CITY CRACKER

Gender Diverse-City หน้าตาของเมืองเพื่อความหลากหลายทางเพศ

ยุคหนึ่งเราเชื่อว่าครอบครัว – การแต่งงานและความรักเป็นเรื่องของคนสองเพศ แต่ปัจจุบันในระดับทางการก็เริ่มมองเห็นความซับซ้อน ทั้งความซับซ้อนของความเป็นเพศที่ไม่ได้มีแค่ชายหญิง และครอบครัวที่ไม่ได้มีแค่พ่อแม่และลูก

ประเด็นเพศและเพศสถานะฟังดูเป็นเรื่องนามธรรม แต่ในความคิดเรื่องการแต่งงานและครอบครัวแบบเดิมที่มีคนสองเพศหรือ Hetero Sexual เป็นที่ตั้งนั้น ในที่สุดการแบ่งแยกด้วยเพศและปลายทางของครอบครัวที่ไม่หลากหลายนั้นย่อมสัมพันธ์กับแนวนโยบาย กับพื้นที่เมือง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคารที่มีนัยทางเพศเช่นห้องน้ำ การจัดการพื้นที่เช่นที่พักอาศัย ไปจนถึงประเด็นการไม่ยอมรับเพศหลากหลายก็อาจนำไปสู่การกีดกันและจำกัดพื้นที่ของชุมชน LGBTQ

ปัจจุบันทั่วโลกยอมรับเรื่องความหลากหลาย ทั้งความหลากหลายทางเพศและความหลากหลายของความเป็นครอบครัวแล้ว ในด้านหนึ่งนั้นภาพความหลากหลายในพื้นที่เมืองในที่สุดจึงไม่ได้หยุดแค่การประดับธงสีรุ้งหรือการเดินพาเหรด แต่ทว่าในระดับเมือง ในฐานะพื้นที่กายภาพและพื้นที่สาธารณะที่คนทุกคนดำรงอยู่ ตัวเมืองเองเมื่อมีรับเอาความคิดเรื่องความหลากหลายเข้าสู่การพัฒนา เมืองที่มองเห็นนและโอบรับความหลากหลายในที่สุด หน้าตากายภาพของเมืองนั้นๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และที่สำคัญคือพื้นที่เมืองเองนี่แหละ ที่จะเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมและขุดพรวนความหลากหลายอันหมายถึงคนทุกกลุ่มให้เติบโตอย่างแข็งแรงต่อไป

เมืองนับรวม (inclusive city) ที่ปกติเราอาจคิดถึงการนับรวมความพิการหรือคนทุกช่วงอายุ แต่ทว่าประเด็นเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศเป็นอีกประเด็นที่เมืองทั้งถูกสร้างขึ้นโดยมีเพศและความฝันหลัก คือชายหญิงและครอบครัวตามขนบเป็นที่ตั้ง ในที่สุดกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต่างต้องเผชิญความยากลำบากไม่ว่าจะเล็กน้อย เช่น การเข้าห้องน้ำ การถูกจับจ้อง ไปจนถึงเรื่องใหญ่เช่นการถูกทำร้ายร่างกายจากอคติทางเพศ (hate crime)

เพื่อเน้นย้ำความสำคัญและคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม City Cracker จึงชวนดูการออกแบบและหน้าตาของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปจากข้อคำนึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ เป็นพื้นที่กายภาพที่เรียกได้ว่า Gender-Diversity City จากระดับเรื่องพื้นฐานไปจนถึงการเป็นเมืองที่ทุกคนมีฝันถึงความเป็นครอบครัวในรูปแบบของตัวเองได้

 

Gender-neutral Toilet

พื้นที่ห้องน้ำถือเป็นพื้นที่สาธารณะพื้นฐานที่สำคัญ และห้องน้ำก็เคยเป็นพื้นที่ของการแบ่งแยก เช่นการมีห้องน้ำของคนผิวสีในสหรัฐ ในปัจจุบันห้องน้ำด้วยความที่ถูกสร้างโดยจำแนกตามสรีระชายหญิงเป็นหลัก ห้องน้ำจึงสร้างปัญหาให้กับคนที่ไม่ได้อยู่การจำแนกเพศชายหญิง การเข้าห้องน้ำของคนข้ามเพศฟังดูเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ แต่ปัญหาการเข้าห้องน้ำที่ไม่ตรงเพศนำไปสู่ความขัดแย้งและลุกลามกลายเป็นการทำร้ายร่างกาย ประเด็นเรื่องการออกแบบและสร้างห้องน้ำไร้เพศจึงเป็นอีกกระแสและการแก้ปัญหาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ทั่วโลกเริ่มหาทางออกและมีการสร้างไปจนการเลิกระบุเพศของห้องน้ำไปเลย ตัวอย่างเช่นงานออกแบบที่สหราชอาณาจักรเสนอห้องน้ำไร้เพศที่เน้นการใช้พื้นที่ส่วนกลางคืออ่างล้างหน้าร่วมกันโดยส่วนสุขานั้นก็ออกแบบเป็นห้องย่อยเป็นสัดส่วนออกไป

