั้งเดิมเรื่องการดีเบตเอาไว้

ด้วยความที่การออกแบบยึดการประชุมสภาแบบหันหน้าสู้กัน และห้องประชุมค่อนข้างเล็ก เมื่อนักการเมืองเข้าไป นั่งอยู่บนม้านั่งในห้องและเผชิญหน้าเข้ากันทำให้บรรยากาศการโต้เถียงมีความเผ็ดร้อนและจริงจังมากขึ้นไปโดยปริยาย การออกแบบโถงประชุมแบบอังกฤษจึงเน้นการแยกขั้วมากกว่าการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกว่าแบบอัฒจรรย์ ในแง่ของการออกแบบ ประเทศที่สัมพันธ์กับเครือจักรภพหลายแห่งรับเอาสภาคู่ตรงข้ามนี้ไปใช้ เช่น สภาในรัฐ Haryana และรัฐ Punjab ของอินเดีย

 

Reichstag, Germany

รัฐสภาของเยอรมันเป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมทางการเมืองที่มีความโดดเด่นทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และการแสดงความคิดทางการเมือง การปรับปรุงอาคาร The Reichstag เกิดขึ้นในช่วงการรวมเยอรมันและย้ายเมืองหลวง จาก Bonn กลับมาที่ Berlin การปรับปรุงเริ่มต้นในปี 1993 โดย Norman Foster บริษัทสถาปนิกชื่อดัง จุดเด่นอยู่ที่โดมขนาดใหญ่กลางอาคาร ซึ่งในการปรับปรุงอาคารเก่านี้สถาปนิกใช้การออกแบบแบบที่ล้ำสมัย มีการใช้กระจกและรูปทรงโค้ง บิดงอ เพื่อแสดงถึงการก้าวผ่านจากยุคสมัยของนาซีไปสู่เยอรมันใหม่ กระจกเป็นหนึ่งในวัสดุสำคัญหมายถึงการเน้นความโปร่งใส (transparency) ตัวโดมอยู่เหนืออาคารทำให้ผู้เยี่ยมชมหรือประชาชนสามารถมองลงมาที่การทำงานของสภาผู้แทนได้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าประชาชนอยู่เหนือผู้แทนของตน

 

United States Capitol

อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เป็นอีกหนึ่งอาคารระดับไอคอน ตัวอาคารตั้งอยู่บน Capitol Hill ในวอร์ชิงตันดี.ซี. ด้วยความที่เป็นการสร้างชาติในช่วงปี 1800 ตัวอาคารจึงกลับไปใช้สถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ที่นอกจากจะแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของ วัฒนธรรมกรีกและโรมันโบราณแล้ว ยังถือเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมและทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของชาติตะวันตก ความโดดเด่นของตึกอยู่ที่โดมขนาดใหญ่ใจกลางอาคาร สภาสำคัญสองสภาอยู่ที่ปีกสองฝั่งของตึกคือสภาผู้แทนราษฏร (House of Representatives) ตั้งอยู่ที่ปีกฝั่งทิศใต้ และวุฒิสภา (Senate) อยู่ที่ปีกฝั่งทิศเหนือ จากนั้นห้องประชุมสภาผู้แทนฯ ก็ต่อขยายขึ้นในปี 1857 โดย Thomas U. Walter ที่ออกแบบห้องประชุมสภาให้ไม่มีหน้าต่างเพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก

 

Scottish Parliament Building

สกอตแลนด์เป็นประเทศที่ถูกรวมอยู่ในสหราชอาณาจักร อาคารรัฐสภาของสก๊อตแลนด์พยายามแสดงออกถึงตัวตนและอิสรภาพของตัวเอง ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และมีความเป็นนามธรรมโดดเด่นของ Enric Miralles แนวคิดสำคัญคือการเอามรดก ภูมิทัศน์และวัสดุที่เกี่ยวข้องของสก๊อตแลนด์เข้าไปผนวกกับตัวอาคาร รูปทรงแปลกๆ ที่ปรากฏบนหลังคาได้แรงบันดาลใจจากเรือที่หงายอยู่ที่ชายฝั่งรวมเข้ากับเส้นสายของดอกไม้จากภาพวาดของ Charles Rennie Mackintosh สถาปนิกคนสำคัญที่กลายเป็นฮีโร่ของคนสก๊อตแลนด์ งานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ถือเป็นงานชิ้นโบว์แดงก่อนที่ Enric Miralles จะเสียชีวิตลงด้วยโรคเนื้องอกในสมอง

 

Georgian Parliament Building (Kutaisi)

ตึกรัฐสภาของจอร์เจียที่เมือง Kutaisi เป็นตึกหน้าตาเหมือนยานอวกาศ ทรงโดมสร้างด้วยกระจกใส แถมมีแถบคาดที่ดูไกลๆ แล้วเหมือนลูกตาขนาดยักษ์มองขึ้นไปบนท้องฟ้า โดยรวมแล้วอาคารรัฐสภานี้เป็นโครงการย้ายรัฐสภาจาก Tbilisi ไปที่ Kutaisi ของประธานาธิบดี Mikheil Saakashvili แนวคิดสำคัญคือการสร้างภาพลักษณ์และความหมายใหม่ให้กับชาวจอร์เจีย กระจกใสหมายถึงการมองเห็นได้และการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน และการเน้นย้ำถึงความเสมอภาคเท่าเทียม ลองนึกภาพตัวอาคารรัฐสภาเก่าที่เป็นตึกแบบโซเวียต หนักแน่น และค่อนข้างปิดทึบแยกประชาชนออกจากการปกครองดูแลของรัฐ แต่การก่อสร้างนี้ก็ค่อนข้างได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความเหมาะสมเช่นการใช้งบประมาณและระยะทางจากเมืองหลวง โดยอาคารนี้ถูกใช้ในการเลือกนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2012 ก่อนจะย้ายกิจกรรมทั้งหมดกลับไปที่สภาเดิมในเมืองหลวงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

Great Hall of the People in Beijing, China

ในหนังสือ Parliament ผู้เขียนบอกว่าในประเทศที่ไม่เน้นความเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่นิยมวางผังรัฐสภาแบบ ‘ห้องเรียน(classroom)’ คือวางที่นั่งของสมาชิกให้หันเข้าสู่ด้านหน้าอันเป็นที่ๆ ผู้นำจะเป็นผู้มอบนโยบายหรือส่งคำสั่งออกมา(มากกว่าเน้นการถกเถียง หรือหาเสียงส่วนกลางของสภาทั้งหมด) สำหรับจีนเอง Great Hall of the People เป็นอาคารมหึมาของรัฐตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจัตุรัสเทียนอันเหมิน ภายในมีห้องประชุมชื่อ ‘ห้องประชุมสำหรับคนหมื่นคน’ ตัวแทนสมาชิกหนึ่งหมื่นคนหันหน้าเข้าสู่เวที ส่วนหนึ่งคงด้วยจำนวนคน การมาที่ปักกิ่งจึงน่าจะเน้นเรื่องการรับนโยบายมากกว่าเน้นการถกเถียงหาข้อสรุป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

agenda.ge

frenchmoments.eu

 

Illustration by Maytissa Inharit

Share :