เราในฐานะคนไทย เราก็จะรู้สึกว่าความร้อนเป็นเรื่องธรรมดา เมืองมันก็ร้อนอยู่แล้ว
แต่ว่า ‘เมือง’ ที่ร้อนขึ้น อาจจะไม่ได้เป็นความร้อนตามภูมิอากาศอย่างที่เราต้องปรับตัว แต่เมืองนั้นร้อนขึ้นจากภาวะที่เรียกว่า Urban Heat Island Effect คือตึกสูงและวัสดุต่างๆ ของเมืองเช่นคอนกรีต เหล็ก ถนนหนทางที่ไม่ได้รับการออกแบบโดยคิดเผื่อเรื่องอุณหภูมิ ร่วมกันกักความร้อนไว้ ตึกสูงที่สร้างจุดอับและสะท้อนแสงแดดไปมา แถมต้นไม้ก็น้อย พื้นที่สีเขียวที่น้อยและมีทีท่าจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ร้อน และอบอ้าวไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย
วิธีแก้ไข้เบื้องต้นเมื่อเมืองร้อนจนไม่มีทางเลือก ในวันที่ร้อนมากๆ ถ้าเลือกได้เราก็อยู่บ้าน เปิดแอร์ ห้างร้านและออฟฟิศก็ต้องเปิดแอร์ แน่นอนว่าเมื่อเมืองพึ่งพาพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น พื้นที่ในอาคารเย็นลง กลับกันความร้อนจากระบบทำความเย็นทำให้เมืองร้อนขึ้น รายจ่ายในเมืองก็สูงขึ้น แถมคาร์บอนฟุตปริ้นต์ก็เพิ่มขึ้นอีก มีราคาทางอ้อมที่ต้องจ่ายสูงขึ้นอีก
ทั้งหมดนี้เราก็จะเริ่มเห็นความร้อน เมืองที่ร้อนขึ้นไม่ใช่เรื่องที่ช่วยไม่ได้ และไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ เมืองที่ร้อนคือเมืองที่เดินไม่ได้ พอเดินไม่ได้ เศรษฐกิจท้องถิ่นก็ซบเซาลง คนอยู่ห้างไม่ก็บ้าน ดังนั้นการทำให้เมืองเย็นลงจึงเป็นภารกิจสำคัญของหลายเมืองใหญ่ ที่ในหลายเมืองนั้นมีตัวเลข มีการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจออกมาว่า มันคุ้มนะกับการทำให้เมืองๆ หนึ่งเขียวขึ้น อมความร้อนน้อยลง เช่นที่บัลติมอร์ประเมินออกมาว่ากำไรที่เมืองจะได้จากการลงทุนทำเมืองให้เย็นลงนั้น สูงถึงสิบเท่าจากการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคสีเขียวกันเลย
เมื่อความร้อนไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ
ประเด็นสำคัญคือเมืองเป็นพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้น และอิทธิพลของพื้นที่เมืองนั้นก็สำคัญถึงขนาดสร้างสภาพอากาศเฉพาะของเมืองขึ้นมาเป็นภูมิอากาศขนาดย่อม หรือ micro climate ขึ้นมา โดยสภาพอากาศของเมืองที่ว่ามักไม่ใช่มุมที่ดีนัก เรามักเห็นภาพเมืองที่แออัดไปด้วยรถยนต์ เมืองมักมากับไอร้อนไม่ว่าจะถนน จากตึก จากรถ จากเครื่องปรับอากาศ ทั้งตึกสูงยังทำให้ความร้อนเหล่านั้นระเหยออกไปไม่ได้ กลายเป็นพื้นที่อับลม
ก่อนที่เราจะเจอกับโรคระบาด เราเจอปัญหาสิ่งแวดล้อม หลายเมืองใหญ่โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเจอกับความคลื่นความร้อนกระทันหัน ไปจนถึงเริ่มพบว่าเมืองที่ร้อนขึ้นนี้กำลังส่งผลเสียกับเมืองอย่างรุนแรง บางที่ประชากรปรับตัวไม่ทันส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มีรายงานจากออสเตรเลียว่าทุกๆ 1 องศาของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นมีรายงานการเสียชีวิตจากความร้อนอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ
แน่นอนว่าเมืองที่ร้อนขึ้นเกิดจากสิ่งปลูกสร้าง มีรายงานยืนยันว่าอุณหภูมิที่พื้นผิวเช่นผิวอาคารหรือผิวถนนมีความร้อนสูงกว่าพื้นที่อื่น ส่วนหนึ่งเกิดจากวัสดุและการออกแบบที่ทำให้ตึกอาคารนั้นอมความร้อน ในหลายเมืองใหญ่จึงเริ่มมีความเคลื่อนไหวเช่นการออกมาตรการอาคารที่ออกแบบโดยเน้นความเย็น มีการผลักดันกฏหมายเช่นกฏหมายหลังคาสีเขียว ทำให้พื้นที่อาคารร่วมซับและลดอุณหภูมิ แถมยังช่วยซับน้ำลดความรุนแรงของน้ำท่วมลงด้วย
ในระดับเมือง พื้นที่สีเขียวก็เป็นคำตอบสำคัญ เมืองที่ร่มรื่นส่งผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิตของเมือง ในระยะหลังเมืองใหญ่เริ่มรับผิดชอบต่อโลก เมืองที่ร้อนและต้องพึ่งพาระบบปรับอากาศนั้นใช้ทรัพกรไฟฟ้ามากและปล่อยคาร์บอนมากกว่าที่ควรเป็น ขนาดสิงคโปร์ในฐานะเมืองในสวนที่เขียวและดีต่อผู้คนแล้วก็ยังพบว่าเมืองยังร้อนอยู่ สิงคโปร์จึงพัฒนาระบบจัดการความร้อนในเมืองต่อไป เช่นพบว่าแม้เมืองจะมีต้นไม้เยอะแล้ว อาจจะมีปัญหาเรื่องทางลม ในปี 2020 ทางสิงคโปร์จึงออกโครงการ Cooling Singapore project เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ต่อภาคเอกชน เช่นแนวทางการออกแบบอาคารที่ช่วยลดอุณหภูมิให้เมือง เช่นตึกที่จะอำนวยการระบาดอากาศ การพัฒนาระบบท่อน้ำใต้ดินที่จะช่วยลดอุณหภูมิพื้นผิว ไปจนถึงข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อให้ภาครัฐไปตัดสินใจในระดับนโยบายได้ต่อไป
เมืองที่ร้อน คือเมืองที่เดินไม่ได้
ตอนนี้อาจจะด้วยภาวะโรคระบาด เราอาจยังต้องอยู่กับบ้านเป็นหลัก แต่นึกภาพว่าถ้าวันหยุด แล้วอากาศร้อนมากๆ เราก็จะไม่ออกนอกบ้าน หรือถ้าออกเราก็จะไปอยู่ตามห้างสรรพสินค้า ในทางกลับกันถ้าเมืองออกแบบดี ไม่ร้อนมาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะดำเนินต่อไปได้จากการเดิน เราก็จะเดินไปตามย่านต่างๆ ทำให้ผู้ค้ารายย่อยและกิจการท้องถิ่นได้ประโยชน์
มีงานรายงานตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของเครือจักรภพรายงานตัวเลขจากข้อมูลในปี 2014-2018 ประเมินว่า ร่มเงาของลอนดอนช่วยลดค่าใช้จ่ายของเมืองได้ 5 พันล้านปอนด์ ประเมินเฉพาะคุณสมบัติจากการทำให้เมืองเย็นลง
เมืองที่ร้อนเป็นทั้งปัญหาจากการพัฒนาเมืองที่รถยนต์เป็นศูนย์กลาง ถนนหนทางที่ไม่เน้นต้นไม้และการเดิน ในทางกลับกันเมืองที่ร้อนจนเดินไม่ได้ยิ่งทำให้เกิดการใช้รถยนต์ที่มากขึ้นและยิ่งร้อนขึ้นเป็นวงจรไม่รู้จบ เมืองที่เย็นและเดินได้ทำให้คนเมืองอยากเดิน เราอาจเดินเป็นช่วงสั้นๆ ใช้รถสาธารณะที่ทั่วถึง ในขณะเดินเราก็อาจจะแวะซื้อกาแฟซักแก้ว ผ่านร้านขนมก็ซื้อติดมือ การเดินทำให้เราเจอร้านเล็กๆ กิจการที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ถ้าเรานั่งรถผ่าน
ตัวอย่างระดับไอคอนคือการปรับพื้นที่ไทม์สแควร์ของนิวยอร์ก ปิดถนนและเปิดให้คนเดินเท้า ผลคือธุรกิจบริเวณไทม์สแควร์มีผลกำไรมากขึ้น 71% ภายในระยะเวลาแค่แปดเดือนในช่วงทดลองเปิดในปี 2009 โดยปัจจุบันไทม์สแควร์ก็กลายเป็นทั้งย่านสำคัญของเมืองและเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก
londonist.com
กำไรสิบเท่าภายในยี่สิบปี โมเดลศึกษาจากบัลติมอร์
ทั้งจากกระแสการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องคลื่นความร้อน เกาะความร้อน รวมถึงปัญหาโรคระบาดก็ยิ่งทำให้การทำเมืองให้เย็นลง เดินได้ง่าย ประหยัดพลังงานนั้นเป็นวาระสำคัญของหลายเมืองใหญ่ แนวทางหลักๆ เช่นการปรับพื้นผิวของเมืองให้ซับความร้อน ใช้ผนังหลังคาสีเขียว ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เมื่อช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา เมืองบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกาก็เป็นอีกเมืองที่พื้นที่สีเขียวยังน้อย และไม่กระจายตัว คือมีราว 27% จากที่แนะนำที่ 40% เมืองยังร้อนโดยเฉพาะในย่านของผู้มีรายได้น้อย
ทีนี้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่บัลติมอร์ก็มีรายงานออกมาชิ้นหนึ่ง ทำโดย Smart Surfaces Coalition องค์กรที่เน้นเรื่องการลดเกาะความร้อนของเมือง มีรายงานทั้งตัวเลขการลงทุนในการที่เมืองจะลงทุนเพื่อลดความร้อนของเมืองลง ในรายงานนั้นระบุว่าการที่เมืองลดความร้อนลงได้ 2.5 องศาฟาเรนไฮต์ และ 4.5 องศาในพื้นที่ที่ร้อนที่สุด ด้วยการติดตั้งหลังคาลดความร้อนลงให้ได้ 80% ของหลังคาอาคารพักอาศัย จากงบการลงทุนกับแค่หลังคาที่จะทำให้เมืองเย็นลงนั้นใช้เงินประมาณ 112 ล้านเหรียญ แต่จากการลงทุนนั้นในอีก 20 ปีข้างหน้า เมืองจะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ 854 ล้านเหรียญ
ผลกำไรจากการที่เมืองเย็นลงนั้นประเมินจากการประหยัดพลังงานลง การมีค่าจัดการนำเสียที่น้อยลง ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมลดลง และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของเมืองและการตายจากความร้อนที่ลดลง และงานศึกษานี้ยังคำนวนไปถึงผลกำไรที่เกิดจากการที่เมืองสามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงหน้าร้อน การเพิ่มโอกาสการจ้างงาน และส่งเสริมกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว
สุดท้าย เมืองที่ร้อนมานาน แต่ทว่าก็ดูจะร้อนขึ้นจนผิดธรรมชาติและเริ่มใช้ชีวิตกลางแจ้งได้ยากขึ้น แง่หนึ่งในงานออกแบบของบ้านเราก็มีความสอดคล้องกับความร้อน มีศัยภาพในการอยู่ร่วมและบรรเทาความร้อนลง ในแง่นี้สำหรับเมืองสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยคอนกรีตนั้น อาจจะถึงเวลาที่เราต้องประเมินตัวเลขต่างๆ ที่เริ่มเห็นว่าไม่ปกติ เช่นกรุงเทพมหานครที่มีรายงานอุณหภูมิสูงสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่สูงสุดขึ้นไปถึง 40.8 องศา และมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 33-35 องศา ซึ่งถือว่าร้อนจัดมาก
แน่นอนว่าเมืองที่ร้อนขึ้นส่งผลต่อพฤติกรรมและการบริโภคของคน เมืองเต็มไปด้วยตึกสูง พื้นคอนกรีด และการพัฒนาที่ยังมีรถยนต์เป็นศูนย์กลาง ลักษณะทั้งหมดนี้ส่งผลทางอ้อมกับเศรษฐกิจ ส่งผลกับสุขภาพของคนเมือง คำถามคือเราจะมองเห็นตัวเลขจากสิ่งที่เป็นอยู่ได้อย่างไร และจะมองเห็นผลประโยชน์ในการลงมือเปลี่ยนแปลง และการลงทุนได้อย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-03-09/how-london-s-trees-help-boost-the-local-economy
https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-14/in-baltimore-the-costs-of-urban-heat-can-add-up
https://www.thaipost.net/main/detail/104623
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer