CITY CRACKER

UNLOCK CITY POTENTIAL ถอดแนวคิดพื้นที่สาธารณะ 9 เมือง 39 แนวคิด ปลดล็อกการพัฒนาและสร้างอนาคตของเมืองผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้คน

หนึ่งในความสำคัญของพื้นที่สาธารณะคือการมีพื้นที่ให้ผู้คนออกมาใช้เวลานอกบ้านมากขึ้น เกิดเป็นพื้นที่รวมกลุ่มของคนในเมือง ทำให้เมืองมีสีสันและขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา

เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีงานเวทีสาธารณะ UNLOCK CITY POTENTIAL โอกาสในการพัฒนาเมือง และการสร้างอนาคตของเมือง พร้อมเปิดวงเสวนาและรับฟังเรื่องราวจากนักพัฒนาทั้งหมด 13 ท่าน จาก 9 เมือง ถึงมุมมองของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมืองและประเด็นสำคัญในแต่ละพื้นที่ต่างๆ

แม้ว่าจะมีเรื่องราวจากหลากหลายจังหวัด และพื้นที่ที่แตกต่างไปกันทั้งในบริบท หน้าที่การใช้งาน และผู้คน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นร่วมกันคือการพัฒนาพื้นที่รูปแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของหลายๆ ภาคส่วน ทั้งเอกชน รัฐบาล ภาคประชาสังคม หรือกลุ่มวัยต่างๆ ที่แตกต่างกัน โดยแต่ละตัวอย่างจากแต่ละเมืองกำลังสะท้อนให้เราเห็นภาพของเมืองและการพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมืองที่กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งตัวเราเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะได้ ตั้งแต่ผ่านการพูดคุย หยิบจับประเด็น ตลอดจนตามหาพื้นที่ศักยภาพรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะตรอกซอกซอย แม่น้ำ ทางเดินเท้า หรืออาคารเก่าอย่างเรือนจำ มาปรับเปลี่ยนและใช้งานใหม่ให้เหมาะสมกับเมืองที่กำลังเปลี่ยนไป

เพื่อให้เราเเห็นภาพการพัฒนาเมืองผ่านพื้นที่สาธารณะได้หลากหลายมุมมองมากขึ้น City Cracker ชวนดูตัวอย่าง 9 เมืองทั่วประเทศไทยที่ได้เริ่มทำและพัฒนาพื้นที่สาธารณะแล้ว โดยมีมุมมองและเรื่องราวที่แตกต่าง ผ่านกลุ่มคนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะพื้นที่สำหรับเด็ก ผู้พิการ และพื้นที่สำหรับทุกๆ คน

 

พื้นที่สาธารณะกับความเหลื่อมล้ำ, เชียงใหม่

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

คลองแม่ข่าเป็นแนวคลองสำคัญของเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่สมัย 20 ปีก่อน พร้อมๆ กับทำหน้าที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนริมคลอง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันปัญหาของความเหลี่ยมล้ำยังคงมีให้เห็นอยู่ทั้งในเรื่องของกลุ่มคนเปราะบาง ไม่มีอาชีพ ตลอดจนไม่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้นแล้ว เมื่อพื้นที่สาธารณะริมคลองแม่ข่าของเชียงใหม่ที่ถูกเปิดให้กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว พักผ่อนของนักท่องเที่ยว ในแง่ของการพัฒนาพื้นที่ริมคลองสาธารณะจึงต้องมีการคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยเดิมด้วย เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของเมืองและพัฒนาชีวิตของผู้คนได้อย่างเหมาะสมและน่าอยู่ ผ่านแนวคิดที่ว่าการพัฒนาระบบที่อยู่อาศัยคือการพัฒนาเมืองทั้งระบบ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจเมืองตั้งแต่จุดเริ่มต้นเล็กๆ คือที่อยู่อาศัยของคนในเมืองเอง รวมถึงเชื่อมต่อบทบาทและหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาร่วมแก้ไขและพัฒนาพื้นที่กันมากขึ้น

 

พื้นที่สาธารณะกับการอนุรักษ์, น่าน

ยุทธภูมิ สุประการ

จังหวัดน่านคือเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของประเทศ และมีวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน เป็นเมืองต้นน้ำที่มีความสำคัญและมีความพิเศษในฐานะเมืองที่มีประวัติศาสตร์ร่วมตั้งแต่ยุคสุโขทัยไปจนถึงรัตนโกสินทร์ การพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมืองน่านคือการหยิบยกบริเวณใจ๋เมืองน่านมาปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนเมืองน่าน เกิดมาเป็นกิจกรรมที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม และตั้งเป้าหมายเป็น Creative City ให้ทุกวัยสามารถเข้ามาอยู่อาศัย และใช้พื้นที่ร่วมกันได้

