CITY CRACKER

รู้จัก ‘Low Traffic Neighbourhood’ เมื่อเมืองเริ่มเปิดโซนปิดกั้นรถยนต์

ในจินตนาการของเรา เมืองมักอยู่คู่กับรถยนต์

แต่ในความคิดใหม่ๆ เมืองเริ่มมองเห็นว่าชุมชนและผู้คนเป็นสิ่งสำคัญกว่ารถยนต์ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา หน้าตาของเมืองเริ่มถูกนิยามใหม่ ในเมืองที่การจราจรต่ำ ถนน ย่านและการเดินกลายเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยขึ้น สงบเงียบมากชึ้น หลายเมืองใหญ่จึงเริ่มพิจารณาคืนถนนและย่านกลับให้กับผู้คน

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ลอนดอน รวมถึงเมืองอื่นๆ ของอังกฤษเอง เริ่มรับและใช้งานนโยบาย ‘ย่านการจราจรต่ำ’ หรือ Low Traffic Neighbourhood เป็นหนึ่งในกระแสความเคลื่อนไหวที่กลายเป็นนโยบายสำคัญของเมือง ย่านการจราจรก็มีลักษณะตามชื่อคือเป็นย่านที่กีดกันไม่ให้รถยนต์และจักรยานยนต์ผ่านเข้าไปในย่าน มีการควบคุมปริมาณการสัญจร เป็นพื้นที่ที่จะให้ความสำคัญกับการเดินและการขับขี่จักรยาน

 

©️hackneycitizen.co.uk

อะไรคือ Low Traffic Neighbourhood

ในภาคปฏิบัติ ย่านการจราจรต่ำ มีหน้าตาที่เรียบง่ายมาก คือเป็นพื้นที่ที่เมืองกำจัดการเข้าถึงรถยนต์ด้วยการปิดถนนบางเส้นและบางส่วน ถนนที่เข้าสู่ย่านนั้นๆ ที่ถูกควบคุมทำให้พื้นที่ย่านกลายเป็นพื้นที่ที่มีการเดินและการปั่นจักรยานเป็นการสัญจรหลัก พูดง่ายๆ คือเป็นเขตปลอดรถยนต์

ลักษณะการควบคุมมีตั้งแต่การตั้งป้ายหรือสิ่งกีดขวางไม่ให้ยานพาหนะเข้าเขตได้ ในบางพื้นที่ที่มีความคับคั่งและซับซ้อนกว่า ทางการจะมีการใช้ระบบเข้า-ออก เช่น มีการใช้บัตรผ่านหรือระบบกล้องตรวจสอบป้ายทะเบียน ทำให้รถยนต์บางคัน เช่น รถของผู้พักอาศัยภายในย่านหรือรถบริการต่างๆ วิ่งเข้าในพื้นที่ย่านหรือโซนนั้นๆ ได้

ที่มาของการควบคุมย่านมาจากหลายปัจจัย อย่างแรกคือการเกิดอุบัติเหตุในเขตย่านพักอาศัยหรือพื้นที่ที่มีความเปราะบาง เช่น พื้นที่ที่มีเด็ก ผู้สูงอายุหรือผู้พิการอยู่อาศัยและใช้เวลาบนถนนของย่าน หรือพื้นที่ที่เมืองต้องการควบคุมความคับคั่งของรถยนต์เพื่อความปลอดภัย

©️sustrans.org.uk

สำหรับอังกฤษการเปิดโซนการจราจรต่ำเป็นกระแสสำคัญของนโยบายเมืองในช่วงปี 2020-2022 แต่อังกฤษเองเป็นหนึ่งในประเทศที่ค่อนข้างก้าวหน้าด้านนโยบายเมือง เมืองอังกฤษเคยมีนโยบายคล้ายๆ กันในยุคปี 1970 คือออกนโยบายปิดถนนและเปิดโซนรถยนต์ห้ามเข้าเพื่อรักษาถนนในโซนนั้นๆ เป็นพื้นที่เล่นและพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ

ปัจจุบันอังกฤษมีการบังคับใช้และมีการออกแบบถนนคัดกรองรถยนต์หรือ modal filters คือการออกแบบให้ถนนของย่านหรือพื้นที่ที่ต้องการเปิดเป็นย่านการจราจรต่ำ ทำหน้าที่กรองรูปแบบยานพาหนะ (ส่วนใหญ่คือรถยนต์และจักรยานยนต์) ไม่ให้เข้าในพื้นที่ได้ ล่าสุดถนนคัดกรองรถยนต์กำลังเป็นนโยบายหลักของประเทศ ซึ่งหลังโควิดเป็นต้นมา อังกฤษมีถนนคัดกรองอย่างน้อย 25,000 จุด ทั่วประเทศ

ความเฟื่องฟูของย่านสัญจรต่ำของอังกฤษที่กลับมาบูมอีกครั้งหลังโรคระบาด อันที่จริงเป็นแนวนโยบายในการออกแบบเมืองและย่าน ซึ่งย่านพักอาศัยและย่านอื่นๆ ได้ทบทวนเรื่องย่านปลอดภัยไร้รถยนต์มาตั้งแต่ทศวรรษที่รถยนต์เริ่มเฟื่องฟู

©️cycling-embassy.org.uk

ภาคปฏิบัติของย่านการจราจรต่ำ

การปิดถนนห้ามรถยนต์เข้าของอังกฤษมีประวัติศาสตร์ ความเคลื่อนไหวและเคสทดลองหลายแห่ง บางส่วนมักเกิดจากการเรียกร้องของชาวชุมชนให้ปิดถนน ห้ามไม่ให้รถยนต์เข้าพื้นที่อันเกิดจากอันตรายของการจราจรที่มีต่อผู้อยู่อาศัย ในบางพื้นที่ การกีดกันรถยนต์ของย่านหนึ่งๆ เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูย่านนั้นๆ หรือ Urban rivival project

ตัวอย่างเช่น ในทศวรรษ 1960 บริเวณย่าน Primrose Hill เกิดอุบัติเหตุจนมีเด็กเสียชีวิตสองรายเมืองจึงปิดถนนไม่ให้รถข้ามสะพาน โซน Primrose Hill จึงเป็นโซนแรกๆ ของอังกฤษที่ปิดการจราจรถาวรในพื้นที่ หรือที่การพัฒนาย่านของเมืองนิวส์ทาวน์ ที่ Exeter การฟื้นฟูย่านมีการปิดถนนสองเส้นที่จะวิ่งเข้าบางโซนเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูย่าน

กรณีที่โด่งดังที่สุดในการเปิดย่านการจราจรต่ำคือเมือง De Beauvoir Town ในทศวรรษ 1970 ทางสภาเมืองลอนดอนตอนเหนือให้ Graham Parsey สถาปนิกและชาวชุมชนได้ทดลองวางแผนและวางผังทำถนนคัดกรองรถยนต์ของเมือง โดยหลังจากทำการทดลองได้หนึ่งปี ทางเมืองและชาวชุมชนก็เห็นชอบและทำให้ระบบถนนคัดกรองรถยนต์กลายเป็นพื้นที่ถาวร เมืองแห่งนี้จึงนับเป็นเมืองแรกที่ทำให้โซนการจราจรต่ำเป็นนโยบายจริง คือเกิดก่อนกระแส และเป็นต้นแบบของแนวคิด Low Traffic Neighbourhood

De Beauvoir road plan 1972 ©️hackneycyclist.blogspot.com

 

ข้อสังเกตและข้อถกเถียงของย่านจราจรต่ำ

ย่านการจราจรต่ำแม้จะเป็นในอังกฤษที่เริ่มมีพื้นที่คัดกรองรถยนต์หรือโซนที่เคร่งครัดกับรถยนต์ หรือปลอดรถยนต์ ในระดับนโยบายและการบังคับใช้ถือเป็นนโยบายที่ค่อนข้างกระทบกับผู้คนและมีแรงต้านรวมถึงมีความพยายามศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนหรือหักล้างนโยบายควบคุมถนนและพื้นที่อย่างเข้มข้น

หนึ่งในข้อโต้แย้งคือ การเปิดพื้นที่จำกัดรถยนต์ที่ว่าควรจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเมืองและพฤติกรรมการใช้รถ รวมถึงปริมาณการจราจรในภาพรวม แต่การปิดโซนหรือปิดถนนบางเส้น ในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง คือรถยนต์ไปแออัดหรือไปเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ข้างๆ แทน

