CITY CRACKER

ตามไปดูภาพสตรีทที่ CTypemag พร้อมคุยเรื่องภาพถ่ายและเมือง กับอัครา นักทำนา

หากพูดถึงภาพถ่ายสตรีท แน่นอว่าหลายคนคงนึกถึงฉากหลังที่เป็นผู้คน ชีวิต สถาปัตยกรรม และสิ่งต่างๆ ที่ประกอบเข้ากันจนกลายเป็นภาพของเมืองใดเมืองหนึ่ง ซึ่ง ‘หนิง’ – อัครา นักทำนา ช่างภาพสตรีท เจ้าของแกลเลอรี่ Ctypemag และผู้เป็นเจ้าของผลงาน Sings และ Landlords ภาพถ่ายชุดที่สะท้อนความเป็นเมืองออกมาให้ได้ในเห็นในสื่อออนไลน์บอกกับเราว่า สตรีทโฟโต้คือการอาร์ไคว์ฟเมือง คือการเก็บบันทึกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง ณ ช่วงเวลานั้นๆ ไว้ 

แม้ปัจจุบันบทบาทการเป็นช่างภาพสตรีทของเขาจะลดลงไป ไม่ได้มีผลงานออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องแบบที่ผ่านมา แต่ทุกกิจกรรมการงานของเขายังคงดำเนินและสัมพันธ์อยู่กับวงการภาพถ่าย และเมื่อไม่นานมานี้เขาก็ได้ขยับขยายช่องทางนำเสนอผลงานจากการเป็น Ctypemag ออนไลน์มาเป็น Ctypemag รูปแบบออนกราวด์ ณ ย่านพระโขนง อันแกลเลอรี่ที่พร้อมเปิดโอกาสให้ศิลปินได้มีพื้นที่แสดงผลงานเพิ่มขึ้น

และด้วยยุคนี้ที่งานอาร์ตและแกลเลอรี่ต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทและกำลังได้รับความนิยมในด้านการเป็นเครื่องมือพัฒนาเมือง กระทั่งเป็นองค์ประกอบที่สัมพันธ์และอยู่คู่เมืองมาทุกยุคสมัย จึงเป็นที่มาของบทสนทนาที่เราได้ชวนหนิงมาร่วมพูดคุยในเรื่องความสัมพันธ์ของภาพถ่ายสตรีทกับเมือง และแกลเลอรี่ที่เป็นหนึ่งองค์ประกอบของเมือง

 

 

ทำไมถึงชอบถ่ายสตรีท จุดเริ่มต้นเป็นมายังไง

ผมเป็นคนชอบอะไรขำๆ เป็นคนตลก แล้วงานประจำเรามันเครียดเลยต้องหาอะไรสนุกๆ ในการคลายเครียด งานสตรีทที่ดังๆ ของไทยส่วนใหญ่ก็มาจากเรื่องตลกขบขัน มันเข้ามาจากกลุ่มของเมืองนอกเมื่อต้นปี 2000 สไตล์ของกลุ่มพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายกัน มันก็เลยเป็นการ shape สตรีททั่วโลกให้มันเป็นแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วสตรีทมันมีมากกว่านั้น ประมาณว่าอันไหนที่มันมีความดราม่ามันจะดูดีกว่า ทั้งๆ ที่ information ต่างๆ มันมีประโยชน์มากกว่า มีความแตกต่างและมีประโยชน์ในทางของมัน แต่แง่หนึ่งก็ดีที่มันเป็นอีกทางที่สามารถทำให้เกิด movement เกิดการกระเพื่อมในหมู่คนที่ไม่เคยสนใจในภาพถ่ายมาก่อน ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ดีมากในการถ่ายภาพสตรีท 

 

