CITY CRACKER

Bangkok Mobility อนาคตของกรุงเทพฯ กับวันที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนการเดินทาง

ก่อนหน้านี้หากพูดถึงการเดินทางล้ำสมัยไหมหน่อย แน่นอนว่าคือการเดินทางด้วยไฮเปอร์ลูปที่อีลอนมัสก์เคยพูดถึงมากว่าทศวรรษ กระทั่งปัจจุบันเราก็จะเห็นบริษัท Tesla เริ่มพยายามพัฒนารถยนต์ EV ให้ล้ำเข้ากับสมัยใหม่ เห็นการพัฒนาระบบการคมนาคมสำหรับโลกอนาคต หรือจะเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่ เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเมืองและการเดินทาง ไม่ว่ารถยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ไร้คนขับ รถบินได้ หรือการเดินทางผ่านท่อแก้วความเร็วสูง เหล่านี้คือรูปแบการเดินทางที่มีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำหรับแก้ไขปัญหา สร้างความสะดวกรวดเร็ว ตลอดจนพาเมืองไปสู่อนาคตล้ำๆ ได้

เทคโนโลยีด้านการเดินทางสัญจรเหล่านี้ ทั้งรถ pod รถยนต์ EV นวัตกรรมไร้คนขับ สำหรับหลายประเทศอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และประเทศต่างๆ ทั่วโลกอาจกำลังมองหาความเป็นอนาคตมากกว่าที่เป็นอยู่ อาจมองไปถึงการพัฒนาการเดินทางที่คนสามารถไปยังที่หนึ่งได้ด้วยการลอย หรือพัฒนาระบบคมนาคมสุดเจ๋งเพื่ออนาคต ซึ่งเป็นที่น่าสนใจเช่นกันว่าหากกรุงเทพฯ มีเทคโนโลยีเจ๋งๆ และล้ำสมัย มีการเดินทางด้วยไฮเปอร์ลูป มีเทคโนโลยียานพาหนะส่วนบุคคลที่เข้ามาแก้ปัญหารถติด หรือมีรถพลังงานสะอาดที่ทำร้ายโลกน้อยลง สำหรับเมืองเช่นกรุงเทพฯ นั้นจะการเดินทางเปลี่ยนไปอย่างไร
ด้วยเทรนด์ทั่วโลกได้ปรับเปลี่ยนระบบขนส่งและการเดินทางให้ล้ำยุคล้ำสมัย แน่นอนว่าภาพการไปสู่อนาคตเรื่องการเดินทางของกรุงเทพฯ เองก็อยู่ไม่ไกล วันนี้ City Cracker จึงอยากพาไปดูไปกรุงเทพฯ อันว่าด้วยการเดินทางสุดล้ำ ผ่านการจำลองทัศนียภาพภายใต้บริบทเมือง ตั้งแต่การเดินทางระยะไกลด้วยไฮเปอร์ลูป การเดินทางส่วนบุคคลที่ลดทอนพื้นที่และไม่สิ้นเปลืองพลังงาน การจัดระบบการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ไปจนถึงการออกแบบเมืองที่ตอบโจทย์กับการเดินทางในภาวะโรคระบาด

