วรรณกรรมหรือกิจกรรมการอ่านดูจะเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของความคิดและการเข้าไปอยู่ในโลกจินตนาการที่หนังสือพาไป แต่อีกด้าน วรรณกรรมมักพาเราไปสำรวจพื้นที่กายภาพโดยที่เราไม่รู้ตัว พูดง่ายๆ เช่นว่า แฟนๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถ้าได้ไปเหยียบลอนดอนสักครั้ง เราคงไม่พลาดที่จะไปเยี่ยมสถานีคิง ครอส หรือปรากฏการณ์ออเจ้าในตอนนี้ วัดไชยวัฒนารามเองก็กลับมาเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวอีกครั้ง นำไปสู่กิจกรรมการแต่งกายชุดไทยเที่ยวอุทยานเมืองเก่า
ในด้านนี้ ภาพของเมืองที่อาจดูเป็นพื้นที่ธรรมดาๆ สุดท้ายด้วยพลังของวรรณกรรมและความเป็นเรื่องแต่งนี้กลับทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่มหัศจรรย์ มีมิติ มีความหมายและมีความทรงจำอื่นๆ ซ้อนทับลงไปได้ หลายเมืองใหญ่จึงกลายเป็นพื้นที่ปลายทางของนักอ่านจากทั่วโลก หรือในพื้นที่ที่อาจจะไม่สลักสำคัญอะไรก็อาจกลายเป็นหมุดหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นวรรณกรรมและการอ่านเขียนของพื้นที่นั้นๆ
ดังนั้น กิจกรรมการอ่านการเขียนไปจนถึงงานเขียนนั้นจึงนับเป็นอีกหนึ่งมิติที่ทำให้เมืองหนึ่งๆ มีสเน่ห์ มีเรื่องราว มีตัวตนที่น่าสนใจ ในแง่นี้เองเราจึงเริ่มนิยามของเมืองในนามของเมืองแห่งวรรณกรรมหรือ Literary City ในโอกาสกระแสออเจ้าและการถกเถียงเรื่องพลังทางวัฒนธรรม City Cracker ชวนดูความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับเมือง และการที่เมืองได้และใช้ประโยชน์จากวรรณกรรม อะไรคือเมืองแห่งวรรณกรรม และวิธีไหนที่เราจะช่วยขุดพรวนให้เมืองและผู้คนเป็นเมืองที่รุ่มรวยด้านการอ่านการเขียน
เมืองวรรณกรรม กรณีสำคัญจากลอนดอน
คำว่าเมืองแห่งวรรณกรรมหรือเมืองที่มีความเป็นวรรณกรรมสูงเราอาจนึกภาพไม่ค่อยออกเท่าไหร่ แต่หากมีการนิยามเมืองๆ หนึ่งให้เป็น Literary City สื่อเกือบทั้งหมดก็จะชี้มาที่ลอนดอนในฐานะตัวแทนสำคัญ ลองนึกภาพว่าลอนดอนสำหรับหลายคนไม่ใช่แค่ลอนดอนในฐานะพื้นที่ทางกายภาพ แต่เป็นลอนดอนที่สัมพันธ์กับมิติเชิงจินตนาการ
สำหรับคนรุ่นใหม่หน่อยก็อาจจะนึกถึงลอนดอนที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับโลกพ่อมดแม่มด นึกถึงสถานีรถไฟที่ปัจจุบันกลายเป็นจุดถ่ายรูปสำคัญ มีความฝันที่จะไปเยี่ยมตรอกที่หน้าตาเหมืองตรอกไดแอกอน หรือถ้าเป็นแฟนงานสืบสวนก็คงอยากไปเยี่ยมถนนเบเกอร์สตรีทของสุดยอดนักสืบเชอร์ล็อคโฮล์มส์ ลอนดอนเป็นที่ๆ เต็มไปด้วยกลิ่นอายที่น่าหลงไหล บางพื้นที่ชวนให้คิดถึงวรรณคดีสำคัญ เช่น แดร็กคูลาร์ บางจุดก็ชวนให้นึกถึงสวนลับจากหนังสือที่เราอ่านสมัยเด็ก
