ช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ ช่วงส่งท้ายของเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่เราอาจรู้สึกถึงบรรยากาศประหลาดของเมือง
กลิ่นต้นตีนเป็ดยามโพล้เพล้ ท้องฟ้าที่มืดลงอย่างรวดเร็ว เมืองเป็นพื้นที่ที่ทั้งสว่างไสวเต็มไปด้วยชีวิต แต่ถัดไปอีกไม่มาก บางพื้นที่ของเมืองก็กลายเป็นพื้นที่รกร้าง เป็นพื้นที่ที่มืดมิด หลับไหลรอการดูแลต่อไป
ในช่วงเวลาปล่อยผีวันฮาโลวีน City Cracker ชวนสำรวจพื้นที่เมืองในบริบทแบบไทยๆ เมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่หลอกหลอน เต็มไปด้วยจุดอับหรือพื้นที่ต่างๆ ที่เราต้องรีบก้มหน้าลงต่ำและย่ำเท้าอย่างรวดเร็ว พื้นที่ที่อันที่จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การพัฒนาเมืองรวมถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของเราเอง จากบ้านร้างโบราณที่เคยครอบครองความยิ่งใหญ่ในยุคก่อนหน้า ตึกสูงที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ห้างหรูที่เคยอยู่คู่กับชุมชนสำคัญ โรงหนังที่เสื่อมความนิยมให้กับโรงหนังและห้างสรรพสินค้ามัลติเพล็กซ์
นี่คือเหล่าพื้นที่ที่เราไม่กล้ากล้ำกราย พื้นที่ที่มีเรื่องราวและอาจเป็นสินทรัพย์และโอกาสสำคัญ พื้นที่เช่นอาคารบ้านเก่าที่กรมธนารักษ์เตรียมสำรวจและทำประโยชน์กว่า 200 แห่ง ไปจนถึงบ้านร้างที่ความน่ากลัวเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนที่ลดลง เป็นโอกาสที่คนรุ่นถัดๆ ไปจะได้รับมรดกตกทอดมา
ตึกสูงร้าง ผลกระทบจากปี 2540
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้การลงทุนต่างๆ ชะงักลงอย่างรุนแรง ตึกสูงที่เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่หลายอาคารกลายเป็นตึกร้าง อาคารสำคัญคืออาคารยักษ์ที่วางให้เป็นคอมเพล็กซ์คอนโดมิเนียมสูง 49 ชั้น วิวริมน้ำทุกห้องกลายเป็นตึกร้างขนาดใหญ่ใจกลางเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ ตึกร้างเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เราพบได้บ่อย แน่นอนว่าอาคารร้างนับเป็นพื้นที่เสี่ยงของเมือง ทั้งการเป็นจุดอับ เป็นพื้นที่ก่ออาชญากรรม หรืออันตรายจากโครงสร้างอาคารที่สร้างไม่เสร็จหรือถูกปล่อยทิ้งไว้
ตึกร้างเองเป็นเหมือนพื้นที่ที่ค่อยๆ ผุพังขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทางกายภาพและกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและความสลดหดหู่หรือเรื่องสยองขวัญต่างๆ แน่นอนว่าอาคารสูงโดยเฉพาะที่เป็นผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจ หลายแห่งมีทำเลยอดเยี่ยม การปรับจุดบอดของพื้นที่เมืองไปสู่การใช้ประโยชน์ สร้างความหมายใหม่ให้พื้นที่เดิม นำไปสู่การใช้งานใหม่ๆ นับเป็นอีกโอกาสและความท้าทายของเมือง
ห้างเก่า ความหมายใหม่
ห้างสรรพสินค้าเป็นอีกหนึ่งกิจการและพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากยุคหนึ่งที่เรามีห้างในย่านสำคัญกลางเมืองเก่า อาทิ ห้างแบดแมน ห้างนิวเวิลด์ หรือเอดิสันที่ศรีย่าน ห้างเก่าเหล่านี้บางส่วนกลายเป็นพื้นที่ของเครือห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ขึ้น แต่บางห้างตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเดิม เมื่อชาวชุมชนเปลี่ยนการเดินทางและการช้อปปิ้งไปยังห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรือความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ทำให้ห้างเหล่านี้ปิดกิจการ หลายแห่งกลายเป็นพื้นที่รกร้าง
พื้นที่ห้างจึงสัมพันธ์กับหลายมิติ เช่น การฟื้นฟูย่านชุมชนเดิมให้กลับมามีชีวิต ตัวห้างเก่าที่อาจกลายเป็นศูนย์กลางชุมชนหรือพื้นที่ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ อาจกลายเป็นพื้นที่ที่เก็บงำประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมหรือพื้นที่ทางศิลปะใหม่ๆ ได้ เป็นพื้นที่ที่อาจสามารถนำเรื่องราวกลับมาเป็นต้นทุนหนึ่งในการใช้งานต่อไป