เดินทางระยะไกลแต่เร็วขึ้นด้วยไฮเปอร์ลูปจากกรุงเทพฯ-ขอนแก่น

เป็นเวลากว่าสิบปีนับตั้งแต่ 2012 ที่อีลอน มัสก์ (Elon Musk) พูดถึงระบบขนส่งรูปแบบที่ 5 อย่างไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) หรือสองสามปีมานี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เองก็ได้พูดถึงเจ้าเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้การเดินทางในอนาคตสะดวกสบายขึ้น ตัวไฮเปอร์ลูปคือการเดินทางรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะเป็น pod หรือแคปซูลลอยได้ การลอยของไฮเปอร์ลูปเกิดจากแรงแม่เหล็กและเดินทางผ่านท่อสูญญากาศเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง เดินทางด้วยความเร็วสูงในสภาพที่มีแรงกดดันต่ำ และใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ที่นำเอาแสงอาทิตย์แปลงเป็นพลังงานเพื่อการเคลื่อนที่ของแคปซูล
เทคโนโลยีการขนส่งแห่งอนาคตนี้มีความรวดเร็วถึง 1,200 กม./ชม. ใช้พลังงานเพียง 15% เมื่อเทียบกับรถไฟความเร็วสูง เป็นนวัตกรรมที่ช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมกันก็ช่วยลดมลภาวะและลดทอนระยะเวลาการเดินทางและการขนส่งได้ดีกว่าขนส่งรูปแบบอื่นๆ จากการทดสอบของบริษัท Virgin Hyperloop One ที่ได้ทดสอบความเร็วในระยะ 500 เมตร ของไฮเปอร์ลูป พบว่า เทคโนโลยีการเดินทางแห่งอนาคตนี้มีความเร็วถึง 387 กม/ชม. และอาจเร็วขึ้นยากมีท่อระทางที่เร็วขึ้น
ในอนาคตการขนส่งหรือการเดินทางด้วยไฮเปอร์ลูปอาจกลายมาเป็นการเดินทางกระแสหลัก เพราะนอกจากการทดสอบความเร็วเพื่อทดลองเทคโนโลยีนี้ ล่าสุดในงาน Expo 2020 Dubai บริษัท Zeleros สาร์ตอัปของสเปนเองก็มีเป้าหมายว่าปี 2022 จะทดลองขนส่งสินค้า ณ ท่าเรือวาเลนเซียด้วยระบบไฮเปอร์ลูป โดยจะเริ่มทดลองเพื่อการเดินทางกับผู้โดยสารภายในปี 2030 สำหรับเมืองไทยหากเจ้าไฮเปอร์ลูปกลายมาเป็นรูปแบบการเดินทางใหม่ของเมือง เราอาจสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ – ขอนแก่นได้รวดเร็วขึ้นอีกกว่าครึ่งชั่วโมง (อ้างอิงจาก 1,200 กม./ชม.) เมื่อเทียบกับการเดินทางโดยเครื่องบิน และการเดินทางรูปแบบอื่นๆ ที่มีในปัจจุบัน

เทคโนโลยีสำหรับยานพาหนะส่วนบุคคล

เมืองเราปัญหาพื้นที่ถนนเป็นพื้นที่ของรถยนต์ มีปัญหาการปล่อยมลพิษไอเสียของรถพลังงานเชื้อเพลิง ตลอดจนปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน และแน่นอนว่าส่งผลทั้งเชิงความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยด้านการใช้รถใช้รถของเราๆ การออกแบบรถยนต์หรือรถส่วนบุคคลให้มีขนาดกระทัดรัดลงจึงอาจเป็นเป้าหมายที่ดี หรือการออกแบบรถให้เป็นระบบไร้คนขับ สามารถป้องกันอุบัติเหตุได้อัตโนมัติก็อาจช่วยลดอัตราบนท้องถนนให้ผู้ขับขี่ได้
เทคโนโลยีสำหรับยานพาหนะส่วนบุคคลที่ทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับผู้ขับขี่ ตลอดจนเป็นมิตรกับคนเดินและยานพาหนะอื่นๆ บนถนนนั้น เราได้เห็นเทคโนโลยีนี้จาก Tesla คือเป็นรถพลังงานสะอาด มีการปรับขนาดโครงสร้างให้เล็กลงเพื่อตอบกับพื้นที่เมืองที่มีจำกัด เช่น ไม่มีถึงน้ำมันและเครื่องยนต์ใหญ่และเปลี่ยนไปใช้แบตชาร์จพลังงานทดแทน ไปจนถึงการเป็นยานพาหนะจากระบบออโตไพลอตที่สามารถควบคุมความเร็ว การจอดรถ การเปลี่ยนเลนได้ด้วยระบบของมันเอง และรถขับเคลื่อนอัตโนมัติจะสามารถลดอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 90 จากความผิดพลาดของมนุษย์
แล้วถ้าเจ้าเทคโนโลยีนี้เข้ามาทดแทนการเดินทางด้วยรถยนต์เชื้อเพลิงของชาวกรุงได้ ในระดับผังและโครงสร้างพื้นฐาน แน่นอนว่าพื้นที่ด้านกายภาพของเมืองอาจเปลี่ยนไปตาม ถนนจากสี่เลนอาจลดทอนขนาดให้เล็กลงและเหลือเพียงสองเลน หรือมากไปกว่านั้นอาจนำพื้นที่ถนนไปใช้ประโยชน์อื่นๆ แทนการเดินรถได้ เช่นอาจขยายทางเท้าให้คนเดินเท้า เพิ่มทางปั่นให้จักรยาน กระทั่งจัดสรรโครงสร้างพื้นที่ฐานสำหรับสนับสนุนรถประเภทนั้น เช่นจุดชาร์จพลังงานรถ EV ที่ต้องมีเพิ่มขึ้นในอนาคต

การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ

เมื่อเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติมันพัฒนาไปถึงจุดนึงแล้ว ที่สามารถเดินทางได้สะดวกจริงๆ คนอาจไม่จำเป็นต้องครอบครองยานพาหนะเลยก็ได้ โดยหน้าตาของยานพาหนะอาจออกมาในรูปแบบของกระเปาะ (pod) ที่สามารถเพิ่มจำนวนกระเปาะต่อท้ายได้ตามความต้องการของจำนวนผู้ใช้ โดยกระเปาะเหล่านี้อาจจะมาแทนที่ จะมาแทนที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถแท๊กซี่ รวมไปถึงรถเมล์ รถบัส ซึ่งจะสามารถลดจำนวนรถที่วิ่งบนถนนรได้ถึง 90% อ้างอิงจากรายงานการประชุม ITF (International Transport Forum) ซึ่งได้มีการทดลองใช้ใน U.A.E ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ใช้พลังงานไฟฟ้า สามารถวิ่งได้ 20 กม/ชม โดย1กระเปาะสามารถรองรับได้ 10 คนเมื่อนั่ง และมากถึง 20 คนเมื่อยืน ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนต่อท้ายได้ตามความต้องการใช้งาน
แน่นอนว่าถ้าหากมีที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติอยู่คู่กับรถที่ขับด้วยมนุษย์อยู่ร่วมถนนกันแล้วอาจยังพบปัญหาเดิมๆอย่างอุบัติเหตุและรถติด จำมีเส้นทางเฉพาะรวมถึงข้อมูลตำแหน่งของรถโดยรอบก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะเข้าสู่สังคมไร้คนขับอย่างสมบูรณ์ รวมถึงการเชื่อมต่อยานพาหนะเข้าสู่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน ข้อมูลจราจร และตำแหน่งของรถคันอื่นๆ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ของระบบการเดินทางอย่างสมบูรณ์

โครงสร้างพื้นฐานเพื่อคนเดินเท้าและคนปั่น

หลังโรคระบาดนั้นขนส่งสาธารณะเริ่มมีบทบาทลดลง คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการเดินเท้าและจักรยาน หลายเมืองทั่วโลกก็เริ่มออกแบบเมืองและการจัดสรรพื้นที่ถนนที่คำนึงถึงคนเดินเท้าและนักปั่นมากขึ้น ไม่ว่าจะออกแบบด้วยแนวคิดเมือง 15 นาที หรือเมือง 1 นาที ในปารีสที่มีโครงการ Corona Cycleways คือเปิดเส้นทางจักรยานกว่า 650 กม. เพื่อสนับสนุนการเดินทางของสายปั่น มิลานเองก็ได้วางโครงข่ายจักรยานรอบเมือง เพื่อการสัญจรของคนและจักรยาน และเมืองต่างๆ ในยุโรปที่ยกระดับการขนส่งให้เป็นมิตรกับจักรยานและคนเดินเท้ามากขึ้น ซึ่งสำหรับกรุงเทพฯ และเมืองต่างๆ ของไทยที่เจอกับปัญหาโควิดนั้น กระแสการเปลี่ยนจากระบบขนส่งมวลชนมาเป็นเดินเท้าและจักรยาน การออกแบบเมืองให้เดินได้หรือเป็นมิตรกับคนปั่นอาจเป็นอนาคตต่อไปของกรุงเทพฯ และด้านหนึ่งก็อาจแก้ปัญหารถติดที่เราเผชิญในปัจจุบันได้

อนาคตการเดินทางแบบไร้รอยต่อ (Seamless Transport)

