CITY CRACKER

“สนามเด็กเล่นที่เด็กพิการร่วมเล่นได้” พื้นที่สาธารณะเพื่อความหลากหลาย จากสภาเมืองคนรุ่นใหม่

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ดำเนินนโยบายที่น่าจับตาคือการเปิด ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’

สภาที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่อายุ 15-35 ปี เข้าร่วมมีส่วนร่วมในการพัฒนา คือให้เด็กๆ ได้เสนอความคิดตลอดจนลงมือทำ เป็นการสร้างเมืองที่เด็กๆ อยากเห็นและจะเป็นเมืองในอนาคตของพวกเขาต่อไป

ในการเสนอนโยบายของสภาเมืองคนรุ่นใหม่ครั้งที่ 1 มีการเสนอ 3 แนวนโยบายที่มีเป้าหมายและการแก้ปัญหาในประเด็นที่ต่างกันออกไปตั้งแต่พื้นที่ปลอดภัยและส่งเสริมเด็กนักเรียนจาก กลุ่ม Student Reflect นโยบายว่าด้วยการสาธารณสุขคือการกระจายการตรวจและลดอคติของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการตรวจโรคที่บ้านจากทีม The Young Vision และการเปิดและพัฒนาพื้นที่สนามเด็กเล่นที่เด็กพิการร่วมเล่นกับเด็กๆ ทั่วไปได้จากกลุ่ม Playgrow

สำหรับความสนใจเรื่องเมืองและเรื่องการออกแบบพื้นที่สาธารณะ นโยบาย ‘#เล่น-รู้-ร่วม’ จากการเสนอนโยบายของคนรุ่นใหม่ในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความคิดที่น่าจับตามอง เบื้องต้นที่สุดคือการจัดการและเปิดพื้นที่สาธารณะโดยมีเด็กๆ และการเล่นเป็นศูนย์กลางนั้นมีความสำคัญอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นนั้นคือแนวคิดเรื่องพื้นที่เล่นสำหรับทุกคนหรือ inclusive playground เป็นการออกแบบพื้นที่เล่นที่รวมเด็กที่มีความพิการด้านต่างๆ ให้สามารถร่วมเล่นกับเด็กทั่วไปได้

ในแนวคิดดังกล่าวไม่ใช่แค่การออกแบบพื้นที่เพื่อที่ทุกคน ทุกสภาวะร่างกายจะเข้าถึงและใช้งานพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สุขภาพนี้ได้เท่านั้น แต่ทางผู้เสนอนโยบายยังระบุว่า การมีพื้นที่ที่เด็กทุกคนสามารถเล่นร่วมกันได้ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องความหลากหลาย เป็นการเติบโตขึ้นพร้อมๆ กันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

utoronto.ca

 

เรื่องเล่นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องของทุกคน

การเล่น รวมถึงพื้นที่เล่น เช่น สนามเด็กเล่น ไม่ใช่แค่การเล่นสนุก การเล่นสำหรับเด็กทุกช่วงวัยเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของการพัฒนาในเด็ก (child’s development) เป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย และที่สำคัญการมีพื้นที่เล่นที่เข้าถึงได้อย่างสนามเด็กเล่นสาธารณะ ก็เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ จะได้พัฒนาแง่มุมอื่นๆ ต่อไปผ่านการเล่นและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและเด็กคนอื่นๆ นำไปสู่การเรียนรู้เชิงสังคม การพัฒนาด้านอารมณ์ ทั้งสนามเด็กเล่นนี้ยังทำหน้าที่พื้นที่ของชุมชน เป็นพื้นที่ที่ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และครอบครัวจะได้พบปะไปด้วยกัน

ดังนั้น พื้นที่เล่นจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป ยิ่งถ้าเรามองจากข้อเสนอของกลุ่มเยาวชน พื้นที่เล่นที่นับรวมและออกแบบเพื่อให้เด็กหรือกระทั่งผู้ใหญ่ในทุกเงื่อนไขสามารถเข้าใช้งานได้ จึงนับเป็นการขยายมุมคิดและการลงทุนด้านการพัฒนาเมืองที่อาจเป็นอีกรากฐานสวัสดิภาพของกลุ่มคนหลากหลาย การพัฒนาที่นับรวมนี้อาจเป็นรากฐานของความเป็นธรรมในสังคมต่อไป การที่เรามองเห็นและมีพื้นที่เพื่อที่เด็กและผู้พิการได้เล่น ได้เติบโต นำไปสู่การมองเห็นและการเติบโตขึ้นพร้อมกัน เป็นการลดอคติในสังคมต่อไป

 

spectraturf.com

 

อะไรคือสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กทุกเงื่อนไข

แนวคิดและการออกแบบ inclusive playground นับเป็นอีกหนึ่งการคิดและการออกแบบพื้นที่ทั้งเพื่อการเล่นและการเข้าถึงโดยคำนึงถึงกลุ่มเด็กที่มีความต้องการ และมีเงื่อนไขทั้งทางร่างกายและจิตใจที่มีความหลากหลาย การสร้างพื้นที่เล่นที่นับรวมนั้นไม่ได้ให้สำคัญที่การเข้าถึงได้ เช่น การมีทางลาดเพื่อผู้ใช้รถเข็นหรือผู้มีความพิการทางเคลื่อนไหว มีระบบนำทางเพื่อผู้พิการทางสายตา แต่ยังรวมถึงการออกแบบและใช้เครื่องเล่นและกิจกรรมในพื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กๆ ในทุกรูปแบบเท่าที่จะครอบคลุมได้

คำว่าความต้องการที่มีความหลากหลาย เมื่อเราพิจารณาในความหลากหลายแล้วเราก็จะพบว่า ความหลากหลายดังกล่าวครอบคลุมทั้งในระดับร่างกายและจิตใจ คือนอกจากเด็กที่มีเงื่อนไขทางกายภาพแล้ว กลุ่มเด็กที่อาจมีเงื่อนไขในส่วนอื่นๆ เช่น เด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมหรืออาจหมายรวมถึงกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การออกแบบพื้นที่ที่เด็กในทุกเงื่อนไขจริงๆ ได้เล่นด้วยกันได้ เป็นหัวใจหลักของลานเล่นที่นับรวม

ในแง่การออกแบบ เบื้องต้นอาจเป็นการปรับวิธีคิดต่อการเล่นที่มีติมากขึ้น แต่เดิมเราอาจมองเห็นการเล่นในฐานะกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพทางร่ายกาย เน้นการออกกำลัง การวิ่ง ปีนป่าย แต่การเล่นที่หลากหลายและมีมิติขึ้นนั้นอาจสัมพันธ์กับการกระตุ้นผัสสะของเด็กๆ เรียกว่ามี Multi-sensory elements เช่นอาจจะเน้นไปที่การกระตุ้นผัสสะอื่นด้วยเช่นเสียง (Auditory) เช่นเครื่องเล่นที่มีเสียงดนตรี การใช้เสียงพูดในการเล่น การพัฒนาการเคลื่อนไหว (Proprioceptive) ที่อาจออกแบบให้เด็กๆ ที่มีภาวะร่างกายที่แตกต่างกันได้ร่วมพัฒนาการเคลื่อนไหวได้ การพัฒนาด้านสัมผัส (Tactile) การออกแบบในแง่การมองเห็น (Visual) การใช้สี ใช้รูปร่างรูปทรง

 

childinthecity.org

 

การเล่นร่วมจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เครื่องเล่นที่พัฒนาผัสสะและทักษะได้หลากหลาย โดยเฉพาะการออกแบบเครื่องเล่นที่ทุกคนสามารถเข้าเล่นร่วมกันได้ การปีนป่ายหรือเส้นทางผจญภัยที่เด็กทั่วไปและเด็กที่มีเงื่อนทางเงื่อนไขที่เล่นไปพร้อมกันได้ จานหมุนที่เด็กๆ เล่นวีลแชร์สามารถสนุกไปพร้อมๆ กัน พื้นที่ที่ทุกคนเล่นด้วยกันได้นี้จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สวยงาม เป็นที่ๆ เด็กทุกคนมองเห็นและช่วยเหลือ เล่นสนุกและเติบโตไปพร้อมกัน

นอกจากการเล่นแล้ว การออกแบบพื้นที่ที่นับรวมมากขึ้นก็อาจจะมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น การเข้าถึงได้บางครั้งอาจนับรวมไปถึงสภาวะของเด็กที่มีความเฉพาะ เช่น เด็กที่ไม่ชอบการถูกสัมผัสจากบุคคลอื่น เส้นทางการเดินเข้าสู่พื้นที่เองก็อาจคำนึงถึงกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ไปจนถึงการเปิดพื้นที่ เช่น พื้นที่เงียบสงบ ซึ่งโดยทั่วไปเราอาจเห็นภาพสนามเด็กเล่นที่อึกทึก ดังนั้นเด็กๆ ที่ไม่ถนัดการเข้าสังคมทั้งที่เป็นลักษณะนิสัยหรือการมีเงื่อนไข มีภาวะบางอย่าง ก็ควรจะเข้าใช้พื้นที่เล่นนี้โดยรับรู้ว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองได้ด้วย

 

General Recreation Inc.

