CITY CRACKER

#SaveScala โรงหนังสกาล่ากับการเป็นพื้นที่สาธารณะและการพัฒนาพื้นที่ชุมชนโดยรอบจุฬาฯ

หลังจากโรงหนังสกาล่า หรือ La Scala โรงหนังสแตนด์อโลนที่อยู่คู่สยามแสควร์มาตลอด 50 ปี ปิดตัวลง เนื่องจากหมดสัญญาเช่าตั้งแต่ปลายปี 63 ล่าสุดได้มีประกาศอัปเดตถึงการเปลี่ยนพื้นที่โรงหนังเก่านี้ให้กลายเป็นห้างสรรพสินค้า ทำให้เกิดคำถามตามมาของการรักษาคุณค่าของพื้นที่ สถาปัตยกรรม และบริบทที่สกาล่าควรเป็นต่อไปในอนาคต

จากแผนพัฒนาพื้นที่ที่ถูกประกาศนี้เอง ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มนิสิตพร้อมทั้งตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น จนเกิดแฮชแท็ก #SaveScala และ #หยุดสร้างห้างที่สกาล่า ขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยในแคมเปญนี้มี ตูลย์-นันท์นภัส เอี้ยวสกุล อุปนายกคนที่ 2 ขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.นิสิตจุฬาฯ ) และนิสิตชั้นปีที่สองจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เข้ามามีส่วนร่วมด้วยผ่านจากการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนรอบจุฬาฯ จึงเห็นถึงปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทั้งการเปลี่ยนชุมชนเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่ที่ไม่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ ตลอดจนมีการเสนอถึงแนวคิดการพัฒนาชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยที่อยากให้เป็นพื้นที่ของชุมชนและนิสิต

เพื่อหาคำตอบถึงพื้นที่ที่ควรจะเป็น และประวัติศาสตร์ที่ควรรักษา City Cracker ชวนคุยกับตูลย์-นันท์นภัส เอี้ยวสกุล เพื่อตอบคำถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และหนทางการพัฒนาพื้นที่ที่ควรเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนและนิสิต ตลอดจนอนาคตของสกาล่าที่ผู้ใช้จริงต้องการ

Foto_momo

City Cracker: ความสำคัญของโรงหนังสกาล่าคืออะไร ทำไมถึงควรรักษาไว้

ตูลย์ : โรงหนังสกาล่ามีกลิ่นอายของโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลน มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ เชิงสถาปัตยกรรมร่วมสมัย รวมถึงศิลปวัฒนธรรมบางอย่าง เป็นพื้นที่ที่สำคัญและเป็นพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว มีศักยภาพในการเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของคนรอบๆ ตรงนั้น รวมถึงมีความทรงจำร่วมของพื้นที่ด้วย แต่ทำไมเราไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ทำไมต้องไปทุบทำลายแล้วสร้างใหม่ ซึ่งมันอาจต้องใช้เวลานานมากในการสร้างความทรงจำร่วมขึ้นมาใหม่ ถ้าเราสามารถปรับพื้นที่อย่างสกาล่าเพื่อส่งเสริมกิจกรรมของนิสิตใช้พื้นที่ตรงนั้นสร้างแรงบันดาลใจ หรือสร้างสรรค์ได้ก็คงจะดีกว่าเป็นห้าง อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่แค่ทางพาณิชย์อย่างเดียว

City Cracker : ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อเกิดมาจากการมองเห็นปัญหาอะไร

ตูลย์: จากข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ข้อแรกคือการเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีประโยชน์ต่อนิสิตและประชาชน ข้อสองคือเป็นพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม และข้อสามคือประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทิศทางการพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ข้อเกิดจากการเห็นว่าการพัฒนาของจุฬาฯ ที่ผ่านมาไม่ค่อยคำนึงถึงปัจจัยของการมีส่วนร่วมหรือประโยชน์ของคนในชุมชน ถ้าใช้ประโยชน์จากต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือคนในพื้นที่ดังเดิมได้จะดีกว่า หรืออย่างนิสิตเองก็ตาม ทั้งการเป็นพื้นที่ของนิสิตเอง หรือความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน จริงๆ มีหลายๆ พื้นที่ที่มีการพัฒนา อย่างเช่นจามจุรีสแควร์แถวสวนหลวง เรารู้สึกว่าถ้าเขาใช้ประโยชน์จากต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือว่าคนในพื้นที่ที่เขามีอยู่แล้ว อาจจะไม่ต้องไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนมากในการพัฒนา เพราะพอเป็นอะไรที่มันใหม่ อะไรมันก็แพงขึ้น ค่าเช่าแพงขึ้น ค่าครองชีพก็แพงขึ้น แต่จะดีกว่าไหมถ้าทำให้คนในพื้นที่เขาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