อันที่จริง การท่องเที่ยวเชิงตามรอยหรือการเดินทางมายังลอนดอนมองหาลอนดอนในจินตนาการ มีมาตั้งแต่สมัยชาร์ลส์ ดิกคินส์คือตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว ชาร์ลส์ ดิกคินส์เป็นนักเขียนที่ดังมาก ในยุคนั้นคือดังข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังอเมริกา ดิกคินส์เขียนเรื่องเป็นนวนิยายสัจนิยมที่มีฉากเป็นลอนดอน ความโด่งดังของดิกคินส์ทำให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวมายังลอนดอนเพื่อสำรวจและมองเห็นลอนดอนอย่างที่ชาร์ลส์ ดิกคินส์ได้เขียนไว้ในนวนิยาย
กระแสท่องเที่ยวตามนวนิยายดิกคินส์นับเป็นกระแสที่เกิดขึ้นเร็วมาก คือเกิดขึ้นตั้งแต่ที่ดิกคินส์ยังมีชีวิตอยู่คือก่อนปี 1890 หนึ่งในสุภาพสตรีที่มาทัวร์ลอนดอนตามรอยนิยายดิกคินส์ก็คือลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) นักเขียนหญิงเจ้าของวรรณกรรมเยาวชนเล่มสำคัญ Little Women ซึ่งเธอไปทัวร์ลอนดอนในปี 1866 ก่อนออกหนังสือสำคัญของตัวเองสองปี (1868)
ลอนดอนในจินตนาการและการท่องเที่ยวเชิงตามรอย
การท่องเที่ยวตามรอยงานเขียนดิกคินส์ถือเป็นกระแสได้เลย ในการท่องเที่ยวตามรอยนั้น อัลคอตต์ได้เขียนไว้ในไดอารี่ของตัวเอง แล้วค่อนข้างมีลักษณะคล้ายแฟนด้อมในปัจจุบัน คือเธอนิยามตัวเองว่าเป็นสาวโสดผู้ห้าวหาญ ตั้งใจไปลอนดอนเพื่อตามหาสถานที่ที่ถูกเขียนถึงในนวนิยายของดิกคินส์และเธอเองก็พูดถึงการเดินทางในครั้งนั้นว่าเหมือนกับได้ก้าวเข้าไปใช้เวลาอยู่ในนวนิยาย อัลคอตต์เองถึงขนาดไปรอเจอดิกคินส์ตัวเป็นๆ ซึ่งเขาจะมีการออกอ่านหนังสือให้สาธารณชนฟังด้วย
ความน่าสนใจของการเดินทางตามรอยของอัลคอตต์นั้น หลังจากท่องเที่ยวกลับมาแล้ว เธอก็เอาประสบการณ์การท่องเที่ยวเมืองมาเขียนเป็นนวนิยายกึ่งบันทึกการเดินทาง บางมุมมองบอกว่านี่คือจุดเริ่มต้นหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมโดยเฉพาะการตามรอยชาร์ลส์ ดิกคินส์ซึ่งกลายเป็นกระแสท่องเที่ยวยาวนานถึง 150 ปี โดยเฉพาะกระแสการเดินทางไปอังกฤษของชาวอเมริกัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ หลังจากดิกคินส์เสียชีวิตไปแล้ว การตามรอยชาร์ลส์ ดิกคินส์เองก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ โดยหลังจากเสียชีวิตลงงานของเขาก็ขึ้นหิ้ง และบนหิ้งนั้นภาพของเมืองลอนดอนก็ได้เป็นเสน่ห์และเป็นความทรงจำ เมืองลอนดอนเก่า (Old London) กลายเป็นอีกหนึ่งความทรงจำของกรุงลอนดอนที่ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาเพื่อมองเห็นและมองหาลอนดอนอย่างที่ดิกคินส์ได้เล่าไว้
นอกจากนี้กระแสสำคัญอีกอย่างคือกระแสการเดินทางตามรอยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ทำให้เกิดรูปแบบบริการการท่องเที่ยวของสตรีขึ้น ในช่วงต้นทศวรรษ 1890 จึงได้เกิดไกด์ทัวร์สุภาพสตรีผู้ชาญฉลาด(intelligent gentlewoman) เป็นสตรีที่จะพาคุณผู้หญิงตระเวนไปยังพื้นที่สำคัญของเมืองที่เชื่อมโยงกับวรรณกรรมของชาร์ลส์ ดิกคินส์ การนิยามไกด์ว่าเป็นสุภาพสตรีผู้เฉลียวฉลาดจึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือเป็นภาพของสตรีที่อ่านออกเขียนได้และมีความคล่องแคล่วอยู่ในเมืองใหญ่ การท่องเที่ยวนี้ถือเป็นกระแสการท่องเที่ยวข้ามทะเลแอตแลนติกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เชื่อมต่ออเมริกาและเกาะอังกฤษเข้าหากัน
