เวลานึกถึงคำว่าพื้นที่สาธารณะ สวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียว เราอาจยังนึกถึงสวนขนาดใหญ่ๆ พื้นที่โล่งๆ กว้างๆ ที่ต้องอาศัยรัฐและการลงทุนด้วยเงินทุนและที่ดินจำนวนมาก แต่ระยะหลังเราเริ่มเห็นประเด็นว่า ปัญหาของพื้นที่สีเขียวไม่ใช่แค่เรื่องของจำนวน เช่น การมีสวนหลักใหญ่ๆ อยู่ไม่กี่ที่หรืออยู่แค่ในพื้นที่กลางเมือง แต่การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในระยะใกล้บ้านเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเมือง
การมีสวนที่ไปวิ่งออกกำลังได้ มีพื้นที่โล่งๆ ก็ยังสำคัญอยู่ แต่ลองนึกภาพการมีสวนเล็กลงหน่อยแต่เราเดินไปได้ มีจุดนั่งพักเล็กๆ มีต้นไม้ มีลาน มีพื้นที่หย่อนใจ จากสวนที่อาจมีพื้นที่เป็นสิบๆ ไร่ วิ่งหนึ่งรอบได้ 5-10 กิโลเมตร สู่สวนที่อาจจะมีระยะลู่วิ่งรอบสวนที่ 500 เมตร มีพื้นที่ออกกำลังและทำกิจกรรมอื่นๆ หรือการที่ตึกอาคารรอบๆ ที่ทำงานและห้างสรรพสินค้ามีสวนอยู่บนดาดฟ้าที่เราเดินเข้าหรือขึ้นไปเพื่อหลบออกจากบรรยากาศและชมเมืองใหญ่จากที่ด้านบน
ดังนั้นแล้ว คำว่าเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอจึงสัมพันธ์กับการปรับวิธีคิดและการใช้กลยุทธ์ที่หลากหลาย หลายส่วนสัมพันธ์กับความคิดเรื่องขนาด การออกแบบสวนที่มีความหลากหลายในตัวเอง และการทำความร่วมมือกับภาคเอกชน ในวันที่เราอยากจะมีพื้นที่นั่งพักใต้เงาไม้ มีสวนเล็กๆ ที่เข้าใช้ได้ฟรีเพื่อพักใจ
City Cracker จึงชวนไปดูวิธีการใหม่ๆ ที่เราจะมีพื้นที่สาธารณะสีเขียวเพิ่มขึ้นได้ จากสวนกระเป๋า ถึงผนังหลังคาและดาดฟ้าของอาคาร จากการทำความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเปิดบางส่วนเป็นพื้นที่สาธารณะที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และจากการเปลี่ยนที่จอดรถเป็นสวนชั่วคราวถึงการปรับสิ่งปลูกสร้างเก่าเช่นทางด่วนหรือรางรถไฟเป็นสวนแนวยาว
Pocket Park สวนน้อยที่อุ่นหัวใจให้คนเมือง
Pocket Park ถือเป็นอีกหนึ่งกระแสการพัฒนาที่เริ่มได้ยินบ่อยครั้งขึ้นในบ้านเรา แนวคิดของสวนน้อยคือพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะไม่จำเป็นต้องเป็นการพัฒนาหรือการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องแพง สวนเล็กๆ นี้ปรากฏขึ้นที่ไหนก็ได้ คำว่า Pocket park หรือ Vest pocket park คือเปรียบว่าสวนเล็กๆ นั้นทำหน้าที่เหมือนกระเป๋าที่ให้เราเอามือซุกเข้าไปเพื่อความอบอุ่น ถ้ามองย้อนไปสวนกระเป๋านี้เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และทางอเมริกาก็รับเอาแนวคิดสวนขนาดเล็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของผู้คน
ประเด็นสำคัญของสวนขนาดเล็กคือการพัฒนาที่มีราคาไม่สูงและใช้พื้นที่ไม่มาก เน้นสร้างในพื้นที่ต่างๆ เช่นในย่านพักอาศัยของผู้มีรายได้น้อย ไปจนถึงย่านการค้า ย่านธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ สวนขนาดเล็กเหล่านี้เพิ่มพื้นที่หย่อนใจ ช่วยลดปัญหาและเพิ่มสุขภาวะของผู้คนในภาพรวม โดยในมิติของการออกแบบ เมื่อสวนมีขนาดเล็กลง มีจำนวนมากขึ้น นักออกแบบจึงมีบทบาทในการปรับและขยายการใช้งานของพื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลาย ตอบกับการใช้งานหรือกระทั่งมีความสวยงามมากขึ้น เช่น เราอาจจะมีสวนขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เป็นสนามเด็กเล่นของชุมชน สวนขนาดเล็กที่พื้นที่ธุรกิจอาจทำหน้าที่เป็นพื้นที่เงียบสงบสำหรับการหลบจากเสียงอึกทึก บางพื้นที่อาจเน้นเรื่องสุขภาพผู้สูงอายุ เป็นพื้นที่ออกกำลังกายหรือส่งเสริมการทำงานของสมอง ไปจนถึงการออกแบบเป็นสวนที่เป็นงานศิลปะ เป็นต้น
