เอกชนมักถูกมองเป็นผู้ร้ายในการพัฒนาเมือง มักถูกมองว่าเป็นผู้หาประโยชน์และผลกำไร และทิ้งไว้ซึ่งเมืองที่และแยกส่วนสร้างปัญหา แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนและสร้างเป้าหมายร่วม เพื่อที่ทุกการพัฒนาและการลงทุนของเอกชนสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมได้ เมืองจะดีแค่ไหน
ในเมื่อเราไม่สามารถหยุดยั้งการพัฒนาได้ แต่เราสามารถสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์กับทุกคนได้นั่นคือทิศทางของการพัฒนาเมืองในอนาคต ที่ทั้งรัฐ เอกชน และประชาสังคม คือหุ้นส่วนของการพัฒนาเมืองนี้ร่วมกัน แม้ว่าต่างฝ่ายต่างมีข้อจำกัด แต่หากแบ่งและทำงานร่วมกันย่อมได้ผลลัพธ์และได้ประโยชน์ที่ดีกว่า มากไปกว่านั้นก็ช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าอีกด้วย
ในยุคสมัยที่ทุกเมืองทุกคนมี common challenge ที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาภัยพิบัติ โรคระบาด น้ำท่วม มลพิษทางอากาศ ฯลฯ ที่เป็นเหมือนอุปสรรคของการพัฒนาเมือง เราจึงจะมาถอดบทเรียนต่อทิศทางการพัฒนาเมืองจากบทสนทนาของ 5 องค์กรขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต เพื่อไปดูว่าแต่ละองค์กรนั้นขับเคลื่อน-พัฒนาเมืองอย่างไรให้รับกับความท้าทายที่เกิดขึ้น
From Car to People Centric Development
เรากำลังก้าวสู่การพัฒนาเมืองที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางมากกว่ารถยนต์ โดยการลดพื้นที่ถนน เพิ่มพื้นที่ทางเท้าและลานโล่งสาธารณะในเมืองให้มีมากขึ้น ซึ่งบทบาทของเอกชนในการพัฒนานั้นคือการเปิดพื้นที่ในโครงการทั้งบนดินและดาดฟ้าให้กลายเป็นพื้นที่ส่วนรวม ที่สาธารณะสามารถเข้าใช้งานได้ หรือที่เรียกว่า private own public space เพื่อตอบสนองพฤติกรรมและกิจกกรมของเมืองที่จะหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่เดิม รวมถึงสร้างการเชื่องต่อ (connectivity) ที่ไม่ใช่แค่กับชุมชนโดยรอบ แต่อาจรวมถึงระหว่างย่านเพื่อเชื่อมประสานกิจกรรมระหว่างกัน ให้เกิด pedestrian zone ที่จะลดการใช้รถยนต์ในการเข้าถึง และหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทางเท้าทาง และจักรยานมากขึ้น
ดังจะเห็นได้จากการสร้าง R-Walk ที่เป็นทางเดินลอยฟ้าเชื่อมตึกในย่านราชประสงค์ด้วยการลงทุนของเอกชน ตลอดจนการเปิดพื้นที่พลาซ่าใจกลาง One Bangkok โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ที่จะนำถนนและที่จอดรถลงไว้ใต้ดิน หากแต่อุปสรรคสำคัญหนึ่งนั้นคือการเพิ่มขนาดทางเท้าให้กว้างขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ยากในเขตเมืองที่หนาแน่นสูง ซึ่งมีข้อเสนอต่อการลดขนาดเลนถนนในย่านราชประสงค์ลงหรือแม้กระทั่งการขยายทางเท้าเข้ามาในพื้นที่บางส่วนของโครงการเพื่อทำให้ทางเท้ากว้างมากขึ้น อย่างโครงการ The PARQ ตลอดจนการร่วมมือของเอกชนในย่านสีลม (we love silom) กับภาครัฐ (BmA) ในการปรับปรุง streetscape ถนนสีลมเพื่อผสานพื้นที่หน้าอาคารและจัดระบบทางเท้าให้เกิดการเดินที่เชื่อมต่อสร้างประสบการณ์ และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับย่าน
Strong Community as Fundamental to Create District Development