อีกอย่างคือการไม่มีพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม เพราะรอบๆ มีแต่ห้าง จะหาอะไรที่มันจรรโลงจิตใจหรือพื้นที่ที่ทำให้เรามี ความคิดสร้างสรรค์ให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิตไม่ค่อยได้เท่าไหร่ เลยรู้สึกว่าอยากให้มีพื้นที่ที่ตอบโจทย์ตรงนี้มากขึ้น โดยจุฬาฯ ควรจะฟังเสียงของคนที่อยู่รอบๆ บ้าง ไม่ว่าจะเป็นนิสิต หรือจะเป็นคนในชุมชนตรงนั้น

bangkokpost.com

 

City Cracker: จากข้อสุดท้ายของข้อเรียกร้อง การที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่นั้นมีความสำคัญขนาดไหน

ตูลย์: การไม่มีส่วนร่วมมันก็จะเหมือนการที่คนหนึ่งคิดมาให้แล้วว่าอันนี้ดี ในขณะที่เราไม่รู้เลยว่าอะไรดีกับเราจริงๆ สุดท้ายแล้วคนในพื้นที่และการมีปฏิสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทุกคนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก การออกแบบพื้นที่ที่ใช้งานไม่ได้จริงก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะถ้าสร้างขึ้นมาแล้วไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีความทรงจำ ไม่มีผู้คน หรือไม่มีพื้นที่ที่ทุกคนได้ปฏิสัมพันธ์กันก็อาจจะไม่ได้

City Cracker: ตอนนี้กระบวนการยื่นข้อเรียกร้องไปถึงไหนแล้ว

ตูลย์: ตอนนี้ทางอบจ. สมัชชาสิงห์ดำและคนที่เรียกร้องส่งข้อเรียกร้องไปให้ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (Property Management of Chulalongkorn University – PMCU) อีกทั้งเกิดแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อ Save สกาล่า และกำลังคิดจะมีโปรเจ็กต์ที่อยากเปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกัน ว่าเรามองพื้นที่มีร่วมกันอย่างไร

City Cracker: ถ้าอย่างนั้นเราอยากออกแบบพื้นที่สกาล่าตรงนี้ยังไงให้ตอบโจทย์มากที่สุด

ตูลย์: พื้นที่สาธารณะมันควรเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของผู้คนแล้วก็สร้างความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นแค่พื้นที่ที่มันมีขึ้นมาก่อนแล้วก็จับคนยัดๆ เข้าไป ถ้ามันมีอะไรที่มีอยู่ก่อนแล้ว แล้วพัฒนาให้ดีขึ้นมันก็คงจะดีกว่า เพราะสกาล่าเป็นพื้นที่ที่มีความทรงจำร่วมอยู่เยอะ แม้กระทั่งตอนนี้ก็ยังมีคนอินกับเรื่องสกาล่าอยู่ ส่วนตัวสถาปัตยกรรมมันก็สะท้อนเรื่องประวัติศาสตร์ได้ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างในช่วงสมัยไหน ตรงนี้ก็สามารถเป็นมรดกทางวัฒนธรรมได้เหมือนกัน

