CITY CRACKER

เมืองแบบไหนที่ทำให้เราอยากมีลูก 7 กลยุทธ์ที่รัฐทั่วโลกทำเพื่อส่งเสริมการมีบุตร

ประเด็นเรื่องสังคมสูงวัยกำลังกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของเมืองทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากมีอัตราการเกิดต่ำ รัฐและเมืองส่วนใหญ่ก็พยายามแก้ปัญหานี้และพยายามหามาตรการเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนมีลูกมากขึ้น

แน่นอนว่าการตัดสินใจมีลูกนับเป็นอีกหนึ่งการตัดสินใจสำคัญ ทุกวันนี้เรามีค่านิยมเรื่องครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยมมีลูกด้วยหลายสาเหตุ แต่นอกจากมุมมองเรื่องการมีครอบครัวจะแตกต่างไปจากเดิม การมีลูกนับเป็นการตัดสินใจสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ คือการมีลูกมีเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่ายมาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ ประกอบกับภาวะผันผวนโดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา การสำรวจของผู้หญิงอเมริกันพบว่าผู้หญิงหนึ่งในสามตัดสินใจเลื่อนการมีบุตรออกไปก่อน และบางส่วนก็ระบุว่าถ้ามีก็อาจลดจำนวนบุตรลง

การลดต่ำของประชากรนับเป็นระเบิดเวลาสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เมืองและรัฐทั่วโลกเดินหน้าแก้ปัญหา การตัดสินใจมีลูกของครอบครัวหนึ่ง แน่นอนว่าสัมพันธ์กับพื้นที่กายภาพ สาธารณูปโภค นโยบาย รวมไปถึงบรรยากาศของเมืองหรือพื้นที่นั้นๆ ในวันที่เราสนับสนุนให้ผู้คนมีสมาชิกใหม่ City Cracker ชวนไปดูวิธีการที่เมืองหรือประเทศต่างๆ ทำเพื่อจูงใจให้ผู้คนมีสมาชิกตัวน้อยๆ เพิ่มมากขึ้น

 

1. มอบเงินขวัญถุงและของรับขวัญ

การให้เงินนับเป็นนโยบายที่เรียบง่าย และเปิดการจูงใจได้อย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่หลายเมืองและหลายประเทศทำ คือถ้าอยากให้คนมีลูกรัฐก็ช่วยรับขวัญประชากรใหม่ มีลูกปุ๊บ รับเงินช่วยเหลือปั๊บ การให้เงินรับขวัญเป็นนโยบายยอดนิยมทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก เช่น จีนเองที่เคยมีนโยบายลูกคนเดียว ตอนนี้หันมาสนับสนุนให้คนมีลูกมากขึ้นจาก one chlid เป็น three child policy การออกนโยบายและออกกฎหมายใหม่ทำให้เห็นว่ารัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดและการตัดสินใจในระดับครัวเรือน เป้าหมายหลักคือรัฐอาจลดภาระและค่าใช้จ่ายในการมีลูกให้กับประชาชน แต่จำนวนเงินหรือลักษณะการให้เงินก็แล้วแต่เมือง เช่น บางหมู่บ้านให้เป็นรายเดือน อย่างเมืองกวางโจว จ่ายให้เด็กเกิดใหม่ที่ 510 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 18,000 บาท และจะจ่ายให้จนถึงอายุสองขวบครึ่ง หรือบางเมืองที่ต้องการส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น ก็จะเริ่มจ่ายเงินเมื่อมีลูกคนที่สองหรือสาม

นอกจากจีนแล้วการให้เงินขวัญถุงหรือเงินอุดหนุนยังเป็นแนวทางในอีกหลายประเทศ เพื่อนบ้านเราอย่างสิงคโปร์เองก็มีนโยบายจ่ายให้เด็กเกิดใหม่ประมาณ 2000 ดอลลาร์สหรัฐ (ช่วงปี 2020-2022) ญี่ปุ่นมีการให้เงินสนับสนุนครอบครัวที่มีรายได้ไม่ถึงขั้นที่กำหนด โดยจะให้เงินสนับสนุนรายเดือนเด็กๆ ตามช่วงอายุ ให้เป็นรายเดือน เช่น อายุต่ำกว่า 3 ขวบ ได้อุดหนุนเดือนและ 15,000 เยน 3 ขวบถึงจบชั้นประถม 10,000 เยน สำหรับลูกคนแรกและคนที่สอง ส่วนคนที่สามให้ 15,000 เยน อิตาลีก็เจอปัญหาอัตราการเกิดต่ำและออก Family Act เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กส่งเสริมให้คนมีลูก โดยหนึ่งนโยบายคือการมีเงินสนับสนุนรายเดือนให้ รวมถึงปรับโครงสร้างบริการต่างๆ ของรัฐ

