ยุโรปเป็นพื้นที่ที่รับรู้เรื่องภาวะโลกร้อนและความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ความร่วมมือสำคัญเช่นข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ก็เกิดขึ้นในยุโรป หลังจากข้อตกลงปารีส การตระหนักถึงการเข้าสู่ยุคแอนโทรโปซีน (Anthropocene) ที่เข้าใจว่ามนุษย์เรากำลังส่งผลกับโลกทั้งใบอย่างเป็นรูปธรรม ทิศทางของเมืองและการพัฒนาของยุโรปนั้นก็เป็นไปตามข้อตกลงที่ว่า จะต้องลดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ลงและสร้างเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นเมืองและสังคมมนุษย์ที่เฟื่องฟูไปพร้อมๆ กับดูแลระบบนิเวศและโลกใบนี้ไปพร้อมกัน
คำมั่นสัญญาล่าสุดที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปร่วมกันเพื่อพาประเทศ และสหภาพยุโรปไปเรียกว่า European Green Deal ลงนามตกลงกันในปี 2019 ส่วนหนึ่งเกิดจากความวิตกถึงสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศชัดเจนขึ้น มีคำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์ถึงจุดที่โลกอาจไปถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืน ข้อตกลงสีเขียวนี้คือคำสัญญาที่ยุโรปจะพาโลกใบนี้ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (climate neutral) โดยเป้าหมายสำคัญนี้ทางสหภาพยุโปวางหมุดหมายไว้ที่ปี 2050
สำหรับสหภาพยุโรปแล้ว การเคลื่อนที่ไปสู่คำมั่นสัญญาสีเขียวไม่เชิงว่าจะมีแค่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นมุมของเทคโนโลยี หรือการลดคาร์บอนเพียงอย่างเดียว แต่ใน Green Deal นั้นทางสหภาพก็ได้มีโครงการชื่อ New European Bauhaus ที่แน่นอนว่าเป็นกระแสของงานดีไซน์ในตำนาน โดยครั้งนี้ยุโรปได้ระดมความคิด และนักออกแบบชั้นแนวหน้ามาร่วมสร้าง ร่วมกรุยทางให้การไปสู่ยุโรปโฉมหน้าใหม่ที่มีความเขียว ร่วมสมัย สดใหม่ สวยงาม และดีกับผู้คน โดย Bauhaus ใหม่นี้ก็จะนำโดยนักออกแบบชั้นนำ เช่น Bjarke Ingels, Shigeru Ban และ artist Olafur Eliasson ที่จะร่วมกันวาดอนาคตและความเป็นอยู่ในวันพรุ่งนี้ของโลกใบนี้
จากยุคแอนโทรโปซีนถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน
คุณเคยได้ยินคำว่า ‘ยุคมนุษย์’ ไหม ฟังดูยิ่งใหญ่ แต่อันที่จริงคือการนิยามที่บอกว่าสิ่งมีชีวิตเล็กสายพันธุ์หนึ่งคือพวกเรากำลังส่งผลต่อโลกใบนี้อย่างเป็นรูปธรรม- และเราต้องรับผิดชอบกับผลงานของเราเอง
ในช่วงหลังปี 2000 โดยเฉพาะหลังปี 2016 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์นิยามห้วงสมัยปัจจุบันว่าเป็นยุคมนุษย์หรือ Anthropocene ยุคสมัยที่อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของเราทิ้งร่องรอยและกระทบกับโลกใบนี้ พลาสติกของเรา โลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืชกำลังกระจายไปทั่วโลก และที่สำคัญคืออนุภาคคาร์บอนที่กำลังส่งผลกับชั้นบรรยากาศ ส่งผลต่อสมดุลของน้ำ ของฝน และส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ดินฟ้าอากาศในด้านเลวร้ายลง ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น คุกคามพื้นที่เมือง ที่อยู่อาศัยและระบบการผลิตอาหาร รวมถึงระบบนิเวศอื่นๆ
เราเริ่มเห็นคำเตือนทั้งจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องอุณหภูมิเฉลี่ยที่ค่อยๆ สูงขึ้นที่เมื่อข้ามเส้นแล้วโลกสีเขียวที่น่ารักใบนี้อาจอาศัยอยู่ไม่ได้อีกต่อไป เห็นคำเตือนเรื่องผึ้งที่อาจสูญพันธุ์และระบบนิเวศอาจพังทลาย เห็นเฮอริเคนที่กวาดล้างเมืองใหญ่ เห็นคลื่นความร้อนอันแปลกประหลาด เห็นพฤติกรรมของฝนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหมดนั้นมีชีวิตของเราเป็นเดิมพันด้วยกันทั้งสิ้น
‘Leaving no one behind’ เป็นคำปฏิญาณที่ทางสหภาพยุโรปร่วมกันปฏิญาณไว้ในวันที่เปิดเผยข้อตกลงสีเขียว- European Green Deal เมื่อช่วงปลายปี 2019 สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำของโลก ที่ในคำมั่นนั้นคือการสัญญาว่าหลังจากนี้การผลิต เศรษฐกิจ และกิจกรรมของมนุษย์นั้นจะได้รับการปรับเปลี่ยนให้ดีกับโลกใบนี้ และคำมั่นอันสำคัญหนึ่งคือการรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยสหภาพจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 กิจกรรมทั้งหมดทั้งของเมืองและภาคอุตสาหกรรมจะไม่ทิ้งร่องรอยและสร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ
การมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นเราจะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติอารยธรรมอีกครั้งก็ว่าได้ ถ้าเรานึกภาพคำว่าความเจริญ เราจะเห็นว่าความยิ่งใหญ่ของเรามีมลพิษร่วมอยู่ในนั้นเสมอ เศรษฐกิจของเราขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ภาพของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีควันพวยพุ่ง เมืองที่คับคั่งและหมุนไปอย่างรวดเร็วบนกลุ่มควันของรถยนต์ และจากความร้อนของเมืองใหญ่ การเปลี่ยนสู่ข้อตกลงสีเขียวจึงเป็นการปรับเปลี่ยนแทบจะทุกส่วนของอาณาจักรเศรษฐกิจของเรา นับตั้งแต่ประเด็นเรื่องพลังงานสะอาด ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (circular economy) ตึกอาคารที่ดีกับสิ่งแวดล้อม การรับผิดชอบต่อมลพิษทางน้ำ ดิน อากาศ การคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และความหลากหลายทางชีวภาพ
ความพิเศษของข้อตกลงนี้ คือการมีข้อตกลงร่วมกันในฐานะมนุษย์ และในตัวข้อตกลงนั้นคือการให้ความช่วยเหลือกับทุกๆ ชาติ เพื่อที่จะร่วมปรับโฉมให้มนุษย์ไม่เป็นมลพิษกับโลก และในขณะเดียวกันก็นำไปสู่ภาพการมีชีวิตที่ดี สู่วิถีของเมือง และวิถีการผลิตแบบใหม่ที่มีสีเขียว และมีความหลากหลายของทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์เป็นส่วนประกอบ
การกลับมาของ Bauhaus การผสานของโลกวิทยาศาสตร์และงานออกแบบ
นึกภาพว่าโลกอนาคตที่เราอาจแค่จินตนาการถึง เมืองที่เต็มไปด้วยสีเขียว เขตอุตสาหกรรมที่หมุนเวียนพลังงานอย่างไม่รู้จบ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า สิ่งของเครื่องใช้ที่ไม่ก่อมลพิษ การก้าวไปสู่อนาคตนั้นไม่ได้ยืนอยู่แค่บนหลักการของวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังประกอบขึ้นด้วยมิติทางความคิดและจินตนาการ ดังนั้น อนาคตที่สวยงามย่อมต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ในการไปสู่ปลายทางสีเขียว สหภาพยุโรปจึงไม่ได้ให้ความสำคัญแค่โลกเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังให้นักคิดนักออกแบบชั้นแนวหน้ามาร่วมวาดอนาคตของผู้คนด้วย แน่นอนว่านักออกแบบและสถาปนิกนักคือผู้เชื่อมระหว่างจินตนาการและความเป็นจริง ในนามโปรเจ็กต์ New European Bauhaus
การรื้อฟื้น Bauhaus ขึ้นมาใหม่นั้นถือเป็นวิธีการชาญฉลาดและน่าสนใจ แน่นอนว่า Bauhaus เป็นรากฐานของงานออกแบบที่ผสานศิลปะเข้ากับงานช่าง ปรับเปลี่ยนศิลปะเข้าสู่การผลิต จากศิลปะชั้นสูงสู่งานออกแบบที่สัมพันธ์กับการใช้งานของคนทั่วไป Bauhaus จึงนับได้ว่าเป็นรากฐานของโลกสมัยใหม่ด้านหนึ่งนับตั้งแต่ตึกอาคาร ผนังกำแพง ไปจนถึงเก้าอี้ที่เรานั่ง ดังนั้น Bauhaus จึงเป็นรากฐานของการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ และเป็นรากฐานของสังคมยุคใหม่ที่ยุโรปวางไว้เป็นฐานให้กับโลกใบนี้