เพื่อประสานให้เกิดการพัฒนามากกว่าในรั้วของโครงการสู่การพัฒนาย่าน สิ่งสำคัญคือวิสัยทัศน์ของการมองเห็นทั้ง threat and opportunity ในอนาคต ที่นอกจากการสร้างการพูดคุยระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เพื่อให้เห็นในเป้าหมายที่ชัดทั้งของเอกชน รัฐ และชุมชน แต่จุดเปลี่ยนคือการที่มีใครสักคนลงมือทำเพื่อนับหนึ่ง (take a first step) เพื่อแปลงวิสัยทัศน์นั้นสู่รูปธรรมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ประจักษ์ เมื่อนั้นความเชื่อมั่นของภาคีอื่นจะตามมาเพื่อร่วมกันสานต่อให้ดีขึ้น ทั้งนี้ต้องทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การพัฒนาย่านนั้นยั่งยืน ซึ่งก็คือการมีความร่วมมือที่เข้มแข็ง (strong community)อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนา
Hardware Software Peopleware
การพัฒนาย่านนั้นไม่ได้มีแต่เรื่องการพัฒนากายภาพ แต่รวมถึงการพัฒนาระบบ smart technology เพื่อมาช่วยย่านในการดูแลความปลอดภัย เชื่อมต่อการสื่อสารข้อมูล เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ และสร้างการบริหารการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป คือ people ware หรือการพัฒนาทั้งศักยภาพผู้คนที่จะมาช่วยในการบริหารจัดการ รวมถึงการสร้างความร่วมมือของประชาคมเพื่อให้ย่านตอบโจทย์ผู้คนอย่างแท้จริง
Look beyond Property Line
ในหลายครั้ง ภัยคุกคามก็คือตัวเร่งปฏิกิริยาของการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน อย่างกรณีการรวมตัวของเอกชนในย่านสีลม (we love silom) ที่เห็นถึงความทรุดโทรมของย่านที่หากไม่ร่วมกันพัฒนานอกเขตที่ดินตัวเองมันคงยากที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของตัวเองและสังคมโดยรวมได้ จึงร่วมกันทำแผนในการปรับปรุงทางเท้าตลอดจนเชื่อมประสานพื้นที่หน้าอาคารให้เป็นเนื้อเดียวกันของการสร้างประสบการเชื่อมต่อของพื้นที่สาธารณะในย่านที่นอกจากจะสะดวกขึ้น รื่นรมขึ้น มีธรรมชาติมากขึ้นแล้วยังสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่จะเป็นการดึงดูดคนสู่ย่านมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเชื่อมเพื่อสร้างการพัฒนานอกรั้วและในรั้วตัวเองสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ใครคนเดียวทำไม่ได้
Co investment and Co Development Plan
ยิ่งสร้างความร่วมมือและผสานการพัฒนาแต่ละโครงการในเมือง ก็น่าจะเป็นหนทางในการพัฒนาของเอกชนต่อจากนี้ที่จะสามารถสร้างอิมแพ็ค และเป็นกลไกสำคัญต่อการรับมือกับ common challenge ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เรามีร่วมกันได้ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับน้ำท่วม การเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวเพื่อลดเกราะความร้อน การลดการใช้รถยนต์ผ่านการสร้าง green connectivity จากจุดต่อจุด การสร้างอากาศสะอาดผ่านการสร้าง green corridor and green roof การลดการใช้พลังงานฟอสซิล ผลิตและใช้พลังงานสีเขียว มีแผนในการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรในโครงการและย่านอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเชื่อมข้อมูลเพื่อช่วยในการคาดการณ์และวางแผนสำหรับอนาคต ซึ่งทั้งหมดคือแนวทางที่จะช่วยให้การพัฒนาของแต่ละการพัฒนาเสริมศักยภาพต่อกันและเสริมศักยภาพเมือง
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคิดร่วมกันนอกจากการแบ่งปันทรัพยากรและผสานการพัฒนาให้สอดคล้องกันแล้ว คือการสร้างร่วมลงทุน (co-investment) ที่จะเกิดกองทุนร่วมของเอกชนและรัฐที่จะมาใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เพื่อร่วมขับเคลื่อนเมืองที่ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ด้วยกัน
