CITY CRACKER

กรุงเทพติดอันดับ 15 เมืองที่แพงที่สุด ชีวิตดีได้ ถ้ารวยพอ

ชีวิตที่ดีมีราคา เมืองใหญ่ทั่วโลกเองก็เช่นกันที่แต่ละเมืองจะเป็นตัวแทนของความหรูหราและความแพงของเมืองนั้นๆ ล่าสุดทาง Julius Baer Group ออกรายงานชื่อ Global Wealth and Lifestyle Report 2022 สำรวจราคาของสินค้าหรูที่ครอบคลุมในหลายด้านตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หุ้น ที่ดิน บริการด้านวิชาชีพ เช่น ทนายความ การศึกษาระดับสูง เช่น MBA ไปจนถึงกระเป๋า เครื่องประดับ อุปกรณ์ดิจิตัลและสินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ ว่าราคาของสินค้าและการบริโภคสินค้าเหล่านั้นในแต่ละเมือง มีความแพงมากน้อยอย่างไรเทียบกันในระดับเมืองและระดับภูมิภาค

เมืองที่ติดอันดับเมืองที่มีราคาแพงสัมพันธ์กับราคาที่อยู่อาศัย รถยนต์ ค่าเดินทางทางอากาศ ค่าใช้จ่ายในการศึกษาด้านธุรกิจและสินค้า Luxury อื่นๆ โดยเมืองติดอันดับแพงที่สุดมีเมืองใหญ่ของเอเชียติดร่วมกับเมืองหลวงแนวหน้าของโลก โดยในลิสต์นี้ กรุงเทพฯ บ้านเราเองก็ติดอันดับ 15 ซึ่งถือเป็นอันดับที่ค่อนข้างสูงโดยอยู่ถัดจากดูไบมา ในขณะใน 5 อันดับแรกมีเซี่ยงไฮ้ ลอนดอน ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์

จุดที่น่าสนใจคือเมืองในเอเชียของเราติดอันดับเมืองที่แพงมากกว่า โดยที่อเมริกากลายเป็นภูมิภาคที่นับเป็นเมืองราคาประหยัด (affordable) โดยสิบอันดับแรกไม่มีอเมริกาเลย มีแค่นิวยอร์กอยู่ในอันดับ 11 นอกจากนี้กลุ่มประเทศที่นับได้ว่ามีราคาถูกคืออยู่ท้ายๆ ตารางก็ประกอบด้วยจาการ์ต้า มนิลา และมุมไบ คือที่ดินอาจจะแพง แต่ค่าใช้จ่ายหรือราคาสินค้าอื่นๆ ถูกกว่าที่อื่น

นอกจากนี้รายงานฉบับนี้ยังสะท้อนกระแสการใช้จ่ายและการลงทุนในสินทรัพย์และกลุ่มสินค้าประเภทต่างๆ ผลกระทบสำคัญของโรคระบาดทำให้การลงทุนในบางสินค้าพุ่งสูงขึ้น เช่น กลุ่มเทคโนโลยีที่กลายเป็นสิ่งที่คนลงทุนเพื่อรักษาการเชื่อมต่อในช่วงล็อกดาวน์ ในปีนี้รายงานก็พูดถึงผลกระทบของโรคระบาดและอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้น ราคาสินค้าและบริการใน Lifestyle Index ในปีนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% จากที่มักเพิ่มขึ้นราว 1% ต่อปี และพฤติกรรมการใช้จ่ายแม้ในหมู่คนรวยเองก็เปลี่ยนไปจากความไม่แน่นอน กลุ่มสินค้าที่โดดเด่นและมีการบริโภคมากขึ้นคือสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ สุขภาวะและความมั่นคงทางการเงิน ทั้งยังมีตัวเลขที่น่าสนใจ เช่น การทำงานที่บ้านและปัญหาเรื่องชิปส์ในการผลิต ทำให้ราคาของสินค้าเช่นแล็ปท็อปและสมาร์ตโฟนพุ่งสูงขึ้น รวมทั้งการจ้างทนายแพงขึ้นราว 33% และราคาจักรยานพุ่งสูงขึ้น 30%

อย่างไรก็ตามกรุงเทพฯ เองก็ติดอันดับเมืองที่แพงมาตั้งแต่รายงานของปีก่อนหน้า คือกรุงเทพฯ จัดเป็นเมืองที่แพงในระดับกลางๆ ปีที่แล้วอยู่ในอันดับที่ 11 ในปีนี้อยู่ในลำดับที่ 15 รายงานชุดนี้เน้นวิเคราะห์กลุ่มที่มีสินทรัพย์ระดับสูง (high-net-worth individuals (HNWIs)) โดยความแพงก็สัมพันธ์กับมูลค่าในการรักษาคุณภาพชีวิตและรักษาความมั่งคั่ง ทั้งในแง่ของสินทรัพย์และความมั่นคงด้านอื่นๆ เช่น สุขภาพ ความก้าวหน้า หรือความสัมพันธ์ในสังคม

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

juliusbaer.com

Share :