จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์อย่างชัดเจน ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณติดกับภูเขา พร้อมทั้งมีแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำปิงไหลผ่าน ทำให้พื้นที่ริมน้ำถือเป็นพื้นที่สำคัญและมีศักยภาพเพียงพอที่จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อผู้คนชาวเมืองเชียงใหม่ เช่นเดียวกับโครงการ ‘สวนน้ำปิง’ ที่เปลี่ยนพื้นที่ลานจอดรถเดิมให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำปิงแห่งใหม่ใจกลางเมือง
โครงการสวนน้ำปิงคือสวนสาธารณะริมน้ำแห่งใหม่เพื่อคนในชุมชน ออกแบบโดย JaiBaan Studio และ บริษัท สถาปนิก 49 เชียงใหม่ จำกัด (A49 เชียงใหม่) และภาคีอื่นๆ กว่า 10 ภาคีในเมืองเชียงใหม่ โดยทางบริษัท ใจบ้านสตูดิโอ ได้คุณตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร เข้ามาดูแลในส่วนของกระบวนการทำงานร่วมกันของชุมชน ร่วมกับโครงการ Chiang Mai Learning City และคุณเนม-กิตติธัช นิลสุวรรณ จากบริษัท สถาปนิก 49 เชียงใหม่ จำกัด (A49 เชียงใหม่) เข้ามาดูแลในส่วนของการพัฒนาพื้นที่และงานออกแบบ เพื่อพัฒนาพื้นที่ริมน้ำให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทุกคน ตั้งแต่การศึกษาถึงอดีตของพื้นที่เพื่อแปลงให้ออกมาเป็นพื้นที่ในอนาคตที่เหมาะสมกับทุกคน จนถึงการออกแบบพื้นที่พักผ่อน ลานกิจกรรม และสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนเปิดเส้นทางเดินเชื่อมต่อจากฝั่งแม่น้ำปิงสู่อีกด้านด้วยทางเดินความยาวตลอด 1.5 กิโลเมตร เพื่อสานสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชนเดียวกัน และธรรมชาติใกล้ชิดกันกว่าเดิม
เพื่อทำความเข้าใจบริบทเมืองและพื้นที่สาธารณะริมน้ำมากขึ้น City Cracker ชวนคุยกับคุณตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร และคุณเนม-กิตติธัช นิลสุวรรณ ในฐานะตัวแทนคนทำงาน ถึงที่มาและแนวคิดของการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำที่สามารถเป็นโครงการต้นแบบในอนาคตผ่านโครงการ ‘สวนน้ำปิง’ ของเมืองเชียงใหม่ พร้อมเรียนรู้การออกแบบผ่านประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ความต้องการของชุมชน เพื่อสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมกับทุกคนในปัจจุบัน
City Cracker: อยากให้อธิบายถึงที่มาของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำนี้จนออกมาเป็นสวนน้ำปิง
ศุภวุฒิ: ตอนปลายปี 2562 ทางบริษัท ใจบ้านสตูดิโอ กับกลุ่ม 23 เครือข่ายที่ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมในเมืองเชียงใหม่ ได้จัดทำสิ่งที่เรียกว่าธรรมนูญการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพกับเมือง หรือ Green Book ได้ดูพื้นที่สีเขียวทั้งเขตในเมือง เขตเทศบาล ทั้งคุณภาพพื้นที่และโอกาสของการพัฒนาเพื่อชี้นำการพัฒนาของเมือง จากนั้นประมาณปลายปี 63 ทางเทศบาลเข้ามาคุยกับเรากับเราว่ามีพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สวนขนาดเล็กใกล้เทศบาลติดกับแม่น้ำปิง และปรึกษาว่าจะพัฒนาพื้นที่นี้อย่างไร
โจทย์ที่เราเผชิญคือ PM 2.5 และการขาดพื้นที่สีเขียว และด้วยตัวเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นเมืองในแอ่ง ด้านซ้ายเป็นดอยสุเทพ ด้านขวาเป็นแม่น้ำปิง การจะฟื้นฟูเมืองตามวิสัยทัศน์ที่ในอนาคตเมืองต้องทำหน้าที่เชื่อมระบบนิเวศริมน้ำกับระบบนิเวศเชิงดอยเข้าด้วยกัน โดยการฟื้นฟูเมืองนั้นคือการทำงานผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ หนึ่งคืออนุรักษ์พื้นที่เชิงดอย สองคือฟื้นฟูสะพานนิเวศสำหรับเมืองชั้นใน สามคือการฟื้นฟูหมู่บ้านและพื้นที่ของอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ให้เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสี่คือสงวนและรักษาพื้นที่เกษตรกรรม ในกระบวนการออกแบบใช้การสร้างโครงข่ายผ่านการสร้าง จุด เส้น ระนาบ จุดก็คือประชาชนทุกคนในเมืองร่วมกันปลูกต้นไม้ เส้นก็คือเส้นตามริมแม่น้ำ ริมถนน ริมทางหลวง แล้วก็ระนาบผืนใหญ่คือที่ของเอกชันและรัฐ เทศบาล ชุมชน
City Cracker: มองเห็นความสำคัญอะไรของพื้นที่ ทำไมจึงสนใจและเลือกพัฒนาพื้นที่นี้
ศุภวุฒิ: ตัวพื้นที่มีขนาดไม่ใหญ่ ใกล้ตลาดต้นลำไย พอเราตั้งจุดเริ่มต้นแล้วลากรัศมีคนเดินไป 400 เมตร เราเจอสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นตลาด พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน พื้นที่พาณิชย์ขนาดใหญ่ วัดและอาคารโบราณสถาน เราเลยคิดว่าการมีพื้นที่สีเขียวตรงนี้น่าจะตอบความหลากหลายของกิจกรรมได้ ซึ่ง ณ ตอนนั้นปี 2562 ตัวแปรที่ขับเคลื่อนพื้นที่ตรงนี้ที่เคลื่อนไหวมากเลยคือ กลุ่มเชียงใหม่ดวงใจสเก็ตบอร์ด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้พื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว แต่พื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับการเล่นสเก็ตและมักจะมีปัญหากัน ทำให้เกิดการเรียกร้องพื้นที่นี้เลยเกิดเป็นแรงส่งขนาดใหญ่ คือมีความต้องการของชุมชน ประชาสังคม และกลุ่มเชียงใหม่ดวงใจสเก็ตบอร์ดอีกแรงที่ต้องการการพัฒนาสวนบริเวณตลาดต้นลำไยให้เป็นเป็นสวนแห่งใหม่ที่ตอบรับความหลากหลายของกิจกรรม
City Cracker: จากความต้องการของประชาชน ทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้ที่ต้องการพื้นที่ทำกิจกรรมอย่างเล่นสเก็ตบอร์ด ภาพตรงนี้สะท้อนออกมาให้เห็นถึงปัญหาอะไร และแก้ไขอย่างไร
ศุภวุฒิ: เราจะเห็นว่าในอดีตเส้นทางการมีพื้นที่สาธารณะมักเป็นปัญหามาก คือชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นว่าพื้นที่นี้จะทำอะไร เขาจะเห็นการพัฒนาโครงการเหล่านั้นต่อก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว และสองคือประชาชนไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของในพื้นที่สาธารณะ เวลาอะไรเสียหาย ชำรุด ทรุดโทรม หรือต้องการซ่อมแซมก็จะแจ้งให้หน่วยงานของราชการที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขดูแล ซึ่งเรารู้สึกพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่มันจะต้องสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของด้วย เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เราทำเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
