CITY CRACKER

Asok City Catalogue

เราต่างมีบ้านในฝัน แต่เราแทบไม่เคย ‘ฝัน’ ถึงเมืองในฝันกันเลย การเปลี่ยนแปลงที่ดีล้วนเริ่มจากการที่เราสามารถฝันหรือจินตนาการถึงสิ่งนั้นๆ

 

เวลาเดินเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ เราเหมือนอยู่ในโลกของบ้านในฝัน เราสามารถมีบ้านแบบนี้ได้นะ เปิดแคตาล็อกเลือกซื้อข้าวของเอามาประกอบถอดเข้าถอดออกเพื่อเติมเต็มบ้านในฝันของตัวเอง เราสามารถเติมตู้ โต๊ะ เตียง พรม นาฬิกา เลือกสี เลือกสไตล์ เลือกความสะดวกสบายได้ตามความชอบและตามการใช้งาน

แน่ล่ะว่าบ้านเป็นพื้นที่ที่เราสร้างได้ เราฝันถึงบ้านที่ดีได้ แต่พอเดินออกมานอกบ้านแล้ว ‘เมือง’ ดูเหมือนเป็นพื้นที่ที่เราจัดการอะไรไม่ได้เลย เราแค่เดินผ่าน มีอะไรไม่ดีก็อดทนกันไป หลบเลี่ยง หรือบ่นบ้างเป็นครั้งคราว อยู่ไปนานๆ ก็กลายเป็นความเคยชิน มันก็อยู่ได้นะ ไม่ได้แย่ อย่าไปต้องการอะไรมากนักเลย ด้วยความรู้สึกที่ว่าเราทำอะไรกับเมืองไม่ได้ ทนอยู่กันไปแบบนี้ สุดท้ายเราเองก็รู้สึก ‘สิ้นหวัง’ และต่างเลิกฝันถึงเมืองที่ดีกันไปโดยปริยาย

‘อย่าเพิ่งสิ้นหวัง และอย่าหยุดฝัน!’ ไลฟ์โค้ชทั้งหลายบอกเราอย่างนี้เสมอ เรามีแคตาล็อกสำหรับบ้านให้เราได้ฝันถึงบ้านที่ดี แล้วทำไมสำหรับเมืองเราจะมีฝัน มีแคตาล็อกที่เราอยากได้บ้างไม่ได้ City Cracking อยากชวนทุกคนมาฝันถึงเมือง เราลองให้คนในพื้นที่มาฝันสนุกๆ กันว่า ในพื้นที่ที่เราใช้อยู่ทุกวัน ถ้าเราอยากเสกอะไรขึ้นมาสักอย่าง หรือเปลี่ยนอะไรได้บ้าง คุณจะอยากได้อะไร เราเริ่มต้นสำรวจความฝันกันที่ ย่านอโศก-ดินแดนแสนรถติดและพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งอโศกในฝันของเรามีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่นทางเท้าเรียบๆ ไปจนถึงความฝันสนุกๆ ที่อยากให้อโศกกลายเป็นเมืองแห่งอนาคต

 

 

“อยากทำถนน 4 เลน รถจะได้ไม่ติด เพราะตอนนี้รถมันติดมาก อยากให้เพิ่มทางม้าลายด้วย จุดที่ข้ามได้ต้องเดินไกล เลยอยากให้มีหลายๆ จุดหน่อย ช่วงนี้ฝุ่นเยอะ ถ้ามีเครื่องกรองฝุ่นก็ดี ไม่รู้คิดไปเองไหม แต่วันไหนที่ไม่ได้ใส่แมสก์ก็จะรู้สึกไม่ค่อยสบาย” —น้องกิม

 

“อยากได้โทลล์เวย์จากฟอร์จูนมาอโศก เพราะตรงนั้นรถติดมาก หรือไม่ก็อยากได้รถเมล์ 3-4 ชั้น จะได้เอาคนไปได้เยอะๆ ถ้าสร้างหลังคาตรงทางเท้าได้ก็ดี เวลาเดินคนจะได้ไม่ร้อน ถ้ามีทางจักรยานได้ยิ่งดี บ้านป้าอยู่จตุจักร ป้าจะขี่มาทำงานที่อโศกเลย ถ้ามีทางจักรยานก็ไม่ต้องมีรถเมล์หลายชั้นแล้ว คือรถมันติดมาก จะข้ามถนนทีนึงก็ต้องรอไฟแดงตั้งร้อยกว่าวิ ถ้าจะตายก็ตายตรงนั้นแหละ อยากให้สร้างราวจับด้วย เผื่อผู้สูงอายุเดินไปจะเป็นลม หรือเป็นอะไรก็จับราวได้ เอาไว้กันรถด้วย ทุกวันนี้ป้า เดินไปกลับจากแยกพระราม 9 มาที่อโศก รถมันติด รถไฟฟ้าก็แพง” —ป้าสาย