มูลค่าทางเศรษฐกิจของความเป็นวรรณกรรม
ถ้าเรามองย้อนไป นวนิยายของชาร์ลส์ ดิกคินส์เองกลายเป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจในการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่คือสุภาพสตรี สำหรับอังกฤษเองเป็นแหล่งกำเนิดของวรรณกรรมและกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักเดินทาง กระทั่งนักท่องเที่ยวที่อาจไม่ได้เป็นแฟนคลับ แต่ถ้าคุณไปอังกฤษแล้วเคยได้ยินชื่อ เช่น เชกสเปียร์ ตรงนี้ก็อาจทำให้เราเลือกที่วางเมืองบ้านเกิดของเชกสเปียร์คือ Stratford-upon-Avon เมืองเล็กๆ ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างน้อยสามล้านคนต่อปี
คำถามคือการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมกำลังเป็นโอกาสไหม ตามรายงานของ Future Market Insights ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมกำลังเป็นกระแสการท่องเที่ยวอย่างสำคัญ เมืองสำคัญๆ ที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและมีประวัติศาสตร์ยาวนานกำลังกลายเป็นปลายทางที่ผู้คนพากันไปเพื่อค้นหารากเหง้า เรื่องราวและแรงบันดาลใจจากทุกมุมโลก เมืองต่างๆ เช่น นิวยอร์ก ปารีส ซานฟรานซิสโก กำลังเป็นเป้าหมายสำคัญ พร้อมกันนั้นการมาถึงของโลกออนไลน์ทำให้การมองเข้าไปในมิติที่ลึกซึ้งของพื้นที่ไปจนถึงการที่ตัวพื้นที่ เช่น เมืองหรือย่านต่างๆ สามารถสื่อสารเรื่องราวของตัวเองได้ก็ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวต่างๆ มีความหมายมากขึ้น
ในการประเมินของ Future Market Insights ระบุว่าตัวเลขของการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม (Literary Tourism market) มีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะยิ่งเติบโตขึ้นจนอาจมีมูลค่าสูงถึง 2.9 พันล้านเหรียญ การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมจึงนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่เมืองต่างๆ จะได้ทั้งดูแลจัดการมรดกทางวัฒนธรรมและนำไปสู่การเป็นเมืองแห่งวรรณกรรมเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจต่อไป
ในการเปิดเมืองแห่งวรรณกรรมหรือการใช้วรรณกรรมมาเป็นจุดขาย นอกจากอังกฤษที่เป็นต้นธารทางวัฒนธรรมคือภาษาและวรรณกรรมอังกฤษแล้ว เมืองเองก็มีการรับเอาความเป็นวรรณกรรมเข้ามาไว้เป็นส่วนหนึ่งของเมือง ของการท่องเที่ยว มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การเชื่อมโยงพื้นที่เมืองเข้ากับวรรณกรรม การจัดงานเฉลิมฉลองไปจนถึงการส่งเสริมทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการเขียนการอ่านต่างๆ