นอกจากนั้น เรามองเห็นสกาล่าเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เป็นสถานที่ที่สามารถทำให้คนไปใช้งานจริงๆ เพื่อเสพและซึมซับศิลปะ มีปฏิสัมพันธ์ มีบรรยากาศ มีสิ่งที่เราจับต้องได้ ไม่ใช่อะไรที่ถูกแช่แข็งไว้ให้ดูสูงส่งหรือเป็นอดีตอันไกล สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือการเป็นพื้นที่ใหม่ในพื้นที่เก่าที่มีคุณค่าในแบบของมัน และถ้าเรามาร่วมสร้างตรงนี้ด้วยกันได้ น่าจะทำให้เรารู้สึกอินและรู้สึกถึงคุณค่าของพื้นที่มากขึ้น เหตุผลที่เราไม่ได้รู้จักอะไรทางศิลปวัฒนธรรมมากเพราะมันไกลตัวและไม่ยึดโยงกับผู้คน ดังนั้นเราควรให้คุณค่ากับเรื่องนี้มากขึ้นผ่านการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

ซึ่งจริงๆ มหาวิทยาลัยควรมีพื้นที่สาธารณะรูปแบบนี้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ เพื่อให้นิสิตที่กำลังเรียนอยู่ได้เห็นจริง ได้ลองทำจริง มีความรู้สึกร่วมกับมันจริงๆ อันนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เราอยากจะมีไม่ใช่แค่จะไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้อย่างเดียว แต่เราต้องให้อะไรกับมันและได้อะไรจากมันในเวลาเดียวกัน

uddc

City Cracker: ทำไมถึงอยากให้เกิดการรักษาและพัฒนาพื้นที่เก่าในบริบทใหม่มากกว่าการสร้างพื้นที่ใหม่

ตูลย์: ตัวอาคารหรือสถาปัตยกรรมเก่ามันมีความทรงจำร่วมกับผู้คนร่วมกันผ่านระยะเวลาหลายสิบหลายร้อยปี ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้พื้นที่หนึ่งมีชีวิตขึ้นมา การไม่เห็นคุณค่าตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากเพราะเราสามารถต่อยอดสิ่งที่มีให้มันดีขึ้นได้ นอกจากนี้ยังเข้าใจว่าตัวสถาปัตยกรรมหรือศิลปะบางอย่างก็ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของคนด้วย แล้วถ้ามีพื้นที่ตรงนี้มากขึ้นหนึ่งแห่งน่าจะดี ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยของต่างประเทศบางแห่งที่เลือกเก็บตึกร้อยปีไว้เป็นความทรงจำ เพื่อให้คนที่เข้ามาเกิดความรู้สึกร่วมกับตัวพื้นที่นั้นๆ เพราะสถานที่แต่ละแห่งในโลกใบนี้จะไม่มีความเหมือนกันเลย

City Cracker  ปัญหาในการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯ ที่เห็นในตอนนี้คืออะไร

ตูลย์: เรามองว่าเขาไม่ค่อยมีความจริงใจในการพัฒนาและไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เขาอยากพัฒนาให้ตรงนี้เป็นย่านออฟฟิศสูงๆ คิดถึงแต่เรื่องการใช้งานว่ามันต้องจุคนได้มากขึ้น แต่กลับละเลยหลายๆ มิติไป มองพื้นที่เป็นแค่พื้นที่ไม่ได้มองเห็นความมีชีวิต ความเป็นผู้คน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งมันทำให้ชุมชนอ่อนแอ ทำให้ต้องพึ่งพาปัจจัยเรื่องกำลังทรัพย์ ส่วนนิสิตจุฬาฯ ก็ค่อยๆ ห่างสังคม แล้วก็ไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเดินไปถามนิสิตจุฬาฯ ก็น้อยคนที่จะรู้หรือนิสิตจุฬาฯ บางคนก็ไม่รู้เลยว่าที่นี่เคยมีชุมชน ทำให้สุดท้ายแล้วนิสิตก็ขาดการยึดโยงกับสังคมในพื้นที่ไป

เพราะจุฬาฯ ออกตัวว่าเป็นเสาหลักของประเทศ เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าคุณมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ดังนั้นถ้าเป็นเสาหลักก็ควรเป็นเสาที่ค้ำยันอะไรบางอย่างได้จริงๆ ไม่ใช่เป็นเสาโดดๆ อยู่คนเดียว ควรมองเห็นคนในชุมชนมากกว่านี้ จากที่เคยไปดูแผนพัฒนาจุฬาฯ CU Masterplan เขาบอกว่าจะเป็นผู้นำในอนาคต ในกรณีนี้ถ้าจะเป็นผู้นำแห่งอนาคต แต่ทิ้งคนไว้ข้างหลังเต็มไปหมด เรามองว่าเป็นอนาคตที่ค่อนข้างเหี่ยวเฉา ดูไม่ได้คำนึงถึงคน ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตของผู้คน คุณพาไปแค่ตึกสูงๆ แต่ไม่ได้ค้ำยันหรือค้ำจุนอะไรเลย

