CITY CRACKER

Stefano Boeri ผู้เปลี่ยนแปลงเมืองด้วยต้นไม้ใหญ่ เจ้าของผลงาน Bosco Verticale

“การปลูกต้นไม้อาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลก การสร้างตึกต้นไม้ และเพิ่มป่าในเมืองอาจไม่ใช่เพียงเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่น่าจะเป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยให้เผ่าพันธุ์ของเราดำรงชีวิตรอดต่อไปได้”

 

Stefano Boeri เป็นสถาปนิกชาวอิตาลีที่ทรงอิทธิพลกับโลกสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม เป็นสถาปนิกคนสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นความสำคัญของต้นไม้ และจินตนาการถึงการอยู่ร่วมกันของอาคารสมัยใหม่และเหล่าพืชพรรณ ผ่านผลงาน Bosco Verticale ตึกอพาร์ตเมนต์ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้หลากสีสันในเมืองมิลาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของงานออกแบบป่าแนวตั้ง ที่มอบแรงบันดาลใจมุมมองใหม่ๆ ให้กับการออกแบบตึกในยุคปัจจุบัน

แต่ผลงานของสเตฟาโน่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในระดับการออกแบบอาคาร แต่เขายังผลักดันไปถึงระดับความคิด ส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของต้นไม้อันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรับมือและแก้ปัญหาที่เมืองใหญ่ของเรากำลังเผชิญ งานออกแบบของสเตฟาโน่ก้าวไกลไปถึงระดับการสร้างป่าไม้ในเมืองใหญ่ (Urban Forestry) อันเป็นโครงการที่หลายเมืองกำลังพยายามสร้างเพื่อให้เรายังอยู่กับโลกใบนี้ได้ เป็นจินตนาการของเมืองที่ดีในยุคต่อไป  ในระดับรูปธรรมสเตฟานโน่ยังร่วมผลักดันโครงการ The Great Green Wall of Cities กับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยมุ่งหวังจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในเมืองจำนวน 500,000 เฮกตาร์ และปลูกป่าธรรมชาติอีก 300,000 เฮกตาร์ ตลอดแถบแอฟริกาไปจนถึงเอเซียกลางให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2030

เมื่อเดือนที่ผ่านมา สเตฟาโน่ได้มาบรรยายที่ ACT Forum’19 งานประชุมสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติประจำปีของวงการสถาปนิกไทย City Cracker ได้พูดคุยกับสเตฟาโน่ถึงแนวทางการทำงานสถาปัตยกรรม และอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงเมืองจากจุดเล็กๆ ที่สามารถทำได้ทันที เพียงแค่เริ่มปลูกต้นไม้

 

ในฐานะสถาปนิก คุณมีสถานที่ไหนเป็นแรงบันดาลใจพิเศษไหม 

มีหลายสถานที่เลยสำหรับผม แต่มีที่หนึ่งที่ผมไม่มีวันลืม คือตอนนั้นผมอายุ 14 คุณแม่ผมเป็นสถาปนิกอยู่ที่มิลาน ท่านพาผมไปที่ Salk Institute ออกแบบโดย Louis Kahn ที่แคลิฟอร์เนีย ที่นั่นเป็นสเปซริมมหาสมุทรที่วิเศษมาก แม้ว่าจะเดินอยู่ในตัวตึกแต่เรากลับรู้สึกถึงท้องทะเลได้ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นวิวใดๆ เลย ตรงนี้เป็นประสบการณ์น่าทึ่งมากเพราะอาคารสามารถส่งผ่านประสบการณ์บางอย่างที่ไม่อาจมองเห็นด้วยสายตา ครั้งนั้นจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เป็นช่วงเวลาที่ผมตัดสินใจจะประกอบอาชีพสถาปนิก

 

 

