ในวันที่ทางหลวงกำลังคราคร่ำไปด้วยผู้คนที่บ่ายหน้ากลับบ้านหรือเดินทางท่องเที่ยวไม่ว่าจะบนถนนในเมืองหรือระหว่างเมือง ท้องถนนจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่เราเองก็พยายามทำให้ปลอดภัยมากขึ้น ด้วยองค์ความรู้ การออกแบบทั้งเชิงกายภาพ และความเข้าใจเรื่องพฤติกรรม เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้น้อยลง
ด้วยข้อจำกัดของการศึกษา มีการตั้งข้อสังเกตว่างานศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะการทำการทดลองที่ยังนับว่ามีไม่มากนัก ในระยะหลังเราจะเริ่มเห็นวิธีการศึกษาใหม่ๆ เช่นการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จากฐานข้อมูลต่างๆ การเก็บข้อมูลแบบใหม่ๆ การใช้แบบจำลองเสมือนในการศึกษาเรื่องถนนหนทางและการเกิดอุบัติเหตุที่ขยายตัวขึ้นจากเทคโนโลยีและกระแสการศึกษาใหม่ๆ ซึ่งประเด็นเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนถือว่าเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ที่ค่อนข้างสำคัญเพราะส่งผลกับชีวิตของผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากนี้ในยุคของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาพร้อมกับการขับขี่แบบเชื่อมต่อ การรับและส่งข้อมูลจากเทคโนโลยีที่สูงขึ้นก็อาจทำให้ท้องถนนและการขับขี่รวมถึงความปลอดภัยก้าวล้ำไปอีกขั้นหนึ่ง
City Cracker ชวนอ่านงานศึกษาและข้อมูลที่น่าสนใจจากงานศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน องค์ความรู้ที่อาจนำไปสู่ทั้งภาคปฏิบัติและพื้นที่ทางกายภาพ ที่อาจช่วยป้องกันและรักษาชีวิตของผู้คนที่อาจเป็นสมาชิกในครอบครัว และเป็นที่รักของใครสักคนให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้
ป้ายเตือนเรื่องอุบัติเหตุ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
ปีที่ตีพิมพ์ : 2022
“ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตกว่า 13,000 รายต่อปี” (สถิติ ปี2564) เวลาขับรถไกลๆ เราก็มักเจอป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ที่มีเจตนาเพื่อเตือนสติ เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญลดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ล่าสุดงานวิจัยใหม่ของทางมหาวิทยาลัย University of Toronto และ University of Minnesota พบผลของแคมเปญเหล่านี้ในทางตรงกันข้าม
งานศึกษานี้ทำการทดลองสร้างแคมเปญลดอุบัติเหตุและการใช้ป้ายเตือนในเมืองเท็กซัสเดือนละ 1 สัปดาห์ และนำข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุมาวิเคราะห์ผล การเก็บข้อมูลและการทดลองนี้กินเวลาราว 5 ปีคือระหว่างปี 2012-2017
ผลการทดลองพบว่าในช่วงที่ขึ้นป้ายมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงที่ไม่ได้ติดป้าย ตัวงานศึกษาระบุว่า ในระยะ 10 กิโลเมตร ช่วงที่มีการขึ้นข้อความเตือน มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น 4.5% มีตัวเลขว่าป้ายแคมเปญก่อให้เกิดอุบัติเหตุในเมืองเท็กซัส 2,600 ครั้งและเกิดการเสียชีวิตราว16 รายต่อปี คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียสูงถึง 377 ล้านเหรียญสหรัฐ สุดท้ายนักวิจัยระบุว่าข้อความที่สื่อสารโดยตรงทำให้ผู้ขับขี่สูญเสียศักยภาพการรับรู้และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของการขับขี่ได้น้อยลง เป็นการสื่อสารที่ต้องออกแบบอย่างระมัดระวังเพราะกระทบกับศักยภาพในการขับขี่โดยตรง
หน้าตาของถนนในเมืองสัมพันธ์กับพฤติกรรมการขับขี่และอัตราการเสียชีวิต
