อิฐ บล็อกแก้ว เนินดิน และโครงเหล็ก เป็นจุดเด่นในงานสถาปัตยกรรมของ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกไทยที่ได้รับรางวัล Royal Academy Dorfman Award และรางวัลศิลปาธรปีล่าสุด ผลงานของเขามีลักษณะเฉพาะในการยกระดับงานช่างให้กลายเป็นงานศิลปะ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่แสดงเนื้อแท้ไปจนถึงทดลองเปลี่ยนแปลงความหมายของวัสดุ งานของผศ.บุญเสริม จึงประกอบขึ้นจากความดิบและความสวยงาม เป็นการผสมผสานของรากฐานดั้งเดิมและสุนทรียศาสตร์ที่ดูล้ำสมัย
ความเท่และยิ่งใหญ่ในตึกอาคารของผศ.บุญเสริม เกิดจากภูมิหลังและทัศนคติต่องานสถาปัตยกรรม อาจารย์พูดถึงภูมิหลังว่าด้วยความเป็นลูกช่างไม้จึงได้รับการหล่อหลอมและคลุกคลีเติบโตขึ้นจากงานช่าง เมื่อผ่านวิกฤติปี 2540 อาจารย์เริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อวิธีการทำงานของสถาปนิก เริ่มหันมาสนใจการสร้างผลงานไปจนถึงทบทวนการใช้วัสดุพื้นฐานธรรมดาและเป็นของท้องถิ่น สถาปัตยกรรมของเขาจึงเป็นสถาปัตยกรรมของช่าง และเป็นสถาปัตยกรรมของทุกคน
ปรัชญาและความคิดในการทำงานของอาจารย์บุญเสริมปรากฏอยู่ในผลงานการออกแบบทุกชิ้น เราได้เห็น ‘สถาบันกันตนา’ โรงเรียนเกี่ยวกับการถ่ายทำที่ใช้อิฐจำนวนนับแสนก้อนเรียงจนกลายเป็นอาคารที่ทั้งแข็งแรงและพลิ้วไหว เราได้เห็นร้านอาหารที่ใช้โครงไม้ประกอบกับแผ่น PVC พร้อมบันไดวนด้านในที่สร้างบรรยากาศเฉพาะขึ้นภายในพื้นที่ หรือสเตเดียมช้างที่ใช้ ‘ธรรมชาติ’ สร้างเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ไปจนถึงอิฐบล็อกแก้วจำนวนมากที่ถูกเรียงขึ้นบนโครงสร้างจนเกิดเป็นวิหารของสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากวัสดุอันแสนธรรมดา
สถาบันกันตนา
สถาบันกันตนาเป็นอีกหนึ่งสุดยอดงานสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย อาคารอิฐที่ดูทั้งแข็งแรงแต่ก็พลิ้วไหว ดูเก่าแก่เหมือนโบราณสถานในขณะเดียวกันก็ดูร่วมสมัยจากการเรียงตัวของอิฐ แน่นอนว่าอิฐเป็นวัสดุพื้นฐานของงานสถาปัตยกรรม และในสถาปัตยกรรมไทยก็มีการใช้อิฐมาตั้งแต่โบราณ นอกจากงานออกแบบชิ้นนี้จะเฉลิมฉลองให้กับวัสดุสามัญผ่านการใช้อิฐนับแสนก้อนแล้ว ตัวอิฐที่ใช้ยังมาจากอุตสาหกรรมและงานช่างอิฐพื้นถิ่นที่กำลังจะสูญหายไป สถาบันกันตนาได้รับรางวัล The AR+D Awards for Emerging Architecture ประจำปี 2011 และทาง Wienerberger ผู้ผลิตอิฐเก่าแก่และรายใหญ่ที่สุดของโลกมอบรางวัล Grand Prize and Category Winner ‘Special Solution’ ให้กับสถาบันกันตนา ทำให้อุตสากรรมอิฐและงานช่างพื้นถิ่นได้รับความสนใจต่อไป
The Wine Ayudhya
