CITY CRACKER

แบ่งพื้นที่ด้วยท่อกระดาษและฉากผ้า ที่พักผู้อพยพของชิเงรุบันกับประสบการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

ภาวะสงครามสร้างความเสียหายในหลายภาคส่วนทั้งร่างกาย จิตใจ และที่สำคัญคือพื้นที่กายภาพที่ถูกทำลายลง นอกจากเมืองที่ถูกทำลายแล้ว สงครามยังผลักดัให้ผู้คนออกจากพื้นที่บ้าน เปลี่ยนสถานะจากผู้อยู่อาศัยไปเป็นผู้อพยพ

ในภาวะสงคราม พื้นที่กายภาพไม่ว่าจะเป็นเมืองที่พังลง และความต้องการพื้นที่ชั่วคราวของผู้อพยพ ทำให้สถาปนิกและนักออกแบบ ในฐานะกลุ่มวิชาชีพที่เชี่ยวชาญในการจัดการพื้นที่และเชื่อมโยงผู้คน ความรู้สึกและลักษณะอันเป็นนามธรรมที่ละเอียดอ่อนผ่านการใช้พื้นที่นั้นๆ เข้ามามีบทบาทในการร่วมรับมือกับและผลกระทบของสงคราม

ล่าสุด ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชิเงรุ บัน (Shigeru Ban) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นเจ้าของรางวัล Pritzker Prize ที่เราเองก็คงได้ยินชื่อและเห็นผลงานของบันเองบ่อยครั้ง ในวิกฤติผู้อพยพยูเครน ชิเงรุ บัน ได้เดินทางไปยังชายแดนของโปแลนด์ที่ติดกับยูเครน และสร้างพาร์ทิชั่น (partition) ง่ายๆ จากท่อกระดาษและผ้า แต่ทว่าระบบแบ่งสัดส่วนอันเรียบง่ายนี้กลับตอบสนองความเข้าใจและความต้องการพื้นที่ของเหล่าผู้อพยพที่กำลังอยู่ในภาวะเปราะบาง

ท่อกระดาษและฉากผ้าของบัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนและบทบาทของการเป็นสถาปนิก ที่บันเองเคยเจอกับการอพยพและการเข้าจัดการพื้นที่ในวิกฤติแผ่นดินไหวและสึนามิในช่วงปี 2011 ในญี่ปุ่น ในปีนั้นเองที่บันได้พัฒนาระบบแบ่งสัดส่วนชั่วคราวด้วยท่อกระดาษง่ายๆ ขึ้น โดยประเด็นสำคัญของระบบคือการสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้กับผู้อพยพในขณะเดียวกันก็เป็นระบบที่สร้างได้อย่างรวดเร็วด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายโดยเฉพาะในภาวะวิกฤติและภาวะขาดแคลน

จากความเข้าใจด้วยการผ่านวิกฤติภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น สิบปีนับจากนั้น วันนี้ ฉากกระดาษของชิเงรุ บันก็กำลังค่อยๆ ปรากฏตัวและช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่อพยพให้อบอุ่นขึ้น จากซูเปอร์มาเก็ตบนแดนโปแลนด์-ยูเครน ถึงผ้าม่านสีอบอุ่นในสถาปัตยกรรมนีโอโกธิกในสถานีรถไฟวรอตสวัฟ (Wrocław)

 

Voluntary Architects’ Network (VAN)

 

เข้าใจหัวใจของคนจากบ้าน บทเรียนจากปี 2011

ในฉากกระดาษอันแสนเรียบง่าย แต่ทว่าดึงความสนใจจากนักออกแบบและชี้ให้เห็นบทบาทของสถาปนิกในภาวะวิกฤติได้อย่างยอดเยี่ยม จุดเริ่มของโครงเสาไม้จากท่อกระดาษลังนี้ เป็นโมเดลแบบเดียวที่ชิเงรุ บันใช้สร้างขึ้นเป็นฉากชั่วคราวในตอนที่ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ในภาวะอพยพ ครอบครัวและผู้คนต้องไปอาศัยรวมกันในพื้นที่เปิดโล่งของโรงยิมขนาดใหญ่เป็นเสมือนบ้านชั่วคราว โมเดลอันเรียบง่ายจากวัสดุที่เข้าใจง่าย สร้างได้เร็ว ราคาประหยัด

นึกภาพการต้องพลัดออกจากบ้าน ออกมาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความรู้สึกไม่ปลอดภัยท่ามกลางคนแปลกหน้านับร้อยคน บันในฐานะสถาปนิกเล็งเห็นว่าผู้อพยพล้วนอยู่ในภาวะเปราะบาง สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการพื้นที่ที่จะได้หันหน้าเข้าหากัน ปลอบประโลมซึ่งกันและกัน สร้างพื้นที่ส่วนตัวอันอบอุ่นของบ้านในช่วงเวลาวิกฤติ

 

Voluntary Architects’ Network (VAN)

 

สิบปีจากเอเชียสู่โปแลนด์ กับหลังคาน้อยๆ ใต้เพดานใหญ่

ในปี 2022 สิบปีหลังจากจากกางม่านในโรงยิมของญี่ปุ่น ชิงเงรุ บันได้ข่าวจากยูเครนว่าผู้คนต้องแออัดอยู่ในพื้นที่อพยพ บ้างต้องนอนบนพื้น และจากประสบการณ์และการเรียนรู้จากแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น บันจึงตัดสินใจว่าการมอบพื้นที่ส่วนตัวให้กับผู้อพยพด้วยองค์ความรู้ที่ตัวเองมีจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ในภาวะวิกฤติจากสงครามบันอธิบายว่าความรู้สึกของผู้คนอาจจะต่างไปจากภัยธรรมชาติที่เรารู้ว่าภาวะ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหวได้สิ้นสุดลงแล้ว เราเพียงแค่รอ แต่สงครามทำให้ผู้อพยพเองก็ไม่ทราบว่าสงครามจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ โดยพื้นที่ส่วนตัวนั้นเป็นสิ่งจำเป็น บันเล่าถึงผู้หญิงที่ดูกล้าหาญจากยูเครนที่เธอหลั่งเมื่อเข้าสู่พื้นที่ที่ถูกแบ่งไว้เป็นสัดส่วน

ตัวโครงสร้างนั้นแสนจะเรียบง่าย บันใช้ระบบแกนกระดาษแข็งที่ทำจากแกนของกระดาษหสำรับงานพิมพ์หรือแกนผ้าที่เราคุ้นเคยแต่ยาวกว่า โดยตัวโครงสร้างจะเจาะรูเป็นวงกลมเพื่อเสียบแกนกระดาษเข้าเป็นเสาและคานอย่างง่าย ตัวคานพาดผ้าเหมือนกับที่ใช้กั้นเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล บันเองเดินทางลงพื้นที่คือที่เมืองเชล์ม (Chełm) ของโปแลนด์ในวันที่ 11-13 มีนาคม 2565 โดยเชล์มเป็นเมืองที่ห่างจากชายแดนยูเครนราว 25 กิโลเมตร และถือเป็นจุดจอดแรกของรถไฟสายยูเครน-โปแลนด์

 

Voluntary Architects’ Network (VAN)

 

Voluntary Architects Network และงานกระดาษในการรับมือวิกฤติ

การลงพื้นที่ช่วยเหลือของบันเองไม่เชิงว่าเป็นการเข้าช่วยเหลืออย่างฉับพลัน แต่บันถือว่าเป็นสถาปนิกที่ใช้ทักษะการออกแบบเพื่อรับมือกับวิกฤติต่างๆ ในระดับโลกมาอย่างยาวนาน และมีการตั้งองค์กรที่ชื่อว่า Voluntary Architects Network อันเป็นเครือข่ายสำคัญที่บันใช้เพื่อสร้างเครือข่ายและเข้าช่วยเหลือในพื้นที่วิกฤติอย่างเป็นระบบ การเข้าทำงานในการรับมือวิกฤติโดยการใช้กระดาษของบันเริ่มต้นในช่วงปี 1994-1995 และถือว่าการใช้สถาปัตยกรรมและวัสดุโดยเฉพาะกระดาษเพื่อช่วยเหลือเหยื่อส่งผลกับการได้รับรางวัลพริซเกอร์ในปี 2014 อย่างมีนัยสำคัญ

ชิเงรุ บันเริ่มพัฒนาและสร้างที่พักชั่วคราวหรือเชลเตอร์จากกระดาษครั้งแรกในปี 1994 จากการเสนอความคิดต่อข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees) ในกรณีการรับมือปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาร์ หลังจากงานที่รวันดาร์ ปีต่อมาหลังจากแผ่นดินไหวในโกเบ บันเองก็เริ่มใช้ท่อกระดาษและขวดเบียร์ในการสร้างบ้านสำเร็จรูปสำหรับผู้เหยื่อแผ่นดินไหวชาวเวียดนามในโกเบ ที่ไม่ได้รับสิทธิบ้านชั่วคราวจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้น โดยในปีเดียวกัน(1995) บันก็ก่อตั้งกลุ่มสถาปนิกอาสาในชื่อ Voluntary Architects Network เพื่อเข้าทำงานบรรเทาสาธารณะภัย และลงทำงานในสร้างที่พักชั่วคราวทั้งในจีน อินเดีย ตุรกี อิตาลี นิวซีแลนด์และประเทศอื่นๆ

 

Voluntary Architects’ Network (VAN)

 

การทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาปนิกท้องถิ่น และ New European Bauhaus

การเข้าทำงานพื้นที่ของโปแลนด์ได้อย่างรวดเร็วนั้น บันทำงานผ่านเครือข่าย Voluntary Architects Network โดยในปัจจุบัน การเข้าปรับปรุงที่พักชั่วคราวด้วยระบบโครงกระดาษและผ้ามีขึ้นในสองจุดใหญ่ๆ คือซูเปอร์มาเก็ตเก่าในเมืองเชล์ม เมืองชายแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของโปแลนด์ และทสถานีรถไฟวรอตสวัฟ เมืองใหญ่เมืองแรกบนเส้นทางรถไฟจากยูเครน ในการทำงานทางเครือข่ายอาสาลงมือทำงานร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาด้านออกแบบโดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยในโปแลนด์ เช่น Lublin University of Technology หนึ่งในหัวหอกสำคัญของกลุ่มสถาปนิกอาสา (Voluntary Architects Network) ในโปแลนด์ โดยนักศึกษาบางคนที่เข้าร่วมอาสาก็เดินทางไกลจากพื้นที่อื่นของยุโรปเช่นมาจากสวีเดน เป็นต้น

นอกจากนี้ปัจจุบันทางสหภาพยุโรปมีการรวมกลุ่มกันในนาม New European Bauhaus คือการรวมตัวของสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อผลักดันและสร้างนวัตกรรมของยุโรปและทั่วโลกให้การก้าวเข้าสู่งานออกแบบสีเขียวและการเน้นความยั่งยืนเป็นกระแสหลัก ซึ่งบันเองก็เป็นหนึ่งในทูตของโครงการ ในปัจจุบันด้วยภาวะสงคราม ทางกลุ่มบาวเฮาส์ใหม่ก็เลยหันความสนใจไปสู่การรับมือกับสงคราม และในการเข้าช่วยเหลือ เช่น การส่งวัสดุอุปกรณ์และการอำนวยการในด้านต่างๆ ก็มีกลุ่มบาวเฮาส์ใหม่ช่วยอำนวยความช่วยเหลือด้วย

 

Photographer: Jerzy Łątka

 

ซูเปอร์มาร์เก็ตในเชล์ม จุดจอดแรก และที่พักพิงสีอบอุ่นในสถานีรถไฟเก่าแก่

เมืองเชล์ม เป็นเมืองที่ใช้ระบบแบ่งสัดส่วนของชิเงรุ บัน และตัวบันเองก็ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง สำหรับเมืองเชล์มนี้เป็นเมืองที่เป็นจุดจอดแรกของรถไฟที่วิ่งจากส่วนกลางของยูเครนผ่านพื้นที่ทางตอนเหนือก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ของโปแลนด์ โดยที่เมืองเชล์มนั้นทางทีมได้ใช้พื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเก่าและเปิดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยที่ซูเปอร์มาร์เก็ตได้สร้างเป็นพื้นที่พักที่เป็นยูนิตขนาดเล็กได้ 300 ยูนิต สร้างเสร็จในวันที่ 11 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา 

โดยในวันที่ 12 มีรายงานว่าระบบพาร์ทิชั่นแบบเดียวกันได้ถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวน 60 ยูนิตที่สถานีรถไฟวรอตสวัฟ เมืองที่ถือว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุดบนเส้นทางรถไฟจากยูเครนในโปแลนด์ โดยทั้งสองที่ใช้โครงเสาจากม้วนกระดาษที่ทำงานเยื่อกระดาษรีไซเคิล 

 

Voluntary Architects’ Network (VAN)

 

ประเด็นเรื่องความปลอดภัย

แม้ว่าตัวระบบและโครงสร้างชั่วคราวนั้นน่าจะสร้างประโยชน์และเหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ทว่าทางสื่อเช่น Bloomberg ก็รายงานว่า โครงการที่ได้รับการจับตานี้ก็เกิดปัญหาและความขัดแย้งกับหน่วยงานท้องที่ของโปแลนด์ด้วย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องข้อกำหนดและความปลอดภัย ทางการท้องถิ่นของโปแลนด์มีการเข้าตรวจสอบและกำหนดให้ทีมงานทดสอบความแข็งแรงและการทนไฟของตัวท่อกระดาษ ไปจนถึงการบังคับใช้ผ้าที่เหมาะสมแบบเดียวกับที่ได้มาตราฐานและใช้งานพื้นที่สาธารณะเช่นพิพิธภัณฑ์หรือโรงละคร ในบางที่เช่นที่วรอตสวัฟหน่วยงานด้านการควบคุมเพลิงขอให้ทีมรื้อตัวโครงสร้างออกราว 50 จุดเนื่องจากประเด็นด้านความปลอดภัย

 

Photographer: Maciej Bujko

ปัจจุบันชิเงรุ บัน รวมถึงสถาปนิกคนอื่นๆ ก็ยังคงทำงานเพื่อสร้างพื้นที่รองรับผู้อพยพจากยูเครนที่มีจำนวนจากการคาดการณ์สูงถึง 10 ล้านคน ชิเงรุ บันเองจากรายงานปัจจุบันกำลังสร้างพื้นที่พักพิงในเมืองปารีส พร้อมๆ กับพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองใกล้เคียงของโปแลนด์ หรือเมืองหลวงอื่นๆ ของยุโรปที่ต่างก็พยายามสร้างพื้นที่และเงื่อนไขเพื่อโอบรับเหล่าผู้ลี้ภัยที่กำลังบอบช้ำจากสงครามและการพลัดจากบ้านเกิดเมืองนอน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

asahi.com

bloomberg.com

designboom.com

worldarchitecture.org

 

Graphic Design by Warunya Rujeewong
Share :