Nature Centric Development for all Well Being
การพัฒนาในอดีตคือการแทนที่ธรรมชาติด้วยตึกสูงและคอนกรีต ซึ่งสร้างให้เกิดความเสียสมดุลในระบบนิเวศ แต่การพัฒนาจากนี้การฟื้นฟูและผสานธรรมชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการคือแนวทางเพื่อสร้างเมืองที่ยั่งยืน เพราะธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวนั้นเป็นเสมือนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่นอกจากจะฟอกอากาศ ลดอูณหภูมิ ดูดซับน้ำ บำบัดกายและใจ ยังเป็นที่เรียนรู้และพื้นที่กิจกรรมของผู้คน สิ่งสำคัญคือที่พักพิงอาศัยของสัตว์ ที่ถ้าสามารถอยู่ร่วมและมีมากนั่นแสดงถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในเมืองที่สะท้อนถึงความเป็นอยู่ที่ดี (well being) ของเราทุกคนด้วย ดังจะเห็นได้จากแนวคิดของการพัฒนาโครงการ The Forestias by MQDC เป็นต้น
Growing Green Growing Economy Growing Sustainable Community ปลูกป่าในเมืองสร้างเศรษฐกิจและชุมชนที่ยั่งยืน
ในอดีตเรามองการฟื้นฟูป่าในชนบทเป็นเรื่องสำคัญจากปริมาณป่าที่ลดลงจนหลงลืมไปว่าเมืองเองก็ต้องการป่าและพื้นที่สีเขียวที่จะมาช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาป่าคอนกรีตที่มีมากขึ้น หากแต่การพัฒนาป่าในเมืองนั้นไม่ใช่แค่เรื่องการเติมสีเขียวหรือปลูกต้นไม้ เพราะการปลูกป่าใช้เวลา การดูแล และองค์ความรู้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งในเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
สิ่งสำคัญจึงเป็นการสร้าง ห่วงโซ่คุณค่าในการตลาด (value chain) ที่จะเชื่อมโยงทรัพยากรจากจากต่างๆ ให้ทำงานร่วมกัน ตั้งแต่กล้าไม้จากชุมขนในต่างจังหวัด องค์ความรู้จากองค์กร (สถาบันปลูกป่า ปตท. ) เจ้าของที่ดินในพื้นที่เมือง ตลอดจนชุมชนรอบพื้นที่ในการดูแล เพื่อเปลี่ยนที่ดินร้างในเมืองสู่ป่าที่นอกจากจะเพิ่มมูลค่าให้กับเจ้าของที่ดินในระยะยาว ยังช่วยเมืองฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ (green job ) กับชุมชนและบุคลากรจำนวนมากผ่านการแปลงการปลูกป่าที่เป็น CSR (corporate social responsibility) สู่การสร้างธุรกิจสีเขียวจะช่วยกระตุ้นให้สีเขียวเกิดขึ้นได้มาก และมีมูลค่าต่อการลงทุนกว่าการมองเป็นบริการอย่างที่ผ่านมา
Incentive Policy that Support People and Nature Centric Development
การพัฒนาเมืองผ่านการพัฒนาของเอกชนนั้นทำได้ระดับหนึ่ง หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องนโยบายที่ชัดเจนและข้อกฎหมาย หากรัฐและสังคมเห็นในเป้าหมายของการสร้างเมืองที่จะมองคนและธรรมชาติเป็นศูนย์กลางอันเป็นแนวทางที่ยั่งยืนของยุคสมัยแล้ว นโยบายตลอดจนกฎหมายต้องได้รับการปรับปรุง เช่น การลดปริมาณที่จอดรถของโครงการขนาดใหญ่เพื่อแปลงการลงทุนในพื้นที่ก่อสร้างเหล่านั้นกับสิ่งอื่นอย่างพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะของโครงการ เพราะในอนาคตความต้องการการสัญจรโดยรถยนต์จะลดลงเนื่องด้วยระบบคมนาคมทางรางจะสมบูรณ์มากขึ้น และพฤติกรรมของผู้บริโภคใน generation จากนี้การเปลี่ยนแปลงนั้นรัฐควรจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนให้เกิด green connectivity ควบคู่กันไปเพื่อเปลี่ยนเมืองสู่ people and nature centric มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายนั้นยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
เมืองหลังยุคโควิด-19