การถ่ายภาพสตรีทยากไหม 

ถ้าฝึกดีๆ หรือใช้ทักษะทางสตีรทดีๆ ผมว่าทำได้ เราเข้าใจ เราเห็นปัญหาแล้ว ปัญหาของศิลปินท่านต่างๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องของการนำเสนอออกมาให้เป็นสิ่งที่น่าสนใจยังไง งานที่เกี่ยวกับเมืองของคนไทยยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แต่ว่ามันจะมีงาน The Drowning River (medium.com) ของน้องเต้ย – สุดภูไพร หวังภูกลาง ที่เขาใช้ทักษะการถ่ายคล้ายๆ สตรีท เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศจีนเขาไประเบิดแม่น้ำโขงเพื่อที่จะทำให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ผ่านได้

ซึ่งริมน้ำโขงมันคือชีวิตของผู้คนที่อยู่ตรงนั้น เขาก็สะท้อนปัญหาให้เห็นผ่านภาพถ่าย แต่เขาไม่ได้บอกในรูปว่าแบบชัดเจนว่าตรงนี้กำลังจะถูกทำลาย หรือบอกว่าสิ่งที่เขากำลังถ่ายมันกำลังหายไป อันนี้คือกลวิธีอย่างหนึ่งของการทำงานศิลปะผ่านภาพถ่ายเพื่อสะท้อนปัญหา คล้ายๆ documentary แต่ไม่ทั้งหมด เพราะ docunemtary มันจะจริงมาก แต่ว่าอันนี้ค่อนข้างออกแนวกำกวมที่ไม่ได้สะท้อนความจริง ไม่ได้บอกทั้งหมด มีความฝันๆ หน่อย อันนี้จะเป็นแนว conceptual ที่จะมีความโหยหา และไม่จริงหรือเข้มข้นเหมือนกับ documentary

การทำงานศิลปะคนสร้างสรรค์งานต้องทำให้คนดูสามารถขุดเอาประสบการณ์ตัวเองมาผูกกับเรื่องได้ มันคือความเปิดกว้างให้คนดูได้ตีความและยิ่งตีความได้แตกต่างกับคนสร้างงานยิ่งดี เพราะศิลปินเองก็ได้รับมุมมองใหม่ๆ แต่ศิลปะที่มันบังคับมากๆ มันตายเร็ว ประมาณว่าคุณต้องมาเคารพงานของฉันสิ คิดอย่างนี้ตามฉันนะ มันเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างคนทำงานกับคนดูมากกว่า เป็นการแชร์ประสบการณ์ระหว่างกัน

 

 

ถ้าพูดถึง ‘อัครา นักทำนา’ เรามักจะนึกถึงภาพชุดที่เป็นต้นไม้ อันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร 

ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบสังเกตโน่นนี่นั่น พอเราสังเกตเยอะก็มีความเห็นหลากหลาย เช่นการเมือง สังคม เรื่องต้นไม้ก็เหมือนกัน เบื้องหลังมันมาจากที่ว่า เมื่อก่อนบ้านผมอยู่บางขุนเทียนจะมีลิงอยู่แถวๆ นั้น ละแวกสะพานข้ามคลอง วันหนึ่งผมขับรถไปเจอโครงการบ้านจัดสรรที่กำลังจะเปิดแล้วเขาก็เคลียร์พื้นที่ มีรถแบคโฮขุดดินกันสนุกเลย ส่วนเบื้องหน้ามันคือลิงกำลังคุ้ยขยะ ถ้าเป็นภาพสตรีทการคุ้ยขยะของลิงตัวนั้นก็เป็นภาพสตรีทที่ค่อนข้างเศร้าโศกนิดนึง เหมือนเรากำลังไปแย่งพื้นที่อยู่อาศัยของเขา อันนี้เป็นจุดเริ่มต้น แต่จริงๆ เราก็อยากทำงานศิลปะที่สะท้อนอะไรบางอย่างด้วย แนวของเรามันเป็นสตรีทที่มีการจิกกัดนิดๆ หน่อยๆ 