ไม่เพียงแค่เงินเท่านั้น รัฐยังสนับสนุนด้วยสิ่งของ เช่น เซ็ตของหรือกล่องสำหรับรับขวัญเด็กๆ เป็นการจูงใจเล็กๆ ที่รัฐมีต่อคุณแม่คุณพ่อคนใหม่ ตัวอย่างเช่น ฟินแลนด์ที่นอกจากจะจ่ายเงินรับขวัญในช่วงปี 2013 มูลค่าสูงถึงหมื่นยูโร และจ่ายมาแล้วราวสิบปีสำหรับเด็กเกิดใหม่ ยิ่งไปกว่านั้น ย้อนไปตั้งแต่ทศวรรษ 1930 รัฐบาลฟินแลนด์เคยส่งมอบกล่องรับขวัญให้กับคุณแม่ โดยในกล่องนั้นก็จะมีของใช้เด็กต่างๆ อุปกรณ์อาบน้ำ ที่นอนขนาดเล็ก กล่องข้าวของเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งความหมายที่รัฐมอบให้ทั้งกับคุณแม่ที่ต้องดูแลลูกๆ ต่อไป และมอบให้กับพลเมืองคนใหม่ ประเทศไทยเองก็เคยมีการมอบถุงรับขวัญ ในถุงจะเป็นข้าวของที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ เช่น ของเล่น หนังสือลอยน้ำ คู่มือพ่อแม่ หนังสือมีเสียง

 

2. ปรับปรุงสิทธิการลาคลอดและการลาดูแลบุตร

จากการให้เงิน ให้สิ่งของ การมีลูกยังสัมพันธ์กับบริบทอื่นๆ ที่ช่วยอำนวยหรือสนับสนุนให้การดูแลลูกมีภาระน้อยลง หนึ่งในแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องคือเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการลาคลอด ประเด็นเรื่องการมีลูกสัมพันธ์กับการทำงาน การที่ผู้หญิงหรือครอบครัวจะเสียโอกาสในการทำงานและสูญเสียรายได้ไป การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการลาคลอดไปจนถึงการดูแลบุตรจึงเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ช่วยให้ครอบครัวตัดสินใจมีลูกได้มากขึ้น ลดค่าเสียโอกาสและความมั่นคงทางการเงิน

 

3. สนับสนุนบริการดูแลเด็ก

ประเด็นเรื่องการดูแลเด็กเป็นประเด็นสำคัญ และเป็นสาธารณูปโภคอีกรูปแบบที่สัมพันธ์และช่วยส่งเสริมการตัดสินใจในการมีลูกได้ เบื้องต้นที่สุดการมีลูกและภาระการเลี้ยงดู (childcare) เป็นภาระสำคัญที่ตัดผู้หญิงออกจากระบบเศรษฐกิจและการทำงาน ดังนั้นการมีบริการหรือการสนับสนุน เช่น บริการดูแลเด็กๆ ในเวลากลางวัน (day care) ที่ใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน และมีราคาที่เข้าถึงได้หรืออาจเป็นบริการของรัฐทำให้คุณแม่หรือครอบครัวสามารถฝากเลี้ยงและทำงานไปด้วยได้ ในบางพื้นที่การทำงาน พื้นที่เลี้ยงเด็กอาจเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่การทำงาน หรืออาจเป็นส่วนประกอบของพื้นที่พักอาศัย

 

4. บริการสุขภาพแม่และเด็กที่เข้าถึงได้

การมีบุตรสัมพันธ์กับมิติทางสุขภาพ การมีบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้องเช่น คลินิกหรือบริการสุขภาพของเด็ก และคลินิกสุขภาพสตรีเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่อาจส่งเสริมให้ผู้คนรู้สึกมั่นใจและลดภาระค่าใช้จ่ายในการมีบุตรที่มีราคาแพง บริการสุขภาพอาจครอบคลุมตั้งแต่สุขภาพสตรี สูตินารี คลินิกและพื้นที่ที่เกี่ยวกับการฝากครรภ์และทำคลอด ไปจนถึงคลินิกสุขภาพเด็ก หรือเราอาจรวมไปถึงคลินิกการเจริญพันธุ์ พื้นที่บริการสุขภาพที่ยังเป็นบริการที่มีราคาสูง เป็นพื้นที่เฉพาะของผู้มีรายได้สูงอยู่

 

5. ปรับปรุงระบบการศึกษาที่ดีและทั่วถึง

การมองไปยังอนาคตของเด็กๆ และของลูกๆ แน่นอนว่าครอบครัวส่วนใหญ่อยากให้ลูกๆ ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด การศึกษาที่ดีส่วนใหญ่มีน้อย หรือมีราคาที่สูงมาก เป็นค่าใช้จ่ายสำคัญนับตั้งแต่ค่าเทอมไปจนภาระประกอบอื่นๆ ในการดูแลเด็กๆ เช่น การไปรับไปส่งที่ต้องใช้เวลาและความอุตสาหะอย่างสูง โรงเรียนดีๆ อาจจะทั้งแพง ทั้งอยู่ไกล เป็นศูนย์กลางของรถติดที่ทั้งผู้ปกครองและเด็กๆ ต้องทนอยู่บนถนนตั้งแต่เช้ามืดและเย็นย่ำในทุกวัน