POPS พื้นที่สาธารณะในพื้นที่เอกชน
POPS คือพื้นที่สาธารณะที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ (Privately Owned Public Space) อันที่จริง POPS น่าจะนับได้ว่าเป็น ‘วิธีการ’ ที่เป็นร่มใหญ่ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง คือเป็นวิธีที่รัฐอาจนำไปรวมกับพื้นที่สีเขียวเล็ก-ใหญ่ข้ออื่นๆ เช่น สวนกระเป๋าหรือสวนดาดฟ้า หลักการของ POPS คือการที่รัฐจูงใจให้เอกชนเปิดพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้คนทั่วไปใช้งานได้โดยอาจมีผลประโยชน์บางอย่างแลกเปลี่ยนกับการลงทุนนั้นๆ ของเอกชน เช่น การสร้างอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ในโครงการนั้นอาจมีการออกแบบสวนหย่อมไว้ในอาคารและเปิดให้คนทั่วไปใช้งานได้ อาคารนั้นก็อาจได้ประโยชน์บางอย่าง เช่น การก่อสร้างที่ได้พื้นที่ของอาคารมากขึ้น เพิ่มความสูงของอาคารได้ หรืออาจมีแรงจูงใจทางภาษี
ในทางกลับกัน ในระดับความคิด มีงานศึกษาพบว่าการที่ภาคธุรกิจหรือพื้นที่ของเอกชนที่มีการเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ มีความเคลื่อนไหวของพื้นที่ เช่น การมีคนเข้าไปใช้งาน มีการหมุนเวียนของผู้คนอาจส่งผลดีกับพื้นที่นั้นๆ สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ โดยนอกจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่แล้ว คำว่าพื้นที่สาธารณะของเอกชนยังครอบคลุมไปจนถึงกิจการขนาดเล็กและการเปิดพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พื้นที่ของชุมชน พื้นที่โรงเรียน ห้องสมุด เน้นให้พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ปิด เปิดให้กับสาธารณะได้ใช้ประโยชน์โดยแลกกับสิทธิพิเศษบางอย่างที่รัฐมอบให้ได้
Pop-Up Park ปล้นเมืองด้วยสวนสนุกๆ
เมืองมักเป็นพื้นที่เต็มไปด้วยระบบระเบียบ ถนน ทางเท้าและอาคารถูกกำหนดและใช้งานแบบเดิมๆ ในชีวิตประจำวัน หนึ่งในกิจกรรมที่เพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มความสนุกให้กับเมืองได้คือการทำกิจกรรมที่สร้างเป็นสวนชั่วคราว (ที่อาจนำไปสู่สวนถาวรได้) การทำสวนป๊อปอัป คือสวนที่ผุดขึ้นมาในพื้นที่เมืองหรือ Pop-up park เป็นอีกวิธีที่จะสร้างสีสันและความเคลื่อนไหวให้กับพื้นที่เมืองได้
ลักษณะของสวนป๊อปอัปทำได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดวางพื้นที่ที่เคยใช้เป็นอย่างอื่นนำมาทำเป็นสวนชั่วคราว ติดตั้งที่นั่ง แนวต้นไม้ขนาดเล็กลงไป พื้นที่ เช่น ลานจอดรถ พื้นที่ทิ้งร้าง เคยมีนักกิจกรรมเช่าพื้นที่จอดรถและทดลองปูหญ้าพร้อมเก้าอี้ออกแบบเป็นสวน หรือการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวที่เรียกว่าสวนกองโจร (Guerrilla gardening) คือการที่นักกิจกรรมลงมือทำสวนในพื้นที่ต่างๆ เช่น เกาะกลางถนนที่ถูกทิ้งร้าง เอาเมล็ดดอกไม้ไปโปรยตามที่ดินว่างเปล่า โดยสวนเหล่านี้นอกจากจะสร้างความแปลกตาให้พื้นที่เมืองที่เราคุ้นเคยแล้วยังนำไปสู่ความเป็นไปได้และความเข้าใจถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียวด้วย