พอดีมีโอกาสได้ไปจัดแสดงงานที่ Photo Bangkok Festival ครั้งแรก ตอนนั้นมีแกลเลอรี่คัดมันดูของพี่มานิต (มานิต ศรีวานิชภูมิ) เข้าร่วมด้วย เราเลยเอางานให้พี่มานิตดู ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพสตรีทที่ไม่มีภาพชุดอะไร แล้วพี่มานิตก็ไปคัดเลือกมารูปหนึ่ง เป็นรูปต้นไม้ที่เคยเห็นกันนั่นแหละ ผมสงสัยว่าทำไมเขาสนใจรูปนี้ แล้วก็ไปคิดต่อและเกิดเป็นไอเดียว่า ถ้าวันหนึ่งลิงเหล่านี้กลายเป็นสัตว์ประหลาดมาแก้แค้นเราจะทำยังไงดีวะ และด้วยรูปทรงต้นไม้ต้นนี้เหมือนมอนสเตอร์ อสูรกาย คล้ายเป็นสัญญาณบางอย่างกำลังบอกว่าโกรธที่เราทำลายธรรมชาติ ระวังตัวให้ดี อะไรแบบนี้ 

หลังจากนั้นผมเลยลองเก็บต้น ซึ่งต้นไม้แบบนี้ในกรุงเทพฯ มีเยอะมากและสำหรับเราคือต้นไม้พวกนี้สามารถสื่อไปยังเรื่องต่างๆ ได้ เช่นการตัดต้นไม้ในเมืองกรุงที่มักตัดจนเหี้ยน ผลงานนี้ก็ถือว่าเป็นเราสามารถทำงานศิลปะมากระตุ้นและแดกดันให้คนเสพรับรู้ถึงบางสิ่ง แม้ส่วนใหญ่ศิลปะจะว่าด้วยสิ่งสวยงาม นำเสนอภาพที่เป็นด้านบวก แต่อีกแง่หนึ่งมันเหมือนการตบหลังให้รับรู้และสำนึกในบางอย่าง อย่างภาพชุด Demonic ด้านหนึ่งเราสามารถนำเสนอเรื่องพระที่ปฏิบัติตัวดีๆ หรือพระที่ช่วยเหลือสังคมได้ แต่ก็จะมีอีกด้านที่มีพระนิสัยไม่ดี และเราต้องตบให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตา

 

akkaranaktamna.com

 

การเป็นช่างภาพสตรีทช่วยให้เห็นความเป็นเมืองและสังคมผ่านภาพเหล่านี้อย่างไร

งานที่จัดแสดงที่ Ctypemag ส่วนใหญ่เป็นงานของต่างประเทศ ของไทยจะมีไม่มาก แต่ถ้าเรื่องงานศิลปะที่ผมทำ ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเมืองมันจะคล้ายๆ ภาพชุดต้นไม้ที่เราอยากสะท้อนภาพของกรุงเทพฯ ส่วนชุด Landlords จะเกี่ยวกับการใช้พื้นที่สาธารณะในเมืองกรุง คนที่ไปใช้พื้นที่สาธารณะเหล่านั้นเขาจะมีการจัดวางบางอย่างที่เป็นระบบระเบียบ เช่นคนที่เอารูปปั้นผี รูปปั้นพระ หรืออะไรต่างๆ ไปตั้งไว้ตามริมถนน อันนี้ก็สะท้อนภาพเมืองอยู่เหมือนกัน 

ส่วนใหญ่ภาพแนวสตรีทที่ถ่ายจะเป็นตามถนน ซึ่งตรงนั้นยังไม่ค่อยสะท้อนถึงปัญหาสักเท่าไหร่ มันจะเป็นแนวเซอร์เรียลมากกว่า เป็นแสงสีสวยๆ ซึ่งตรงนั้นก็สามารถเอามาเป็นทักษะได้ การที่เราเห็นแท็กซี่ไปจอดป้ายรถเมล์ หรือรถเมล์หยุดที่เลนสี่ จริงๆ มันสามารถถ่ายอะไรแบบนั้นได้ แค่ยังไม่ค่อยมีใครทำ ถ้าในมุมที่มันสะท้อนภาพเมืองคือความไม่เป็นระเบียบบนท้องถนน แต่อีกด้านที่สำคัญคือมันสะท้อนฝีมือช่างภาพที่ต้องมีกลวิธีการนำเสนอทางศิลปะที่สวยงาม 