ดังนั้น ในหลายเมืองที่มีการกระจายและดูแลการศึกษาที่เข้าถึงได้ เมืองที่ดีคือเมืองที่การศึกษาอยู่ใกล้บ้าน เดินไปโรงเรียน หรือนั่งรถโรงเรียนไปโรงเรียนได้โดยไม่เครียด คุณภาพการศึกษาเท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน เด็กๆ เติบโตมาอย่างดีทั้งสุขภาพกายและใจ หลายแห่งเป็นบริการของรัฐ มีการดูแลซึ่งกันและกัน การเข้าถึงการศึกษาที่ดีไม่ใช่การต่อสู้ดิ้นรน

 

6. เปิดเมืองที่ดีกับเด็กๆ

ทุกวันนี้เราอาจรู้สึกว่าเมืองไม่เป็นมิตร ไม่เป็นมิตรแม้กระทั่งผู้ใหญ่แบบเราๆ เมืองเต็มไปด้วยอันตราย เต็มไปด้วยความทุลักทุเล เต็มไปด้วยความระมัดระวัง ดังนั้น เบื้องต้นที่สุดคือเมืองหรือพื้นที่กายภาพที่เรารู้สึกปลอดภัยก็จะเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่เราอยากจะมีสมาชิกตัวน้อยๆ พวกเขาได้ออกไปวิ่งเล่นในเมือง เมืองที่เป็นพื้นที่ของผู้คนและของเด็กๆ ต่อไป เมืองที่ปลอดภัยต่อทุกๆ คนและดีต่อคุณภาพชีวิต

ดังนั้น เราจึงกลับมาที่เงื่อนไขพื้นฐาน เมืองที่ดี มีอากาศที่ดี มีทางเท้า การสัญจรที่ปลอดภัย เมืองที่ถนนหนทางเป็นที่เล่น เมืองที่มีย่าน มีชุมชน มีผู้คนที่ดูแลกันและกันไม่ใช่เมืองที่เราต้องคอยหลบรถ มองหาหน้ากากเพื่อป้องกันตัวเองจากฝุ่นควันหรืออุบัติเหตุสารพัด เป็นเมืองที่เราสามารถจูงลูกๆ ไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เมืองที่ดีกับเราและเด็กจึงเป็นเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะหลากหลาย มีสวน พิพิธภัณฑ์ โรงหนัง พื้นที่ริมน้ำและอื่นๆ โดยการเปิดจินตนาการชีวิตที่ดีของทุกๆ คน หรือในบริบทปัจจุบันเป็นเมืองที่ปรับตัวและรับมือกับภัยพิบัติ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ เป็นเมืองที่ชวนและช่วยเราดูแลเด็กๆ ไปด้วยกัน

เงื่อนไขของเมืองทั้งหมดนี้ก็น่าจะเป็นอีกเงื่อนไขที่ทำให้ผู้คนอยากมีลูก

 

7. ให้ที่ดินทำกิน

แนวทางสุดท้าย ฟังดูยิ่งใหญ่แต่ก็สัมพันธ์กับบางมิติของการมีลูก คือการลงหลักปักฐานไปจนถึงที่ดินทำกิน นโยบายการให้ที่ดินมาจากอิตาลี อิตาลีมีการออกแผนที่ชื่อว่า Land for Children คือรัฐบาลจะมอบที่ดินที่เป็นพื้นที่ฟาร์มให้กับครอบครัวที่มีลูกคนที่สาม การให้ฟาร์มนี้เป็นอีกทางเลือกของผู้คนในการไปทำกิน ซึ่งสำหรับรัฐบาลอิตาลีเป็นการใช้นโยบายสองต่อ คือทั้งสนับสนุนการเพิ่มประชากรและลดภาระที่อิตาลีต้องดูแลที่ดินและพื้นที่ฟาร์มในการดูแลของรัฐลง

นอกจากอิตาลี ที่จีนเองก็มีนโยบายคล้ายๆ กันนี้ ที่เมืองเล็กๆ ในมณฑลกานซู่ของจีนก็มีการให้เงินสนับสนุนในอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวที่มีลูกคนที่ 2 หรือ 3 มูลค่า 6,200 เหรียญสหรัฐ ในมิตินี้จึงสัมพันธ์กับมิติทางการเงินของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการมีที่อยู่อาศัย การมีบ้านจึงเป็นส่วนหนึ่งของการมีครอบครัวและมีลูก

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

sg.news.yahoo.com

money.com

bbc.com

edition.cnn.com

 

Share :