โควิด-19 ได้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้รูปแบบการใช้ชีวิตในเมืองเปลี่ยนไป และชวนให้เราคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ที่จะฟื้นฟูเมืองให้เกิดการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตที่ต่างและดีขึ้นไปจากเดิม ทั้งการ work from home หรือ การ work from anywhere อาจทำให้เห็นการกระจายตัวของความหนาแน่นออกจากศูนย์กลางเมืองสู่ย่าน สู่ชานเมืองมากขึ้น ใจกลางเมืองเองอาจเกิดการพัฒนาที่กระชับและประสานเชื่อมโยงมากขึ้น คนหันมาใช้การเดินใช้ชีวิตภายนอกอาคารเป็น walkable city มากขึ้น อีกทั้งผู้คนจะให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวและธรรมชาติให้มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในเมืองเพื่อสร้าง well being ที่ขาดหายไปจากเมืองกลับมา ซึ่งสิ่งสำคัญคือเรื่องเทคโนโลยีจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา
Invest in Green Infrastructure
การสร้างเมืองที่ดีกว่าเดิมนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องลงทุนในสิ่งที่เราละเลยและไม่ให้ความสำคัญมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่สีเขียว เรื่องการสร้างพื้นที่ธรรมชาติที่เรียกว่าโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (green infrastructures) ซึ่งมันได้พิสูจน์แล้วว่าอาจไม่สร้างความคุ้มทุนและความคุ้มค่าในระยะสั้นถ้าเราเอาเรื่องเม็ดเงินเป็นตัวชี้วัด แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าเราเสียเงินและเสียโอกาสเท่าไหร่กับการไม่ลงทุนในสิ่งเหล่านี้ท่ามกลางความท้าทายของclimate change และปัญหาของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการเครื่องมือและวิธีการที่ต่างไปจากเดิม ที่เป็น nature based solution และ people centric กว่าที่แล้วมา
ความท้าทายที่มีมากในทุกวันนี้เราไม่สามารถใช้กลไก กฎหมาย วิธีการ หรือวิธีคิดแบบเดิมในการพัฒนาเมืองได้อีกต่อไป เพราะมันยิ่งสร้างปัญหาและเสียเวลาและโอกาสในทุกวันที่ความท้าทายทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนความท้าทายนั้นเป็นความร่วมมือที่จะดึงทรัพยากรจากทุกฝ่ายเพื่อมาทำงานร่วมกัน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม และวิชาชีพวิชาการ เพื่อให้เราได้เห็นทั้งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือดังกล่าว และความล้มเหลวจากอุปสรรคและข้อจำกัดที่เราต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้ทุกการพัฒนาจากทุกฝ่ายนำไปสู่เมืองที่ดีสำหรับเราทุกคนอย่างแท้จริง
ดังนั้นแล้วเมืองที่ดีจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจต้องเริ่มที่วิสัยทัศน์ที่ไม่ใช่จะเป็นของผู้นำ แต่เป็นของเราทุกคนที่มีสิทธิ์จะฝันถึงเมืองที่ยืดหยุ่นและมีความสุข (Resilience and Happy) เมืองที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย (Engagement) เมืองที่แบ่งปัน เรียนรู้ และทำงานร่วมกัน (Sharing Together, Learning Together, Working Together) เมืองที่เชื่อมโยงกับโลกและท้องถิ่น (Globalize and Localize) เมืองที่เรารู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) มาร่วมกันแปลงวิสัยทัศน์เหล่านี้ผ่านการลงมือทำและลงทุนร่วมกันทั้งรัฐ เอกชน และประชาสังคม เพราะมันสามารถเสริมศักยภาพให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่เพื่อให้เมืองนั้นสร้างความคุ้มค่าให้กับเราทุกคน
Graphic Design by Supatsorn Boontumma
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker