ไม่ใช่แค่เกมหรืองานบริการที่ต้องการไอเดียสดใหม่ แต่การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals 2030 (SDGs 2030) ของ UN ก็เช่นกัน
รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศ ได้ออกนโยบาย แนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมถึงปัญหาเหล่านี้ แต่การเปลี่ยนแปลงโลกต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้น แต่เราเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ UN ไปสู่เป้าหมายในปี 2030 โครงการ Global Goals Jam จึงมีการนำคนมาร่วมระดมความคิด นำแนวทางของ UN มาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเป้าหมายของ SDGs ในปี 2030 มีทั้งหมด 17 ด้าน
การจัดกิจกรรม Global Goals Jam นี้แต่ละประเทศสามารถเลือกหัวข้อที่สนใจหรือเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขได้เอง ดังนั้นในการจัดกิจกรรมครั้งแรกของประเทศไทย เราก็ได้เลือกหัวข้อการจัดการน้ำและสุขาภิบาล (clean water and sanitation) และ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action) มาเป็น Theme หลักของกิจกรรมในปีนี้
Global Goals Jam ครั้งแรกของกรุงเทพฯ จัดขึ้น 2 วันที่ TCDC บางรัก มีผู้เข้าร่วมกว่า 30 ชีวิต มีความหลากหลาย ทั้งวิชาชีพ ช่วงวัย ทำให้กิจกรรมมีสีสันและทำให้ได้ความคิดที่แปลกใหม่ กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับประเด็นที่เราสนใจว่าสิ่งที่เราต้องการจะทำนั้น เกิดขึ้นกับใคร และเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ตรงนี้จะช่วยให้ไอเดียของเรานั้นมีที่มาและที่ไป จากนั้นไอเดียจะถูกนำมาลงคะแนนเสียงความน่าสนใจด้วยการติดสติ๊กเกอร์ ไอเดียชิ้นไหนมีผู้สนใจเยอะ ก็จะเป็นไอเดียตั้งต้นในการจับกลุ่มทำงาน จากนั้นแต่ละกลุ่มจะเริ่มไปพัฒนาไอเดียของตัวเอง โดยวิเคราะห์เป้าหมายของกลุ่ม บอกสิ่งที่ตนคาดหวังจากงานนี้และสิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือทีมได้ จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาแนวความคิดต่อจากการทำความเข้าใจผู้มีส่วนร่วมทั้งหมด และเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เราจะไปช่วยแก้ปัญหา และนี่คือแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืนจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม
กลุ่ม 1 Kayakers
แนวความคิดเพื่อช่วยลดขยะในแม่น้ำลำคลอง โดยใช้เรือคายัคเข้ามาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลงไปช้อนเอาขยะในแม่น้ำ หนึ่งในแรงบันดาลใจคือการพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ทีมต้องการที่จะพัฒนาเครื่องมือการเก็บขยะในแม่น้ำคลองให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น เรือคายัคนี้จะติดตั้งที่ช้อนขยะไว้ที่พายทั้งสองข้าง และมีถังสำหรับเก็บขยะไว้ส่วนหน้าของเรือเพื่อช่วยบดอัดขยะ
กลุ่ม 2 Seed ทุกมื้อ
กลุ่มนี้ตั้งคำถามเรื่องการกำจัดขยะที่มีการใช้งานครั้งเดียวแล้วทิ้ง หรือ single-used plastic จำพวกช้อนส้อม จากข้อสังเกตจากการใช้ช้อนส้อมพลาสติกในตลาดนัด ที่ทำให้มีขยะที่ผ่านการใช้งานแค่ครั้งเดียวจำนวนมาก จึงได้แนวทางออกมาเป็นช้อนส้อมที่ออกแบบให้ย่อยสลายตัวเองได้ แถมยังใส่เอาเมล็ดพืชผักสวนครัวใส่เอาไว้ในช้อนส้อมด้วย เพื่อให้นำช้อนส้อมใช้แล้วเอาไปปักกับดินและปลูกผักสวนครัวเองได้ แต่เมล็ดพืชมีความสามารถงอกในระยะเวลาที่จำกัด การผลิตสินค้าจึงจำเป็นต้องผลิตตามจำนวนการใช้งานในช่วงเวลา เช่น งานเทศกาล
กลุ่ม 3 Kayah station
กลุ่มนี้พัฒนาจากจุดรับซื้อขยะจากในทะเล โดยให้ราคาดีกว่าร้านรับซื้อในท้องตลาดเพื่อดึงดูดให้คนนำขยะมาที่จุดนี้ หรือสร้างแรงจูงใจให้คนเก็บขยะจากทะเล โดยจะมีทั้งส่วนที่เป็นหน้าร้านริมทะเลและแอพพลิเคชั่นออนไลน์ ให้เราตรวจสอบราคาและปริมาณขยะที่เราขายไปได้
กลุ่ม 4 Vitasip
แก้วย่อยสลายได้จากชานอ้อย ที่แฝงด้วยลูกเล่นในการเคลือบผิวด้านในจากสาหร่ายให้สามารถปลดปล่อยวิตามินและแร่ธาตุต่างที่เราต้องการให้ค่อยๆ ละลายออกมาปนกับเครื่องดื่มได้ เนื่องจากทีมเห็นว่าขยะประเภทใช้ครั้งเดียวส่วนใหญ่ยังย่อยสลายไม่ได้มีระบบการจัดเก็บขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ อาจยังไม่สามารถนำเอากลับมาใช้ได้ทั้งหมด จึงได้แนวคิดว่าดังนั้นพวกภาชนะที่มีการใช้ครั้งเดียวทิ้งควรเป็นสินค้าที่ย่อยสลายได้ ซึ่งแก้วนี้สามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด
กลุ่ม 5 Go Grab Green
กลุ่มนี้เล็งเห็นปัญหาสภาพแวดล้อมในเมืองที่ยังมีพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ จึงจัดทำแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยระบุพื้นที่ว่างในเมือง เมื่อมีที่ดินที่มีศักยภาพแล้วจึงสร้างความร่วมมือกันระหว่างเจ้าของที่ดิน ผู้สนใจลงทุนและคนในพื้นที่ เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นมาจริงๆ ทั้งนี้ผู้ที่ร่วมลงทุนก็จะได้สะสมแต้ม green credit เพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย แอพพลิเคชันนี้ไม่จำกัดว่าคุณจะต้องเป็นคนมีเงินถึงจะเขาร่วมการสร้างสวนสาธารณะได้ แต่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ในแบบของตัวเอง เอกชนที่มองหากิจกรรม CSR ก็ได้กิจกรรมที่ตอบโจทย์สังคมจริง ๆ รัฐเองก็ได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองตอบโจทย์กับนโยบายรัฐ และประชาชนก็ได้พื้นที่สาธารณะดี ๆ ไว้ใช้งาน
กลุ่ม 6 Kinder
แอพพลิเคชั่นที่จะเข้ามาช่วยลดปริมาณขยะในกลุ่มที่พักอาศัย เช่น คอนโดมิเนียม เนื่องจากกลุ่มต้องการให้สร้างระบบจัดการขยะ ทำสิ่งที่ยังสามารถใช้งานได้ให้มีประสิทธิภาพ หรือเวลาซื้อสินค้าจากร้านชำ ปริมาณการขายมักถูกจัดไว้มากกว่าปริมาณการกินเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในเมืองยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง ชื่อแอพพลิเคชั่นเป็นการเลียนคำพ้องเสียงในภาษาไทยกับแอพพลิเคชัน matching หาคู่ชื่อดัง มาเป็นแอพพลิเคชัน กิน-เด้อ เพราะการทำงานเป็นระบบแบ่งปันอาหารกัน โดยมีทั้งการแจกจ่ายวัตถุดิบอาหาร การขอแบ่งวัตถุดิบและการร่วมกันซื้อดีลลดราคาเพื่อให้ได้ราคาและปริมาณที่เราพอใจ