การจะทำให้เรื่องเมืองเป็นเรื่องของทุกคนนั้นไม่ง่ายเลย เพราะเรื่องของเมืองนั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างซับซ้อน มีหลักทางวิชาการที่ต้องทำความเข้าใจมากมาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำไม่ได้ เพราะเรื่องเมืองนั้นส่งผลกระทบต่อผู้คนในทุกระดับ สิ่งสำคัญคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งมันมากกว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่กี่ครั้ง แต่คือการทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง พูดคุยแลกเปลี่ยน สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลและทำความเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้
ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุง ครั้งที่4 น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นสร้างความเข้าใจเรื่องเมืองร่วมกัน มองเห็นปัญหาและโอกาสและความท้าทายของเมืองในอนาคตต่อจากนี้ที่จะถูกพัฒนาไปท่ามกลางปัญหาที่หมักหมมมานาน
โจทย์ของเมืองในวันนี้ทั้งท้าทายและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราจึงไม่เพียงแนวคิดพื้นฐาน (principle and standard) ที่จะทำเมืองให้ดีแต่รวมถึงข้อเสนอแนะใหม่ๆ (innovation) ที่ไม่เคยทำมาก่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มองไปข้างหน้า เราต้องการกระบวนการสร้างการคุย การสื่อสารที่เข้าถึงใจคน สามารถเข้าใจง่าย บรรยากาศที่เปิดโอกาสให้เกิดการสะท้อนอย่างตรงไปตรงมา ผู้ทำก็เห็นปัญหา วิชาชีพทางการออกแบบ และพัฒนาเมือง รวมถึงสหสาขาต่างๆ สามารถชี้ชวนสังคมให้คิด ตั้งคำถาม และนำเสนอข้อมูลเพื่อให้การพัฒนาเดินอยู่บนหลักการ ประชาชนก็เข้าใจหลักคิด มองเห็นฉากทัศน์ (scenario) ที่เราจะเดินไปว่าเป็นแบบไหน จะได้และเสียอะไรในแต่ละทางเลือก ซึ่งผังเมืองเพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ไขปัญหาทั้งหมดของเมืองได้ มันต้องอาศัยการบูรณาการเครื่องมือ อำนาจ กลไก หน่วยงาน มาทำงานร่วมกัน และชี้ให้ประชาชนมองเห็นทางออกตลอดจน road map ร่วมกัน
มิลานกับกลยุทธ์เปลี่ยนแปลงเมืองภายใน ปี 2030
แน่นอนว่าการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองนั้นต้องมีกลยุทธ์สำคัญ สิ่งแรกคือต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และจะทำอย่างไร เพื่อไปถึงเป้าหมายนั้นๆ แล้วมิลานทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้เมืองสามารถเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีคุณภาพ
อันดับแรกมิลานมีวัตถุประสงค์ของการพัฒนาอย่างชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น 4 เรื่องสำคัญ คือ
1. เพื่อตอบสนองการเพิ่มขึ้นของของประชากรที่อายุต่ำกว่า 35 ปี และผู้สูงวัยที่มีอายุ 85 ปี ขึ้นไป
2. ทำให้การพัฒนาสร้างประโยชน์กับทุกกลุ่มในสังคม
3. กระจายความเจริญสู่ทุกพื้นที่
4. ผสานการพัฒนาเข้ากับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ผ่านการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและการสร้างพื้นที่สีเขียว
การพัฒนาเมืองนั้นส่งผลกระทบกับทุกฝ่าย เทศบาลเมืองมิลาน จึงให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นทีของการสื่อสารและรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะออกมาเป็นแผนและผัง ต้องมีการสร้างความเข้าใจในระบบคุณค่าที่มีร่วมกันก่อนเพื่อให้สมาชิกเมืองยอมรับและเห็นในทิศทางที่แผนจะเดินไปจากนี้ นั้นคือ ‘Collective Growth และ Individual Growth’การสร้างการพัฒนาที่ส่งเสริมการเติบโตของส่วนรวมและพลเมืองแต่ละคน ซึ่งเขามองว่าไม่ใช่แค่การทำชั่วครั้งชั่วคราวแต่คือการสร้างพื้นที่ถาวร เป็น city center ศูนย์ให้ข้อมูลและเปิดรับข้อเสนอ( Initiative) และเป็นพื้นที่ของการถกแถลงอย่างสร้างสรรค์ (debate) ไว้ในใจกลางเมือง
ปัญหาของมิลานและมาตรการของรัฐ
ปัญหาใหญ่ของมิลานคือการขาดแหล่งที่อยู่ที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน การเปลี่ยนแปลงเมืองครั้งนี้จึงมุ่งเน้นที่จะสร้าง Public Houisng สำหรับผู้มีรายได้น้อยและ First Jobber ให้มีแหล่งงานและที่พักอาศัยที่มีคุณภาพซึ่งคือปัจจัยพื้นฐานที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเมืองเรื่องอื่นๆ โดยวางพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาไปที่พื้นที่อุตสาหกรรมเก่าที่ไม่ได้ใช้งานของเมือง ซึ่งที่ดินโรงงานอุตสาหกรรมเก่าเหล่านี้มักจะอยู่บริเวณชานเมืองซึ่งตอบโจทย์แนวทางการกระจายความเจริญให้ทั่วถึงทั้งเมือจากที่ตั้งไว้
เมื่อเป้าหมายชัด เทศบาลเมืองจึงมีการจัดสรรงบประมาณจากภาษีที่เก็บได้โดยส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งเพื่อไปพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและ facility ต่างๆ ในชานเมืองเพื่อดึงดูดเอกชนให้ไปพัฒนาในบริเวณชานเมืองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการภาษีเพื่อให้เอกชนหันไปพัฒนายังบริเวณชานเมืองมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เจ้าของโรงงานเก่าตึกเก่า นำที่ดินเหล่านั้นมาพัฒนามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทำข้อตกลงกับการรถไฟเพื่อนำพื้นที่ซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ในหลายจุดที่ไม่ได้ใช้งานมาปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่พัฒนาที่อยู่อาศัยพื้นที่สาธารณะและแหล่งงานใหม่ของเมือง
พร้อมมีการใช้เทศกาลระดับโลกมาจัดที่มิลาน เพื่อใช้เป็นหมุดหมายของการดึงงบประมาณมาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่จัดงานเหล่านั้น ซึ่งภายหลังงานก็จะปรับเปลี่ยนเพื่อเป็น node ใหม่ๆ ของเมือง เช่น World Expo 2015 และ Winter Olympic 2026
ในการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องใช้เวลา และไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายนักการเมืองที่มาแล้วไป แต่คือการทำแผนเพื่ออนาคตในระยะเวลา กว่า 10 ปี ที่วางให้แผนเสร็จเป็นเฟส ทั้งหมดนี้จะเห็นว่า เพื่อการพัฒนาเมืองที่ดีสำหรับอนาคต มันต้องใช้หลายเครื่องมือมาบูรณาการพร้อมกัน โดยมีผังเมืองเป็นแกนกลางของบทสนทนา และบทสนทนานี้ ต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์และมีส่วนร่วมเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ทั้งหมดนี้ ต้องการ trust หรือ ความเชื่อใจต่อกัน ของทุก stakeholde เราอยากเห็นเมืองที่มีอนาคตของคนในวันนี้และส่งต่อให้คนในรุ่นถัดไป
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker