CITY CRACKER

รู้จักย่าน ‘อารีย์’ จากย่านที่โตเพราะถนน สู่ย่านระดับโลกเพราะความเอื้ออารี

เวลาเราพูดคำว่า ‘ย่าน’ หรือ neighborhood เราจะนึกถึงพื้นที่ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีความเป็นเพื่อนบ้านในขณะเดียวกันก็อาจจะมีกิจการที่เกี่ยวเนื่องกัน ย่านๆ หนึ่งมักจะเชื่อมโยงกันด้วยการเดินถึงกัน และถ้าเราพูดถึงย่านที่น่ารักๆ ในกรุงเทพฯ นอกจากย่านเก่าแก่แล้ว วัยรุ่นเองก็อาจจะนึกถึงย่านอารีย์เป็นอันดับต้นๆ ที่เราทั้งชื่นชอบและมักไปเดินเล่นเยี่ยมเยียน

อารีย์มีเสน่ห์ในหลายระดับ พอเราได้ยินว่าทางไทม์เอาท์มีการยกย่องย่านที่เจ๋งที่สุด แล้วประกาศให้อารีย์ติดอันดับด้วย เราก็รู้สึกเห็นด้วยกับการติดอันดับดังกล่าว อารีย์ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ย่านของกรุงเทพฯ ที่คนแทบทุกวัยจะนึกถึงได้ เคยไปเยี่ยมหรือไปเยี่ยมเยียนบ่อยๆ เป็นย่านที่ทั้งทันสมัย แต่ก็มีกลิ่นอายความเก่าแก่บางอย่างจากยุคที่ผ่านพ้นมาไม่นานทั้งในแง่ของบ้านเรือน ร้านค้าและร้านอาหาร เป็นพื้นที่ที่มีความผสมผสานของความเก่าและความใหม่ ระหว่างเป็นความมรดกตกทอดและนวัตกรรม แถมยังเดินทางง่าย มีรถไฟฟ้า อาหารอร่อย มีสิ่งต่างๆ ให้ตื่นตาตื่นใจได้เสมอ

ในโอกาสที่อารีย์ได้ขึ้นลิสต์ย่านสุดเจ๋งหนึ่งใน 49 ย่าน City Cracker จึงชวนไปย้อนดู ‘ย่านอารีย์’ ในฐานะย่านประวัติศาสตร์ที่ก่อตัวและเติบโตขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ไกลนัก คือเป็นย่านที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการตัดถนน การตั้งสถานที่ราชการในช่วงหลังรัชกาลที่ 6 จากย่านพักอาศัยของข้าราชการและชนชั้นสูง สู่การปรับเปลี่ยนสู่พื้นที่ธุรกิจที่อุดมไปด้วยทั้งธุรกิจที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงเช่นร้านอาหารเก่าแก่ สู่การเป็นย่านที่ได้รับยกย่องจากความสามารถในการปรับตัว และการเป็นพื้นที่แห่งความอารีระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ที่ร่วมกันฟันฝ่าช่วงโรคระบาดมาได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์และความเอื้ออารีสมชื่อย่าน

ddproperty.com

 

อารีย์ กับการขยายตัวของถนน

ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ของย่านอารีย์ การเกิดขึ้นของย่านอารีย์สัมพันธ์กับห้วงเวลาในประวัติศาสตร์สองช่วงคือ ช่วงรัชกาลที่ 5 และ 6 กับอีกช่วงคือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อมีการตัดถนนพหลโยธิน ในช่วงรัชกาลที่ 5 และ 6 นั้น กรุงเทพฯ ทิศเหนือมีการขยายตัวจากการสร้างพระราชวังดุสิตและการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-อยุธยาและกรุงเทพ-นครชัยศรี ในตอนนั้นบริเวณริมทางรถไฟแถวถนนนครไชยศรี บางซื่อ จตุจักรและสามเสนในจึงเกิดการพัฒนามีหน่วยงานราชการเกิดขึ้น เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงตั้งหน่วยงานทางการทหารจำนวนมากบริเวณเดียวกันคือทิศตะวันตกของสามเสนใน ซึ่งก็คืออารีย์ในปัจจุบัน