เราเลยเอาแนวคิดนี้ไปคุยกับโครงการ Learning City คุยกับส่วนจัดการต่างๆ ว่าเรามีพื้นที่สวนน้ำปิงนี้ เราเล็งเห็นว่ามันน่าจะจัดกิจกรรมได้นะ เอาทรัพยากรส่วนนี้ไปเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ให้มาใช้กับพื้นที่เราแล้วก็ออกแบบพื้นที่กิจกรรมร่วมกัน ให้เขารู้สึกว่าเป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายจริงๆ วิธีการที่จะเจรจาส่วนนี้จะใช้แบบไหน ก็ต้องใช้แบบร่างให้ผู้ใช้งานของเขาว่าเรามีกิจกรรมแบบนี้รองรับ เพื่อเราต้องการการออกแบบที่มันตอบโจทย์การใช้งานในอนาคต แล้วก็ให้มันรู้สึกว่าไม่ขัดแย้ง รู้สึกว่าประชาชนได้ใช้ประโยชน์จริง
City Cracker: ดังนั้น ในการสร้างพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน และมองเห็นภาพความเป็นไปได้ของสวนในแบบเดียวกัน ทางทีมออกแบบเริ่มต้นกระบวนการยังไง
ศุภวุฒิ: เริ่มจากทำวิจัยขนาดเล็กว่าแผนงานของการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำปิงมีเส้นประวัติศาสตร์แบบไหนในอดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งกลุ่มเป้าหมายของคนที่อยู่ในย่านตลาดต้นลำไย ศาลเจ้า ตำรวจราจร โรงเรียน และเจ้าของตลาดต้นลำไย เพื่อหามุมมองในการพัฒนา ทำแบบสอบถามว่าคนในย่านตลาดต้นลำไยคิดเห็นอย่างไรกับสวนนี้ เพราะในอดีตพื้นที่นี้มันเป็นที่จอดรถเฉยๆ ก็ลองทำกิจกรรมโดยจัดเทศกาลลอยกระทง ลอยยี่เป็ง เมื่อปี 2564 ว่าคนมาใช้พื้นที่แบบไหน เริ่มทำนิทรรศการ แลกเปลี่ยนความคิดและข้อมูลให้คนเห็น ชวนคุณครูเด็กนักเรียนในโรงเรียน และชาวย่านตลาดต้นลำไยลงเรือไปด้วยกันเพื่อเข้าใจระบบนิเวศแม่น้ำเพราะโจทย์คือการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวของย่าน เพราะบริเวณพื้นที่ริมน้ำไม่มีพื้นที่สีเขียวเลย
ทางบริษัท ใจบ้านสตูดิโอ จำกัด เลยเสนอแนวความคิดเบื้องต้นให้คนเห็นภาพว่าเวลาพูดถึงพื้นที่สีเขียวริมน้ำ จะมีเรื่องราวประมาณนี้ มีท่าน้ำ มีกิจกรรม มีที่นั่ง มีพื้นที่สาธารณะสำหรับผู้สูงอายุ จากนั้นเราในฐานะบริษัท ใจบ้านสตูดิโอ จำกัด และกลุ่มวิชาชีพสถาปนิกและกลุ่มภาคประชาสังคมที่สนใจในเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว ร่วมจัดตั้งและจดทะเบียนสมาคมพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะสำหรับเมือง หรือ Greening Up Public Space ขึ้น เพื่อใช้เป็นแพล็ตฟอร์มที่เชื่อมต่อกลุ่มอื่นๆ ทั้ง เทศบาลเมืองเชียงใหม่ กรมเจ้าท่าจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเชียงใหม่ฉันจะดูแลเธอ สภาลมหายใจสีเขียว CTRD ศูนย์ล้านนาสร้างสรรค์ของสถาบันวิจัยสังคมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเข้ามาทำงานร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มของ Chiang Mai Learning City
City Cracker: จากกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีและชุมชนต่างๆ ออกมาเป็นแนวคิดหลักของสวนสาธารณะแห่งนี้ได้ว่าอย่างไร
กิตติธัช: แนวความคิดหลักเป็นข้อความง่ายๆ สามคำ คือ พักผ่อน พบเจอ พึ่งพิง โดย ‘พักผ่อน’ คือเป็นหน้าที่หลักของสวน ทำยังไงให้คนที่เข้าไปใช้งานได้รู้สึกพักผ่อนและผ่อนคลาย ‘พบเจอ’ คือเป็นการใช้สวนที่ใช้ได้ทุกวัน และเป็นพื้นที่พบเจอกันของคนในชุมชนบริเวณตลาดต้นลำไย รวมไปถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึนเพื่อการท่องเที่ยวซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมหลักของเชียงใหม่ และ ‘พึ่งพิง’ ก็คือการพยายามให้การเชื่อมต่อระหว่างสวนกับน้ำเป็นการพัฒนาระบบนิเวศริมน้ำ ทำให้เกิดการพึ่งพิงระหว่างคนกับน้ำให้อยู่ร่วมกันและเข้าใจกัน
City Cracker: ด้วยบริบทพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์และอยู่ริมแม่น้ำสายหลักของเชียงใหม่ การเชื่อมต่อพื้นที่ถือเป็นส่วนหนึ่งในโจทย์ที่ทางทีมออกแบบต้องการทำให้เกิดขึ้นจริงด้วยไหม
กิตติธัช: ใช่ครับ หลังจากเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ได้ลองใช้พื้นที่จริงจัดงานลอยกระทงเมื่อปีที่แล้ว และมีการประชาสัมพันธ์ครั้งแรกให้ประชาชนในบริเวณนั้นได้เห็นแบบครั้งแรกว่าคณะกรรมการจะปรับปรุงพื้นที่บริเวณเป็นอย่างไงบ้าง เราก็ต้องปรับพื้นที่อีกบางส่วนคือให้สวนมาอยู่ริมน้ำ แล้วให้พื้นที่กิจกรรมอยู่ในพื้นที่ของเทศบาล ข้อดีที่ตามมาคือการได้สวนริมน้ำ เพราะในเชียงใหม่มีสวนสาธารณะประมาณ 8-10 แห่ง และมีไม่กี่แห่งที่มีพื้นที่ติดริมน้ำ เลยเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้การเชื่อมต่อริมแม่น้ำเกิดขึ้นได้
ก่อนจะถึงพื้นที่สวนน้ำปิงจะมีทางเส้นหนึ่งคือเชื่อมต่อใต้สะพานเนาวรัฐ (สะพานข้ามแม่น้ำปิง) ไปบรรจบกับสวนสาธารณะอีกด้านได้ หมายความว่าถ้าเราเพิ่มแค่ 250 เมตรในที่ดินของเรามันสามารถต่อเชื่อมเส้นทั้งหมดได้ 1.5 กิโล เมตรได้ทันที โดยที่แทบไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรมาก ตรงนี้เลยนำมาสู่ว่าเราพยายามปิดจุดบอดเดิมๆ เพื่อสร้างการเชื่อมต่อใหม่ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันจนไปถึงสวนสาธารณะอีกด้านของแม่น้ำปิง
City Cracker: แล้วทางทีมนักออกแบบหยิบความเป็นธรรมชาติของน้ำ ต้นไม้มาแปลเป็นงานออกแบบในสวนได้อย่างไร
กิตติธัช: เริ่มจากการนำเส้นของสายน้ำมาลองปรับใช้ในการวางผังแม่บท เพราะโดยธรรมชาติของน้ำไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำคือถ้ามีอะไรขวางธรรมชาติน้ำ มันจะค่อยๆ เลี้ยวตัวเองออกไป เป็นเส้นโค้ง หลบไปหลบมา ทีมออกแบบคิดว่าในพื้นที่มีต้นไม้เดิมอยู่แล้ว ทีมออกแบบเลยลองเรียกว่าจินตนาการว่าถ้ามีแม่น้ำไหลผ่านจะเกิดเส้นสายอย่างไร เพราะในพื้นที่เองก็มีต้นไม้อยู่หลายต้นซึ่งทีมออกแบบมองว่าการพัฒนาระบบนิเวศริมน้ำคือจะไม่ทำลายระบบนิเวศเดิมในที่ตั้งโครงการเดิมเลย และตั้งใจเก็บต้นไม้เดิมในที่ดินให้มากที่สุด
