CITY CRACKER

เรียนรู้ธรรมชาติ พึ่งพาด้วยความเข้าใจ จัดการทรัพยากรแบบไม่ทำลายและได้ประโยชน์ ด้วย ‘องค์ความรู้พื้นถิ่น’ เครื่องมือสำคัญในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ

แม้ว่าสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจะทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างสะดวกสบายมากขึ้น ตัวมนุษย์เองก็มีความสามารถในการเรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติจนทำให้มนุษย์สามารถตั้งถิ่นฐานได้ในหลากหลายพื้นที่และพัฒนารูปแบบการดำรงชีวิตจนเกิดเป็นวิถีชีวิตและส่งต่อองค์ความรู้ต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน นอกจากคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่กลางหุบเขาแล้ว คนในพื้นที่อื่นๆ เองก็มีการดำรงชีวิตอย่างสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ด้วยเช่นกัน เช่น ชาวเล ชนเผ่าอินูอิต เป็นต้น

 

การคลุกคลีอยู่กับสภาพแวดล้อมเหล่านั้นทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว มีการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติในทุกมิติ ตั้งแต่ทำนายการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ทำความเข้าใจดิน ฝน ลม ฟ้า อากาศ การรักษาโรคภัยด้วยสมุนไพรท้องถิ่น การจัดการน้ำ การล่าสัตว์ และประมง การเดินเรือ การทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ การตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การสร้างที่อยู่อาศัย ความรู้เหล่านี้เป็นการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นการค่อย ๆ ทำความเข้าใจธรรมชาติ ผ่านการสังเกตการณ์จนเห็นความสอดคล้องระหว่างองค์ประกอบไปจนถึงปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ในประเทศออสเตรเลียได้มีการศึกษาวิจัยชนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำ Daly River และ Fitzroy River ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ มีการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบวิถีชีวิตของชาวเผ่าพื้นเมืองอย่าง Ngan’gi กับทรัพยากรน้ำ ผ่านการศึกษารูปแบบการใช้พื้นที่และทรัพยากร ตลอดจนรูปแบบสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่เกิดขึ้น จนออกมาเป็นปฏิทินฤดูกาลของ Ngan’gi ที่มีการเก็บข้อมูลธรรมชาติและลักษณะของพื้นที่ในแต่ละช่วงฤดูกาลแล้วนำมาซ้อนทับกับข้อมูลของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงต่างๆ ซึ่งการนำข้อมูลเชิงธรรมชาติมาซ้อนทับกับข้อมูลเชิงสังคมนี้ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าคนในพื้นที่มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับเงื่อนไขของพื้นที่ และมีรูปแบบการดำรงชีวิตที่ผันเปลี่ยนไปตามฤดูกาล

ปฏิทินฤดูกาลของ Ngan’gi อธิบายสภาพพื้นที่และกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในช่วงต่าง ๆ ที่มา https://www.csiro.au/en/research/natural-environment/land/about-the-calendars/ngangi

 

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของคนพื้นถิ่น เริ่มได้รับความสนใจและเป็นที่รู้จักมากขึ้นภายใต้ชื่อ Traditional Ecological Knowledge หรือ TEK ในช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยนักมานุษยวิทยาที่มีการศึกษาเรื่อง “การทำเกษตรกรรมและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เขตร้อนชื้นและองค์ความรู้พื้นถิ่นกับการบริหารจัดการประมงชายฝั่งและทะเลสาบ พื้นที่กึ่งแห้งแล้ง และพื้นที่อาร์กติก” ปัจจุบันภาครัฐ นักวิชาการ และนักวิทยาศาตร์หลายแห่งตระหนักว่าองค์ความรู้พื้นถิ่นนี้จะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่มีส่วนช่วยในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Management หรือ NRM)

TEK ไม่ได้มีเป้าหมายในการเข้าไปควบคุมธรรมชาติ แต่เป็นการเรียนรู้ที่ค่อยๆ ทำความเข้าใจธรรมชาติ ผ่านการสังเกตการณ์จนเห็นความสอดคล้องระหว่างปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถทำนายและคาดเดาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากสภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาตินี้ ทำให้คนพื้นเมืองสามารถวางแผนการดำรงชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับฤดูกาล ความรู้พื้นถิ่นครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย Nicolas Houde แห่ง McGill University ได้จำแนกองค์ความรู้พื้นถิ่นออกเป็น 6 ด้าน

1. การสังเกตข้อเท็จจริง ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างมีสัมพันธ์อันแนบแน่นกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว จะมีเกิดการสังเกตและสามารถจำแนกสิ่งต่างๆ จากรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น ชาวอินูอิต ที่อยู่อาศัยในพื้นที่หนาวเย็นปกคลุมไปด้วยหิมะทำให้มีชื่อเรียกหิมะกว่า 50 ชื่อ เพื่อระบุถึงหิมะที่มีลักษณะแตกต่างกัน หรือการเรียนรู้ลักษณะนิสัยและถิ่นที่อยู่ของสัตว์แต่ละชนิดของผู้ที่อาศัยอยู่ในป่า ทำให้สามารถหาล่าสัตว์มาเป็นอาหารและหลบหลีกอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสัตว์ดุร้ายได้

2. ระบบการบริหารจัดการ สะท้อนออกมาทางรูปแบบการวางผังหมู่บ้าน ชุมชน การจัดสรรการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพื่ออนุรักษ์ไว้ซึ่งทรัพยากรให้มีกินมีใช้เพียงพอสำหรับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน รูปแบบการทำการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับพื้นที่

3. การส่งต่อองค์ความรู้จากอดีต เป็นการส่งต่อความรู้ที่ได้จากการสังเกตการทดลองปฏิบัติของคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นหลังผ่านการบอกเล่าเรื่องราว
4. จริยธรรมและค่านิยม สืบเนื่องจากการส่งต่อองค์ความรู้จากอดีต โดยองค์ความรู้นั้นอาจมีการผสมผสานกับความเชื่อ พิธีกรรม ทำให้กลายเป็นสิ่งที่คนในชุมชนยึดถือปฏิบัติและสะท้อนออกมาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ

5. ประเพณี วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ล้วนมีรากฐานมาจากความความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติรอบตัว เนื่องจากเริ่มแรกเดิมทีการอยู่รอดให้ได้ในพื้นที่ การขยายเผ่าพันธุ์ และการวิวัฒนาการ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดเป็นรูปแบบการดำรงชีวิตของชุมชนซึ่งมีการพึ่งพาธรรมชาติรอบตัว และเรียนรู้ว่าต้องรักษาธรรมชาติเหล่านั้นเพื่อให้เผ่าพันธุ์ดำรงอยู่ต่อไปได้

6. จักรวาลวิทยา คือการทำความเข้าใจกระบวนการทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ระหว่างแต่ละองค์ประกอบในธรรมชาติ แล้วสร้างสรรค์แนวทางการอยู่อาศัยของเผ่าพันธุ์เพื่อให้สอดคล้องและสัมพันธ์ไปกับธรรมชาติรอบตัว ทำให้วิถีชีวิตของชนพื้นถิ่นส่วนใหญ่ไม่ใช่แนวความคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง แต่เป็นการมองว่ามนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

เนื่องจาก TEK คือการผสมผสานกันระหว่างความรู้ การปฏิบัติ และความเชื่อ และมีการจำเพาะเจาะจงต่อสถานที่ ดังนั้น การผสมผสานกันระหว่างความรู้กับความศรัทธานี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงก่อนนำองค์ความรู้พื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้ เพื่อไม่ให้เจ้าของวัฒนธรรมรู้สึกกระอักกระอ่วน

ในปี 1999 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการก่อตั้ง Tribal Science Council หรือ TSC ขึ้นเพื่อเป็นเวทีที่ชนพื้นถิ่นจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกเป็นตัวแทน U.S. Environmental Protection Agency หรือ EPA จากทุกหน่วยงาน ตัวแทนชนชาติพันธุ์จากแต่ละภูมิภาคที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลกลาง และตัวแทนจากหมู่บ้านพื้นเมืองในอลาสกา ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ได้มีพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้จากชนพื้นถิ่นสู่การผลักดันในเชิงนโยบายของภาครัฐ

หมู่บ้านชาวอาข่า ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย

 

มองย้อนกลับมายังประเทศไทย ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เหมาะกับการตั้งรกรากมาตั้งแต่อดีตกาลทำให้มีการตั้งถิ่นฐานของชนชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อย ทั้งชนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่า ชนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกับทะเล ชนชาติพันธุ์เหล่านี้มีความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ภาษาของตัวเองจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ มีองค์ความรู้ที่ได้รับการส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวมานาน แต่ปัจจุบันคนกลุ่มนี้กลับกลายเป็นคนชายขอบและถูกทอดทิ้งจากนโยบายการบริหารจัดการของภาครัฐหลายนโยบาย ซึ่งหนึ่งในนั้นได้กำหนดขึ้นเพื่อการรักษาธรรมชาติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหากมีการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และหาแนวทางในการพัฒนาที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มไปพร้อมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติจะเป็นทางออกที่มีความยั่งยืนมากกว่า ทั้งยังเป็นการศึกษาพื้นที่ผ่านการรับฟังข้อมูลพื้นที่จากคนที่เข้าใจเงื่อนไขของพื้นที่บริเวณนั้นอย่างแท้จริง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

onlinelibrary.wiley.com

csiro.au

ecologyandsociety.org

e360.yale.edu

library.um.edu.mo

fws.gov

readable.com/

epa.gov

you-me-we-us.com

 

Graphic Designed by Warunya Rujeewong
Share :