โรงหนังเก่า กับการเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม
ปรากฏการณ์โรงหนังเก่าเป็นผลพวงของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก กิจการโรงหนังที่เคยเป็นโรงหนังขนาดกลางและขนาดเล็ก ฉายหนังอย่างเดียว อยู่ใกล้ๆ ชุมชน ได้พ่ายแพ้ให้กับการดูหนังในโรงขนาดใหญ่โดยเฉพาะโรงหนังในห้าง โรงหนังจึงกลายเป็นอีกพื้นที่เสื่อมโทรมเมื่อเลิกกิจการแล้ว บางแห่งอาจยังคงฉายหนังอยู่ แต่ด้วยตัวพื้นที่ที่ค่อนข้างลับตา ก็กลับกลายเป็นพื้นที่อันตรายในหลายแง่
อย่างไรก็ตามด้วยความที่โรงหนังเก่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในหลายมิติ เช่น โรงหนังและการดูหนังนับเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ที่อาจเป็นพื้นที่สาธารณะได้ เราจึงมักเห็นการปรับปรุงโรงหนังเก่าไปสู่พื้นที่ทางวัฒนธรรมอื่นๆ มีการปรับปรุงเพื่อการฉายหนังในมิติทางวัฒนธรรม มีการสนับสนุนจากรัฐ เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะในรูปแบบเฉพาะตามบริบทของพื้นที่และความต้องการของชุมชน
บ้านร้างเก่า ต้นทุนของคนยุคใหม่
ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ประกอบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่เมืองเราจะพบบ้านเก่าอันหมายถึงบ้านที่สถาปัตยกรรมจากยุคก่อนหน้า อาจจะเป็นบ้านขุนนางเก่า วังร้าง เป็นพื้นที่ที่เราจะเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องเหนือธรรมชาติต่างๆ ได้โดยง่าย เนื่องจากบ้านร้างเหล่าเป็นที่ที่ขาดการดูแลอาจจะด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงด้วยเรื่องเล่าหลอกหลอนต่างๆ ที่อาจมีหรือไม่มีจริงก็ได้ พื้นที่บ้านร้างเก่าจึงเป็นอีกหนึ่งจุดบอดของเมือง
บ้านเก่าเหล่านี้ถ้าเรามองข้ามเรื่องที่มองไม่เห็นไป อาคารเก่านับเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมจากยุคก่อนหน้า เป็นอาคารที่เก็บงำความมั่งคั่ง เทคนิกวิธีการก่อสร้าง ไปจนถึงความคิดความเชื่อของคนในยุคก่อนหน้าซึ่งเป็นสิ่งที่เราน่าจะรักษาดูแลไว้ ในบางมุมมอง เช่น ศิริวัฒน์ มังคลรังษี ผู้ที่สนใจและลงทุนในบ้านเก่าและเปลี่ยนเป็นอสังหาริมทรัพย์ร่วมสมัย
นอกจากมุมมองต่ออาคารเก่าในมุมอนุรักษ์แล้ว ยังได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับกรุงเทพธุรกิจได้อย่างน่าสนใจว่า อาคารบ้านเก่าเหล่านี้นับเป็นมรดกจากคนในยุคก่อนหน้า ยุคสมัยที่มีทรัพยากรเหลือเฟือ บ้านเหล่านี้มักมีวัสดุ การก่อสร้างและที่สำคัญคือมีทำเลที่ดี ในฐานะคนรุ่นต่อมาคือคน Gen Y ยุคที่ไม่ได้มีทรัพยากรมากแล้ว บ้านร้างเหล่านี้จึงเป็นมรดกที่สำคัญอย่างหนึ่ง ล่าสุดกรมธนารักษ์ก็ระบุว่ามีพื้นที่ที่เก่าแก่และอาจเชื่อมโยงกับเรื่องเหนือธรรมชาติราว 200 แห่ง กำลังเตรียมพัฒนาและปล่อยเช่าต่อ โดยเน้นไปที่การอนุรักษ์ และเปิดเป็นพื้นที่พาณิชย์ที่เหมาะสมต่อไป
พื้นที่ร้าง แต่ฟังก์ชั่นไม่ร้าง
ที่ดินร้าง หรือที่รกร้างเป็นสิ่งที่เราเจอได้เกือบทั่วไป ในตรอก ซอกซอย เดินๆ ไปก็อาจจะเจอที่ร้างๆ ทำให้เรารู้สึกแปลกๆ และต้องรีบเดินให้พ้นจากบริเวณรกร้างนั้นไป พื้นที่ร้างส่วนใหญ่มักจะปกคลุมด้วยวัชพืช อาจจะมีสัตว์ต่างๆ ไปจนถึงมีการใช้งานที่ไม่ถูกต้องนัก
สำหรับพื้นที่รกร้างถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่สีเขียวรูปแบบหนึ่ง การดูแลพื้นที่ร้างโดยรักษาความรกร้างไว้และอาจปรับปรุงให้ส่งผลเชิงบวกในเชิงสิ่งแวดล้อม เช่นการเพิ่มพืชพรรณให้หลากหลายขึ้น ไปจนถึงการดูแลด้านความปลอดภัย พื้นที่รกร้างเหล่านั้นก็อาจส่งผลเชิงบวกให้กับเมือง เป็นพื้นที่เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยซับน้ำ เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่ไม่น่ากลัวหรือไม่ก่ออันตราย
- Vanat Putnark
Writer
- Montree Sommut
Graphic Designer