เวลาเรานึกถึงภาพเมือง ตัวแทนของความเจริญหนึ่งคือภาพของถนนที่คับคั่งและตึกอาคารสูงเสียดฟ้า แน่นอนว่าการพัฒนายุคหนึ่งหมายถึงการอำนวยให้เกิดความเคลื่อนไหวโดยเฉพาะด้วยรถยนต์ แต่หลายทศวรรษต่อมาภาพของเมืองในอนาคตกำลังเปลี่ยนไป เมืองส่วนใหญ่วางทิศทางไปสู่พื้นที่ของผู้คน (human centric) โดยหนึ่งในแนวคิดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปีก่อนหน้าและกลายเป็นตัวแทนของการพัฒนาเมืองที่สำคัญถึงขนาดถูกมองว่า เป็นอุดมคติของเมืองและชีวิตในเมืองใหม่ คือแนวคิดเรื่องเมือง 15 นาที หรือ 15-minute city ที่โด่งดังมาจากกรุงปารีส
การกลับมาของย่านและเมืองที่รถยนต์ไม่สำคัญอีกต่อไป
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า กระแสการพัฒนาที่หันเหออกจากถนน ทางด่วน และรถยนต์นั้นไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ขนาดนั้น เมืองใหญ่หลายเมืองต่างเรียนรู้ถึงปัญหาของการมีรถยนต์และถนนว่าถนนรถยนต์นั้นกำลังทำร้ายย่าน ซ้ำด้วยทิศทางของการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศที่เมืองต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้รับผิดชอบกับโลกและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการเปลี่ยนจากรถยนต์ไปสู่ผู้คนเป็นศูนย์กลาง และการกลับมาให้ความสำคัญกับย่าน (neighborhood) ซึ่งประกอบไปด้วยการเดินและการเดินทางเล็กๆ เช่นจักรยาน ไปจนถึงเมืองสีเขียว เมืองพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นหมุดหมายและโฉมหน้าใหม่ของหลายเมืองใหญ่
แต่อาจจะด้วยแนวคิดและการสื่อสารที่ทาง Anne Hidalgo ในฐานะนายกเทศมนตรีหญิงของปารีสที่ออกมาประกาศว่า ปารีสจะรับและใช้แนวคิดเมือง 15 นาที แนวคิดจากงานศึกษาของ Carlos Moreno นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านเมืองจากมหาวิทยาลัยซอร์บอน ความฮือฮาของการประกาศจุดยืนนี้คือการบอกว่า เมืองปารีสหลังจากนี้จะเป็นเมืองที่ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานได้จากบ้านในระยะ 15 นาทีจากการเดินหรือขี่จักรยาน
แน่นอนว่าปารีสในปัจจุบันเป็นเมืองที่มีปัญหาเหมือนกับเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลาย ยิ่งยุคก่อนโควิด ปารีสยิ่งเป็นเมืองที่แน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยว ในขณะที่คนปารีสเองก็อาจเจอปัญหา เช่น การจราจร ความแออัด และมลพิษ ด้วยกรอบคิดการพัฒนาเมืองในชื่อเมือง 15 นาทีนั้นก็เลยเป็นการประกาศว่าปารีสจะกลับมาเป็นเมืองที่ดีกับผู้คน และด้วยตัวหมุดหมายที่วาดฝันของปารีสไว้ว่าคนปารีส รวมถึงผู้มาเยือนนั้น จะสามารถก้าวเดินและขี่จักรยานเพื่อเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์นั้นจึงค่อนข้างเป็นการวาดเมืองในฝันขึ้นมาใหม่ และฝันนี้ก็กำลังกลายเป็นความฝันที่หลายเมืองฝันร่วมกัน
ดังนั้นถ้าเราอธิบายอย่างเรียบง่าย หน้าตาของเมืองในอุดมคติใหม่นี้ก็จะเป็นเมืองที่ตอบสนองกับปัญหาของการพัฒนาเดิมเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระจายความเจริญออกจากศูนย์กลาง การฟื้นฟูย่านเล็กๆ การปรับวิธีการเดินทางภายในเมือง ไปจนถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การเป็นเมืองสีเขียว การพัฒนาที่กลับมาสร้างความสอดคล้องทั้งกับผู้คนและธรรมชาติ
