‘น้ำ’ เป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีกรรมและวัฒนธรรมไทย สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ในพระราชพิธีมีการใช้น้ำศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีคือ ‘น้ำอภิเษก’ และ ‘น้ำสรงมุรธาภิเษก’ โดยวันที่ 6 เมษายนจะมีการจัดพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งสิ้น 108 แห่ง
ตามโบราณราชประเพณี การสรงน้ำโดยเฉพาะการสรงน้ำมุรธาภิเษกเป็นขั้นตอนสำคัญในพิธีบรมราชาภิเษก เป็นห้วงเวลาที่เปลี่ยนสถานะเข้าสู่การเป็นพระมหากษัตริย์ ตามรูปศัพท์คำว่า ‘บรมราชาภิเษก’ ประกอบด้วยคำว่า บรม- ราชา- อภิเษก คำว่าอภิเษกหมายถึงการรดน้ำ เป็นการแสดงสัญลักษณ์รับรองความเป็นพระมหากษัตริย์ คำว่าสรงมุรธาภิเสก ตามขั้นตอนเป็นน้ำที่ใช้สรงพระเศียร (มูรธา แปลว่าพระเศียร) ลงมาทั่วพระวรกาย ในขณะที่น้ำอภิเษกเป็นน้ำที่ใช้รดพระวรกาย ดังนั้นน้ำที่ใช้ในการสรงพระเจ้าแผ่นดินจากพระเศียรจึงเป็นน้ำสำคัญสูงสุดและต้องมีการตระเตรียมอันเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีในเบื้องต้น
ในวันที่ 6 เมษายนนี้ จะมีการจัดพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศ สำหรับการอภิเษกในครั้งนี้มีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ถึง 108 แห่งจากทุกจังหวัดทั่วประเทศจากแต่เดิมจะมีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่มากนักราว 10-20 แหล่ง การใช้น้ำจากทุกจังหวัดแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยจากทุกพื้นที่ในพิธีสำคัญของแผ่นดินในครั้งนี้
สำหรับน้ำสรงมุรธาภิเษกจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ 2 ส่วนคือเบญจสุทธคงคา ประกอบด้วยน้ำจากแม่น้ำ 5 สายของไทยคือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำราชบุรีและแม่น้ำเพชรบุรี ในขณะที่อีกส่วนมาจากสระ 4 สระในจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วย สระเกษ สระแก้ว สระคา และสระยมนา สระทั้ง 4 นี้เป็นแหล่งน้ำน้ำสรงมุรธาภิเษกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
อ้างอิงข้อมูลจาก
phralan.in.th
Illustration by Matissa Inharit
- CITY CRACKER
Little crack, hack city.