ปีที่ตีพิมพ์ : 2022
เรามีแนวคิดและแนวทางออกแบบถนนที่เรียกว่า Share Street คือการทำให้ถนนเป็นพื้นที่ของรถยนต์น้อยลง เช่น การปูพื้นด้วยวัสดุอื่นนอกจากยางมะตอย การลดขอบทาง การเพิ่มต้นไม้ แนวคิดสำคัญคือการทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกว่าถนนนั้นไม่ใช่พื้นที่ของรถยนต์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ของการเดินทางอื่นด้วย การขับขี่ก็จะช้าลง เกิดความระมัดระวังขึ้น
งานศึกษาของ Ohio State University ที่เผยแพร่ช่วงต้นปี 2022 เองก็ดูจะพบผลในทำนองเดียวกัน คือนักวิจัยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ของโครงข่ายถนนและทำแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ โดยผลการศึกษาพบว่าถนนที่เรียกว่าเป็นถนนเปิด (open road) มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตสูงถึง 48%
ลักษณะของ open road คือถนนที่กว้าง โล่ง มองเห็นท้องฟ้าได้รอบ มีป้ายเยอะๆ นักวิจัยระบุว่า ถนนประเภทนี้แม้จะอยู่ในเขตเมือง แต่กลับมีหน้าตาเหมือนถนนทางหลวง ด้านหนึ่งทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกว่าทั้งถนนคือทางหลวงที่รอบๆ ไม่มีกิจกรรมอื่นๆ ไม่มีผู้คน ไม่มีอะไรนอกจากการขับขี่ จึงมีความระมัดระวังน้อยลง และใช้ความเร็วสูงขึ้น งานศึกษานี้ใช้การวิเคราะห์ด้วยระบบ AI โดยเน้นจำแนกประเภทถนนซึ่งพบว่าถนนที่มีองค์ประกอบเป็นท้องฟ้า คือเป็นถนนโล่งๆ มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูง
นักวิจัยจัดแบ่งถนนออกเป็นหลายประเภท เพื่อรายงานผลกระทบและอัตราการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงความรุนแรงในลักษณะที่ต่างกัน เช่น ถนนในย่านที่ร่มรื่นมีต้นไม้ประกอบ คือมีสีเขียวเป็นองค์ประกอบร่วม มีอัตราการเฉี่ยวชนน้อยกว่าถนนแบบโล่งๆ ในเมือง (residential open street) โดยน้อยกว่าถึง 12.4% แต่ถนนที่มีบรรยากาศแบบเมืองๆ คือรายล้อมด้วยอาคารสิ่งปลูกสร้างก็ยังมีอัตราการเฉี่ยวชนที่รุนแรงและสูงกว่าแบบที่มีต้นไม้สีเขียวๆ โดยสูงกว่าราว 21.7%
อุบัติเหตุบนถนน เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของวัยรุ่น
ปีที่ตีพิมพ์ : 2022
อุบัติเหตุโดยเฉพาะบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องที่เกิดโดยเสมอภาค งานวิจัยพบว่ามีกลุ่มคนหรือกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและมีอัตราการตายที่สูงที่เฉพาะเจาะจง เช่นกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยมีอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการเดินทางสูงกว่าประเทศที่มีรายได้สูง
งานวิจัยล่าสุดของปี 2022 จาก University of New South Wales ซิดนีย์ ศึกษาตัวเลขการเสียชีวิตและพุ่งเป้าไปที่อัตราการตายจากอุบัติเหตุของการเดินทางและการขับขี่ พบว่าจากข้อมูลในรอบ 30 ปี โลกจะพัฒนาไปจนทำให้อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตค่อยๆ ลดน้อยลงจากทศวรรษ 1990 แต่อัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุของวัยรุ่น (อายุ 10-24 ปี) กลับเพิ่มสูงขึ้นในบางประเทศ และนับว่าเป็นสาเหตุการตายหลักของวัยรุ่นทั่วโลก
