CITY CRACKER

ตึก+ต้นไม้ 7 โปรเจกต์อาคาร ที่พาต้นไม้ไปยืนบนขอบฟ้า

ยุคหนึ่ง ตึกสูงและต้นไม้ดูจะเป็นสองสิ่งที่เราต้องเลือก ถ้ามีตึกคอนกรีตก็ต้องแลกกับการตัดต้นไม้ ในขณะเดียวกันด้วยเงื่อนไขของเมือง เราเองก็ต้องการการใช้งานพื้นที่แนวตั้งเพื่อให้เราสามารถใช้พื้นที่เมืองที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทว่า ในช่วงหลังเป็นต้นมา ด้วยนวัตกรรมการก่อสร้าง และการทลายจินตนาการของนักออกแบบ ผนวกกับความเข้าใจเรื่องพลังของพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ ตึกสูงกับต้นไม้จึงไม่ได้เป็นคู่ตรงข้ามกันอีกต่อไป อาคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ต่างก็พยายามเปิดพื้นที่ให้พืชพรรณโดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่ได้เจริญงอกงามไปพร้อมๆ กับพื้นที่เมืองและผู้คน ตึกหลายแห่งเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ชีวิตร่วมกับเงาไม้

ด้วยมุมมองใหม่ๆ ของอาคารที่นำพาต้นไม้กลับมาอยู่ร่วมกับเราในเมือง ภาพของพื้นที่เมืองและตึกสูงจึงเริ่มพาเราเข้าสู่ภาพเมืองใหม่ จากเมืองคอนกรีตสีเทา สู่เมืองที่ดูน่ามหัศจรรย์ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพืชพรรณและการเติบโต เป็นเมืองที่กระจกและเหล็กกล้าอยู่ร่วมกับเงาไม้ เป็นเมืองที่พาเราขึ้นไปบนเส้นขอบฟ้า รับสายลมอ่อนๆ บนยอดตึกสูงโดยมีเพื่อนเป็นพืชพรรณที่ยืนต้นอยู่ร่วมกับเรา เป็นพื้นที่ที่เราได้ใช้งาน ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่พาเราไปสู่จินตนาการใหม่ๆ ของชีวิตในเมือง

และนี่คือ โปรเจกต์ที่เมืองตึกมารวมกับต้นไม้ เมื่อสถาปัตยกรรมของอาคารพยายามพาธรรมชาติเข้ามาไว้ใจกลางเมือง จากป่าแนวตั้งอันเป็นหมุดหมายสำคัญของอาคารสูงถึงสวนที่เป็นลานดาดฟ้ากลางสยาม และผลงานจากสถาปนิกต้นตำรับตึกสูงที่ปกคลุมด้วยไม้ใหญ่ถึงบ้านรัฐที่เป็นป่าแนวตั้ง ไปจนถึงอีกหนึ่งหมุดหมายอาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่อยู่ของต้นไม้พันต้นตามชื่อโปรเจกต์

 

Terrarium Cheong-Dam, ODA

โปรเจกต์ในอนาคตของเกาหลี กับ Terrarium Cheong-Dam ตึกสูงใหม่ที่เตรียมสร้างในย่านกังนัมอันโด่งดัง ตัวโปรเจกต์นี้เป็นอีกหนึ่งภาพอนาคตของอาคารสูงที่ใช้การออกแบบเปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อตึกสูงและพื้นที่ธรรมชาติ ตัวอาคารที่เว้าเข้าและกลายเป็นพื้นที่สีเขียวจนเหมือนตัวตึกแหว่งกลางเป็นคอนเซ็ปต์ที่สะท้อนกับชื่ออาคารคือ Terrarium ที่หมายถึงสวนขวดแก้ว จินตนาการของการออกแบบอาคารจึงค่อนข้างท้าทายมุมมองของเราที่มีต่อตึกสูง ที่ครั้งนี้ ล้อรูปร่างและแนวคิดมาจากสวนขนาดเล็ก ซึ่งสวนจิ๋วนี้ก็น่าจะกลายเป็นสวนจิ๋วของเมืองที่เมื่อเรามองขึ้นไปบนตึกสูงก็จะรู้สึกเหมือนได้มองสวนในโหลกลมๆ จากที่ไกลๆ