   

akkaranaktamna.com

 

akkaranaktamna.com
akkaranaktamna.com

 

ในมุมมองของคุณศิลปะ หรือภาพถ่ายสตรีท มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับเมืองยังไง

ไม่ใช่มุมผลซะทีเดียว มันเป็นมาตั้งแต่การเกิดขึ้นของกล้องถ่ายรูป  และคนยุคหลังไปบอกว่าภาพถ่ายแบบนี้คือสตรีท สตรีทโฟฟโต้มันคือการ archive เมือง คือการเก็บบันทึกของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น เป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในเมือง ณ ตอนนั้น ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กับความเซอร์เรียล ความขบขัน ช่างภาพสตรีทที่ถือว่าเขาเป็น street photographer คนแรกๆ เขาทำงานด้วยกล้อง Large Format ที่มันต้องเอาผ้าคลุมและเข็นด้วยล้อ คนนั้นเขาเอากล้อง Large Format ไปถ่ายสตรีทข้างนอกเมือง มันก็เป็นคอนเซปต์อย่างหนึ่งที่เขารู้ว่า สถานที่เขาจะไปถ่ายนั้นกำลังจะถูกทำลาย เขาเลยไปถ่ายภาพเพื่อเก็บบันทึกเป็น documentary

ต่อมาก็ได้รับการวิจารณ์จากนักวิจารณ์ศิลปะว่าภาพนั้นคือภาพสตรีทยุคแรกๆ เพราะมันคือการบันทึกช่วงเวลานั้นก่อนที่จะหายไป เหมือนสตรีทกับเมือง มันคือการบันทึก เป็นการบอกเล่าว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง เกิดขึ้นจริง เช่นถ้าอีกสองร้อยปีข้างหน้ากลับมาดูภาพถ่ายอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยปัจจุบัน ก็น่าจะได้เห็นว่าสิ่งนี้มันเคยตั้งอยู่ตรงไหน ในอนาคตมันจะหายไปไหมนะ มันอาจจะยังอยู่ตรงนี้ หรืออาจหายไป พูดง่ายๆ สตรีทโฟโต้มันคือการบันทึก

อย่างพวกต้นไม้ ชุดภาพถ่ายต้นไม้ของผม ผมว่ามันก็คือการบันทึกอย่างหนึ่ง มีคนบอกว่ามันคือสตรีทผมก็คิดว่ามันคือสตรีท เพราะผมไม่ได้จัดฉากอะไร แล้วมันก็หายไปจริงๆ ถูกทำลายทิ้งจนเหี้ยน แล้วก็กลายเป็นบ้านจัดสรรอะไรแบบนี้ หรือก็ตายไปตามฤดูกาล มีต้นไม้ต้นหนึ่งที่ผมเคยไปถ่ายมา จากที่มันเป็นต้นไม้ทรงสวยๆ พอฤดูกาลเปลี่ยนมันก็ตาย ใบร่วง แล้วก็ขึ้นมาใหม่ วนอยู่แบบนี้ ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยง เราบันทึกมันไว้ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นอะไรที่ดีในการที่เราสามารถบอกเล่าว่าประเทศเรา เมืองของเรามันเป็นแบบไหน ณ ช่วงเวลานั้น

 

ภาพถ่ายสตรีทที่คุณทำก็บันทึกการเปลี่ยนแปลงของเมืองไว้ประมาณหนึ่ง

ใช่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสตรีท หรือแลนด์สเค็ป พริตตี้ก็ตาม ถ่ายพริตตี้ ถ่ายมอเตอร์โชว์ หนึ่งร้อยปีข้างหน้ามันอาจจะล้ำไปมากกว่านนั้น ร้อยปีผ่านไปมันอาจจะเปลี่ยนไปจนพอย้อนกลับมาดูภาพที่เคยบันทึกไว้ในยุคนี้ เราอาจคิดว่าทำไมมันล้าสมัยขนาดนั้น หรือบางทีเราอาจเอาภาพที่เราบันทึกไว้ไปพัฒนางานอื่นๆ เช่นชุดพริตตี้ที่ยุคนี้มองว่าทันสมัย แต่ร้อยปีข้างหน้าอาจจะล้าสมัย เราก็คงมีการไปพัฒนาให้มันร่วมสมัยกับยุคมากขึ้น มันก็เป็นประโยชน์ คือเราสามารถเอางานที่เราบันทึกเอาไว้ไปทำอย่างอื่นมากมาย 

 

 

ขอข้ามไปเรื่องแกลเลอรี่ ตรงนี้เป็นมายังไง

เริ่มแรกทำเป็นออนไลน์ ผมทำ ctypemag ออนไลน์มา 6 ปี การทำออนไลน์มันก็ดีอย่างหนึ่ง คือมันเป็นอะไรที่ค่อนข้าง โปรดักซ์ทีฟ รวดเร็ว อยู่ในอินเทอร์เน็ตมันรวดเร็ว ดูง่าย เสพง่าย แต่การเปลี่ยนมาเป็นออนกราวด์ มันคล้ายๆ การทำชีวิตให้ช้าลง ซึ่งจริงๆ ชีวิตมันก็ควรจะแบบช้าลงบ้าง ทำออนกราวด์เองก็มีความลำบากมากขึ้น อีกอย่างสมัยนี้เหมือนคนจะเริ่มนิยมความลำบากมากขึ้นนะ อย่างเช่นพวกเทปคลาสเซ็ต อะไรอย่างนี้ เรื่องเสพศิลปะก็เหมือนกัน บางทีมันควรจะช้าลงบ้าง พอมันช้าลงมันจะให้รู้สึกว่ามีคุณค่า หรือการที่ไม่ได้ต้องการให้มันแมส ผมไม่ได้ต้องถ่ายภาพออกมาเพื่อให้เหมือนเป็นการผลิตสินค้าด้วยการปั๊มเยอะออกทีละมากมาย แต่เป็นการคราฟต์ขึ้นมากกว่า

วิธีการนี้มันช่วยทำให้ผู้ชมรุ่นใหม่หรือแม้แตรุ่นเก่าเขาที่เขายังโหยหาความสโลวไลฟ์ได้ดูภาพและศิลปะแบบนี้มากขึ้น การได้คุยกับศิลปิน การได้คุยกันเอง การได้เห็นปริ้นต์แบบนี้มันก็ทำให้ได้คุณค่าในอีกรูปแบบหนึ่ง ผมก็เลยลองมาทำแกลอรี่ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นความฝันด้วยที่ว่าอยากมีพื้นที่ในการแสดงผลงานตัวเอง แล้วก็เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ๆ หรืออาจจะรุ่นเก่าที่เขาอยากแสดงงาน สามารถมาใช้พื้นที่ตรงนี้ในการจัดแสดงงานได้ เช่นเขาทำโฟโต้บุ๊ก ก็สามารถเอางานมาฝากขายได้ โฟโต้บุ๊กที่เอามาวางในแกลเลอรี ส่วนใหญ่ก็เป็นของไทยทั้งนั้น

 

ทำไมต้อง Ctypemag นิยามความหมายของคำนี้หน่อยได้ไหม ?

จุดเริ่มต้นของ Ctypemag มาจากตอนที่จะตั้งชื่อได้ไปเปิดเว็บไซต์วิทยาศาสตร์เว็บไซต์หนึ่ง แล้วไปเจอคำว่า Ctype มันคือคำเรียกกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ในระบบสุริยะ แล้วมันจะมีซิลิกอน (Silicon) กับเมทาลิก (metallic) ซึ่งสองประเภทนี้มันจะสะท้อนแสงพระอาทิตย์ง่ายมากแต่มันมีจำนวนน้อย ส่วนประเภทที่มีเยอะคือ C ที่เป็นคาร์บอน ที่มันไม่สะท้อนแสงและมันก็มีเยอะมาก ทำให้เรานึกถึงว่า เออ มันเหมือนเราเลยว่ะ คนอย่างเรามีเยอะมากเลยนะ ประเภทที่ไม่สะท้อนแสง กว่าจะเจียรไนตัวเองต้องใช้เวลานานมาก หรืออาจจะต้องโชคดีด้วยถ้าคนมาเห็น กว่าจะไปดูว่างานนี้ดีไหมก็ต้องมานะพยายามบากบั่น ตรงนี้เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราให้ที่นี่ชื่อว่า Ctype  