Anti-Hate Crime Space

แน่นอนว่าเมืองกำลังพยายามออกแบบให้ปลอดภัยมากขึ้น แต่ความปลอดภัยเพื่อทำให้เมืองโอบรับและส่งเสริมความหลากหลายทางเพศก็มีเงื่อนไขพิเศษที่ต้องคำนึง ในงานศึกษา Queering Public Space ของ The University of Westminster ประเทศอังกฤษชี้ให้เห็นว่า พื้นที่สาธารณะจำเป็นต้องคำนึงและทำหน้าที่ส่งเสริมความหลากหลาย โดยงานวิจัยเสนอว่าพื้นที่สาธารณะของเมืองที่ผ่านมาไม่ได้คำนึงถึงชุมชนคนรักเพศเดียวกัน หัวใจหนึ่งของการส่งเสริมคือการสร้างพื้นที่เพื่อป้องกันการทำร้ายโดยอคติ หรือ Hate Crime รวมไปถึงการคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน
.
งานวิจัยยกตัวอย่างประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว งานศึกษาระบุว่าด้วยอคติทางเพศ พื้นที่สาธารณะควรส่งเสริมให้คนรักเพศเดียวกันได้แสดงความรักและความสัมพันธ์ในพื้นที่สาธารณะได้ ในทางกลับกันก็เป็นการส่งเสริมให้ออกมาใช้พื้นที่สาธารณะโดยเท่าเทียมกัน โจทย์สำคัญคือการออกแบบพื้นที่ให้มีส่วนที่ทั้งมอบความเป็นส่วนตัวให้ คือกลุ่มคนรักเพศเดียวกันอาจไม่สะดวกใจในการถูกจับจ้องเช่นการเดินจับมือกัน แต่ในขณะเดียวกันด้วยมิติด้านความปลอดภัย พื้นที่สาธารณะก็ต้องมีส่วนที่เน้นการมองเห็นได้เพื่อช่วยลดการเกิดการทำร้ายกันในที่ลับตา ดังนั้นงานศึกษาเสนอการใช้ระบบแสงสว่างและพืชพรรณเพื่อสร้างจุดพรางสายตาสลับกับพื้นที่ที่มองเห็นได้ ไปจนถึงการออกแบบเล็กๆ เช่นการให้แสงสว่างที่อ่อนนุ่มเพื่อสร้างความอบอุ่นมั่นใจ หรือการที่เมืองมี pocket park เพื่อเป็นพื้นที่หย่อนใจที่มีความเป็นส่วนตัวกว่าถนนสายหลักหรือสวนขนาดใหญ่

Inclusive to all Communities

ประเด็นเรื่องเพศสัมพันธ์กับการมองโลก และแน่นอนว่าย่อมสัมพันธ์กับการออกแบบพื้นที่เมือง ในงานศึกษาชื่อ Planning as a Heterosexist Project ของ Michael Frisch ในปี 2002 เสนอว่าการออกแบบผังเมืองนั้นก็ถูกกำกับโดยเพศและแนวคิดเรื่องรักต่างเพศ เช่น การวางผังเพื่อพื้นที่ชุมชน การวางสาธารณูปโภค การกระจายทรัพยากรและจัดการพื้นที่ล้วนสัมพันธ์กับแนวคิดของรักต่างเพศ เช่นประเด็นเรื่องครอบครัว- พื้นที่ครัวเรือน พื้นที่ส่วนตัว- พื้นที่สาธารณะ ชุมชนที่ดีเช่นย่านพักอาศัยมักออกแบบเพื่อครอบครัวรักต่างเพศหรือครอบครัวตามขนบเป็นหลัก ในแง่นี้การวางผังเมืองรวมถึงการจัดสรรพื้นที่เช่นที่พักอาศัย ขนส่งมวลชน ย่านกลางเมืองอาจต้องคำนึงถึงครอบครัวทุกรูปแบบ การแยกแยะระหว่างชุมชนครอบครัวทั่วไปและชุมชนเกย์ก็อาจจะคลายตัวลง ในแต่ละชุมชนมีความหลากหลายในตัวเองมากขึ้น
New Facility for New Type of Family
ตัวอย่างของชุมชนที่คำนึงถึงคนทุกเพศและครอบครัวทุกแบบ นอกจากจะอยู่ในระดับของการมองภาพครอบครัวที่จะมาอยู่อาศัยอย่างหลากหลายไม่มีการแบ่งแยกแล้ว ในระดับสาธารณูปโภคก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญ โดยทั่วไปสาธารณูปโภคเช่นบริการด้านสุขภาพและการดูแลเด็กอาจคำนึงถึงครอบครัวแบบดั้งเดิมเป็นหลัก แต่ในบางมิติเช่นพื้นที่หรือบริการสำคัญผู้สูงอายุที่เป็นครอบครัวรักเพศเดียวกันก็มีความต้องการที่พิเศษออกไป เช่นการอยู่เพียงลำพัง หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่นพื้นที่สันทนาการที่แต่เดิมอาจสัมพันธ์กับมิติทางเพศเช่นการลงทุนในสนามกีฬาที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของผู้ชายก็อาจจะต้องมีความหลากหลายมากขึ้น