ข้อมูลงานศึกษายังไม่ได้ข้อยุติ บางงานชี้ให้เห็นผลเชิงบวกในพื้นที่ เช่น การจราจรบางเบาลง อุบัติเหตุไปจนถึงอาชญากรรมในเขตปลอดรถยนต์ลดลงโดยพื้นที่รอบข้างไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ในบางความเห็น เช่น จากภาคขนส่งของอังกฤษชี้ให้เห็นว่าเป็นการลงทุนปิดถนนที่ไม่คุ้มค่ากับผลเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่รอบๆ โซนไร้รถ

อย่างไรก็ตามการปิดโซนรถยนต์และเปิดโซนการจราจรต่ำเป็นกระบวนการจัดการพื้นที่เมืองที่ค่อนข้างซับซ้อน ในเว็บไซต์ที่สนับสนุนและให้ข้อมูลชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการโซนนิ่ง การเข้าใจระบบถนนของเมืองนั้นๆ มีการจัดลำดับ จัดการที่ถี่ถ้วนในการเลือกวางจุดถนนเพื่อการคัดกรองรถยนต์ วางจุดสกัดรถยนต์ รวมถึงการวางระบบโครงข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เส้นทางรถยนต์และสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่สอดคล้องกับกับการสร้างย่านปลอดภัยหรือปลอดรถขึ้น

 

©Evan Mitsui/CBC

 

ทั้งนี้ นโยบายโซนปลอดรถยนต์ยังคงเป็นที่ถกเถียงและสัมพันธ์กับบริบททางการเมือง เช่น มีความพยายามถอดถอนถนนคัดกรองและโซนรถยนต์ออกไปซึ่งชาวเมืองยังค่อนข้างโหวตแย้ง โดยในหลายรายงานพูดเรื่องการบล็อกรถยนต์สัมพันธ์กับปัญหาคือย่านปิดถนนอาจไม่เหมาะและทำให้เกิดปัญหาการจราจร บางรายงานค่อนข้างชี้ให้เห็นสัดส่วนของชาวชุมชนหรือชาวเมืองที่สนับสนุนการปิดโซน แต่การปิดโซนนั้นอาจขัดแย้งกับมุมมองของทางการในภาพที่ใหญ่กว่า

ในบางข้อสังเกต ปัญหาการจราจรและความคับคั่งอาจมาจากพฤติกรรมการใช้ถนนและอิทธิพลของเทคโนโลยี เช่น การนำทางของกูเกิลแมพหรือแอพที่ใช้สัญญาณดาวเทียมนำทางจากระบบแผนที่ดิจิตัล การนำทางนี้หลายครั้งเกิดความผิดพลาด เช่น พาผู้ขับขี่ขับตัดไปยังถนนบางสาย เช่น ถนนของย่านหรือชุมชนพักอาศัย เส้นทางที่สั้นที่สุดอาจนำไปสู่ความแออัดของเส้นทางที่ไม่เหมาะสม รวมถึงพฤติกรรมการนำทางที่เราอาจสนใจป้ายและเส้นทางตรงหน้าน้อยกว่าเส้นทางที่แอพพลิเคชั่นบอกเรา

ดังนั้นประเด็นเรื่องย่านหรือโซนไร้รถจึงเป็นอีกหนึ่งการทดลอง หรือกระทั่งเป็นภาคปฏิบัติที่เมืองเองยังคงตั้งคำถามและพยายามหารูปแบบการใช้พื้นที่เมืองต่อไป เมืองเองก็ต้องการการออกแบบและความเข้าใจเมืองที่ถี่ถ้วน หรือในบางประเด็น การควบคุมเส้นทางก็อาจสัมพันธ์กับการทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีในการควบคุมเส้นทางและปริมาณรถที่อาจมาจากดาวเทียมและข้อมูล ไม่ใช่แค่การตั้งป้ายหรือแท่งปูนเพื่อกีดกันรถยนต์

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
citychangers.org
theguardian.com
ustrans.org.uk

 

Graphic Designed by eggyolkcity
Share :