ในรัชสมัยดังกล่าวแม้ว่าพื้นที่แถบตอนเหนือของพระราชวังดุสิตและสามเสนในจะมีหน่วยงานราชการจำนวนมาก แต่ว่าย่านอารีย์ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นทุ่งนา พื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ ด้วยว่าในช่วงนั้นความเจริญยังคงกระจายไปตามทางรถไฟอยู่ จนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ถนนและรถยนต์เข้ามามีบทบาทสำคัญ เมื่อมีการตัด ‘ถนนประชาธิปัตย์’ ในปี 2479 เป็นถนนเชื่อมไปดอนเมือง และยกระดับเป็นทางหลวงเชื่อมกรุงเทพ-ลพบุรี ต่อมาในปี 2493 จอมพล ป. จึงได้เปลี่ยนชื่อถนนหลักนี้เป็นถนนพหลโยธินตามสกุลของพระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การมาถึงของความเจริญผ่านถนนทำให้พื้นที่สองข้างทางของถนนพหลโยธินกลายเป็นพื้นที่สำคัญของกรุงเทพฯ

propertyinsight.co

 

พื้นที่เมืองราชการ บ้านของข้าราชการทหารและชนชั้นสูง

ในบทความของนิตยสารศิลปวัฒนธรรมกล่าวถึงการก่อตัวขึ้นของย่านอารีย์ว่าน่าจะก่อตัวขึ้นในช่วงก่อนทศวรรษ 2500 คือราวปี 2480-2490 ในช่วงมีแผนที่เก่าที่แสดงให้เห็นผังของย่านอารีย์อันประกอบด้วยถนนพหลโนธิน ซอยราชครู และซอยอารีย์ มีลักษณะผังเป็นบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่ และมีตึกแถวปรากฏขึ้นริมถนนแล้ว โดยชื่ออารีย์นั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่ามาจากไหน

สำหรับย่านอารีย์ในระยะแรก คือช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความที่เป็นย่านที่มีที่ตั้งของหน่วยงานราชการและหน่วยงานของกองทัพมาตั้งแต่ก่อนแล้ว ระยะต่อมาหลังจากย่านเติบโตขึ้นจากถนน บริเวณอารีย์ก็มีการตั้งสถานที่ราชการเพิ่มขึ้นเช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ ตลอดจนหน่วยงานด้านการทหารเช่นกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนไปจนถึงสถานีโทรทัศน์กองทัพบก

ในช่วงหลัง 2490 นี้ย่านอารีย์โดยเฉพาะบริเวณซอยราชครูจึงเป็นที่อยู่ของข้าราชการและกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อการบริหารราชการ ย่านอารีย์นอกจากจะเต็มไปด้วยหน่วยงานราชการอันเคร่งขรึมแล้ว ก็ยังอุดมไปด้วยบ้านพักอาศัยที่เป็นบ้านเดี่ยว มีรั้วรอบ และมักมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เป็นบ้านปูน มีสวนหย่อม สนามหญ้า

จากย่านพักอาศัย สู่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและร้านอาหารจากหลายยุคสมัย

ย่านอารีย์ถือเป็นย่านที่มีความผสมผสานมาก ด้วยความที่เดิมเป็นที่ย่านพักอาศัยที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่เมื่อหน่วยงานราชการขยายตัวขึ้น เมืองก็ขยายตัวจนอารีย์กลายเป็นย่านกลางเมืองใหม่ เราจะเห็นว่าอารีย์จึงเต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งบ้านเก่าแก่ที่ยังกลิ่นอายความมั่งคั่ง มีตลาดนัดหลังกระทรวงที่ตอบโจทย์คนทำงานจำนวนมาก ไปจนถึงการเกิดขึ้นของอาคารสำนักงานริมถนนใหญ่ที่อยู่ร่วมกันบนย่านเดียวกันได้อย่างมีสีสัน

จุดเด่นของอารีย์ในปัจจุบันคือการเป็นแหล่งกินดื่มยอดนิยม ความพิเศษของอารีย์คือการอยู่ร่วมกันของกิจการร้านอาหารที่มีทั้งใหม่ล่าสุด บางส่วนของกิจการร้านอาหารในอารีย์มีทั้งการเปิดบ้านเป็นร้านอาหาร ต่อมาเมื่อย่านเริ่มคึกคักก็เริ่มมีการรับช่วงและปรับปรุงบ้านเก่าให้กลายเป็นกิจการใหม่ๆ ทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ ทำให้อารีย์ประกอบไปด้วยกิจการร้านอาหารทั้งเก่าและใหม่ โดยมีบริการตามความต้องการตลอดทั้งวัน ตั้งแต่อาหารทั่วไป ร้านอาหารเก่าแก่ คาเฟ่ ร้านกินดื่มทั้งบาร์ อิซากายะ เรียกได้ว่ามีทุกเชื้อชาติ บางส่วนเช่นร้านอาหารอย่างเก่าก่อนมีการนำเอาบรรยากาศของชุมชนของประวัติศาสตร์เข้าไปผนวกรวมในเมนูอาหาร

 

Creative District ย่านสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่จาก TCDC

ย่านอารีย์เป็นย่านที่กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งหลังช่วงปี 2540 จากการเป็นย่านที่คนรุ่นใหม่เข้าไปสร้างเป็นกลุ่มธุรกิจและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยิ่งหลังจากการเปิดบริการของรถไฟฟ้า ย่านอารีย์ในฐานะย่านพักอาศัยที่อยู่ติดรถไฟฟ้า อยู่ใกล้เมืองไม่ว่าจะเป็นฝั่งสยามหรืออนุสาวรีย์ ทำให้อารีย์กลายเป็นพื้นที่ที่นักสร้างสรรค์และกิจการใหม่ๆ ให้ความสนใจ

ความพิเศษของอารีย์คือความเป็นย่านที่มีชุมชนและบริบทที่แข็งแรง กลุ่มกิจการที่ไปก่อตัวขึ้นในพื้นที่ล้วนมีการปรับตัวเข้ากับชุมชนและบริบทโดยรอบ ล่าสุด หลังจากทาง TCDC หรือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ย้ายไปเจริญกรุงและเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับย่าน ในราวปี 2563 ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ก็กลายเป็นย่านกลยุทธ์ในการพัฒนาเป็นย่านสร้างสรรค์ โดยจากข้อมูพบว่าความพิเศษของอารีย์คือการเป็นย่านที่ผสมผสานกันระหว่างย่านพักอาศัยและธุรกิจอื่นๆ โดยมี 70% ของการใช้ที่ดินใช้ไปเพื่อการพักอาศัย

จุดแข็งของอารีย์จากข้อมูลของ TCDC ในฐานะย่านสร้างสรรค์สัมพันธ์กับหลายด้าน แน่นอนว่ากลุ่มกิจการอันดับต้นๆ ของอารีย์คือกิจการร้านอาหาร โดยนอกจากกิจการกลุ่มร้านอาหารแล้ว อารีย์ยังเต็มไปด้วยกิจการสร้างสรรค์ทั้งอุตสาหกรรมดนตรี สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรม อุตสาหกรรมแฟชั่น บางส่วนของย่านอารีย์-ประดิพัทธ์มีลักษณะเป็นชุมชนของนักออกแบบที่แม้ว่าจะใช้พื้นที่เป็นสตูดิโอเล็กๆ แต่ก็มีความเป็นชุมชนของกลุ่มนักออกแบบและนักสร้างสรรค์เช่นที่โครงการ space 33 นอกจากงานออกแบบโดยตรงแล้วเราจะเห็นว่าแม้แต่กิจการร้านอาหารอันเป็นกลุ่มธุรกิจหลักของอารีย์ ตัวกิจการร้านอาหารก็สัมพันธ์กับศิลปะแขนงอื่นๆ เช่นการสร้างสรรค์อาหารใหม่ๆ ไปจนถึงงานออกแบบที่มีตั้งแต่การสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นใหม่ ไปจนถึงการรีโนเวตอาคารเก่าที่เป็นทั้งการอนุรักษ์และการเปิดการใช้งานใหม่ๆ

themomentum.co

 