 

“ต้นไม้ก็น่ามี แต่ว่าเวลาเรานั่งได้แป๊ปเดียวนกก็ขี้ใส่ แต่ถึงไม่มีต้นไม้บางทีนกมันก็เกาะอยู่ที่เสาไฟฟ้าอยู่ดี” — ป้านิกร

 

“ตรงนี้มันไม่มีชายคา เวลาเดินแล้วแดดส่องหน้าทุกวันเลย อันนี้เป็นปัญหาส่วนตัว เราเลยอยากได้อะไรร่มๆ เย็นๆ มาช่วย เราอยากให้เส้นนี้มันมีสีสันหน่อย ไม่ใช่แค่ทางเดินไปซื้อข้าวแล้วกลับออฟฟิศ มีอะไรระหว่างทางให้สดชื่นหรือบันเทิงเริงใจบ้าง อย่างเวลาเราผ่านร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วเขามีลำโพงตัวนึงตั้ง แล้วเปิดเพลง เราก็ร้องตามได้ คือแค่นี้เราก็แฮปปี้กับมันแล้วนะ เราสังเกตมู้ดคนไง เลยเห็นว่าเวลาเดินผ่านร้านนั้น คนก็มีการฮัมเพลง เดินโยกไป คืออาจจะไม่ต้องมีเพลงทั้งเส้นก็ได้นะ” —พี่ตุล

 

“ผมอยากให้มีจุดสูบบุหรี่ ให้คนสูบบุหรี่เข้าไปรวมกันในนั้น จะได้ไม่ต้องมาสูบริมทาง รบกวนคนที่ไม่สูบบุหรี่ คนที่ไม่ชอบจะได้ไม่ต้องได้กลิ่น เหมือนเวลาไปต่างประเทศที่เขามีที่ให้เข้าไปสูบเลย” ” — น้องพีพี

 

“อยากให้ทำป้ายไม่ให้มอเตอร์ไซค์วินขับขึ้นมาบนทางเท้า หรือทำทางจักรยาน เราคิดว่าถ้ามี คนก็น่าจะใช้ จริงๆ พวกรถเข็นก็กีดขวางทางนะ แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ คือถ้าทำได้ก็อาจจะลองกำหนดเวลาให้เขา มา 9 โมง กลับ 5 โมง” —น้องดา

 

“อยากให้มีอุโมงค์ใต้ดินจาก mrt ย้ายที่ขายชองจากฟุตปาธมาขายในอุโมงค์ใต้ดินไปเลย แล้วก็อยากให้มีต้นไม้มากขึ้นค่ะ ปลูกต้นไม้ ทั้งเมือง ถ้าเลือกได้ก็อยากให้เป็นผลไม้ ต้นแอปเปิ้ล ต้นส้ม ใครๆ ก็มากินได้ เดินไป เด็ดไป มีสัตว์ มีกระรอกมากินผลไม้” —เมษา

 

“อยากให้มีฟุตพาทที่เรียบกว่านี้ กว้างกว่านี้ จักรยานยนต์ไม่วิ่งบนฟุตพาท แล้วก็ไม่อยากให้รถวิ่งในจุดที่เป็นเมืองธุรกิจเลย เน้นเดินเอา เป็นวอล์กกิงสตรีท เพราะมันอันตรายต่อเด็ก” —ครอบครัวพี่นันท์

 

“อยากได้ถนนเพิ่มค่ะเพราะว่ารถจะได้ไม่ติด กลับถึงบ้านไวไว หรือถ้าสบายมากๆ หนูว่ามีประตูวาร์ปไปเลย วาร์ปกลับบ้าน วาร์ปไปไหนก็ได้ ไม่ต้องใช้รถ” —น้องฝ้าย

 

“ตอนนี้หนูว่ามีปัญหาเรื่องฝุ่น ถ้าเรามีเกราะป้องกันฝุ่นหรือมีพัดลมพัดฝุ่นออกไปก็คงดี หนูชอบอ่านหนังสือแนวไซไฟ ถ้าอนาคตมีหุ่นยนต์ เราก็ใช้หุ่นยนต์ รถไม่ต้องขับ ให้หุ่นยนต์พาเราไป หนูก็อ่านหนังสือ ทำอะไรไปได้โดยไม่ต้องมองถนน” —เนเน่

 

Illustration by Maytissa Inharit
Share :