ทีนี้ สำหรับเมืองต่างๆ เองก็พยายามดึงเอาความเป็นวรรณกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนและการพัฒนาเมือง ตัวอย่างหนึ่งคือการยกย่องและสร้างเครือข่ายเมืองแห่งวรรณกรรม (Cities of Literature network) การสร้างเครือข่ายนี้ทำให้เห็นความสำคัญและการประยุกต์ใช้มรดกและการจัดการทางวัฒนธรรมไปสู่การสร้างตัวตนและส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมือง ช่วยกำหนดทิศทางและแนวทางได้
การส่งเสริมไปสู่เมืองแห่งวรรณกรรมนั้นด้านหนึ่งมีมิติที่หลากหลาย และไม่ใช่แค่การเชิดชูงานเขียนหรือการปักหมุดลงไปในพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวตามรอยเพียงอย่างเดียว แต่คือการที่เมืองหรือพื้นที่กายภาพหนึ่งๆ ส่งเสริมและเปิดพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนและการอ่าน ถ้าเราดูแนวทางการยกย่องเมืองแห่งวรรณกรรมของยูเนสโก้ ทางยูเนสโก้เองค่อนข้างพิจารณาตั้งแต่ต้นธาร เช่น การมีสถาบันการศึกษา สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมทั้งท้องถิ่นและต่างชาติ การที่เมืองนั้นๆ ให้ความสำคัญกับวรรณกรรม
ในแนวทางของยูเนสโก้เองทำให้เราเห็นระบบนิเวศของเมืองที่ส่งเสริมวรรณกรรม เป็นเมืองที่ทำให้ผู้คนทั้งบริโภคและผลิตผลงานได้ ยูเนสโก้พูดถึงการที่เมืองๆ นั้นเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ที่มีคุณภาพ มีความหลากหลายและมีปริมาณที่เพัยงพอ เป็นเมืองที่จัดกิจกรรมทางวรรณกรรม ไปจนถึงเป็นเมืองที่มีห้องสมุด ร้านหนังสือและศูนย์วัฒนธรรมที่ทำให้ผ้คนเข้าถึงวรรณกรรมทั้งของท้องถิ่น ของชาตินั้นๆ และของต่างชาติด้วย
ประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมจึงนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสของเมือง โอกาสที่สัมพันธ์ทั้งกับการที่เมืองรู้จัก เข้าใจผลงานสร้างสรรค์ของตัวเอง เป็นเมืองที่ขุดพรวนส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในที่นี้คืองานวรรณกรรมต่อไป ไปจนถึงการเปิดพื้นที่ต่างๆ ที่มองเห็นเรื่องราวได้อย่างมีสีสันและน่าค้นหา บางส่วนเกี่ยวข้องกับการลงทุนเช่นการสร้างพิพิธภัณฑ์ทางวรรณกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลก พื้นที่ที่ทำให้เรามองเห็นว่าเฉิงตูเป็นอาณาจักรของวรรณกรรมไซไฟจีนที่กำลังก้าวไปสู่เวทีโลกและเชื้อเชิญโลกเข้ามายังเมืองของตน บางส่วนเกี่ยวข้องกับการให้คุณค่ากับพื้นที่ทางวัฒนธรรม พื้นที่การศึกษา พื้นที่กิจกรรมที่ทั้งหมดเมืองและรัฐช่วยส่งเสริมการอ่านและความคิดสร้างสรรค์ต่อไปได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Vanat Putnark
Writer
- Warunya Rujeewong
Graphic Designer