เมือง15นาทีและปารีสกำลังก้าวไปอย่างไร
แน่นอนว่าเมือง 15 นาทีนั้นก็ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการวางหมุดหมายที่อาจเป็นไปได้ยาก มีความเป็นอุดมคติสูง และบางส่วนก็อาจจะถูกวิจารณ์ว่าไปสัมพันธ์เรื่องการเมือง การเลือกตั้งสมัยที่สองของแอนน์เอง แต่ว่าเมือง 15 นาทีก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ และถ้ามองในแง่ดีก็คือเราได้เกิดภาพอุดมคติใหม่ๆ ให้เราได้วาดเมืองที่ต่างออกไปพร้อมพยายามนำเมืองไปสู่ปลายทางนั้นกัน
สำหรับปารีสเอง ก็ถือว่าพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมือง และมุ่งเน้นไปสู่ภาพเมืองปารีสใหม่อย่างเป็นขั้นเป็นตอน การสร้าง La Ville Du Quart d’Heure’ (the quarter-hour city) ตอนนี้ปารีสก็พยายามเน้นไปที่ทั้งการกระจายพัฒนาและการบริการไปสู่เขตต่างๆ การออกแบบโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ทั้งลดการจราจรแบบเดิมลง และที่สำคัญที่สุดในการสร้างเมือง 15 นาที คือการที่ปารีสพยายามสร้างทั้งสาธารณูปโภคใหม่ๆ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมที่หักเหออกจากรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในเลนจักรยาน การส่งเสริมวัฒนธรรมจักรยาน เมื่อปลายปีที่ผ่านมาทางปารีสเองก็ประกาศว่าเมืองจะกลายเป็นเมืองหลวงที่สามารถขี่จักรยานได้ 100% มีการวางแผนว่าในปี 2026 ปารีสจะเพิ่มทางจักรยานยาวกว่า 180 กิโลเมตร เน้นการลงทุนในสาธารณูปโภคเช่นเพิ่มจุดจอดจักรยานเป็น 3 เท่า การเน้นการลงทุนสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รอยต่อเช่นระหว่างย่านพักอาศัย ย่านชานเมือง และการเชื่อมต่อเข้ากับพื้นที่ส่วนต่างๆ ของเมือง นอกจากนี้ทางเมืองก็จะเน้นไปที่วัฒนธรรมจักรยาน การสนับสนุนในด้านต่างๆ ที่รอบด้าน
นอกจากเรื่องจักรยานแล้ว การสร้างวัฒนธรรมที่มุ่งไปสู่การเดินและลดความสำคัญของรถยนต์ลงก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญ หนึ่งในแผนที่ปารีสทำคือการผลักดันให้ขนส่งสาธารณะในพื้นที่เมืองใช้บริการได้ฟรี ในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมาปารีสเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่ประกาศให้วัยรุ่นที่อายุต่ำว่า 18 ปีใช้ขนส่งสาธารณะได้ฟรี การใช้ขนส่งสาธารณะฟรีนั้นนอกจากจะเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายช่วงโควิด เพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงโอกาสแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ และวัยรุ่นใช้ขนส่งสาธารณะซึ่งจะมีการเดินและขับขี่จักรยานประกอบไปเป็นการเดินทางหลักของชีวิตประจำวัน
สุดท้าย เมือง 15 ว่าด้วยเมืองที่ดีกับผู้คน เมืองที่ดีกับการเดิน และแน่นอนดีกับโลก ดังนั้นทิศทางสำคัญของปารีสคือการเป็นเมืองที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ มีการวางหมุดหมายทั้งการตั้งใจเป็นเมืองที่เขียวที่สุดของยุโรปในปี 2030 การวาดภาพของย่านกลางเมืองทั้งบริเวณหอไอเฟลให้รายล้อมด้วยสวนและเป็นพื้นที่สำหรับการเดิน ไปจนถึงการใช้โอลิมปิกในปี 2024 ให้เป็นหมุดหมายของการพัฒนาเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจ
Graphic Design by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer