ข้อสังเกตหนึ่งในการรับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของปารีส นอกจากความยิ่งใหญ่เมือง แนวทางการพัฒนาเมืองที่จะใช้งานโอลิมปิกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแล้ว ในการรับไม้ต่อนี้เรายังเห็นภาพความสำคัญของผู้หญิง ตั้งแต่ภาพโลโก้ที่มีใบหน้าของหญิงสาวในเปลวไฟโอลิมปิก และการใช้ผู้หญิงแถวหน้าจากหลายวงการเข้ารับไม้ต่อในการรับมอบตำแหน่งจากโตเกียว
แวบแรกที่เราเห็นโลโก้ เราก็จะรู้สึกว่า นี่แหละคือปารีส ปารีสคือสาวปารีเซียงแสนเก๋ผู้เดินอย่างมั่นคงอยู่ในเมือง แขนข้างหนึ่งหนีบขนมปังบาแก็ต มืออีกข้างอาจจะมีบุหรี่บ้าง แก้วไวน์บ้าง นี่คือตัวแทนของเมืองปารีส มหานครแห่งความรัก แฟชั่น และความสวยงาม และอันที่จริง ‘ตัวตน’ หมายถึงภาพแทนของประเทศฝรั่งเศสก็เป็นสตรี คือมาริอันน์ (Marianne) สตรีผู้ถือธงแห่งเสรีภาพ ซึ่งฝรั่งเศสก็ถือให้มาริอันน์เป็นอุปลักษ์ของชาตินับตั้งแต่นั้น
การกลับมาพูดถึงผู้หญิงอีกครั้งดูจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ แม้ว่าเราจะนึกถึงปารีสมาพร้อมๆ กับสาวปารีเซียง แต่การพัฒนาเมืองในภาพรวมก็ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศอยู่ เช่นข้อสังเกตว่าการวางผังเมืองมักทำผ่านผู้ชาย หลายผังเมืองถูกจัดการและจัดวางโดยไม่ได้มองเห็นผู้หญิง ผู้ซึ่งใช้เมืองนั้นมากกว่าผู้ชาย ไว้ในสมการการวางผังเมืองเลย
แต่สำหรับปารีส อันที่จริงภาพของโอลิมปิกที่มีความอลังการและสวยงามนั้น ถ้าเราสังเกตภาพมุมสูงจะเห็นภาพของบริเวณหอไอเฟลที่เป็นผืนสวนและพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ก่อนจะแซมด้วยสนามกีฬา ภาพปารีสกลางสวนยักษ์แง่หนึ่งเป็นไปได้จริง เพราะนายกเทศมนตรีหญิง แอนน์ ฮิดัลโก (Anne Hidalgo) หนึ่งในผู้นำเมืองหญิงที่ทั่วโลกจับตากำลังสร้างกระแสและความฝันใหม่ของกรุงปารีส ว่าจะเป็นเมืองสีเขียวที่ยั่งยืนและขับเคลื่อนไปสู่หน้าตาของเมืองแบบใหม่ที่ดีกับโลกและผู้คน
นอกจากแอนน์แล้ว ปารีสเองยังมีปรากฏการณ์น่าสนใจ คือปารีสเจอปัญหาเรื่องพื้นที่สาธารณะที่ไม่นับรวมผู้หญิงเข้าไป มีกลุ่มที่พยายามขับเคลื่อนให้พื้นที่สาธารณะนับรวมกิจกรรมและสันทนาการของผู้หญิงเข้าไปในการลงทุนหรืองานออกแบบของเมืองด้วย โดยมีกลุ่ม Realaxe กลุ่มนักสเก็ตบอร์ดหญิงที่ขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมในพื้นที่กีฬาของเมือง โดยมีพื้นที่อาคารกีฬาผาดโผนและลานสเก็ตปารีสเขต 18 เป็นตัวอย่าง
ปารีสในสวน กับเมืองที่มีความเข้าอกเข้าใจมากขึ้น
กระแสเรื่องผู้หญิงกับเมือง จริงๆ ก็เป็นกระแสที่ค่อนข้างแพร่หลาย ทั้งจากกระแสเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่เป็นกระแสหลักของโลก และการเริ่มมองไปที่พื้นที่เมืองอันเป็นพื้นที่ที่ยุคหนึ่ง หรือกระทั่งยุคนี้ที่ผู้หญิง หรือเพศอื่นๆ ไม่ค่อยเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งในแง่การออกแบบวางผังและการอยู่ในระดับนโยบาย ทุกวันนี้เรารู้ว่าผู้หญิงขึ้นยืนแถวหน้า และเราก็อาจจะพยายามลดความสำคัญของตัวบุคคลลง แต่ก็ปฏิเสธชื่อของแอนน์ ฮิดัลโก ในฐานะผู้หญิงที่สร้างความสนใจของโลกนี้กลับมาสู่การปรับทิศทางปารีสอย่างจริงจัง และสอดรับกับการหักเลี้ยวของทิศทางการพัฒนาเมือง และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศหรือ Climate Change
แอนน์ ฮิดัลโก เป็นนายกเทศมนตรีของกรุงปารีสตั้งแต่ปี 2014 วาระดำรงตำแหน่งคือ 6 ปี ปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งอยู่เพราะการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป โดยกรุงปารีสเองเริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อทั่วโลกในแง่การปรับเปลี่ยนเมืองก็ราวๆ ปี 2019 เมื่อปารีสออกมาประกาศแผนใหญ่ว่าภายในปี 2024 ปารีสจะสร้างสวนที่ใหญ่ของเมืองที่รอบหอไอแฟล พื้นที่กลางเมืองที่เคยคราคร่ำด้วยนักท่องเที่ยวจะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดยักษ์ เป็นที่ๆ ดีต่อการเดินเท้า จะค่อยๆ ตัดรถยนต์ออกจากพื้นที่กลางกรุงปารีส ซึ่งก็มการประกวดแบบจนได้แผนการพัฒนาของ Gustafson Porter + Bowman
ในช่วงสามสี่ปีและไม่กี่ปีก่อนโควิดระบาด โลกค่อนข้างตื่นตัวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ ปารีสเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่หลังจากแผนปรับกลางเมืองเป็นสวนแล้ว ท่าทีอย่างจริงจังต่อภาวะโลกร้อน และการปรับเมืองให้ดีต่อผู้คนนั้นก็เริ่มทำให้ชื่อของนายกเทศมนตรีหญิงปรากฏขึ้นในระดับโลกอีกครั้ง แอนน์ถือเป็นหนึ่งในผู้นำเมืองที่วางการปรับเมืองอย่างจริงจัง เธอวางแนวทางโดยเน้นการผลักดันการพัฒนาที่รถยนต์เป็นศูนย์กลางออกจากปารีส เน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มสาธารณูปโภคสำหรับการเดินและการขี่จักรยาน
สิ่งที่ทำให้แอนน์โด่งดังคือแนวคิดเรื่องเมืองสิบห้านาที อันเป็นสิ่งที่วางเป็นหมุดหมายการพัฒนาเมืองขึ้นใหม่ เป็นอุดมคติใหม่ของเมืองว่าหลังจากนี้เมืองจะฟื้นฟูความเป็นย่าน จะให้ความสำคัญกับการเดิน ในระยะหนึ่งย่าน คนปารีสจะสามารถเข้าถึงทุกอย่างได้ เรื่องเมืองสิบห้านาทีนี้อาจจะยังอยู่ในระดับความคิด มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ดูเหมือนว่าผู้สนใจทั่วโลกก็มองแนวคิดนี้ในฐานะแนวทางและความเป็นอุดมคติที่น่าคิดต่อ นึกภาพว่าผู้นำกรุงปารีส หนึ่งในเมืองที่ยุ่งเหยิงที่สุด ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่ง กลับบอกว่าจะไม่ทำแบบเดิมอีกต่อไป ต่อไปนี้เมืองจะเรียบง่ายขึ้น ดีกับคนเมือง และย่านจะกลับมา