ผลการศึกษานี้ทำให้การพิจารณาเรื่องความปลอดภัยควรสนใจไปที่กลุ่มวัยรุ่นเพื่อช่วยลดอัตราการตายลงได้ ทางคณะนักวิจัยระบุว่าการเพิ่มความปลอดภัยบนถนนที่เฉพาะเจาะจงเป็นสิ่งที่ทำได้และไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ เน้นไปที่การควบคุมความปลอดภัยที่ครอบคลุมทุกช่วงวัยแต่ให้ความสำคัญกับกลุ่มวัยรุ่นถือเป็นเรื่องที่ทำได้ เช่น การดูแลเรื่องใบขับขี่สำหรับผู้ขับขี่ใหม่ การกวดขัดเรื่องปริมาณแอลกอฮอล์ การดูแลในเขตพื้นที่โรงเรียน การบังคับใช้กฏหมายว่าด้วยหมวกกันน็อกและเข็มขัดนิรภัยเป็นสิ่งที่มีผลการศึกษายืนยันว่าช่วยลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเลื่อนเวลาเรียนให้ช้าลง หากวัยรุ่นมีเวลานอนมากขึ้นอาจช่วยลดอุบัติเหตุได้
ปีที่ตีพิมพ์ : 2020
การทดลองและปรับเงื่อนไขเล็กๆ อาจส่งผลเชิงบวกได้ งานศึกษาตีพิมพ์ใน Journal of Clinical Sleep Medicine รายงานความเกี่ยวเนื่องกันของนโยบาย ‘เลื่อนเวลาเรียน’ ว่าการให้โรงเรียนทำการเรียนการสอนที่สายกว่าเดิม ส่งผลเชิงบวกคือทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากผู้ขับขี่วัยรุ่นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
งานศึกษาชุดนี้ใช้ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุจากนโยบาย Late School Start Times ในเมือง Fairfax County รัฐเวอร์จิเนีย คือเป็นนโยบายเลื่อนเวลาเริ่มเรียนจาก 7.20 เป็น 8.30 งานศึกษาพบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุในผู้ขับขี่อายุ 16-18 ปีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 31.63% เหลือ 29.59% นับจากมีการเลื่อนเวลาเข้าเรียน
นอกจากนี้งานศึกษายังเทียบอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนถนนในผู้ขับขี่วัยรุ่นกับพื้นที่ที่ไม่มีนโยบายเข้าเรียนสายและพบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากความวอกแวก (distraction-related) มีอัตราที่ลดลง ความน่าสนใจของงานศึกษานี้คือเกี่ยวข้องทั้งนโยบายของภาครัฐ ความปลอดภัยบนท้องถนน และระบบการศึกษา ทั้งยังเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการนอนด้วย คือทางนักวิจัยเชื่อมโยงว่าการที่วัยรุ่นได้นอนพอส่งผลดีกับการตัดสินใจต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการขับขี่ปลอดภัย เช่น การตัดสินใจคาดเข็มขัด สวมหมวกนิรภัย หรือการขับรถระยะทางไกลที่ตัวเองไม่พร้อม การนอนหลับอย่างเพียงพอส่งผลกับความหุนหันพลันแล่นอันเป็นลักษณะเด่นของวัยรุ่น
ทางจักรยานช่วยลดอัตราการเสียชีวิตทั่วไปบนท้องถนน
ปีที่ตีพิมพ์ : 2019
การขับจักรยานบนทางหลักของเมืองถือเป็นของใหม่ และฟังดูเป็นสิ่งอันตรายของการขับขี่ในเมืองใหญ่ แต่งานศึกษาในปี 2019 วารสาร Journal of Transport & Health แสดงผลการศึกษาที่น่าสนใจจากการใช้ข้อมูลของ 12 เมืองใหญ่ในสหรัฐ พบว่าการขับขี่จักรยานที่มากขึ้นไม่ได้มีผลกับประเด็นเรื่องความปลอดภัย แต่พบว่าการที่เมืองและอาคารมีสาธารณูปโภคที่เกี่ยวกับจักรยานกลับส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุลดลง นักวิจัยระบุว่าสาธารณูปโภคเหล่านี้ เช่น เมื่อเราเห็นทาง หรือจุดจอดจักรยานส่งผลให้การจราจรนั้น ‘สงบมากขึ้น (calming)’ รถขับช้าลง และทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง
ทั้งนี้ นักวิจัยระบุว่าสาธารณูปโภคสำคัญคือทางเฉพาะของจักรยานมีความสำคัญและได้ผลในการเพิ่มความปลอดภัยและลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากงานนี้งานศึกษายังเน้นแสดงประเด็นเรื่องอัตราการเสียชีวิต เพื่อทำให้เห็นรายละเอียดของอุบัติเหตุและประสิทธิผลเรื่องการรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนที่ถี่ถ้วนมากขึ้น
ผู้ชายมีแนวโน้มการขับขี่ที่อันตรายและเกิดอุบัติเหตุมากกว่าผู้หญิง
ปีที่ตีพิมพ์ : 2016