ปัญหาหนึ่งของการเดินทางคือระบบคมนาคมต่างๆ นั้นมักแยกส่วนออกจากกัน เราต้องเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งผ่านรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย ไม่ว่าจะการเดิน เรือ รถไฟฟ้า และจบด้วยรถเมล์ ด้วยการเดินทางหลายๆ ต่อที่ลำบาก คือเข้าถึงได้ยากและไม่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ Seamless Transport หรือการเดินทางไร้รอยต่อ จึงดูจะเป็นอนาคตของการเดินทางในกรุงเทพฯ
แนวคิดการบริหารจัดการรูปแบบนี้จะทำให้การเดินทางในเมืองมีระบบขึ้น นอกจากช่วยปัญหาหลักเรื่องการเดินทางแบบบต่อรถหลายๆ เพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ยังสามารถช่วยให้เราสะดวกสบายขึ้น และวางแผนการเดินทางได้ดีขึ้นอีกด้วย การเดินทางแบบไร้รอยต่อนี้ ด้านหนึ่งคือการนำเอา Mobility as a Service (MaaS) มาพัฒนาการเดินทางให้สะดวกและง่ายขึ้น ระบบนี้คือระบบการเดินทางที่รวมบริการทุกอย่างที่เกี่ยวกับการขนส่งมาไว้ในพื้นที่ที่อำนวยความสะดวกให้คนได้มากที่สุด
ของกรุงเทพฯ เองก็มีการการพัฒนาบัตรแมงมุม หรือในฮ่องกงก็มีบัตร Octopus ที่รวมเอาการจ่ายค่าเดินทางของขนส่งสาธารณะต่างๆ ให้สามารถจ่ายได้ผ่านระบบๆ เดียว นอกจากนี้ เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ก็ได้ทดลองใช้ระบะเดียวกันผ่านแอปพลิเคชัน Whim ตัวแอปสามารถรวมทุกบริการขนส่งเข้ามาไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเราสามารถใช้บริการเรียกรถ (Sharing Vehicle) อย่าง Grab Uber ทั้งยังจองตั๋วรถไฟฟ้า รถเมล์ รถสาธารณะ รถจักรยาน รวมไปถึงตั๋วเครื่องบินได้จบภายในแอปเดียว ซึ่งจากการทดลองใช้ระบบ MaaS ของเมืองเฮลซิงกินั้นสามารถลดการเดินทางโดยรถส่วนตัวลงได้อย่างมาก คือลดจากจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 20 และเพิ่มการใช้ขนส่งสาธารณะจากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 74

การเดินทางท่องเที่ยวภายในเมือง

เวลาเราไปลอนดอน ขนส่งสาธารณะที่ต้องใช้อยู่ประจำๆ และเป็นภาพชินตาก็คือรถบัสสองชั้นสีแดง หรือไปเวนิสก็เห็นภาพการเดินทางด้วยเรือกอนโดลา ไปฝั่งนิวยอร์กก็เป็นภาพเมืองท่ามกลางตึกสูงที่ท้อนถนนเต็มไปด้วยแท็กซี่เหลือง และถ้ามากรุงเทพฯ ภาพตุ๊กตุ๊กและการสัญจรทางเรือก็คงเป็นภาพจำของเมืองเรา ซึ่งทั้งหมดนี้คืออัตลักษณ์ของเมืองที่ผสานอยู่กับเรื่องการเดินทาง และหากอนาคตการเดินทางของเมืองต่างๆ หรือไทยเองปรับเปลี่ยนไป หน้าตาของยานพาหนะก็อาจเปลี่ยนตาม และอาจเสียอัตลักษณ์ความเป็นเราไปได้
ดังนั้นการเดินทางแห่งอนาคตจึงไม่ใช่แค่ความล้ำสมัย หรือไปถึงจุดหมายปลายทางได้ด้วยเทคโนโลยีแสนเจ๋ง แต่อาจต้องคิดรวมเรื่องอัตลักษณ์เข้าไป และด้วยกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่อยู่คู่กับน้ำมาตั้งแต่โบราณ ในอดีตเราออกแบบเมืองให้มีคูคลองเพื่อรองรับน้ำ จนได้ชื่อว่าเป็นเวนิสตะวันออกจากการเป็นเมืองที่อยู่คู่กับน้ำ ประกอบกับมีสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่สวยงามนั้น ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาได้ ภาพจำหนึ่งเวลานักท่องเที่ยวมาไทยจึงเป็นพี่วินมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กๆ ดังนั้น หากอนาคตสามารถพัฒนาขนส่งรูปแบบนี้ได้ ก็ดูจะเป็นหมุดหมายที่ดีของบ้านเรา โดยเฉพาะการพัฒนาของเดิมให้สอดคล้องไปกับสมัยใหม่
ทำนองเดียวกันในญี่ปุ่นที่เมืองโอซากาได้เอารถแทรมกลับมาวิ่งอีกครั้ง หลังจากครบรอบ 100 ปี จากอัตลักษณ์เก่าๆ ก็ได้ผสมผสานเข้ากลับเทคโนโลยีใหม่ๆ กลายเป็นเหมือนการเอาของเก่ามาทำให้เป็นอนาคตมากกว่าเคย เช่นกันกับอังกฤษที่ยังคงอัตลักษณ์รถบัสสองชั้นสีแดงไว้ คือไม่ใช้คันเดิมแต่เป็นการเปลี่ยนและพัฒนาใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย
Share :