ตอนเราเริ่มต้นเป็นช่างภาพไม่มีใครรู้จักเราเลย กว่าเราจะได้แสดงงาน ได้ตีพิมพ์ผลงาน มันต้องใช้เวลา ดังนั้นเราในฐานะ Ctypemag ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยศิลปินด้วยการให้พื้นที่แสดงผลงาน แต่ว่าต้องมีงานที่น่าสนใจ เป็นงานที่ถูกสกัดออกมาจากคาร์บอนจนกลายเป็นเพชรขึ้นมาเช่นกัน ผมเองก็เป็นคนทำงานศิลปะที่ไม่ได้มีต้นทุนทางศิลปะ ไม่ได้เรียนจบศิลปะ ตอนแรกๆ ที่เริ่มทำงานในสายนี้ กว่าเราจะได้แสดงงาน กว่าจะได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมันค่อนข้างฝ่าฟัน ผมเข้าใจคนรุ่นใหม่ที่เขาอาจจะไม่ได้มีเส้นสาย ไม่ได้มีต้นทุนทางด้านคอนเน็คชั่นและเงินทอง ผมก็เป็นประมาณนั้

 

 

การคัดเลือกงานมาจัดแสดงใน Ctypemag เลือกจากอะไร

ส่วนตัวผมมีความสนใจที่หลากหลาย เช่น conceptaul บ้าง หรืองานอย่างอื่นที่มันไม่ใข่สตรีทซะทีเดียวก็สนใจ งานที่เลือกมาจัดที่ Ctypemag มันก็เลยค่อนข้างกว้าง แต่ไม่ใช่กว้างแบบทุกอย่างมาได้หมดนะ ผมค่อนข้างเน้นไปแนวคอนเซ็ปต์ และใช้ภาพภาพชุดที่มีหลายๆ ภาพในการเล่าเรื่อง ก็คือภาพหลายๆ ซึ่งงานแสดงภาพชุดแบบนี้ในเมืองนอกจะมีค่อนข้างเยอะ อย่างเวลาเขาส่งไปเฟสติวัล ส่วนใหญ่ที่เน้นสตรีทก็จะเป็นแนวภาพชุดเล่าคอนเซ็ปต์บางอย่าง Ctypemag เลยค่อนข้างมีความกว้างขึ้นโดยรวมเรื่องสตรีทและคอนเซ็ปเข้าไวด้วย ผมอธิบายภาพอาจจะไม่ชัดมา แต่ถ้าสนใจสามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์เพิ่มเติมได้ว่าสไตล์มันเป็นยังไง 

 

แกลเลอรี่นี้เหมือนเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ศิลปินคนอื่นๆ ได้แสดงผลงาน อยากรู้ว่าปัจจุบันพื้นที่ในการแสดงงานศิลปะในไทยมีเยอะไหม 

จริงๆ พื้นที่การแสดงงานในเมืองไทยก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้เยอะมาก ที่ผมมาทำแกลเลอรีมันเหมือนไปเสริมให้มีพื้นที่แบบนั้นด้วย อีกอย่างการที่เราจะแสดงงานในแกลอรี่มันค่อนข้างมีขั้นตอน มันเหมือนการเข้าทางด่วนที่รถมันเยอะมาก กว่าจะเข้าทางด่วนได้ต้องต่อคิวและใช้เวลา การแสดงผลงานในที่สักที่ก็เหมือนกัน ต้องมีการต่อคิวกัน มีการคัดผลงานเพื่อเข้าแสดง ที่นี้คนที่อาจจะไม่ถูกใจบางที่เขาก็อาจพลาดอันนั้นไป ที่นี่เลยเป็นเหมือนเปิดอีกช่องทางด่วนหนึ่งที่ช่วยให้เขามีตัวเลือก