หลังจากที่คุณเป็นสถาปนิกมาหลายปี คุณคิดว่าปัจจุบันอาชีพนี้มีบทบาทอย่างไร

มีหลายอย่างเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนพอสมควร อาจพูดได้ว่าหน้าที่ของสถาปนิกคือการทำนายอนาคตของพื้นที่การใช้งาน ผมคิดว่าจุดเด่นของอาชีพนี้คือ เราต้องสร้างสมดุลระหว่างสองแง่มุม หนึ่งคือการเปิดกว้างต่อข้อมูลอันหลากหลาย และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับอนาคต มันเป็นส่วนหนึ่งที่เราต่างก็ทำอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทำความเข้าใจเรื่องบริบทรายล้อม ความเป็นไปของเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทว่าในอีกด้านหนึ่ง เราจำเป็นต้องสร้างสรรค์ผลงานที่พิเศษ แปลกใหม่ พร้อมเลือกใช้วัสดุอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งบทบาทที่สองนี่แหละที่ช่วยคัดสรรความเป็นไปได้ให้ตอบรับกับอนาคต ผมเลยเชื่อว่าเราต้องใช้สองวิธีคิดนี้ในเวลาเดียวกัน

 

 

ดูเหมือนว่าคุณจะมองงานสถาปัตยกรรมเป็นพื้นที่เชิงทดลอง ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหม

ผมคิดว่าเราต้องเรียนรู้จากข้อผิดพลาดจริงๆนะ โดยปกติเรามักจะพูดถึงแต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้น โลกนี้เต็มไปด้วยคำพูดที่ว่าเราต้องดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่วิชาชีพนี้มีความผิดพลาดซ่อนอยู่ไม่น้อย เป็นอะไรที่น่าเสียดายมาก เพราะเราสามารถเรียนรู้จากพวกมันได้ด้วยซ้ำ 

หลายๆ ครั้ง สถาปนิกถูกขอให้ส่งงานประกวดแบบ ผมเชื่อว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการทดลองไอเดียใหม่ๆ ถ้าเรามองการแข่งขันเป็นแบบนั้น เราจะไม่มีวันแพ้เด็ดขาด อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้จากมันแน่นอน ผมและทีมงานทำอย่างนี้ที่ออฟฟิศสาขามิลาน พวกเราจะศึกษาโครงการที่ตัวเองไม่ค่อยชอบ หรือไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก แล้วพยายามเปลี่ยนข้อผิดพลาดนั้นให้กลายเป็นข้อได้เปรียบในงานถัดไป

ถึงอย่างนั้นรอยตำหนิที่ว่าก็ถูกสร้างขึ้นในงานสถาปัตยกรรมแล้วโดยไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราจึงต้องมีความกล้าที่จะยอมรับมันให้ได้ และสามารถพูดถึงมัน และเปิดเผยอย่างสร้างสรรค์ 

 

 

ความสนใจในการใช้ต้นไม้จำนวนมากกับงานออกแบบของคุณมาจากไหน

โห มีเยอะเลย คงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาเหตุผลเพียงข้อเดียวมายืนยันความชอบของผม จริงๆ อาจจะเริ่มมาจากตอนเด็กๆ ผมรู้สึกว่าต้นไม้มีความพิเศษ แต่ละต้นมีลักษณะแตกต่างกันออกไป พวกมันต่างก็มีความนึกคิดและท่วงทำนองการสื่อสารเป็นของตัวเอง ถึงอย่างนั้น มนุษย์เราก็มักละเลยและมองข้ามความสำคัญของพวกมันไป เราแยกต้นไม้แต่ละต้นไม่ออกด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่สิ่งมีชีวิตสีเขียวเหล่านี้มีบทบาทต่อชีวิตเรามาก

สมัยที่ผมยังสอนอยู่ที่ Graduate School of Architecture ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผมไปดูงานที่ดูไบกับนักเรียนตอนประมาณปี 2005 ผมจำได้เลยว่าเมืองมีตึกสูงใหม่ๆ กว่า 200 ตึกที่ปกคลุมด้วยกระจกทั้งหมด ผมก็ลองพูดคุยกับนักเรียนดูทำนองว่า กระจกนี่เป็นวัสดุชั้นยอดเลย แต่มันดีสำหรับพื้นที่สาธารณะจริงหรือเปล่า  ประกอบกับตอนนั้นเองผมได้รับโอกาสสร้างอาคาร Bosco Verticale ที่มิลาน เลยเกิดไอเดียว่าทำไมเราไม่ลองทำอะไรที่แหวกแนวไปเลยดูล่ะ เช่น สร้างตึกที่เป็นบ้านสำหรับต้นไม้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวงการสถาปัตย์มาก่อน โชคดีที่ทางนายทุนให้การตอบรับกับผมด้วย 

 

 

