คำว่ากลิ่นของเมือง ถ้าเราพูดขึ้นมาลอยๆ ก็อาจทำให้เราย่นจมูกขึ้นมาในทันที แต่จริงๆ ถ้าเราลองจินตนาการถึงบางกลิ่น บางพื้นที่ของกรุงเทพฯ กลิ่นของย่านอาจเต็มไปด้วยเรื่องราว เราอาจนึกถึงฤดูหนาวในมหาวิทยาลัย กลิ่นแห้งๆ ของอากาศเย็นๆ เจือไปด้วยกลิ่นเขียวๆ ของต้นตีนเป็ด กลิ่นของดอกไม้ กลิ่นของแม่น้ำลำคลองและต้นไม้ที่เฉพาะเจาะจง บางพื้นที่ เช่น เมืองในญี่ปุ่นมีกลิ่นบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง กลิ่นอาหาร ระบบระบายอากาศ บรรยากาศที่พิเศษของพื้นที่นั้นๆ
กลิ่นจึงเป็นอีกแง่มุมของเมือง เป็นอีกมิติที่ยึดโยงเรากับตัวตนและความทรงจำได้อย่างแนบแน่น กลิ่นพาเราเดินทางกลับไปยังอดีต พาไปยังพื้นที่อื่นๆ กลิ่นที่เหมาะสมอาจพาเราไปยืนริมแม่น้ำ ใต้ต้นไม้ใหญ่ ขุดลึกไปในความทรงจำที่ทั้งงดงามและร้าวร้าน กลิ่นจึงเป็นอีกหนึ่งผัสสะอันสำคัญที่ยึดโยงกับตัวตนและพื้นที่กายภาพนั้นๆ
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีงานศึกษาจาก HAYPP ว่าด้วยกลิ่นของเมืองสำคัญ 30 แห่งในยุโรป มีการให้คะแนนของกลิ่น และจัดอันดับ 10 เมืองที่มีกลิ่นดีที่สุดของโลกซึ่งอันดับหนึ่งคือกรุงเอเธนส์ ความสำคัญของงานศึกษานี้คือการกลับมาสนใจเมืองในแง่มุมที่ต่างออกไปคือนอกจากที่เราจะมองเห็น ฟังเสียงแล้ว ยังชวนมาร่วมดมกลิ่นของเมือง
ในโอกาสนี้ City Cracker จึงชวนไปรู้จักกระแสความสนใจเรื่องกลิ่นของเมือง จากการทำแผนที่กลิ่น(smellscape) การนึกถึงตัวตนของเมืองที่สัมพันธ์กับกลิ่น เมืองที่กลิ่นดีเป็นอย่างไร ไปจนถึงการท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์ด้านกลิ่นเป็นจุดหมายปลายทาง
ภูมิทัศน์กลิ่นและการจัดทำแผนที
การศึกษาเรื่องภูมิทัศน์กลิ่นของเมืองยังเป็นแง่มุมของเมืองที่ยังไม่ถูกสำรวจนัก กลิ่นของเมืองอาจเป็นการศึกษาที่ซับซ้อน กลิ่นของพื้นที่หนึ่งๆ อาจสัมพัทธ์ไปตามช่วงเวลา เกี่ยวข้องกับข้อมูลและการใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับจำนวนมาก การศึกษาใหม่ๆ ส่วนใหญ่มักจะใช้เครื่องมือ เช่น บิ๊กดาต้าและอุปกรณ์ตรวจจับกลิ่นในการศึกษาและทำแผนที่กลิ่นของพื้นที่หนึ่งๆ
ทั้งนี้ กลิ่นในมิติของผัสสะ ยังเป็นอีกพื้นที่ที่การออกแบบเมืองหรือประสบการณ์ของย่านหรือพื้นที่ใดๆ ยังไม่ถูกสำรวจและใช้งานมากนัก ทว่า กลิ่นเป็นอีกหนึ่งแง่มุมในชีวิตของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับความคิด ความรู้สึก ไปจนถึงส่งผลโดยตรงกับประสบการณ์ในพื้นที่หรือในเมืองนั้นๆ กลิ่นที่อยู่รอบๆ ตัวของเราส่งผลต่อความสุขและความพึงพอใจ นอกจากนี้กลิ่นยังเป็นอีกสัญญาณของคุณภาพและการบริหารจัดการเมือง หลายครั้งที่กลิ่นของเมืองเผยให้เห็นปัญหา หลายครั้งสัมพันธ์กับมิติของสุขภาพและอนามัยของผู้คน กลิ่นจากโรงฆ่าสัตว์ โรงงานอาหาร ท่อระบายน้ำ ขยะ เป็นต้น