แนวคิดการออกแบบตึกสูงมีความน่าสนใจและสอดคล้องกับหลายตึกสูงที่มีการแทรกพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะลงไป คือผู้ออกแบบระบุว่าอาคารสูงใหม่นี้จะเป็นการขยายพื้นที่สาธารณะของโซลออกไปจากพื้นที่เท่าที่มีอยู่ ตัวอาคารนอกจากจะมีสวนลอยฟ้าจากพื้นที่เว้ากลางอาคารแล้ว บริเวณฐานของตึกสูงก็จะออกแบบเป็นพื้นที่สาธารณะที่เชื่อมต่อกับเนื้อเมือง เป็นทั้งสวนและพื้นที่กิจกรรมใหม่ที่จะสร้างสร้างนิยามและความหมายใหม่ๆ ให้กับเมือง อนึ่งตัวโปรเจกต์ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดมากนัก เช่น พื้นที่สวนที่ล้อกับสวนโหลแก้วจะเข้าถึงได้ไหม หรือออกแบบเพื่อให้เราเข้าถึงได้ในระยะสายตาจากพื้นที่อื่นๆ ของเมือง และเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับผู้เช่าหรือผู้ใช้งานอาคารเท่านั้น แต่ด้วยการออกแบบเป็นสวนโหลแก้วที่ดึงดูดสายตา การเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวจากสถาปัตยกรรมในการออกแบบอาคาร Terrarium Cheong-Dam ก็ถือว่าเป็นการเชื่อมโยงสถาปัตยกรรมเข้ากับเมืองได้ค่อนข้างน่าสนใจ

 

Sky Forest Scape, Shma

เวลานึกถึงลานสาธารณะ เรามักนึกถึงพื้นที่ระดับผิวถนน แต่ด้วยเงื่อนไขของเมืองและการออกแบบ Sky Forest Scape ลานและสวนลอยฟ้าใจกลางสยาม จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบพื้นที่รวมตัวและพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองรูปแบบใหม่ที่พาผู้คนหลีกหนีขึ้นไปนั่งใต้เงาไม้โดยมีฉากหลังเป็นเส้นขอบฟ้าและอาคารสูงที่ระยิบระยับของกรุงเทพมหานคร

ป่าลอยฟ้าตั้งอยู่ที่ชั้นสิบ ของอาคารสยามสเคป จุดเด่นของพื้นที่คือการเปิดพื้นที่ด้านบนหรือดาดฟ้าของอาคารเป็นพื้นที่ที่เงียบสงบ เป็นที่ๆ ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสกับอีกด้านของสยามสแควร์ จากพื้นที่ที่สนุกสนาน การขึ้นมายังชั้นสิบของอาคาร เราจะได้พบกับลานกว้างๆ ที่มีเส้นสายเรียบง่าย มีพื้นที่นั่งเหมือนอัฒจรรย์ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ สวนและลานแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งการตอบโจทย์ของความต้องการพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติในบริบทเมืองที่พื้นที่ระดับผิวดินมีจำกัดและหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

 

CapitaSpring Tower, Bjarke Ingels

สิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผนวกพื้นที่สีเขียวเข้าไปอยู่ในพื้นที่อาคาร ไปอยู่บนดาดฟ้าของตึกสูง ตัว CapitaSpring Tower เป็นอีกหนึ่งตึกสูงที่เป็นนวัตกรรมการพัฒนาเมือง คือการที่อาคารแห่งนี้เป็นพื้นที่ผสมหรือ มิกซ์ยูส เป็นอาคารสูงใจกลางย่านธุรกิจที่หนาแน่นของสิงคโปร์หรือ CBD ตึกสูงแห่งนี้เป็นเหมือนกับยกพื้นที่เมืองขึ้นไปเป็นพื้นที่แนวตั้ง พร้อมด้วยพื้นที่สีเขียวที่กระจายตัวอยู่คือสวนลอยฟ้า และสวนสาธารณะบนหลังคา ทำหน้าที่ผลิตอาหาร ร่วมกับพื้นที่สำนักงาน พื้นที่พักอาศัยไปจนถึงศูนย์อาหารและพื้นที่สาธารณะอื่นๆ

อาคารแห่งนี้เป็นอีกผลงานน่าตื่นเต้นของ Bjarke Ingels รวมกับ Carlo Ratti Associati ในการสานต่อภาพการใช้ชีวิตและสถาปัตยกรรมเมืองที่สัมพันธ์กับพืชพรรณของเมืองที่ได้ชื่อว่าเมืองในสวน เป็นงานออกแบบที่มีพื้นที่ภูมิทัศน์มากกว่า 140% ของที่ดิน เป็นที่อยู่ของมนุษย์ร่วมกับพืชพรรณกว่า 80,000 ต้น เป็นตึกสูงที่ไม่ได้แค่ให้พลังของพื้นที่สีเขียวแค่ในอาคาร แต่ยังรวมถึงเป็นพื้นที่รอบๆ และผู้คนที่ผ่านไปมาในย่านธุรกิจอันหนาแน่นด้วย