เราอาจจะมีรูปแบบการคัดเลือกงานที่ต่างจากคนอื่น ศิลปินก็สามารถลองส่งมาได้ ที่ผมเปิด ctypemag ออนไลน์ มันก็เป็นช่องทางหนึ่งให้ศิลปินมีพื้นที่การจัดแสดงผลงานที่หลากหลายมากขึ้น เพราะปกติคนเข้าไปทางแกลเลอรี่เยอะมาก บางครั้งก็โดนคัดออกบ้าง แต่ของเรามันเป็นการเปิดออนไลน์ คุณลอง submit มา ถ้างานดีอาจได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ หรือได้จัดแสดงที่แกลเลอรี่นี้ด้วย 

 

 

ศิลปะเป็นอะไรให้กับเมืองได้บ้าง เป็นเมืองเครื่องมือในการพัฒนาเมืองได้ไหม 

ที่จริงก็น่าสนใจถ้าศิลปะสามารถพัฒนาเมืองได้ แต่การมาเปิดแกลเลอรี่ในย่านพระโขนง ผมไม่ได้คิดมุมนั้นซะทีเดียว การดึงดูดให้คนเข้ามาเที่ยว สำหรับแกลเลอรี่นี้ผมมันยังไปไม่ถึงระดับนั้น แต่ก็เป็นผลพลอยได้นะ อย่างน้องๆ ช่างภาพที่มาแกลเลอรี่ ดูงานเสร็จเขาก็เดินถ่ายสตรีทในย่านต่อ ซึ่งก็ดีตรงที่ทำให้ได้รู้ว่าแถวนี้มีอะไร ส่วนภาพและประสบการณ์ที่เขาได้มาที่นี่ ภาพที่ได้เห็นเกี่ยวกับชุมชนละแวกนี้ เขาอาจจะนำไปต่อยอดทำอย่างอื่น เขาอาจจะไปเห็นว่าบางสิ่งสามารถปรับปรุงได้ เขาก็ถ่ายรูปสตรีทล้อเลียน เช่นน้ำเสียหรืออะไรไม่รู้ พอภาครัฐมาเห็นก็อาจสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาตรงนั้นต่อไปได้ แต่ที่จะดึงดูดคนเข้ามาเช่นนักท่องเที่ยว อาจต้องรอหลังโควิด 

 

ทำเลที่ตั้ง Ctypemag ก็ไม่ใช่โซนนิยมของนักท่องเที่ยว แกลเลอรี่เองก็อยู่ในชุมชน ในอนาคตอาจเป็นแกลอรี่ที่บุกเบิกย่านอะไรแบบนั้นไหม ? 

หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น อย่างของพี่มานิต ศรีวานิชภูมิ เจ้าของแกลเลอรี่คัดมันดู ย่านที่เขาไปทำแกลเลอรี่เมื่อก่อนก็ไม่มีแกลเลอรี่ขนาดนั้น พอเขาเข้าไปคนก็เริ่มรู้จัก เหมือนเป็นการดึงคนเข้าไปมากขึ้น จากที่คนอาจจะไม่รู้จักว่าซอยนี้คือซอยอะไร แต่พอได้เดินเข้าไปมันทำให้เห็นวัฒนธรรม ชุมชน และเห็นว่าย่านนั้นมีอะไรน่าสนใจเยอะมาก อย่างราชบุรีก็น่าจะนับว่าศิลปะช่วยพัฒนาเมืองเหมือนกันนะ

 

ตอนนี้ Ctypemag ก็เป็นแกลเลอรี่ที่คนแวะเวียนเข้ามา และได้เห็นความโดดเด่นของย่านนี้ไปด้วย ? 

ครับ อาจจะเกิดขึ้น ณ วันหนึ่ง ถ้าแกลเลอรี่มันโด่งดังมากๆ (หัวเราะ) 

Share :