โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความหลากหลายทางความคิด และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะทำอาชีพใด เราจำเป็นต้องปรับตัวและตั้งคำถามกับบทบาทหน้าที่ของตัวเองอยู่เสมอ เช่นเดียวกับแนวคิดของ กุลภัทร ยันตรศาสตร์ สถาปนิกผู้สร้างสรรค์ผลงานระดับโลก ที่ตั้งคำถามว่า “สถาปนิกควรมีบทบาทในฐานะพลเมืองอย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมเมืองและโลก”
กุลภัทร ยันตรศาสตร์ คือสถาปนิกชาวไทยผู้ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาปนิกญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง Tadao Ando และอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 15 ปี ก่อนที่จะย้ายมาตั้งออฟฟิศ wHY ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสองสาขาที่ New York และ Los Angeles ในปัจจุบัน
wHY ได้สร้างสรรค์ผลงานหลายรูปแบบ ตั้งแต่การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงภูมิสถาปัตยกรรม โดยให้ความสำคัญกับไอเดียที่มาจากหลากหลายมุมมองและการร่วมมือกันระหว่างผู้คน เห็นได้จากผลงานเด่นๆ อย่าง Ross Pavilion and Garden ที่นอกเหนือจากความสวยงามแล้ว ยังคำนึงถึงบริบทรอบข้างด้วย หรือ East Palo Alto Youth Art and Music Center (YAMC) โครงการสร้างสถานที่พบปะสร้างสรรค์สำหรับเยาวชนในย่านที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
สิ่งที่กุลภัทรเน้นย้ำตลอดทั้งการพูดคุยกับเรา คือการสร้างงานสักชิ้น มักเริ่มต้นด้วยคำว่า ‘Why ?’ เพื่อแก้ปัญหา แต่ก็ต้องไม่ลืม ‘Why not ?’ การคิดในมุมกลับว่า ทำไมสิ่งนี้จะเป็นไปไม่ได้ล่ะ City Cracker จึงขออาสาไปพูดคุยและหาคำตอบถึงเบื้องหลังการทำงานกับ กุลภัทร ยันตรศาสตร์ ในวาระที่ได้แวะเวียนมาบรรยายที่งาน ACT FORUM’19 กัน
อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณอยากเป็นสถาปนิก
“มันเริ่มมาจากตอนเด็กๆ อายุประมาณ 6-7 ขวบ พ่อแม่พาไปเที่ยวต่างประเทศ ทำให้เรามีโอกาสได้เห็นเมืองต่างๆอย่าง ปารีส หรือลอนดอน ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่า ทำไมสถานที่เหล่านี้ถึงสวยจัง ทั้งยิ่งใหญ่และมีความสอดคล้อง พอถึงช่วงซัมเมอร์หนึ่งที่บ้านเรากำลังมีการต่อเติม เราก็ได้ไปคลุกคลีอยู่กับคนงานก่อสร้าง แก้เบื่อโดยการเก็บตะปูบ้าง เศษเหล็กบ้าง ตัวคุณพ่อเองก็ยังมาขอไอเดียปรับปรุงห้องนอนจากเราด้วย
“จุดนี้แหละที่เราพบว่า การก่อสร้างก็สนุกดีเหมือนกัน ทำให้เราเชื่อมโยงได้ว่า การทำเมืองให้สวยงามเหมือนต่างประเทศ มีความสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ งั้นเรามาเอาดีด้านดีไซน์ดีกว่า จากนั้นพอเข้ามหาวิทยาลัย เราก็เลือกเรียนสถาปัตยกรรมเพื่อที่จะเป็นสถาปนิก”
ตลอดชีวิตการทำงานเป็นสถาปนิกทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกา ความสนใจของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
“เราค่อนข้างสนใจในเรื่องของมนุษย์ ทั้งวิธีคิดและการใช้ชีวิต เราเลยมักจะหาวิธีคิดใหม่ๆ จากคนที่ใช้ชีวิตแตกต่างจากเรา เพราะถ้าทุกคนเหมือนกันหมด ชีวิตก็คงไม่มีความหมาย ดังนั้นในการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องหาจุดทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป เพื่อผสมผสานกันให้เกิดโปรดักต์ที่ไม่ซ้ำใครได้
“แน่นอนว่าตอนที่ยังอยู่เมืองไทย ทุกคนก็มีความคิดคล้ายๆกัน เราเพิ่งรู้สึกว่าความคิดของตัวเองไม่เหมือนคนอื่นหรือคนทั่วไปตอนได้ไปอยู่ที่ญี่ปุ่น โชคดีที่การตั้งคำถามที่ว่าทำให้เราเห็นความสำคัญของตัวเองมากขึ้น
“ยิ่งช่วงประมาณปีท้ายๆ ก่อนย้ายออกจากญี่ปุ่น เราหวนถึงวิธีคิดแบบไทยๆ ที่มีความหลากหลาย (diversity) และการ mix and match ตรงข้ามกับวิธีสร้างงานอย่างขัดเกลาและประณีตแบบญี่ปุ่น ถึงอย่างนั้นแทนที่จะกลับเมืองไทย เราตัดสินใจไปอเมริกาเพื่อตั้งออฟฟิศของตัวเอง เพราะคงได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ภายใต้บรรยากาศอันหลากหลายทางเชื้อชาติขนาดใหญ่”
ในโลกของความหลากหลาย เราเองยังต้องการจุดร่วมอะไรบางอย่างอยู่ไหม