 

1,000 Trees, Heatherwick Studio

หลังจากอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูง มนุษย์เราก็โหยหาธรรมชาติและพยายามนำเอาธรรมชาติกลับมาสู่เมืองโดยเฉพาะในอาคาร ก่อนนี้ก็มีสวนบนดาดฟ้า สวนลอยฟ้าและเริ่มเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะที่เชื่อมโยงกับบริบทรอบๆ ในบางพื้นที่ตัวอาคารขนาดใหญ่ก็อาจจะรำลึกถึงธรรมชาติด้วยการนำรูปทรงธรรมชาติมาออกแบบ อาคารขนาดใหญ่ที่หน้าตาเหมือนภูเขา เหมือนก้อนน้ำแข็ง เป็นรูปทรงธรรมชาติ และนี่คืออีกหนึ่งอาคารที่พาความเป็นธรรมชาติมาอย่างแท้จริง คือทำเป็นเหมือนภูเขาซึ่งผู้ออกแบบได้นำต้นไม้หนึ่งพันต้นมาปลูกในภูเขาตึกของมนุษย์ ให้มีความเป็นภูเขาและเป็นที่อยู่ของพืชพรรณร่วมกัน

1,000 Trees เป็นโปรเจกต์มิกซ์ยูสที่เซี่ยงไฮ้ ออกแบบโดย Heatherwick Studio สร้างเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2022 ตัวอาคารตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ริมน้ำของเมือง และอาคารประกอบด้วยการใช้งานพื้นที่หลากหลาย เช่น ร้านอาหาร พื้นที่พาณิชย์ และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ เช่น แกลเลอรี่ และพิพิธภัณฑ์ พื้นที่ได้ออกแบบให้ล้อไปกับพื้นที่ริมน้ำและสวนสาธารณะเดิมนับเป็นความตั้งใจออกแบบให้เป็นภูเขาที่ทอดตัวเลียบลำน้ำ และความน่าทึ่งคือการลงทุนปลูกต้นไม้ใหญ่โดยออกแบบเป็นหน้าตาเหมือนกระถาง ทำให้จุดเด่นของอาคารภูเขานี้คือต้นไม้ใหญ่ที่ล่องลอยคู่ไปกับอาคาร กะเปาะสีเขียวโดยรวมแล้วเป็นที่อยู่ของต้นไม้กว่าพันต้นและพืชพรรณอีกกว่า 200,000 พืชพรรณ

 

One City Centre, Shma

กลับมาที่กรุงเทพ กับอีกหนึ่งโปรเจกต์ใหม่ที่พาป่ากลับมายังใจกลางเมือง เป็นการเปิดพื้นที่หลังคาอาคารจอดรถและเชื่อมต่อพื้นที่ด้านหน้าอาคารสูงเป็นสวนป่าขนาดใหญ่และพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดใหญ่ติดรถไฟฟ้า กับอาคาร One City Centre หรือ OCC ความพิเศษของการออกแบบภูมิทัศน์ของ OCC คือการเปิดพื้นที่ด้านหน้า ในบริบทอาคารที่อยู่ติดถนน ใช้พื้นที่ส่วนบนของลานจอดรถซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับรถไฟฟ้า เปิดเป็นลานสาธารณะและพื้นที่ที่ออกแบบให้เป็น ‘การดึงป่ากลับคืนสู่เมืองกรุงเทพฯ’
.
ความพิเศษของสวนที่ได้รับการนิยามว่าเป็นป่านี้คือการผสมผสานระหว่างความเป็นลานจัตุรัสหรือ plaza ผสานเข้ากับพื้นที่ธรรมชาติ การสอดประสานระหว่างจังหวะของพื้นที่โล่งคือลานที่ค่อยๆ ทอดตัวลงเป็นขั้นบันได ผสมผสานกับพื้นที่สีเขียวที่มีทั้งสวนที่กระจายตัวอยู่พร้อมด้วยแนวต้นไม้ใหญ่ ทั้งนี้ความพิเศษของความเป็นป่ายังสัมพันธ์กับการเลือกพืชพรรณ ทั้งไม้ใหญ่และไม้ดอก การออกแบบเน้นพืชพรรณและต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล เช่น กัลปพฤกษ์ ที่จะผลิดอกเป็นสีชมพูอ่อนในช่วงใกล้ฤดูร้อน เป็นภูมิทัศน์ธรรมชาติที่เต็มไปด้วยสีสันปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล นอกจากไม้ใหญ่ที่เปลี่ยนสีแล้วยังมีกลุ่มไม้ดอกที่แต่งแต้มสวนและลาน คลอไปกับเสียงน้ำไหลเอื่อยๆ