49 ย่านที่ดีที่สุดในโลก ความอารีที่มีดีต่อใจ

ความพิเศษจริงๆ ของอารีย์คือบริบทเฉพาะของความเป็นย่านเก่าที่ผสมกันระหว่างที่พักอาศัยและกิจการเก่าใหม่ ในข้อสังเกตหรือคำชื่นชมในการยกย่องอารีย์ของนิตยสาร TimeOut ยกย่องอารีย์ไว้ได้อย่างน่าอบอุ่นใจ คือความเจ๋งของย่านในปีนี้นิตยสารจะคำนึงเรื่องการปรับและฟื้นตัวในสถานการณ์วิกฤติคือโรคระบาด แน่นอนว่าอารีย์รุ่มรวยไปด้วยความสร้างสรรค์ แต่ไทม์เอาท์ชี้ให้เห็นว่าอารีย์เป็นย่านที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และใช้ความเป็นชุมชนในการเกื้อกูลและพาคนในชุมชนผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาดไปได้

ความสร้างสรรค์ และความเป็นชุมชนดูจะเป็นหัวใจหลักของอารีย์ ในช่วงที่เกิดโรคระบาด อารีย์เป็นย่านที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงกิจการของตัวเองในการดูแลผู้คน รวมถึงรักษากิจการของตัวเองไว้เพื่อตอบความต้องการเฉพาะ ทางสื่อพูดถึงการก่อตั้งชุมชนออนไลน์ของอารีย์ การปรับตัวของกลุ่มกิจการ การมีระบบเดลิเวอรี่จัดส่งและจับคู่ความต้องการเพื่อนำส่งสิ่งของ อาหารและน้ำดื่มที่จำเป็นเข้าไปยังครัวเรือนและคนที่ต้องการ ทั้งยังเน้นการปรับตัวของธุรกิจเช่นร้านอาหารที่ทั้งรักษากิจการของตัวเองไว้ได้แล้วยังฟังก์ชันตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน

คำอธิบายที่ฟังแล้วเห็นภาพอารีย์คือ อารีย์เป็นย่านที่ประกอบไปด้วยความอาทร โดยเฉพาะความอาทรในความแตกต่างของช่วงวัย เป็นถนน เป็นย่านที่เราจะเห็นคนแก่ เห็นร้านแบบดั้งเดิม ที่อยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีมิตรจิตรมิตรใจ โดยในห้วงวิกฤตินั้น คนทุกช่วงวัยในย่านก็ร่วมแรงร่วมใจ ดูแลกันจนผ่านพ้นจุดที่ยากลำบากที่สุดมาได้

 

ย่านที่เดินได้-บ้าง ไม่ได้บ้าง

หัวใจอย่างหนึ่งของความเป็นย่านคือการเดิน การเดินทางในย่านคือการเดินเตร่ๆ จากจุดหนึ่งไปอีกจุด และระหว่างทางของเดินนี้แหละจะนำไปสู่การเข้าถึงกิจการและความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจซึ่งต่างจากการเดินทางด้วยรถ อารีย์เป็นหนึ่งในไม่กี่ย่านที่เราจะนึกถึงในฐานะย่านที่เราเดินได้ แน่นอนว่าอารีย์ได้รับคะแนนย่านเดินได้เป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ คือมีคะแนนจาก Good Walk Score ของ UDDC สูงถึง 72 จาก 100 คะแนน แน่นอนว่าเรานึกถึงอารีย์ เรานึกถึงการเดิน จากปากซอยไปจนถึงแยกย่อยต่างๆ

แม้ว่าอารีย์จะได้รับการขนานนามและนึกถึงในย่านที่เราต้องไปเดิน เป็นย่านที่ร่มรื่นและมีทางเท้าต่อเนื่องและดีพอสมควรเพียงพอที่จะเดินได้ แต่สำหรับแฟนคลับของย่านอารีย์เราก็อาจจะพบว่า ทั้งอารีย์นั้นก็ยังไม่ค่อยจะเดินได้โดยตลอด บางส่วนเช่นแถวๆ อารีย์สัมพันธ์ แถมซอยราชครูแม้ว่าจะอุดมไปด้วยร้านอาหารและกิจการระดับยอดเยี่ยม แต่หลายช่วงกลับไม่มีทางเท้า การเดินจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดต้องลงไปเดินบนถนน ซึ่งก็หวังว่าอารีย์จะสามารถเดินได้สะดวกขึ้นเรื่อยๆ เพราะในฐานะคนเมืองเอง อารีย์ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ที่เราจะนึกถึงในฐานะพื้นที่เดินเล่นในระดับย่าน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.silpa-mag.com/history/article_54432

https://bangkokdesignweek.com/guide/103250

https://hr.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/Ari-Pradipat

Share :