กลิ่นของย่าน อัตลักษณ์ของเมือง
คำว่ากลิ่นของเมืองมักหมายถึงการควบคุมและกำจัดกลิ่น แต่ในการศึกษาเรื่องกลิ่นพยายามชี้ให้เห็นว่า เมืองที่หน้าตาเหมือนๆ กัน กลิ่นเป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่ทำให้เมืองนั้นๆ มีเสน่ห์และมีความเป็นตัวเองจากกลิ่นและสัมผัสของเมืองนั้นๆ คำว่ากลิ่นจึงไม่ได้จำกัดแค่กลิ่นหอม แต่หมายรวมถึงกลิ่นที่เราทำความเข้าใจ สัมพันธ์กับบริบท กับประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของผู้คน
ย่านบางย่านที่มีบริบททางวัฒนธรรม เช่น ย่านของช่างไม้ที่สืบทอดงานฝีมือเก่าแก่อาจอบอวลไปด้วยกลิ่นของไม้สดใหม่ กลิ่นของกาวน้ำ ย่านอาหารของบางพื้นที่ กลิ่นของแป้งโรตีและแกง กลิ่นของไม้ยืนต้นและลมที่พัดเอาไอสดใหม่ของแม่น้ำ กลิ่นหญ้าตัดใหม่ ถึงมอลต์และถังไม้ กระทั่งกลิ่นของท่าอากาศยาน กลิ่นแห้งๆ บนเครื่องบิน ทั้งนี้ความเข้าใจเรื่องกลิ่นและย่านอาจนำไปสู่การบริหารจัดการกลิ่นให้อยู่ในระดับรื่นรมย์และดีต่อสุขภาพ
ในระยะหลัง การท่องเที่ยวในระดับโลกเริ่มมีกระแสการท่องเที่ยวเชิงกลิ่น (Olfactory tourism) ถ้าเราย้อนกลับไปที่การให้อันดับเมืองที่กลิ่นดีที่สุดในโลก แต่ละเมืองมีจุดเด่นของกลิ่นที่แตกต่างกันออกไป กรุงเอเธนส์ได้คะแนนจากกลิ่นสดใหม่ของอาหาร กลิ่นขนมหวานๆ ของย่างและกาแฟสดใหม่ ทั้งตัวเอเธนส์เองยังขึ้นชื่อเรื่องการเป็นเมืองแห่งดอกไม้ มีร้านดอกไม้ 31 แห่ง ร้านน้ำหอม 22 แห่งต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร องค์ประกอบเมืองที่ให้กลิ่นหอมทั้งร้านอาหาร ขนมอบ ร้านดอกไม้ ร้านเครื่องหอมจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ทุกหัวมุมถนนของเมือง ผสมกับความมุ่งมั่นด้านความสะอาดของเมือง
การท่องเที่ยวด้วยกลิ่นหอมจึงเป็นอีกพื้นที่ที่ความโรแมนติก อดีต ความรู้สึกผสานเข้ากับการบริหารจัดการและวิสัยทัศน์ในเชิงกายภาพ เราจะมองเห็นกลิ่นอันลุ่มลึกของกรุงเทพสะท้อนเรื่องราวที่มองไม่เห็นของเราได้อย่างไร อะไรคือกลิ่นเมื่อเรายืนริมแม่น้ำเจ้าพระยา อะไรคือกลิ่นของขนม อาหาร ที่สัมพันธ์กับภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่มีสีสันของผู้คน กลิ่นรสที่ชวนให้รำลึกถึงไปจนถึงกลิ่นรสที่ชวนให้น้ำลายสอ กลิ่นที่หาไม่ได้จากที่ไหนและพาผู้คนกลับมายังที่เดิมอีกครั้ง
ความยอกย้อนของกลิ่นและความนามธรรม
การศึกษาและทำแผนที่กลิ่นของเมืองยังเป็นงานศึกษาใหม่ที่ยังมีการศึกษาไม่มากนัก แต่ระยะหลังมีหนังสือและงานศึกษาที่มีรายละเอียดหลายชิ้น เช่น งานศึกษาและแสดงแผนที่กลิ่นของเมืองต่างๆ จาก Dr. Kate McLean มหาวิทยาลัยเคนท์ กระบวนการหนึ่งของงานศึกษาคือการเก็บความรู้สึกของผู้คนในการเดินไปในพื้นที่ต่างๆ ของเมืองและเก็บข้อมูล