โอเค หลายคนก็บอกว่าชื่อของแอนน์ที่เริ่มกลับมาสร้างชื่ออีกครั้งอาจจะเพราะเธอกำลังจะหมดวาระ แต่อย่างน้อยคอนเซปเรื่องเมืองเดินได้ เรื่องการแบนรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าแอนน์เองก็กำลังค่อยๆ ดำเนินการให้ปารีสเป็นไปตามทิศทางสีเขียว หนึ่งในนโยบายที่ดีคือการให้เยาวชนใช้ขนส่งสาธารณะของปารีสได้ฟรี ทำให้เด็กๆ ชินกับการเดินและขนส่งสาธารณะ พร้อมลดภาระจากโรคระบาดด้วย
ล่าสุดพอโอลิมปิกมา บทบาทของแอนน์เลยยังโดดเด่นอยู่ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอเองก็คงเป็นส่วนสำคัญของการจัดงาน และเป็นหนึ่งในผู้หญิงปารีส เป็นตัวแทนหญิงแกร่งชาวปาริเซียงที่ร่วมขับเคลื่อนเมืองแห่งนี้อยู่ ล่าสุดก็เพิ่งไฟเขียวปรับช็องเอลิเซให้เป็นถนนสีเขียวรับโอลิมปิก และบอกว่าปารีสหลังปี 2024 จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จะมีสวนใหญ่กลางไอเฟล ถนนหนทางจะเดินได้เดินดียิ่งขึ้น
ผู้หญิงกับพื้นที่สาธารณะ การปรากฏตัวของผู้หญิงในพื้นที่กีฬา
ประเด็นเรื่องเพศในพื้นที่สาธารณะเป็นประเด็นที่ค่อยๆ ได้รับการพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมีรากฐานมาจากความคิดว่าพื้นที่ของผู้หญิงมักถูกผูกไว้ในพื้นที่บ้าน พื้นที่ลาน สนามมักเป็นพื้นที่ที่เด็กผู้ชายหรือผู้ชายใช้งานเป็นหลัก ปัญหาของพื้นที่เมืองที่นับรวมนั้นก็ดูจะสัมพันธ์กับประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้หญิง คือในระดับบริหาร การใช้งบประมาณ รวมถึงกรอบคิดบางอย่างที่มองผ่านมุมของผู้ชายนั้ก็เกิดเป็นหน้าตาของพื้นที่เมืองที่ไม่ได้ออกแบบเผื่อผู้หญิง
สำหรับปารีสเองมีงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นปัญหาของเมืองที่ไม่นับรวมผู้หญิงเข้าไปในนั้นเช่นกัน มีตัวเลขพบว่าสองในสามของกิจกรรมในเมือง ในสาธารณูปโภคของเมืองที่รัฐสนับสนุนนั้น เป็นกิจกรรมที่เด็กผู้ชายและผู้ชายเป็นหลัก ในงานวิจัยระดับปริญญาเอกของ Edith Maruejouls ในปี 2014 ชี้ให้เห็นว่า งบตัวเลขการพัฒนาสาธารณูปโภคทั้งสันทนาการและกีฬาไปอยู่ในพื้นที่ที่ผู้ชายเข้าถึงง่ายกว่าผู้หญิง
หนึ่งในตัวอย่างสำคัญเช่นการก่อสร้างสเตเดียมขนาดใหญ่ขนาด 60,000 ที่นั่ง มีตัวเลขสถิติพบว่าสเตเดียมยักษ์ของเมืองที่เมืองลงทุนสร้างเพื่อเป็นส่วนกลางนั้น มักจะมีสัดส่วนการใช้งานเป็นผู้ชายเฉลี่ย 58,000 คน และเป็นผู้หญิงเพียง 2,000 คน ตรงนี้ไม่ได้แปลว่าต้องสร้างสเตเดียมของผู้หญิงโดยเฉพาะด้วยหรือห้ามสร้าง แต่เป็นการตั้งข้อสังเกตและอาจขยายพรมแดนการใช้งานและการออกแบบพื้นที่ที่นับรวมการใช้งานหรือกิจกรรมของผู้หญิงหรือเพศอื่นๆ ที่มากไปกว่ากีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งหรือไม่
สเก็ตบอร์ดของสาวๆ กับการเดินสำรวจเมือง
