CITY CRACKER

เพราะที่ว่างมีศักยภาพ: กิจกรรมพัฒนาพื้นที่ว่างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวของโครงการ We! Park

เรารู้กันดีว่ากรุงเทพฯ นั้นมีพื้นที่สีเขียวน้อย และไม่เพียงพอกับปริมาณต่อคนที่ควรมี แถมสวนสาธารณะที่มีอยู่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ง่ายๆ การจะไปสวนสาธารณะจึงดูเหมือนเป็นเรื่องที่เราต้องใช้ความพยายาม และความตั้งใจ ทั้งที่เราควรจะมีสวนอยู่ใกล้ๆ และเข้าถึงได้ในระยะ 400 เมตรตามที่องค์กรอนามัยโลกบอก แต่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็ไม่ได้หมดหวังเสียทีเดียว เพราะเรายังมีพื้นที่ว่างที่ซ่อนอยู่ตามย่านต่างๆ ในเมืองที่สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวได้

 

โครงการ We! Park โดยความร่วมมือของ สมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทย กับ กรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จึงเป็นโครงการที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่ว่างให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่คุณภาพและยั่งยืน ด้วยการค้นคว้าวิจัยและเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเพื่อให้พื้นที่สาธารณะนั้นเป็นไปตามความต้องการของคนในพื้นที่

 

ตอนนี้ก็ โครงการ We! park มีพื้นที่นำร่องทั้งหมด 3 ที่ด้วยกัน คือ พื้นที่ว่างหลังวัดหัวลำโพง พื้นที่ย่านราชประสงค์ และพื้นที่ย่านอโศก ซึ่งทั้ง 3 ที่นี้ก็ได้มีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ หรือ workshop ที่ร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้ที่สนใจ ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อค้นหาแนวทางพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งไอเดียที่ได้มาจากการทำกิจกรรมก็เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบ คนในพื้นที่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไอเดียที่ได้จากการเวิร์กชอปก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จะนำไปสู่การสร้างพื้นที่จริงให้กับชุมชนด้วย

 

พื้นที่ว่างที่มีศักยภาพ

เกณฑ์การเลือกพื้นที่ของโครงการ We! park คือเป็นพื้นที่นอกอาคารหรือภายในอาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือมีการใช้งานน้อย สามารถเข้าถึงได้ง่าย และพื้นที่นั้นสามารถเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนในเมืองเข้ามาใช้งานได้อย่างน้อย 10 ปี หรือถาวร และที่สำคัญต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

พื้นที่นำร่องของโครงการตอนนี้คือพื้นที่หลังวัดหัวลำโพง พื้นที่ลานโล่งขนาด 262.70 ตารางวา เป็นพื้นที่เอกชนที่ยกให้กับทางกรุงเทพมหานครซึ่งในตอนนี้ทางกทม. เองก็เตรียมที่จะปรับสภาพพื้นที่เพื่อเป็นสวนของชุมชนในละแวกนั้น พื้นที่ต่อมาคือพื้นที่ย่านราชประสงค์ที่เป็นย่านการค้าขนาดใหญ่และเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมต่างๆ ด้วย และพื้นที่ต่อมาคือย่านอโศกที่มีความคึกคักแทบทุกช่วงเวลาและมีการใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งทั้งสามพื้นที่นี้ก็ได้เป็นโจทย์สำคัญในการทำเวิร์กชอป เพื่อให้ได้ข้อมูลและการออกแบบที่ตอบสนองต่อการใช้งานของคนในพื้นที่

 

กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)

เมื่อวันที่ 13 – 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา โครงการ We! park ได้มีกิจกรรมเวิร์กชอป ร่วมกับนิสิตภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพื้นที่นำร่อง 2 พื้นที่ คือลานหลังวัดหัวลำโพงและพื้นที่ย่านราชประสงค์

โจทย์ของทั้งสองพื้นที่ก็แตกต่างกันไป โดยพื้นที่หลังวัดหัวลำโพงจะเป็น pocket park + community ที่ตอบสนองต่อการใช้งานที่หลากหลายของคนในชุมชน และสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนโจทย์ของพื้นที่ย่านราชประสงค์คือ pocket park + commercial ส่งเสริมการใช้งานและแก้ปัญหาที่พบในปัจจุบัน ซึ่ง 5 วันของกิจกรรม We!Park workshop #1 ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ลงพื้นที่ และค้นหาแนวทางเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เป็นการทำงานร่วมกันที่นอกจากจะทำให้ได้พื้นที่ที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่มแล้ว ยังทำให้เกิดการตระหนักและรู้สึกว่าพื้นที่นั้นเป็นของทุกคน เป็นพื้นที่ที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

แม้กิจกรรมนี้จะมีเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่ทุกคนก็มุ่งมั่นและทุ่มเทจนออกมาเป็นผลงานสำหรับนำเสนอต่อสาธารณะ เป็นพลังเล็กๆ ที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้กันสังคม และนำไปสู่การสร้างพื้นที่สาธารณะต่อไปในอนาคต  โดยในวันสุดท้ายของการเวิร์กชอปผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทั้งสองพื้นที่ก็ได้เข้าร่วมฟังการออกแบบพัฒนาแลละพื้นที่จากนิสิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนชุมชนของวัดหัวลำโพง ตัวแทนผู้ค้าย่านราชประสงค์ ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงตัวแทนกลุ่มบริษัทออกแบบต่างๆ ที่มาร่วมให้คำแนะนำตลอดการเวิร์กชอป

และในตอนนี้พื้นที่นำร่องที่ 3 อย่างย่านอโศก ก็กำลังมีการเวิร์กชอปกันอยู่โดยครั้งที่สองนี้ร่วมกับนิสิตจากมหาวิทาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งโจทย์ของพื้นที่นี้คือบริเวณหน้าธนาคารเกียรตินาคิน ข้ามไปยังมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เชื่อมต่อไปยังท่าเรือ การเวิร์กชอปนี้จะออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อรองรับการใช้งานของคนหลายรูปแบบและเชื่อมต่อเส้นทางสัญจรให้สะดวกและปลอดภัย

 

ก็ต้องรอติดตามต่อไปว่าครั้งต่อไปพื้นที่ว่างตรงไหนที่จะมาเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาพื้นที่ว่างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวอีก เพราะเมืองของเรายังมีพื้นที่ว่างที่มีศักยภาพและรอการพัฒนาอีกหลายแห่ง

 

 

Share :