Roof Garden ต้นไม้บนก้อนเมฆ
อาคารสูงกับเมืองเป็นของคู่กัน แต่อาคารสูงไม่จำเป็นต้องเป็นปกคลุมด้วยพื้นที่สีเทาเสมอไป กระแสของการออกแบบอาคารสูงในปัจจุบัน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ การเปิดพื้นที่เพื่อสุขภาวะของผู้คนและการให้สิทธิประโยชน์จากนโยบายของเมืองต่างๆ อาคารสูงจึงมักประกอบด้วยพื้นที่หลังคาหรือดาดฟ้าที่ได้รับการออกแบบเป็นสวนหรือพื้นที่สีเขียวแบบลอยฟ้าหรือ Rooftop Garden
สวนบนดาดฟ้านี้มีได้หลายรูปแบบโดยนอกจากการทำหลังคาสีเขียวเพียงอย่างเดียวแล้ว ในหลายประเทศ เช่น ที่ญี่ปุ่น หลังทศวรรษ 1920 คือหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในคันโต อาคารสูงและห้างสรรพสินค้าในกรุงโตเกียวเริ่มมีความก้าวหน้าและมองเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่สีเขียวไว้บริการ กระแสหนึ่งของอาคารสูงและห้างในกรุงโตเกียวนำไปสู่การที่โตเกียวมีสวนลอยฟ้าจำนวนมากเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร เป็นพื้นที่หย่อนใจและเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของเมือง โดยในประเทศไทยเองก็เริ่มมีกระแสเรื่องสวนสาธารณะบนดาดฟ้าหรือบนอาคารมากขึ้น หลายตึกในระยะหลังเริ่มเปิดพื้นที่ด้านบนของตัวเองเป็นสวนและพื้นที่สาธารณะ เช่น ตึกสามย่านมิตรทาวน์ ตึกสยามสเคปที่สยาม หรือกระทั่งสวนอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ที่ใช้สวนหลังคาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบและพื้นที่ใช้งาน
Vertical Forest คลุมคอนกรีตด้วยป่า
ยุคหนึ่งป่าและเมืองเป็นสิ่งที่แยกออกจากกัน แต่หลังจากที่ Stefano Boeri ได้ออกแบบและสร้าง Bosco Verticale หรือ Vertical Forest ขึ้นที่มิลาน (สร้างเสร็จในปี 2009) อาคารพักอาศัยที่นอกจากจะเป็นที่อยู่ของมนุษย์แล้วยังเป็นที่อยู่ของพืชพรรณร่วมพันต้นด้วย หลังจากนั้นเราก็เริ่มได้เห็นอาคารสูง อาคารน้อยใหญ่ไปจนถึงแผนการพัฒนาเมืองที่กลายเป็นป่าและทำให้เมืองคอนกรีตเขียวขจีมากขึ้น ในระดับรัฐ สิงคโปร์เองก็มีโครงการ LUSH (Landscaping for Urban Spaces and High-Rises) ข้อกำหนดที่รัฐใช้เพื่อให้อาคารผนวกต้นไม้และพื้นที่สีเขียวเพื่อผลักดันให้สิงคโปร์เป็นเมืองในสวนและเมืองสีเขียวได้ในบริบทของเมืองสมัยใหม่และเมืองบนเกาะที่มีพื้นที่น้อย
ในปัจจุบันเราจะเห็นว่ากระแสการพัฒนาอาคารสูงและอาคารน้อยใหญ่ต่างเริ่มให้ความสำคัญกับการเป็นพื้นที่สีเขียวในตัวเอง อาคารใหม่ๆ หรืออาคารที่มีการปรับปรุงจะเริ่มทำหน้าที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้กับย่าน ช่วยรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศด้วยการมีทั้งต้นไม้ใหญ่ มีผนังหลังคาสีเขียว นอกจากจะออกแบบเพื่อตัวอาคารเองแล้ว อาคารที่กลายเป็นป่าแนวตั้งเหล่านี้ก็ส่งผลเชิงบวก เช่น การดูดซับคาร์บอนให้พื้นที่รอบๆ และส่งผลในระดับเมืองต่อไป
Urban Indoor Farm ออฟฟิศกินได้