สิ่งที่ผู้วิจัยพบคือ รายงานเรื่องกลิ่นของกลุ่มตัวอย่างกลับไม่ใช่ถ้อยคำง่ายๆ อย่างที่คาดหวัง เช่น กลิ่นร้านกาแฟ หรือกลิ่นอื่นๆ ที่เราอาจนึกออก แต่ผู้รายงานกลับพูดถึงมิติตั้งแต่เล็กน้อย เช่น ได้กลิ่นเหมือนบล็อคโครี่ ไปจนถึงกลิ่นของความฝันที่ล่มสลาย (smell of shattered dreams) ไปจนถึงชีวิตที่ยากลำบาก
โดยทั่วไป ข้อมูลของแผนที่กลิ่นมักแบ่งแยกและองค์ประกอบของสิ่งที่ให้กลิ่นต่างๆ เช่น กลิ่นจากธรรมชาติ กลิ่นจากกิจกรรมของมนุษย์ กลิ่นเครื่องเทศ และน่าแปลกที่กลิ่นบางอย่างที่เป็นนามธรรม เช่น กลิ่นของความฝัน หรือความยากลำบากเป็นอีกลักษณะกลิ่นที่ถูกกล่าวถึง ในบางงานสำรวจนำไปสู่ความเข้าใจความหลากหลายของเมือง เช่น การสำรวจมิติทางกลิ่นของอัมสเตอร์ดัม ในที่สุดกลายเป็นแผนที่กลิ่นที่รุ่มรวยจากกลิ่นขนม อาหาร วาฟเฟิล ดอกไม้ ใบไม้ แยกแยะออกมาได้ถึง 400 กลิ่น
ตัวอย่างและผลของการทำความเข้าใจกลิ่นจากเมืองกวางโจว
ในเมืองกวางโจว ประเทศจีน มีงานศึกษาใหม่ ตีพิมพ์ในปี 2022 งานศึกษาของจีนผสมผสานการสำรวจกลิ่นภาคสนามและใช้ข้อมูลขนาดใหญ่จากอินเทอร์เน็ตมาประมวลและสร้างเป็นแผนที่ งานสำรวจสร้างแผนที่ที่แยกย่อยออกมาเป็นกลิ่นสี่ประเภทคืออาหาร ธรรมชาติ ยาและครัวเรือน ตัวแผนที่ทำให้เห็นจุดที่กลิ่นแต่ละประเภทกระจุกตัว เห็นความเชื่อมโยงและเห็นบริบทที่น่าสนใจ
แผนที่กลิ่นของกวางโจวทำให้เห็นภูมิทัศน์ทั้งในเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม กลิ่นอาหารกวางตุ้งหนาแน่นบริเวณแถบเมืองเก่า กลิ่นของธรรมชาติขาดหายไปสะท้อนให้เห็นการจัดการกับแม่น้ำและทางน้ำต่างๆ ไปจนถึงพื้นที่สีเขียวที่กระจัดกระจาย กลิ่นของธรรมชาติกลางเมืองไม่สัมพันธ์กับบริบทของพื้นที่และประวัติศาสตร์ของเมือง กลิ่นเฉพาะตัวของแม่น้ำและระบบนิเวศริมน้ำที่มีน้อย กลิ่นทางการแพทย์สัมพันธ์กับวัฒนธรรมการแพทย์ เช่น ร้านยาจีน พื้นที่รักษาเยียวยาต่างๆ
ความเข้าใจและการสำรวจเรื่องกลิ่นของกวางโจวนำไปสู่ความเข้าใจ เช่น อะไรคือกลิ่นที่ผู้คนชื่นชอบ การมองเห็นในระดับผังและแผนที่นำไปสู่ความเข้าใจในการใช้กลิ่นที่มีต่อพฤติกรรมของผู้คน กลิ่นของอาหารนำไปสู่ความอยากอาหาร อะไรคือกลิ่นที่ควรควบคุม ในงานศึกษาเมื่อเราเห็นแผนที่กลิ่นแล้ว การออกแบบเส้นทางของเมืองโดยอิงกับกลิ่น หรือการจัดกลุ่มพื้นที่ในมิติใหม่ๆ เพื่อพัฒนาเมืองและสร้างตัวตนใหม่ๆ ให้เมืองต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Vanat Putnark
Writer
- Warunya Rujeewong
Graphic Designer