“ใช่ครับ ทุกคนยังจำเป็นต้องมีความสนใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่านิยม หรือกฏเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตต่างๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่อง การก่อสร้าง ถ้าเราเลือกใช้วัสดุมาตรฐานและตามสากลไม่เป็น ผู้ที่ทำงานในภาคส่วนอื่นก็จะเดือดร้อน ดังนั้นพวกเราจึงควรพูดคุยเรื่องต่างๆ collaborate กันให้มากขึ้น แม้โดยธรรมชาติมนุษย์จะชอบการแข่งขัน (competition) มากกว่าก็ตาม เพราะถึงที่สุดแล้วเราไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวคนเดียวเสมอไป”
แล้วการร่วมมือ (collaboration) ถือจะปรากฏในผลงานสถาปัตยกรรมอย่างไร
“งานสถาปัตยกรรมคือภาษาแบบหนึ่งที่สื่อสารออกมา เกิดจากไอเดียตั้งต้น ขึ้นมาเป็นฟอร์ม และกลายเป็นสเปซหรือสภาพแวดล้อมในที่สุด แม้ว่าหน้าตาจะเป็นการสร้างสรรค์ของเราเอง แต่ไอเดียตั้งต้นไม่จำเป็นต้องมาจากเราคนเดียวก็ได้
ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบอาคารสาธารณะ ไอเดียที่ดีก็ควรมาจากหลายภาคส่วน ฟอร์มที่ดีก็ต้องตอบสนองต่อปัญหาหลายๆ ด้านอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของลูกค้า ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ของผู้คนก็ตาม ถึงอย่างไร เราก็ไม่สามารถเข้าใจความคิดและชีวิตของคนอื่นได้ด้วยตัวเราเอง
ในโครงการประกวดแบบ Ross Pavilion and Garden ริมปราสาทเก่าแก่ที่ประเทศสก็อตแลนด์ แทนที่เราจะมองเฉพาะการออกแบบพาวิเลียนให้สวยงาม น่าใช้งานเพียงอย่างเดียว เราได้ทำกระบวนการเวิร์กช็อปสอบถามผู้คนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่จากหลากหลายอาชีพ และได้พบว่ามีปัญหาใหญ่กว่าโจทย์ตั้งต้นเสียอีก กลายเป็นว่าเราต้องตั้งคำถามใหม่ว่า จะออกแบบพาวิเลียนในสวนอย่างไรให้แก้ปัญหาของเมืองได้
หากเปรียบการทำงานกับการสร้างประติมากรรมชิ้นหนึ่งขึ้นมา ถ้าเรามีเครื่องมือเพียงชนิดเดียว ผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบเดียว ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้ค้อน สิ่ว ไขควง ซึ่งได้รับมาจากผู้อื่น ตัวงานจะออกมารุ่มรวยทางความคิดมากขึ้นนั่นเอง
สำหรับเรา Architect เป็น creative citizen คนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ถ้าเราออกแบบอาคารที่มีลักษณะเอียง เราก็ไม่ควรสร้างให้ผนังสะท้อนแสงเข้าบ้านคนอื่น หรือไปปิดกั้นทางลมไปสู่บ้านของเขา เพื่อนบ้านรอบข้างเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเรามีไมตรีต่อกัน ต่างฝ่ายต่างก็แฮปปี้ไปด้วย เราเลยต้องคิดอยู่เสมอว่าทำยังไงให้เราหรือลูกค้าได้ประโยชน์ และคนอื่นไม่เสียประโยชน์ไปด้วย”
คิดว่าอะไรคือทักษะสำคัญของสถาปนิกที่จะต้องมีในอนาคต ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“ขอย้อนกลับไปถึงวิธีคิดแบบญี่ปุ่น พวกเขามีวิธีคิดแบบ ‘Why’ ตั้งคำถามไปกับทุกอย่าง เพราะว่าเขาเป็นสังคมแบบปิดที่มีความคิดว่าอาจเสียความเป็นตัวเองไป หากเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จากภายนอก ในขณะที่คนไทยมักมีวิธีคิดแบบ ‘Why not’ อะไรก็ไม่มีปัญหา รับความคิดต่างๆ มาปรับใช้ได้หมด ซึ่งเรามองว่าจำเป็นต้องใช้ทักษะทั้งสองควบคู่กันไป การคิดแบบ ‘Why’ เป็นรากฐานสำคัญ แต่มีข้อกำจัดตรงที่ว่าจะคิดอยู่เพียงแค่ในกรอบ แต่ ‘Why not’ คือการคิดนอกกรอบและเกิดขึ้นได้หลังจากเรามีพื้นฐานตรรกะหรือ ‘Why’ ที่ดีแล้ว สถาปนิกจึงทำยังไงก็ได้ให้ 2 อย่างสามารถไปด้วยกันได้ ดึงเนื้อแท้ (essence) ออกมาจากงาน และไม่ให้ไอเดียนอกกรอบไปบดบัง (camouflage) ตัวงานมากเกินไป
ในอนาคต เราทุกคนต้องเตรียมตัวเพื่อเป็น master ของ AI (Artificial Intelligence) เพราะมนุษย์เราจะสามารถเอาชนะคอมพิวเตอร์ได้ก็ด้วยความคิดที่ไม่สามารถโปรแกรมได้
อย่างที่บอกว่าทุกวันนี้ปัญหาของเมืองค่อนข้างล้ำลึกมาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ หรือสังคมการอยู่อาศัย ท้ายที่สุดสถาปนิกต้องเป็น thought leader หรือผู้นำทางความคิด ช่วยแก้ปัญหาในหลากหลายแง่มุมแก่คนในสังคมได้นั่นเอง”