 

เปิดนโยบายกลุ่ม Playgrow

สำหรับโครงการ #ลาน-เล่น-ร่วม ของกลุ่ม Playgrow โครงการในความร่วมมือของหลายภาคส่วนได้นำเสนอและกำลังเริ่มดำเนินการในสภาเยาวชนครั้งที่ผ่านมา ทางโครงการระบุปัญหาของการขาดพื้นที่เล่นของเด็กปฐมวัย (0-7 ปี) ซึ่งจะเน้นไปที่การเสริมสร้างความโอบอ้อมอารีผ่านการเล่นร่วมกัน การเล่นที่ไม่แบ่งแยกนี้จะนับรวมและให้ผลเชิงบวกกับกลุ่มเด็กผู้มีความพิการแต่กำเนิดนับเป็นจำนวน 4.73% ของประชากรทั้งหมดของกรุงเทพฯ

ข้อเสนอเบื้องต้นของกลุ่มคือการเน้นปรับพื้นที่ที่มีอยู่แล้วในเขตต่างๆ เน้นการเปิดเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งศิลปิน นักออกแบบ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม มีการออกแบบเป็น sandbox เพื่อสำรวจความต้องการเพื่อนำไปสู่การเชื่อมต่อภาคส่วนต่างๆ ในการออกแบบและลงมือสร้างเป็นพื้นท่ีตามข้อเสนอในลำดับต่อไป

สำหรับพื้นที่เป้าหมาย ปัจจุบันทางกลุ่มกำลังออกแบบ ‘ลานบางกะปิภิรมย์’ ในเขตบางกะปิ และวางพื้นที่นำร่องไว้คือ วัดสามัคคีธรรม เขตวังทองหลาง สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม-คันนายาว และวางแผนขยายพื้นที่เล่นนับรวมออกไปให้ในอีก 50 เขตกรุงเทพฯ

theactive.net

สำหรับประเทศไทย การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สันทนาการ การเข้าถึงสวน ยังเป็นภาคส่วนที่ยังคงต้องการพัฒนาและพื้นที่สาธารณะต่อไป ในการพัฒนาและในความเป็นสาธารณะ การนับรวมคนทุกกลุ่มจึงนับเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นธรรมในสังคมที่มีความสำคัญ ความคิดของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการเปิดพื้นที่ให้ผู้มีความพิการปรากฏตัวและมีปฏิสัมพันธ์อย่างเป็นปกติในฐานะความปกติใหม่ทำให้เราเห็นบทบาทของพื้นที่สาธารณะที่ได้รับการคิดและออกแบบอย่างถี่ถ้วนเป็นพื้นที่ส่งเสริมความธรรมและลดอคติต่อไป

เบื้องต้นการออกแบบการเล่นและสวนที่รุ่มรวยรวมถึงคิดเผื่อทุกคน แน่นอนว่าส่งผลต่อชุมชน สังคมและผู้ปกครองโดยภาพรวมอยู่แล้ว แต่ตัวเลขสำคัญ เช่น ตัวเลขของกลุ่มเด็กที่มีความพิการซึ่งมีเงื่อนไขความพิการที่หลากหลายตั้งแต่กายภาพ เช่น การมองเห็น การเคลื่อนไหน การพิการซ้ำซ้อน ไปจนถึง พฤติกรรม ทางจิตวิทยาและการเรียนรู้ ในตัวเลขสถิติกลุ่มเด็กที่มีความพิการมีจำนวนราว 77,000 คนของประชากรทั่งประเทศ และคาดการณ์ว่าน่าจะมีจำนวนเด็กผู้มีภาวะพิการในกรุงเทพฯ ราว 3,600 คน

 

กลุ่มคนที่เราอาจจะยังไม่เคยคิดสร้างพื้นที่เฉพาะเพื่อสร้างสุขภาวะและส่งเสริมความเป็นธรรมผ่านงานออกแบบและพื้นที่สาธารณะต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

theactive.net

hags.com

mrcrec.com

playlsi.com

 

 

Share :