พื้นที่สวนและลานของอาคารเป็นพื้นที่เอกชนที่เปิดให้ประชาชนเข้าใช้งานได้ ผู้สนใจสามารถแวะชม นั่งเล่นได้โดยตัวสวนจะเชื่อมจากสถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ทางออกที่ 5 สำหรับการชมดอกไม้ ต้นกัลปพฤกษ์จะบานในช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายน

 

Bosco Verticale, Stefano Boeri

เวลาเราพูดถึงตึกสูงกับต้นไม้ เราเองก็ต้องบูชาครูด้วยงานต้นแบบคือ Bosco Verticale หรือ Vertical Forest ถ้าเราพูดถึงตึกสูงที่กลายเป็นป่า อาคารสูงที่เต็มไปด้วยต้นไม้ เราก็ต้องพูดถึงป่าแนวตั้งในเมืองมิลาน สร้างเสร็จในปี 2014 ผลงานของปรมาจารย์อาคารขนาดใหญ่ที่คนและต้นไม้อยู่ร่วมกันอย่าง Stefano Boeri

ป่าแนวตั้งเป็นเป็นอาคารพักอาศัยสองอาคาร สร้างเสร็จในปี 2009 ตัวอาคารถือเป็นต้นแบบของตึกสูงที่มีลักษณะเป็นป่า คือเป็นอาคารแรกๆ ที่คิดถึงการเป็นที่พักอาศัยไม่ใช่แค่ของมนุษย์ แต่เป็นของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งพืชพรรณและนก อาคารแห่งนี้เป็นที่อยู่ของต้นไม้ใหญ่ราว 800 ต้น ไม่รวมไม้พุ่มและไม้อื่นๆ โดยป่าแนวตั้งแห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจินตนาการและการลงมือปรับพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ของตึกสูงใจกลางเมืองที่เชื่อมโยงกลับเข้าสู่ป่าและความเป็นธรรมชาติ

Trudo Vertical Forest Eindhoven, Stefano Boeri

หลังจาก Stefano Boeri วางหมุดหมายให้กับอาคารสูงด้วยการนำไม้ใหญ่และความหลากหลายทางชีวภาพเข้ามาอยู่ร่วมกับมนุษย์ในลักษณะป่าแนวตั้งได้แล้ว ทางสเตฟาโน่เองก็นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้ในหลายโปรเจกต์ใหญ่ไปจนถึงระดับเมือง ย้อนกลับมาในระดับที่พักอาศัย ป่าแนวตั้งแรกของสเตฟาโน่นับเป็นโครงการพักอาศัยขนาดไม่ใหญ่นักและเป็นโครงการที่มีราคาสูง คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในขั้นทดลองยังมีราคาที่ค่อนข้างแพงและจำกัดสเกลของที่พักอาศัย เรื่อยมาจนปี 2021 สเตฟาโน่ก็ได้นำเอาป่าแนวตั้งไปใช้ในโครงการบ้านรัฐ จากป่าแนวตั้งที่เป็นที่พักอาศัยประมาณ 70 ยูนิต สู่โครงการที่พักอาศัยของรัฐ (social housing) ขนาด 125 ยูนิตที่ Eindhoven เนเธอร์แลนด์

โครงการที่พักอาศัย Trudo Vertical Forest Eindhoven เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์พักอาศัยที่สเตฟาโน่เอาแนวคิดป่าแนวตั้งของตัวเองไปใช้ในสเกลบ้านพักที่มีความหนาแน่นและมีขนาดใหญ่ขึ้น ตัวโครงการออกแบบเพื่อให้เป็นบ้านราคาประหยัด (affordable housing) สำหรับกลุ่มวิชาชีพที่เป็นคนรุ่นใหม่และกลุ่มนักศึกษา เป็นการสนับสนุนที่พักอาศัยราคาประหยัด ค่าเช่าถูก แต่มาพร้อมคุณภาพชีวิตที่ดี โดยนอกจากจะตอบโจทย์ความต้องการที่พักอาศัยแล้วยังตอบโจทย์ทางสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของเมืองด้วย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

stefanoboeriarchitetti.net
dezeen.com
archdaily.com
archdaily.com
stefanoboeriarchitetti.net
facebook.com
dezeen.com

Share :