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในปัจจุบันสัมพันธ์กับเทคโนโลยีและความรู้ด้านพืชพรรณ หนึ่งในพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มและใช้งานได้หลากหลายคือพื้นที่สวนในร่ม (indoor planting) โดยนอกจากการปลูกต้นไม้ในร่มเพื่อความสดชื่นแล้ว กระแสหนึ่งของพื้นที่สีเขียวในร่มคือการทำฟาร์ม คือปลูกแล้วนำไปสู่พืชผักที่กินได้ นวัตกรรมดังกล่าวสัมพันธ์กับแนวคิดเรื่องสวนแนวตั้ง vertical garden คือการปลูกพืชผักแนวตั้ง มีการใช้แสงจากหลอดไฟ การบริหารจัดการน้ำหรือดินที่อาจนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการเพื่อให้การใช้ทรัพยากรสัมพันธ์กับผลผลิตปลายทางอย่างคุ้มค่า หรือการออกแบบอาคารที่เน้นเปิดให้ธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ภายในเช่น ช่องแสงหรือการมีพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่อาคาร
ตัวอย่างของพื้นที่สีเขียวในร่มค่อนข้างหลากหลาย เช่น การปรับพื้นที่อาคารใต้ดินเก่าเป็นสวนผักแนวตั้ง การที่บางอาคาร เช่น โรงพยาบาล หรือหน่วยงานของรัฐ เปิดบางพื้นที่เป็นพื้นที่สวนผักสาธารณะที่นำไปสู่ทั้งการผลิตอาหารให้พื้นที่และชุมชนรอบๆ ไปจนถึงการได้ผลเชิงสังคมหรือผลเชิงสุขภาพที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยผ่านกิจกรรมการทำสวน หรือบางพื้นที่ เช่น อาคารสำนักงานที่ญี่ปุ่นชื่อ Persona มีการออกแบบให้ในอาคารและการทำงานผสานเข้าไปกับธรรมชาติและสวนพืชผัก มีการสร้างนาข้าวจำลอง มีสวนพืชผลประกอบอยู่ในแทบทุกส่วนของอาคารซึ่งทำให้สวนและการผลิตอาหารเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
Linear Park แก้เมืองผุพังด้วยแนวสวนสีเขียว
สวนแนวยาวเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาต้นแบบ ดังเช่นที่ High Line ของแมนฮัตตันกลายเป็นต้นแบบเมืองที่ปรับทางด่วนเก่าให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ชุมชน ในช่วงหลังโรคระบาด สวนแนวยาวกลายเป็นอีกหนึ่งกระแสการพัฒนาที่หลายเมืองให้ความสนใจ ด้วยว่าพื้นที่แนวยาวเป็นพื้นที่ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมืองผ่านหลายโครงสร้างพื้นฐานเดิม เช่น แนวทางรถไฟเก่า แนวทางด่วนเก่า พื้นที่ริมน้ำที่เข้าถึงไม่ได้ ในยุคโควิดผู้คนหันมาใช้การเดินและจักรยาน รวมถึงสวนเหล่านี้ทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าหากัน
ในมุมหนึ่งสวนแนวยาวจึงเป็นการพัฒนาปรับปรุงที่ได้ผลหลายทอด ทั้งการฟื้นฟูแก้ไขผลพวงจากการพัฒนาในยุคก่อนหน้าที่เน้นถนนและรถยนต์ ทั้งทางด่วนเก่าหรือคลองที่ถูกถมหรือเข้าถึงไม่ได้ รวมถึงโครงสร้างเดิมที่พ้นสมัย เช่น รางรถไฟ สวนแนวยาวจึงเป็นทั้งการแก้ปัญหาพื้นที่ทิ้งร้างให้กลายเป็นพื้นที่ใช้งานได้ จากพื้นที่สีเทาๆ และกลายเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่ชุมชนที่ตัวมันเองมีการใช้งานที่หลากหลาย ความเป็นสวนแนวยาวส่งผลดีกับการออกกำลังกาย บางแห่งออกแบบเป็นชั้น (layer) มีการใช้พื้นที่ด้านบนและด้านล่างในลักษณะต่างๆ เช่น เป็นศูนย์การค้า พื้นที่ร้านอาหารของชุมชนเนื่องจากใกล้กับจุดสัญจร บ้างก็เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางที่ขาดออกจากกัน นอกจากนี้สวนแนวยาวยังทำหน้าที่เป็นแนวพื้นที่สีเขียว (corridor) ช่วยเพิ่มแนวป้องกันปัญหาต่างๆ เช่นฝุ่นหรือมลพิษให้กับเมืองได้อีกทางหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
treehugger.com
archdaily.com
Illustration by Montree Summut
- Vanat Putnark
Writer