เศร้า…เรารู้ดีว่าการนั่งรถไปทำงานนานๆ ส่งผลกับความรู้สึก สุขภาพ และความรักงาน (ถึงงานจะดีแค่ไหน ถ้าต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับ 3 ชั่วโมง ความรักก็แพ้ระยะทางได้เหมือนกัน) ปกติแล้วในระหว่างเดินทางเราจะรู้สึกว่าเป็น ‘เวลาของเรา’ เป็นเวลาของความสุข เช่น ฟังเพลง ดูยูทูบ หรือแอบงีบหลับ แต่ล่าสุดงานศึกษาที่ฟังดูแย้งกับความรู้สึกคือคนที่ใช้เวลานั่งรถไปกับการทำงานจะส่งผลดีกว่าการแอบผ่อนคลาย
อ่านแล้วก็อย่าเพิ่งโกรธเพราะนักวิจัยมีคำอธิบายที่ฟังดูสมเหตุสมผล หลักการสำคัญคือช่วงเวลาเดินทางถือเป็นห้วงเวลาที่เราเตรียมความพร้อมไปสู่อีกบทบาทหนึ่ง ในกรณีนี้คือการเปลี่ยนบทบาทจากบ้านไปสู่บทบาทของการทำงาน ศาสตราจารย์ Francesca Gino ทำงานศึกษาชื่อ ‘Between Home and Work: Commuting as an Opportunity for Role Transitions’ แกบอกว่าการเปลี่ยนความรู้สึกจากบ้านไปสู่การทำงานอาจฟังดูง่ายๆ แต่ไม่ง่ายขนาดนั้น แกพบว่าคนที่ใช้ช่วงเดินทางเพื่อเตรียมไปสู่บทบาทการทำงานส่งผลให้พนักงานคนนั้นพร้อมกับการทำงานมากกว่า
ในทางกลับกัน การใช้เวลาเดินทางไปกับการแอบชิล ไถมือถือ กลับกลายเป็นการทำให้การ ‘เปลี่ยนบทบาท’ จากบ้านไปที่ทำงานถูกขัดไป ผลคือ เราอาจรู้สึกแย่กับงานและรู้สึกอยากลาออกมากกว่าคนที่เตรียมความพร้อม เตรียมใจ ค่อยๆ ปรับความรู้สึกรับการทำงานในวันใหม่ นักวิจัยบอกว่าเราอาจรู้สึกว่าการปรับอารมณ์เป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆ การปรับอารมณ์จากบ้านไปสู่การทำงาน อันเป็นบทบาทภาระและการใช้เวลาทั้งวัน ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เช่น การนั่งรถไปทำงานก็ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะส่งผลกับเราไปตลอดวัน
ฟังดูแล้วก็ร้อง หื้มมม จริงๆ บางทีก็แล้วแต่วันเนอะ บางวันเราก็ไลน์คุยงานตั้งแต่นั่งรถ บางทีก็แอบงีบ แอบใช้เวลาส่วนตัวปนกันไป มีนักวิจัยชื่อ Juliet Jain เสนอความคิดว่า ด้วยความที่บางทีเราทำงานออนไลน์กันบ่อยๆ ทางคุณ Juliet เสนอว่าเราควรนับช่วงเวลาเดินทางไปทำงานเข้าเป็นเวลางานด้วยเลยดีกว่า เธอเสนอข้อมูลว่า หลังจากมีแจกไวไฟฟรีในสองเส้นทางของลอนดอน เธอพบว่าในผู้โดยสาร 5,000 รายที่ใช้ไวไฟฟรีกว่าครึ่ง (54%) ใช้ไปกับการส่งอีเมลเรื่องงาน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Vanat Putnark
Writer