งานออกแบบร้านอาหาร-ร้านไวน์ริมน้ำที่ดูหรูหรา แต่ The Wine Ayudhya กลับเป็นงานออกแบบร้านหรูที่ใช้วัสดุพื้นฐาน เช่นโครงไม้อัดยางชนิดที่เราใช้เป็นโครงสร้างภายในอาคาร ปิดผิวด้วยพลาสติก PCV วัสดุพื้นฐานสองอย่างที่แสนจะสามัญและดูเหมือนก่อสร้างไม่เสร็จนี้ถูกออกแบบและใช้นวัตกรรมเพื่อทำให้ทนทานและแวววาวเกิดเป็นความสวยงามรูปแบบใหม่ สถาปัตยกรรมของอาจารย์บุญเสริมเน้นการสร้างบรรยากาศและการเชื่อมต่อของผู้ใช้งาน ภายในอาคารจึงมีบันไดวนที่ทำให้บรรยากาศภายในดูลึกลับ เป็นประสบการณ์แบบใหม่ที่โครงเหล็ก แผ่นไม้อัด บันได ทำงานร่วมกัน อาคารนี้ได้รับรางวัล The Plan Award 2017 : Discover the Overall Winner
Elephant Stadium
จากสถาปัตยกรรมสำหรับมนุษย์ สู่งานออกแบบสำหรับช้าง และเป็นงานออกแบบที่นำธรรมชาติกลับเข้าสู่งานสถาปัตยกรรม Elephant Stadium เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์คชศึกษา ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและหมู่บ้านช้างชาวกุยในจังหวัดสุรินทร์ งานออกแบบนี้เน้นย้ำถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้าง ตัวงานออกแบบใหม่เกิดจากการศึกษาทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกุยกับช้างและพฤติกรรมของช้างเอง ลานแสดงช้างแห่งนี้เป็นลานแสดงช้างที่ต่างไปจากลานแสดงช้างที่เราคุ้นเคย มีการใช้เนินดิน แผ่นหิน เป็นงานสถาปัตยกรรมที่รวมเอาธรรมชาติเข้ากับสเตเดียมขนาดใหญ่ได้อย่างตระการตา
Elephant Tower
หอชมช้างเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กภายในโลกของช้าง และเป็นอีกครั้งที่ผู้ออกแบบนำเอาอิฐ อันเป็นความหลงใหลและความถนัดกลับมาสร้างเป็นโครงสร้างขนาดมหึมาอีกครั้ง ตัวหอชมช้างนี้สร้างขึ้นจากผังทรงหยดน้ำ ใช้ฝีมือและเทคนิกของช่างอิฐและช่างก่อสร้างท้องถิ่นค่อยๆ เรียงอิฐขึ้นจนกลายเป็นหอคอยสูง มีการใช้เทคนิกทางการช่างในการรับน้ำหนัก ปรับขนาดของอิฐ และการแบ่งช่องเป็นจังหวะเพื่อให้หอคอยทรงตัวอยู่ได้ นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปบนหอคอยเพื่อชมวิวและดูช้างเล่นน้ำได้
The Chapel-The Kitchen
‘บล็อกแก้ว’ เป็นวัสดุพื้นๆ ที่เราอาจรู้สึกว่าธรรมดาและเชยไปหน่อย ถูกนำมารวมกับโครงไม้เรียบๆ เรียงตัวใหม่จนกลายเป็นพื้นที่ที่พิเศษ เป็นพื้นที่แห่งความสงบที่แยกตัวออกจากความวุ่นวายรายรอบได้อย่างน่าประหลาดใจ The Chapel แรกสุดเป็นพื้นที่ชั่วคราวแนวทดลองในงานสถาปนิก โดยแนวคิดคือการเชิดชูและให้เกียรติกับงานช่างฝีมือ ล่าสุดแนวคิดและวัสดุแบบเดียวกันถูกนำไปสร้างเป็นส่วนต่อขยายชื่อ The Kitchen ใกล้ๆ กับ The Wine Ayudhya ตัวสถาปัตยกรรมใช้รูปทรงสามเหลี่ยม เป็นการสร้างมุมที่คมคายไปพร้อมกับความงดงามของบล็อกแก้ว
Code House
Code House เป็นบ้านเก่าใกล้กับรถไฟฟ้าสะพานตากสิน งานออกแบบนี้เป็นงานปรับปรุงที่แสดงให้เห็นการรักษาอาคารเก่า และสถาปัตยกรรมใหม่เข้าไว้ด้วยความกลมกลืน ส่วนต่อขยายของอาคารมีกลิ่นอายการใช้วัสดุเช่นโครงสร้างเหล็กผสมกับอาคารไม้ ตัว Code House นี้ดูโดดเด่นด้วยผิวอาคาร ผู้ออกแบบใช้แนวกระจกใสที่เมื่อเรียงตัวกันแล้วหน้าตาเหมือนบานเกล็ดที่เราคุ้นเคยแต่เป็นเวอร์ชั่นร่วมสมัย ทำให้โปร่งโล่ง สวยงามตั้งแต่ด้านหน้าไปจนถึงดาดฟ้า
Illustration by Thitaporn Waidomwut
- Vanat Putnark
Writer