Bosco Verticale จุดเริ่มต้นการจัดวางต้นไม้บนอาคาร

ใช่ครับ เราเลือกใช้พืชพรรณและต้นไม้โดยอิงตามความชื้น ปริมาณแสงแดด และลมพัด อย่างตรงอาคารฝั่งเหนือจะปลูกต้นไม้ที่ผลัดใบในฤดูหนาว ปัจจัยนี้สำคัญมากเพราะช่วยให้แสงส่องถึงด้านในได้ ส่วนจุดอื่นๆ ที่ต้องการร่มเงา สภาพอากาศจะต่างกันมาก เราเลยต้องใช้ต้นไม้กิ่งก้านใหญ่ที่สร้างเงากำบังตึกได้ เห็นไหมว่าต้นไม้พวกนี้ให้ความรู้ใหม่ๆ กับเราตลอด เราทำงานโดยเฝ้าดูว่าพืชพรรณเหล่านี้เติบโต แผ่ใบ และโต้ตอบอย่างไรเมื่อกิ่งก้านสัมผัสกับสิ่งภายนอก มันเป็นกรณีศึกษาที่เอาไปปรับใช้ในงานออกแบบชิ้นถัดไป

ที่สำคัญการสร้าง Vertical Forest แบบ Bosco Verticale กำลังจะกลายเป็นโมเดลใหม่สำหรับการพัฒนาเมืองและโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้น มันช่วยทำความสะอาดอากาศ ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษ ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง เติมเต็มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่สิ่งมีชีวิตอื่น แถมเพิ่มเติมคุณประโยชน์ด้านอื่นด้วย  ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไรที่เราจะปลูกพืชพรรณแน่นขนัดบนพื้นที่ขนาดเล็กบนอาคารแบบนี้ได้ ตรงนี้เองที่ทำให้ตึกของเราแตกต่างจากที่อื่น เพราะเทียบเท่ากับป่าขนาด 3 เฮกตาร์เลยทีเดียว

นอกจากการสร้างป่าแนวตั้งที่ว่าแล้ว ภาพใหญ่ในการสร้างป่าระดับเมือง (Urban Forestry) ล่ะ เป็นยังไงบ้าง

ถ้าพูดถึง Urban Forestry เรากำลังหมายถึงสองประเด็นหลักๆ อย่างแรกคือกระบวนการที่ผมเรียกว่า “Demineralization” หรือการลดจำนวนพื้นผิวแร่ดาดแข็งจำพวก คอนกรีต หินอ่อน กรวดหิน อะลูมิเนียม หรือเหล็ก ให้น้อยลง แล้วเพิ่มพื้นผิวทางชีวภาพเข้าไป ขั้นตอนนี้สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นหลังคาเขียว (green roof) กำแพงเขียว (vertical lawn) ทางเชื่อมสีเขียว (green corridor) หรือแม้แต่การแทนที่ลานจอดรถด้วยต้นไม้ นี่คือบางอย่างที่เราทำได้เลย ไม่สิ เรียกว่าต้องทำให้เกิดขึ้นกับเมืองที่พวกเราอยู่ตอนนี้เลยต่างหาก 

ในขณะเดียวกัน เราอาจจินตนาการถึงการสร้างเมืองแห่งใหม่ทั้งหมดได้เหมือนกัน แต่อันนี้ต้วองมาพร้อมกับการสร้างป่าที่ช่วยผสานตัวเมืองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมรอบข้างและต้องมีระบบจัดการที่ยั่งยืนภายในเมืองด้วย ดังโปรเจกต์ของเราที่ชื่อ Forest City ใกล้เมือง Cancun ประเทศเม็กซิโก

 

ดูเหมือนต้นไม้จะเป็นทางออกที่ง่ายและเป็นมิตรที่สุดในการรักษาโลกของเรา

แน่นอนว่าเป็นเพราะพวกมันช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เลยเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์เรา การสร้างตึกต้นไม้และเพิ่มป่าในเมืองอาจเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เผ่าพันธุ์ของเราดำรงชีวิตรอดต่อไปได้ด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพียงเพื่อการตกแต่งเพื่อความสวยงามอย่างเดียว ถึงอย่างนั้น Urban Forestry ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหา climate change หรอกนะ เรายังต้องขับเคลื่อนอีกหลายอย่างไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทางเลือก หรือการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็ตาม

 

Share :