ประเด็นการนับรวมผู้หญิงที่ปารีสก็ค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้น ปารีสก็มีกลุ่มนักกิจกรรมที่รวมทั้งนักมานุษยวิทยา นักผังเมือง และสเก็ตบอร์ดอาชีพรวมตัวกันในชื่อ FéminiCités ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะผลักดันประเด็นเรื่องเมืองและผู้หญิง การออกแบบเมืองและพื้นที่ที่ดีกับผู้หญิงมากขึ้น รวมถึงการกระจายงบที่เสมอาภาคทางเพศในการลงทุนกับพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทางกลุ่มก็จะเน้นการเดินสำรวจพื้นที่สาธารณะ ชี้เห็นประเด็นต่างๆ ที่อาจจะไม่เป็นมิตรกับผู้หญิง หรือพาไปส่วนที่คิดเผื่อแล้ว
ตัวอย่างหนึ่งที่ทางกลุ่มพูดถึงคือกลุ่ม Realaxe องค์กรว่าด้วยกีฬาสเก็ตบอร์ดหญิง แน่นอนว่าวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดบางครั้งไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้หญิงเท่าไหร่โดยเฉพาะการไปเล่นในพื้นที่สาธารณะ Realaxe จะพาไปชมอาคารสันทนาการและลานสเก็ตของเขตปกครองปารีส 18 ซึ่งตัวลานสเก็ตนี้ถือเป็นตัวอย่างที่คิดเผื่อกิจกรรมของผู้หญิงเข้าไปด้วย ซึ่งงานออกแบบพื้นที่ก็จะมีการจัดพื้นที่สำหรับเด็กผู้หญิงอายุ 14 ปีและผู้ใหญ่ไว้ใช้ฝึกซ้อมสเก็ตบอร์ดรวมถึงจักรยาน BMX
ทางกลุ่ม Realaxe บอกว่าพื้นที่เมือง รวมถึงวัฒนธรรมสเก็ตนั้นคือการกลับมาใช้งานพื้นที่ถนนอีกครั้ง และโดยภาพของวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ด เรามักนึกถึงผู้ชาย แต่อันที่จริง กีฬาที่เกี่ยวข้องเช่นโรลเลอร์เบรด สกูตเตอร์ หรือจักรยานก็เป็นกีฬาที่เด็กผู้หญิงชอบเล่นและต้องการพื้นที่ฝึก การออกแบบพื้นที่ส่วนหนึ่งจึงควรเน้นที่การสร้างความมั่นใจให้เด็กผู้หญิงและผู้หญิงสามารถร่วมใช้และเล่นกีฬาในพื้นที่สาธารณได้
ทั้งหมดเเลยทำให้เราเริ่มมองเห็นประเด็นว่าทำไมเราถึงต้องมีคนทุกเพศ ในหลายช่วงวัยเข้าไปอยู่ในส่วนของการตัดสินใจ และในส่วนของการทำงานโดยเฉพาะการทำงานกับพื้นที่เมืองที่เป็นการลงทุนกับพื้นที่การใช้งาน สำรับปารีสตรงนี้ก็ดูจะกลับมาที่นายกเทศมนตรีหญิงแอนน์ ที่ทางเทศบาลกรุงปารีสต้องจ่ายค่าปรับเพราะเธอเลื่อนขั้นให้ผู้หญิงมากเกินไป คือในปี 2018 แอนน์เลื่อนขั้นพนักงานของเทศบาลปารีสขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงโดยเป็นผู้หญิง 11 คน และผู้ชาย 5 คน กลายเป็นว่าไปละเมิดกฏหมายความเท่าเทียมทางเพศของประเทศ ซึ่งเธอเองก็ยิ้มรับและภูมิใจที่จะจ่ายค่าปรับ
ตรงนี้ก็เป็นมุกเล็กๆ ที่ทำให้เราเห็นว่าการพัฒนาเมืองเริ่มมีทิศทางมาสู่การบริหารของผู้หญิงมากขึ้น ปารีสเองก็ค่อยๆ ปรับเมืองที่นอกจากจะปรับเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศแล้ว ประเด็นความเท่าเทียม การนับรวมผู้คนนั้นก็ย่อมอยู่ในทิศทางการพัฒนาด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-05-22/new-eiffel-tower-park-plan-more-trees-fewer-cars
https://tel.archives-ouvertes.fr/tel-01131575/file/These_Edith_MARUEJOULS_BENOIT.pdf
https://www.blog.urbact.eu/2019/08/3-parisian-feminist-public-spaces/
https://www.bbc.com/news/world-europe-55330297
- Vanat Putnark
Writer