CITY CRACKER

กรุงโซลยุค 80 ผ่านซีรีส์ Reply 1988 สะท้อนวิถีชีวิตและสังคมผ่านสถาปัตย์และบริบทเมือง

เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้อำนาจอ่อนหรือ soft power เผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศออกมาแก่สายตาชาวโลกอย่างชัดเจน ทั้ง เพลง ภาพยนตร์ วัฒนธรรมการแต่งกาย รวมไปถึงซี่รีส์ชื่อดังอย่าง Reply 1988, 1994 และ 1997 ที่ทำให้เห็นการพัฒนาเมืองและวิถีชีวิตของชาวเกาหลีใต้ในช่วงยุคนั้นอย่างชัดเจน

สำหรับ Reply 1988 ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2015 เล่าเรื่องราววิถีชีวิตของเกาหลีใต้ช่วงปลายยุค 80 ที่ยังไม่มีแม้กระทั่งโทรศัพท์ คาบเกี่ยวถึงช่วงต้น 90 เล่าผ่านชีวิตของตัวละครหลักที่อาศัยอยู่ในซอยเดียวกันของซังมุนดง แถบทางเหนือของกรุงโซล โดยเรื่องราวได้สะท้อนถึงวิถีชีวิตในแต่ละวัน และความสัมพันธ์ของชุมชน นอกจากนั้นซีรีส์เรื่อง Reply 1988 ยังสะท้อนถึงบริบทพื้นที่เมือง ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่เมืองและวิถีชีวิตผู้คนที่เริ่มเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ในโอกาสที่ Reply 1988 ซีรีส์ชื่อดังยอดฮิตตลอดกาลของแดนกิมจิกำลังจะลาจอ Netflix ภายในสิ้นเดือนนี้ City Cracker ชวนย้อนรอยซีรีส์ ดูสถาปัตยกรรมของบ้าน ชุมชน และการพัฒนาเมืองของประเทศเกาหลีใต้ช่วงยุคสมัย 1980-1990 กัน

สถาปัตยกรรม ‘บันจิฮะ’ หรือบ้านกึ่งใต้ถุน

บ้านเกาหลีทั่วไปในช่วง 1980 ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว สร้างด้วยคอนกรีตหรืออิฐที่มีผนังก่ออิฐฉาบปูนขนาดใหญ่ จากเนื้อเรื่องบ้านของคิม จองฮวานเป็นบ้านที่เราได้เห็นมากเกือบที่สุด โดยมีครอบครัวซอนอาศัยอยู่ชั้นล่างที่ในซีรี่ส์มักเรียกว่า ‘บ้านกึ่งใต้ถุน’

บ้านกึ่งใต้ถุนหรือ ‘บันจิฮะ’ ที่ครอบครัวของซองด็อกซอนอาศัยอยู่นั้นมีลักษณะเล็กและแคบ พื้นที่ไม่แบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน เป็นห้องนั่งเล่นในเวลากลางวัน ห้องทานข้าวในเวลาเย็นและกลายมาเป็นห้องนอนในกลางคืน สร้างขึ้นด้วยคอนกรีต ไม่มีหน้าต่างที่เห็นแสงอาทิตย์รวมถึงลมที่พัดเข้ามาในตัวบ้านได้ จากซีรี่ส์เรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นถึงสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างตัวละครทั้ง 2 ที่อาศัยในบริบทพื้นที่เดียวกัน

เกาหลีใต้เริ่มมีแนวคิดเรื่องกึ่งห้องใต้ดินหรือบันจิฮะขึ้น เป็นผลมาจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างประเทศเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ โดยในปี 1970 เกาหลีใต้กำหนดให้อาคารอพาร์ตเมนต์แนวราบที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดต้องสร้างชั้นใต้ดินเพิ่มด้วย เพื่อใช้เป็นบังเกอร์ระหว่างเหตุฉุกเฉินระดับชาติ โดยในช่วงปีแรกๆ พื้นที่บ้านกึ่งใต้ถุนเหล่านี้ถูกห้ามไม่ให้ให้เช่าเพื่ออยู่อาศัย แต่ในช่วง 1980 ช่วงเดียวกับเซ็ทติ้งของซีรี่ส์นั้น เกาหลีใต้กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านที่อยู่อาศัยจึงทำให้รัฐบาลออกกฏหมายเพื่อปรับให้พื้นที่บันจิฮะเหล่านี้สามารถกลายเป็นที่อยู่อาศัยได้

olympics.ballparks.com

โอลิมปิก 1988 และการพัฒนาโครงสร้างสาธารณะ

ฉากแรกของซีรีส์เปิดมาในช่วงการเตรียมการจัดงานโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ โดยมีซองด็อกซอนเข้าร่วมถือป้ายเดินขบวนในครั้งนั้น เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ทางผู้จัดและผู้กำกับแอบหยอดเพื่อเป็นกิมมิกไว้ในซีรีส์

การปรับพื้นที่เมืองเพื่อเตรียมจัดงานโอลิมปิกปี 1988 เริ่มต้นขึ้นเมื่อซ็อนดูฮวัน (Chun Doo-Hwan) ประธานาธิบดีเผด็จการของเกาหลีใต้ มองว่าโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นวิธีแสดงให้โลกเห็นว่าเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศทันสมัยในสายตาประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก จึงออกมาตรการปรับพื้นที่เมือง ทำให้ผู้อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียงที่ยากจน ถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับการก่อสร้างอาคารใหม่อื่นๆ เกิดการรื้อถอนบ้านเรือนจำนวนกว่า 48,000 หลัง และประชาชนกว่า 720,000 คนต้องอพยพไปยังส่วนอื่นๆ ของเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการ ‘purification campaign’ ออกมาใช้เพื่อจัดการเด็กที่ไม่มีผู้ดูแล คนพิการ คนขอทาน คนจรจัด และผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมืองอีกกว่า 16,000 คน ออกจากท้องถนนในเมือง

นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังมีการสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่และพื้นที่สาธารณะต่างๆ เพื่อรองรับงานโอลิมปิก 1988 อีกมากมาย ทั้งสนามกีฬา สะพานโซล สวนโอลิมปิกปาร์ก รวมถึงพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะใต้ดินและการสื่อสาร อันเป็นรากฐานของผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน

วัฒนธรรมการเรียนหนักกับ ‘ห้องอ่านหนังสือสาธารณะ’

อย่างที่ทราบกันว่าเกาหลีใต้เองก็เป็นประเทศที่เรียนหนักเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สำหรับช่วงปี 1980 นั้นแนวคิดการเรียนต่อระดับวิทยาลัยยังเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ปกครองมักเชื่อว่าการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเลื่อนชนชั้นได้ แนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นผ่านพี่ชายของจองฮวานที่พยายามสอบเข้าถึง 7 ครั้ง และซองโบราที่มักได้รับการพูดถึงเสมอเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโซลได้

ดังนั้น นอกจากบ้านของแต่ละคน ร้านอาหาร และโรงเรียน อีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะที่เด็กๆ มักจะไปกันคือห้องอ่านหนังสือสาธารณะที่มักตั้งอยู่ในละแวกใกล้บ้าน ความสำคัญของห้องอ่านหนังสือคือเป็นพื้นที่ที่ใช้สำหรับจับจองพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือทั้งเตรียมสอบในชั้นเรียนและเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ภายในแบ่งออกเป็นพื้นที่โต๊ะสำหรับหนึ่งคน แบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน เพื่อสร้างบรรยากาสและสมาธิในการอ่านหนังสือ รวมถึงเปิดบริการจนเลยเที่ยงคืนเพื่อให้สามารถใช้เวลาอ่านหนังสือได้อย่างเต็มที่

วิถีชีวิตของเพื่อนบ้านในซอยเดียวกัน

เนื่องจากเรื่องราวของซีรีส์ที่ตัวละครหลักทั้งหมดอาศัยอยู่ในซอยเดียวกัน รั้วบ้านติดกัน และเรียนโรงเรียนในละแวกใกล้เคียงกับย่านของตน ทำให้บริบทพื้นที่รูปแบบนี้เอื้อให้เกิดความสนิทสนทกันมากกว่าพื้นที่เมืองใหญ่ในปัจจุบัน แม้ว่าเรื่องราวของซี่รี่ส์เรื่องนี้ตั้งอยู่ที่เมืองโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ก็ตาม โดยวิถีชีวิตที่สะท้อนผ่านซีรี่ส์เรื่องนี้อย่างชัดเจนคือเกิดการพึ่งพาอาศัย สร้างความกลมเกลียวและสนิทสนม โดยความสัมพันธ์นี้ไม่ได้เกิดเพียงแค่กลุ่มซองด็อกซอนและเพื่อนๆ แต่รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ด้วย ซึ่งเห็นได้จากหลายๆ ฉาก ทั้งการแบ่งปันอาหาร ยืมข้าวของ หรือจะการตั้งแคร่หน้าบ้านเพื่อพูดคุย หรือทักทายกันภายในซอยทั้งก่อนและหลังกลับจากทำงาน

Pop culture ของเกาหลีใต้ 1980-1990

นอกจากนี้หลายๆ ฉากของซีรี่ส์ยังแสดงให้เห็นถึงการหยิบยืมวัฒนธรรมป๊อปที่เริ่มเข้ามา แม้ในสมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ตาม ทั้งมุกล้อภาษาต่างประเทศ การพูดถึงเพลง และหนังต่างๆ รวมไปถึงแฟชั่นการแต่งกายอย่างรองเท้าแอร์ จอร์แดน ของคิม จองฮวาน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากกระแสแฟชั่นของเกาหลีใต้ที่ในช่วง 1980 นั้นส่วนใหญ่เกิดจากการหยิบยืมวัฒนธรรมและแฟชั่นมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น ทั้งการแต่งกายที่นิยมการใส่เดนิมยีนส์ เสื้อยืด และจัมเปอร์ เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่เห็นได้ตามท้องถนนของเกาหลี ในขณะเดียวกันกระแสจากฝั่งตะวันตกก็เริ่มเข้ามาสู่ประเทศเกาหลีเหมือนกัน ทั้งข้าวของเครื่องใช้ แบรนด์รองเท้า เสื้อผ้า รวมไปถึงหนังและเพลง

หลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงปี 1988-1992 ของเกาหลีใต้ถูกเรียกว่าเป็นช่วง ‘the beginning of freedom expression’ คือเป็นยุคที่กระแสการต่อต้านรัฐบาลทหาร และเรียกร้องถึงประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในซีรี่ส์เองก็ได้มีการใส่บทบาทให้แก่ซองโบราที่ออกไปร่วมประท้วงกับกลุ่มนักศึกษาด้วยเช่นกัน จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้อำนาจในการควบคุมสื่อของรัฐบาลลดถอย รัฐบาลในยุคนั้นจึงสร้างแผน ‘วัฒนธรรมเพื่อทุกคน’ ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่และโปรโมตวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี รวมถึงส่งเสริมงานศิลปะและความบันเทิงต่างๆ จนเกิดมาเป็นกระแส K-pop ในปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูลจาก

kultscene.com

re-thinkingthefuture.com

edgeeffects.net

jstor.org

adb.org

somyung14.wordpress.com

koreatimes.co.kr

olympics.com

asiahousearts.org

 

Illustration by Prapawit Intun

Share :