แต่ต้นไม้ไหนที่ขัดขวางพื้นที่บางส่วนหรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมกับประเภทต้นไม้นั้นๆ เราจะล้อมต้นไม้ออกและย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ส่งผลดีขึ้นกับต้นไม้เดิมแทน ดังนั้นทีมออกแบบเลยจินตนาการว่าถ้าเราไม่ตัดต้นไม้พวกนี้เลยแล้วมีเส้นของสายน้ำพวกนี้ที่พากันหลบต้นไม้ รูปแบบพื้นที่ว่างจะออกมาเป็นยังไง ก็ลองวาดจนเกิดเป็นพื้นที่ว่างขึ้นมาที่สุดท้ายแล้วทีมออกแบบได้วางให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่พักผ่อน และพื้นที่จุดรวมคนของสวนสาธารณะ
พอทีมออกแบบได้ผังของพื้นที่ว่างสำคัญ (open space area) มาแล้ว ทีมออกแบบก็แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 กลุ่ม คือพื้นที่ด้านบนบริเวณที่ดินที่ติดกับถนน เจ้าของที่ดินคือเทศบาลเมืองเชียงใหม่ เป็นพื้นที่กิจกรรม ประกอบไปด้วยลานกิจกรรม active area คือลานสเก็ต และกีฬาเอ็กตรีมต่างๆ
ด้านล่างคือพื้นที่ที่เป็นสวนสาธารณะ มีเจ้าของที่ดินคือกรมเจ้าท่า เชียงใหม่ ออกแบบเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรม passive area มีศาลาพักผ่อนมาเป็นจุดตรงกลางเพื่อเป็นจุดรวมคน พร้อมสร้างจุดเชื่อมต่อตรงนี้ให้เป็นเหมือนที่นั่งขั้นบันได หรือ Amphiteatre สามารถนั่งเห็นวิวริมแม่น้ำ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงการเก็บต้นไม้ การสร้างพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ใหญ่ ไม่มีมุมอับ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เด็กๆ และทุกคนมาที่ใช้งาน รูปทรงของสายน้ำยังทำให้พื้นที่ไม่ถูกออกแบบด้วยรูปทรงเรขาคณิตที่มีเหลี่ยมมุม แต่เป็นรูปทรงของธรรมชาติ หรือ organic form คือเส้นของสายน้ำ ต้นไม้ เนินดิน สนามหญ้า เพื่อให้บรรยากาศและมุมมองดูเป็นธรรมชาติและสัมพันธ์ไปกับระบบนิเวศเดิม
City Cracker: ด้วยบริบทของเมืองเชียงใหม่เต็มไปด้วยทั้งภูเขาและน้ำ แบบนี้ส่งผลอย่างไรต่อแนวคิดของนักออกแบบ
ศุภวุฒิ: ในยุคปัจจุบันแบบนี้ เราเดินทางกันด้วยถนนเป็นทางสัญจรหลัก แม่น้ำจึงถูกละเลย ตรงนี้เป็นแค่มุมมองที่เราเห็นว่าแม่น้ำเป็นเพียงที่ระบายน้ำเท่านั้น โลกทัศน์การจัดการแม่น้ำของเราไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์ เราเห็นน้ำแล้วก็ป้องกันมัน ทั้งที่ปีนึงอาจจะน้ำท่วมแค่ 3-4 วัน แต่เรากลับดาดคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม กันตลิ่งไปหมด ดังนั้นความสัมพันธ์ในยุคถัดไปมันควรจะเปลี่ยน เราอยู่ในยุคที่มันขาดการเชื่อมต่อกันมากๆ แล้วก็มีการรับรู้ว่าเราจะกลับมาเชื่อมต่อกับน้ำอีกครั้งได้ยังไง และคิดว่าน่าจะเป็นบทบาทของนักออกแบบที่ต้องสร้างพื้นที่เชิงกายภาพควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่ทางสังคมให้คนค่อยๆ เข้าใจเรื่องพวกนี้ หรือว่าเห็นความสำคัญของเรื่องพวกนี้ ดังนั้นบทบาทของนักออแบบเลยเหมือนมี 2 มิติ คือเรื่องกายภาพที่ผ่านการออกแบบ กับการขับเคลื่อนทางภาคสังคมและประชาชนเพื่อทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง
กิตติธัช: การเพิ่มพื้นที่สาธารณะมีพื้นที่โล่งนั้นสร้างความรู้สึกดีแน่นอน แต่ถ้ามีเพียงแค่พื้นที่โล่งแล้วร้อน เป็นลานปูนหรือลานคอนกรีต จะเกิดเหตุการณ์ที่คนไม่ค่อยอยากไปใช้ ทีนี้เราต้องปรับทัศนคติว่ามีพื้นที่โล่งแล้วมันต้องร่มเย็น มีสนามหญ้า ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา และความเย็น ซึ่งอาจจะทำให้รูปแบบของพื้นที่โล่งหรือพื้นที่สีเขียวต้องเปลี่ยนไปด้วยร่มเงาเดิมและต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มเข้าไป พื้นที่ที่มีร่มเงาภายใต้ต้นไม้จะทำให้เราสามารถนั่งริมแม่น้ำได้ตลอดตั้งแต่ยามบ่ายถึงยามเย็น ณ ปัจจุบันส่วนใหญ่พื้นที่ริมน้ำมันจะกลายเป็นลานคอนกรีต เป็นทางเดิน เลยทำให้รูปแบบกิจกรรมของคนที่เชื่อมกับน้ำน้อยลง แต่เรามองว่าถ้าพัฒนาให้สวยงาม รื่นรมย์น่าใช้งาน สวนน้ำปิงจะกลายเป็นพื้นที่ใหม่ของการพักผ่อนแบบเก่าที่นำมาเล่าใหม่ อีกทั้งยังเป็นสถานท่องเที่ยวได้อีกอีกด้วย
City Cracker: มองอนาคตของเมืองเชียงใหม่ยังไงบ้าง ทั้งในฐานะคนที่อยู่เชียงใหม่จริงๆ และในฐานะดีไซเนอร์ที่ออกแบบเมือง
ศุภวุฒิ: ถ้าในแง่เศรษฐกิจคงไม่หนีจากเดิมมาก คงเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว แต่หลังโควิดไปแล้วเราว่าความรื่นรมย์และความหรูหรา คือการได้กลับมาใกล้ชิดธรรมชาติจะมากขึ้น ฉะนั้นในเรื่องการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชนต้องเตรียมมาทางนี้ มันก็เกิดเทรนด์การเรียนรู้แบบใหม่ รวมถึงเศรษฐกิจและความต้องการของผู้คนมันจะเปลี่ยนไป และมันจะทำให้เมืองของเราเป็นเมืองที่ไม่ใช่เมืองที่ย้อนกลับไปสู่อดีต เป็นเมืองที่พัฒนาในมิติเรื่องธรรมชาติขึ้นแทน
กิตติธัช: ภูมิลำเนาเดิมผมเป็นคนกรุงเทพฯ ย้ายมาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตอนมาที่นี่รู้สึกชอบบรรยากาศของเมืองเพราะได้เห็นดอยสุเทพทุกวัน เลยรู้สึกว่าเมืองเชียงใหม่เป็นสถานที่ที่มีเสน่ห์ที่ทุกคนอยากมาพักผ่อน ในฐานะคนที่ย้ายมาตั้งหลักฐานในเชียงใหม่แล้ว มีความเห็นว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่พักผ่อนในบริเวณเมืองเก่า หรือพื้นที่อาคารริมแม่น้ำปิงจะทำให้บรรยากาศน่าอยู่มากขึ้น และมีผลทำมห้อัตราส่วนต่อประชากรต่อพื้นที่สีเขียวมีตัวเลขที่สูงขึ้น เพื่อให้เชียงใหม่น่าอยู่มากขึ้นด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าเรามีพื้นที่สีเขียวที่มากขึ้นคงทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่าเมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่และมีพื้นที่สีเขียวไปพร้อมๆ กันได้
Photo by บริษัท สถาปนิก 49 เชียงใหม่ จำกัด (A49 เชียงใหม่)
- Pharin Opasserepadung
Writer