City Cracker: จริงๆ แล้วชุมชนกับนิสิตมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง

ตูลย์: จริงๆ แล้วตอนเราไปลงพื้นที่ชุมชนก็เข้าใจว่านิสิตจะเข้าห้างกันหมดแล้ว แต่พอไปดูจริงๆ นิสิตยังมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนอยู่ เจ้าของร้านมีการพูดคุยสนิทสนมกับนิสิต มีการแถมของให้ มีนิสิตไปถ่ายรูปตอนรับปริญญาด้วย มันมีความเป็นชุมชนมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีคุณภาพชีวิตที่เคยดีกว่านี้ แต่เมื่อนิสิตไม่ได้เห็นแง่มุมตรงนี้มากขึ้น ความยึดโยงระหว่างนิสิตกับสังคมก็ลดลง ทำให้พูดคุยกันน้อยลงทำให้หลายๆ ร้านมีการย้ายเข้าย้ายออกไม่มีคนในพื้นที่อยู่นานๆ กลายเป็นพื้นที่ให้เช่าเฉยๆ มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เกิดขึ้น

City Cracker: ผลกระทบของการพัฒนาพื้นที่ตอนนี้ต่อชุมชนโดยรอบหรือแม้กระทั่งนิสิตเอง ณ ปัจจุบันคืออะไรบ้าง

ตูลย์: สำหรับนิสิตคือการขาดพื้นที่ creativity หรือ ความคิดสร้างสรรค์ พอเรียนเสร็จแล้วก็ไปได้แค่ห้าง ขาดพื้นที่สร้างสรรค์ที่เอื้อในการคิดอะไรใหม่ๆ ทำอะไรใหม่ๆ ตอนนี้นิสิตกลายเป็นหลักประกันของการลงทุนว่าถ้าสร้างห้างสรรพสินค้าจะมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการ สำหรับชุมชนจากการลงพื้นที่พบว่าคนไม่ได้ยึดโยงกับพื้นที่แล้ว ในขณะที่ชุมชนที่อื่นมีหัวหน้าชุมชนมีการบริหารจัดการภายในชุมชน แต่ที่นี่ใครเป็นหัวหน้าก็ไม่รู้หรืออาจจะไม่มีก็ได้เพราะต่างคนต่างอยู่ พื้นที่ถูกทำในเชิงพาณิชย์และค้าขาย กลายเป็นพื้นที่ที่คำนึงแค่ว่าจะสามารถทำกำไรได้ไหม เช่น พื้นที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมเดิม แต่ก่อนเคยมีศิลปวัฒนธรรมของชุมชน มีการจัดแสดงงานงิ้ว ทำบุญมากมาย คนก็ไปใช้พื้นที่ตรงนั้น พอสุดท้ายชุมชนหายไปเหลือแค่ศาล จุฬาฯ ก็สร้างเป็นคอนโดแล้วย้ายศาลไปอยู่อีกที่หนึ่งแทน

City Cracker: ถ้าอย่างนั้นแล้ว คอนเซปต์ของการพัฒนาพื้นที่นี้ควรเป็นอย่างไร

ตูลย์: พื้นที่สกาล่าเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่ที่มีพันธกิจคือควรมีการพัฒนาคน สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีกระบวนการคิดแบบผู้ประกอบการ ผ่านการสร้างความยั่งยืนและนวัตกรรมของสังคม ที่จริงเริ่มทำได้ตั้งแต่รอบๆ มหาวิทยาลัย ทั้ง well-being หรือพื้นที่การเรียนรู้ และควรเห็นคุณค่าของพื้นที่มากกว่านี้ เพราะจริงๆ เรามีศักยภาพที่จะทำ มีทรัพยากร มีคน มีชุมชน แต่มันไม่มีการพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ในตอนนี้

Share :