อันที่จริง งานศึกษาจากวารสาร Injury Prevention ในปี 2020 เป็นการศึกษาข้อมูลขนาดใหญ่ว่าด้วยประเภท (เช่น รถยนตร์ รถบัส มอร์เตอไซด์ รถบรรทุก) และความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุโดยใช้สถิติระดับชาติของอังกฤษในการวิเคราะห์ โดยมีเงื่อนไขของเพศสถานะ (gender) เข้ามาร่วมวิเคราะห์ผลกระทบของการขับขี่ พูดง่ายๆ คือไปดูว่าการขับขี่แบบไหน ส่งผลกระทบหรือเกิดอุบัติเหตุได้จากอะไร เช่น พบว่ารถยนต์และแท็กซี่มีสัดส่วนสองในสามที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิต แต่ถ้าเงื่อนไขคือการขับในระยะที่ยาวๆ พาหนะประเภทอื่นก็มีความเสี่ยงในการก่ออุบัติเหตุเท่าๆ กัน หรือข้อมูล เช่น พื้นที่เมืองมีการเสียชีวิตของคนเดินเท้าสูง ในขณะที่จักรยานอาจมีตัวเลขการตายที่ต่ำกว่าและดูปลอดภัยกว่า
นอกจากนี้ ตัวเลขที่น่าสนใจและอาจสัมพันธ์กับอคติพื้นฐานของสังคม คือการนำเอาเพศเข้ามาร่วมวิเคราะห์สถิติด้วย นักวิจัยรายงานว่าสัดส่วนของการเกิดอุบัติเหตุสัมพันธ์กับผู้ขับขี่ชายมากกว่าผู้ขับขี่หญิง ข้อมูลตรงนี้ทำให้เรามองเห็นประเด็นเรื่องความปลอดภัยและประเด็นเรื่องอาชีพในมุมที่กว้างขึ้น เช่น พบว่าในกลุ่มรถทั่วไปและรถตู้รถบรรทุก ผู้ขับขี่เพศชายมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าเพศหญิงสองเท่า และในกลุ่มรถบรรทุก มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า ซึ่งในทางสังคม อาชีพขับขี่อาจเชื่อมโยงกับเพศชายเป็นหลัก นักวิจัยเสนอว่าความเท่าเทียมทางเพศจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สัมพันธ์กับการบาดเจ็บบนท้องถนน ทางภาครัฐและส่วนกำหนดนโยบายอาจพิจารณาการกระจายตัวที่เกี่ยวกับเพศ เช่น การจ้างงานในภาคขนส่งที่มีความสมดุลระหว่างเพศต่างๆ มากขึ้น
อัตราการตายบนท้องถนนเพิ่มขึ้นสองเท่า หลังการปลดล็อกกัญชา
ปีที่ตีพิมพ์ : 2016
บ้านเราปลดล็อกกัญชาแล้ว มีงานศึกษาที่เชื่อมโยงประเด็นอุบัติเหตุบนถนนเข้ากับการปลดล็อกกัญชาจากงานศึกษาของ AAA Foundation for Traffic Safety เผยแพร่ในปี 2016 โดยงานศึกษาศึกษาตัวเลขอุบัติเหตุของรัฐวอร์ชิงตัน หนึ่งในสองรัฐแรกของสหรัฐที่ปลดล็อกกัญชาเพื่อการสันทนาการในเดือนธันวาคม 2012 และรายงานว่าในช่วงปี 2013-2014 มีตัวเลขผู้ขับขี่ที่เพิ่งใช้กัญชาเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุที่มีการเสียชีวิต (fatality crash) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 8% เป็น 17% และพบว่า 1 ใน 6 ของผู้ขับขี่ในอุบัติเหตุที่มีการเสียชีวิตจากรถชนในปี 2014 ใช้กัญชาก่อนเกิดเหตุ
นักวิจัยชี้ให้เห็นว่าการปลดล็อกกัญชายังมีประเด็นเกี่ยวข้องและมีความซับซ้อน เช่น การจำกัดปริมาณและหลักฐานเรื่องปริมาณสารจากการเสพกัญชายังคงสัมพัทธ์กับประสิทธิภาพของการขับขี่ ยังไม่มีปริมาณการควบคุมอย่างที่เราทำกับการควบคุมปริมาณแอลกอฮอล์ ซึ่งนักวิจัยก็ชี้เห็นว่ากัญชาย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจและการขับขี่
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.sciencedaily.com/…/2022/04/220421141535.htm…
https://www.science.org/doi/10.1126/science.abm3427
https://www.sciencedaily.com/rel…/2022/05/220512121923.htm
https://www.sciencedaily.com/rel…/2022/06/220629202950.htm
https://www.sciencedaily.com/…/2020/02/200218125312.htm…
https://www.sciencedaily.com/…/2019/05/190529113036.htm…
https://www.sciencedaily.com/rel…/2020/04/200406190421.htm
https://www.sciencedaily.com/rel…/2016/05/160510103131.htm
- Vanat Putnark
Writer