New Facility for New Type of Family

ตัวอย่างของชุมชนที่คำนึงถึงคนทุกเพศและครอบครัวทุกแบบ นอกจากจะอยู่ในระดับของการมองภาพครอบครัวที่จะมาอยู่อาศัยอย่างหลากหลายไม่มีการแบ่งแยกแล้ว ในระดับสาธารณูปโภคก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญ โดยทั่วไปสาธารณูปโภคเช่นบริการด้านสุขภาพและการดูแลเด็กอาจคำนึงถึงครอบครัวแบบดั้งเดิมเป็นหลัก แต่ในบางมิติเช่นพื้นที่หรือบริการสำคัญผู้สูงอายุที่เป็นครอบครัวรักเพศเดียวกันก็มีความต้องการที่พิเศษออกไป เช่นการอยู่เพียงลำพัง หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ เช่นพื้นที่สันทนาการที่แต่เดิมอาจสัมพันธ์กับมิติทางเพศเช่นการลงทุนในสนามกีฬาที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของผู้ชายก็อาจจะต้องมีความหลากหลายมากขึ้น

Visibility of Queer Heritage

จากประเด็นเรื่องชุมชนที่คลายความเฉพาะลง- คือในชุมชนเกย์ก็เป็นมิตรกับรักต่างเพศ การคลายตัวลงนี้ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธการปรากฏตัวของชุมชน LGBTQ ด้วยความที่สังคมเองก็ยังคงมีอคติ และกลุ่มเพศหลากหลายก็เป็นเพศที่ถูกสังคมกดทับอยู่ ดังนั้นการสร้างความภูมิใจ ส่งเสริมประวัติศาสตร์และตัวตนผ่านพื้นที่สาธารณะจึงยังคงเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความภูมิใจของกลุ่มคนเพศหลากหลาย ในหลายเมืองที่เป็นพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่การต่อสู้ด้านความเท่าเทียมทางเพศมีการออกแบบและสร้างพื้นที่สาธารณธะเน้นย้ำความสำคัญของกลุ่มเพศหลากหลาย มีการออกแบบสถานีรถใต้ดินเพื่อร่วมจดจำประวัติศาสตร์เฉพาะ ไปจนถึงการตกแต่งเล็กๆ เล่นงานศิลปะที่พูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การประดับธงก็ล้วนร่วมส่งเสริมความหลากหลายทางเพศได้

Inclusive and Diversity of Dream

นักสังคมวิทยาเสนอว่าเมืองเป็นพื้นที่ของความฝัน ถ้าเราย้อนดูความฝัน ความฝันของเราถูกกำกับด้วยความรักของคนสองเพศ เราคิดถึงการเติบโต แต่งงานและมีลูก บริการไม่ว่าจะบริการสาธารณะหรือสินค้าและบริการอื่นๆ ก็ล้วนสัมพันธ์และสะท้อนภาพความฝันอันจำกัดไม่ว่าจะเป็นภาพบ้านเดี่ยวในฝัน ประกันชีวิตและสุขภาพ หุ่นหรือภาพโฆษณาในร้านเครื่องแต่งกาย ในหลายเมืองที่เริ่มมองเห็นความฝันที่แตกต่างและกลุม่คนที่แตกต่างออกไปนี้เราก็จะเริ่มเห็นภาพครอบครัว ชีวิตรวมถึงร่างกายที่หลากหลายผ่านสื่อและพื้นที่กายภาพในชีวิตประจำวัน เราเริ่มเห็นภาพครอบครัวคนรักเพศเดียวกัน ครอบครัวเดี่ยว หรือคนโสดที่มีความสุขเป็นความฝันของชีวิตใหม่ๆ ได้ในเมืองของความหลากหลาย
Share :