 

Walkable and Creative Economy, ขอนแก่น

ผศ. ปัทมพร วงศ์วิริยะ

ขอนแก่นเป็นอีกเมืองใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยบริบทของเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก แต่ตัวพื้นที่เหล่านั้นยังไม่สามารถเดินถึงกันได้ ดังนั้นแล้ว หากเพิ่มการเชื่อมต่อก็จะทำให้ผู้คนสามารถเดินมาใช้งานได้ช่วยให้เมืองครึกครื้นและมีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งความท้าทายของเมืองขอนแก่นคือการเพิ่มการเดินเท้าและพื้นที่สีเขียวของเมือง เกิดเป็นหลากหลายโครงการที่ทำขึ้นจริงและนำมาสู่การถอดบทเรียนถึงประเด็นสำคัญ ทั้งการเชื่อมโยงย่านให้เข้าถึงกันอย่างเท่าเทียม พร้อมกับการพัฒนาให้ปลอดภัย สบาย และสะดวก อีกทั้งยังมีพื้นที่กิจกรรมที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ตลอดจนสร้างโอกาสและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมไปถึงสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ให้กับผู้คนในเมือง

เยาวชนกับการขับเคลื่อนเมือง, หาดใหญ่

สุทธหทัย นิยมวาส

Hatyai Connext คือการรวมกลุ่มของเยาวชนหาดใหญ่ที่ต้องการฟื้นคืนเมืองของตัวเองด้วยการสร้างอัตลักษณ์ให้กับเมือง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมต่างๆ และกิจกรรมที่จัดขึ้นในเมือง เช่น กิจกรรมเดินเมือง Hatyai Happens ผ่านการเล่าเรื่องของอาหารที่นำมาสู่ประวัติศาสตร์ของเมือง และความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม ทำกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อตามหาพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมของเมืองผ่านการมีส่วนร่วมของผู้คนที่หลากหลายทั้งบทบาทและกลุ่มวัย ตลอดจนการเปิดกิจกรรมพาไปรู้จักกับย่านต่างๆ ที่น่าสนใจของเมือง โดยอีกประเด็นสำคัญที่กลุ่มเยาวชนหาดใหญ่มองเห็นคือการที่เมืองมีพื้นที่ sandbox หรือพื้นที่ทดลองที่ให้เยาวชนได้ลองทำอะไรต่างๆ เพื่อพัฒนาเมืองที่จะเป็นของเขาต่อไปในอนาคตโดยมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เพื่อหาคำตอบที่เหมาะสมที่สุดของเมือง

Adaptive reuse การพลิกฟื้นพื้นที่เสียโอกาสสู่พื้นที่โอกาส, สกลนคร

ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ

พื้นที่ร้างหรือพื้นที่ว่างในเมืองที่ไม่ถูกใช้งานก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในเมืองได้ อย่างกรณีของเมืองสกลนครที่หยิบเอาพื้นที่เรือนจำเก่ากลางเมืองมาทดลองปรับฟังก์ชั่นใหม่ ทั้งงานกราฟฟิตี้ผ่านกำแพงบ้านแต่ละหลัง เพิ่มแสงไฟให้แก่ชุมชน เปิดร้านกาแฟ slow bar และร้านตัดผม ไปจนถึงพาเสียงเพลงให้เข้าถึงตรอกซอกซอยแคบๆ ด้วยเช่นกัน รวมถึงงานต่อมาอย่างการสร้างสนามเด็กเล่นชุมชน เปิดตลาดใหม่ หรือฉายหนังกลางเมืองที่บริเวณย่านคุกเก่า ซึ่งจากพื้นที่ทดลองและการทำงานจริงทำให้พบว่างานออกแบบพื้นที่ลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ต้องผ่านความเข้าใจของทั้งทีมทำงานและผู้คนเป็นสำคัญ เพื่อช่วยกันผลักดันให้พื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยว่างเปล่าและเสียโอกาสได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง

Phuket Smart City ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ, ภูเก็ต


กฤษฎาพงษ์ ตันทอง

อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจคือการนำข้อมูลเข้ามาใช้จัดการเมือง Phuket Smart City เองก็เป็นหนึ่งในเมืองที่นำร่องใช้ข้อมูลที่เปิดเผยและเป็นสาธารณะหรือ open data มาพัฒนาเมืองด้วยเช่นกัน ในเรื่องของการจัดการกับน้ำท่วมของพื้นที่ผ่านการจัดเก็บข้อมูลและคาดคะเนถึงโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วม ตลอดจนการจัดการกับผังสีต่างๆ ของเมือง รวมไปถึงการเปิดโอกาสพัฒนาพื้นที่เมืองให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อรองรับกับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของเมือง อีกทั้งข้อมูลเหล่านี้ยังถูกบูรณาการเพื่อใช้ร่วมกันทั้งภาคประชาชน เอกชน และรัฐ การเปิดข้อมูลให้เข้าถึงจึงเป็นอีกการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจ

การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ software สู่ hardware โดยเยาวชน, ระยอง


ชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์

กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ระยองเองก็มีได้เล็งเห็นว่าการพัฒนาย่านต้องสนใจเรื่องของการสร้างนักจัดการข้อมูลเมืองเพื่อการพัฒนาเมืองในทุกๆ มิติ โดยมองว่าคนรุ่นใหม่เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ เมื่อรวมเข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เด็กๆ ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิต หรือเพิ่มทักษะทางสังคมและปฏิสัมพันธ์ โครงการ conversation จึงเป็นโครงการพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะโดยเอกชน เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้ามาลองทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่สาธารณะเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกันของ 2 ประเด็นหลักคือการเรียนรู้เกี่ยวกับจังหวัดระยองและการเรียนรู้ด้าน soft skill ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะเป็นการเพิ่มทักษะให้น้องๆ แล้ว ยังเป็นการสะท้อนภาพความต้องการของพื้นที่สาธารณะเพื่อเปิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนเมืองและเยาวชน ตอบสนองต่อการเป็นเมือง learning city ที่ทางระยองพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงอีกด้วย

พื้นที่สาธารณะกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศปลายน้ำในเมืองอุตสาหกรรม, ฉะเชิงเทรา

ผศ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

พื้นที่อุตสาหกรรมเป็นอีกเมืองที่น่าสนใจด้วยบริบทของการเป็นเมืองอุตสาหากรรมและมีแหล่งแม่น้ำใหญ่อย่างแม่น้ำบางปะกง ที่ทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อเมือง และยังเคยมีความสำคัญต่อมนุษย์และธรรมชาติ ในแง่ของการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและเป็นเส้นทางเชื่อมต่อน้ำไปยังอ่าวไทย แต่ในช่วงที่ผ่านมาเมืองกลับทำลายแม่น้ำในทุกๆ วันผ่านการทิ้งขยะบ้าง ปล่อยน้ำเสียบ้าง การฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองให้กลับมาอีกครั้งจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เมืองควรพูดถึง ฉะเชิงเทราเองก็มองเห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำผ่านโครงการพายเรือเพื่อบางปะกงเป็นหนึ่งในโครงการลงพื้นที่เพื่อเก็บขยะ ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำ และความเสียหายที่แม่น้ำถูกทำลายลงไปจากฝีมือมนุษย์ ตลอดจนผลกระทบในภาพใหญ่ที่ส่งผลมาถึงพวกเราทุกคน

การพัฒนาพื้นที่สีเขียว กระตุ้นงานอาร์ต และความร่วมมือจากภาครัฐ

กรุงเทพฯ

สำหรับกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวง เรื่องหนึ่งที่ผู้คนเห็นต้องกันคือเรื่องของการปรับเปลี่ยนกลไลในการทำงานร่วมกัน โดยมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่สาธารณะจากหลากหลายกลุ่มคนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะ we!park ที่ต้องการเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของผู้คนต่อการมีพื้นที่สีเขียวสาธารณะใกล้บ้าน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อหาคำตอบของสวนสำหรับทุกคน หรือจากกลุ่มปั้นเมืองที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ทางเท้าและพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้สูงวัย ภายใต้แนวคิด Healthy City พร้อมเชื่อมโยงพื้นที่กับประเด็นต่างๆ ในชุมชนเพื่อให้เกิดสีสันในพื้นที่มากขึ้น และจากทาง CEA ที่ต้องการกระตุ้นพื้นที่ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการหยิบจับงาน light installation เข้ามาเพื่อให้ยามค่ำคืนตัวย่านก็ยังสามารถทำงานเองได้ ทั้งหมดนี้ต่างเกิดขึ้นได้ด้วยการร่วมมือกันของหลายฝ่ายและต้องการจะขับเคลื่อนกลไกรูปแบบใหม่ที่ทำให้พื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นได้และประสบความสำเร็จมากกว่าเดิม เช่นกันว่าในแง่เรื่องของภาครัฐอย่างกทม. เอง ก็ได้ยกประเด็นของความความพร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ในฐานะผู้สนับสนุน และช่วยเหลือให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพื่อร่วมพัฒนาให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์กับคนใช้งานมากขึ้นเช่นเดียวกัน

Share :