New European Bauhaus เป็นหนึ่งโครงการที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal) โดยใช้โครงการและมิติทางวัฒนธรรมเข้าร่วม ตัวโปรเจ็กต์นี้คือการที่สหภาพยุโรปจะสร้างพื้นที่ทำงานร่วมกัน (co-creation space) ที่ทั้งสถาปนิก ศิลปิน นักศึกษา วิศวกร นักออกแบบ และพลเมืองของยุโรป มาทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่แนวทาง งานออกแบบ งานศิลปะ และสถาปัตยกรรมที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป การกลับมาของ Bauhaus จึงเป็นแนวทางที่ยุโรปหวังว่างานสร้างสรรค์จากหัวกะทิ และการทำงานร่วมกันจะกลายเป็นกระแสศิลปะ นำไปสู่กรอบความคิดใหม่ๆ และวิธีการใหม่ๆ อันจะนำไปสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ให้ได้
โมเดลของ New European Bauhaus คือการสร้างเวทีระดมความคิดที่จะดึงเหล่านักออกแบบ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำงานกัน New Bauhaus จะมีการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญจากแขนงที่เกี่ยวข้องมา 18 เข้ามาเป็นผู้นำและเป็นสมาชิก หลายคนในนั้นเป็นนักออกแบบชั้นแนวหน้าผู้เริ่มวางจินตนาการและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับโลกนี้ เช่น Bjarke Ingels จาก BIG ทีมสถาปนิกที่สร้างสรรค์เงื่อนไขการใช้ชีวิตและสถาปัตยกรรมใหม่ๆ เช่นโรงเผาขยะที่ทั้งผลิตพลังงานหมุนเวียนให้เมืองและเป็นพื้นที่สาธารณะใหม่หรือข้อเสนอเรื่องเมืองลอยน้ำ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าของโลก ทั้งด้านนวัตกรรม เมือง นโยบายสาธารณะ รวมถึงสถาปนิกสัญชาติญี่ปุ่นเช่น Shigeru Ban
ไอเดียจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ และความคิดที่ทุกคนเข้าร่วม
สำหรับ New European Bauhaus เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเปิดตัวในต้นปีที่ผ่านมา โปรเจคประกอบด้วยแลกเปลี่ยนความรู้ มีการจัดการประกวดความคิดเพื่อนำไปสู่แนวทางเช่นการออกแบบพื้นที่การใช้ชีวิต พื้นที่เมืองที่ดีและสวยงาม ซึ่งการเข้าร่วมนี้มีทั้งระดับของผู้เชี่ยวชาญที่ทำให้เราได้เห็นทางออกหรือกรณีศึกษาที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไปจนถึงการเข้าร่วมในภาคประชาชนที่เราก็จะได้แนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ที่หลากหลายออกไป
ล่าสุดแม้ว่าทางโครงการแม้จะเพิ่งเปิดตัวไป แต่ New European Bauhaus ก็ได้จัดการระดมความคิดทั้งในระดับนักออกแบบและระดับประชาชนจนได้ผลงานออกแบบที่น่าสนใจสอดคล้องกับเป้าหมายในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับแผนผังการรับมือขนาดใหญ่(master plan) การออกแบบตึกอาคาร ไปจนถึงการออกแบบและนวัตกรรมของวัสดุ
ระดับแผนผังก็มีตัวอย่างเช่นแผนการรับมือน้ำท่วมขนาดใหญ่ของกรุงโคเปนเฮเกนออกแบบโดยRamboll Studio Dreiseitl อันเป็นการเตรียมรับมือและบริหารจัดการน้ำในเงื่อนไขของสภาพอากาศที่กำลังรับมือยากขึ้น แผนดังกล่าวนั้นทางสตูดิโอเน้นกลยุทธ์กระจายจุดรับน้ำผ่าน 8 พื้นที่สำคัญของเมือง กินพื้นที่ราว 34 ตารางกิโลเมตร และประกอบด้วยโครงการย่อยๆ กว่า 300 โครงการ
ระดับอาคารเราก็เริ่มเห็นแนวคิดและตัวอย่างการออกแบบอาคารของรัฐและของชุมชนที่มีมิติอื่นๆ ประกอบ เช่นตัวอย่างออกแบบ Venlo’s City Hall ที่ใช้แนวคิด Cradle-to-Cradle (C2C) คือปรัชญาการออกแบบและก่อสร้างโดยกระทบธรรมชาติน้อยที่สุด นับตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุที่เน้นความยั่งยืน แนวทางการก่อสร้างที่ประกอบด้วยการใช้และทิ้งสิ่งต่างๆ โดยที่เน้นเรื่องการนำกลับมาใช้ซ้ำ การรีไซเคิล วัสดุ และกระบวนการก่อสร้างทั้งหมดจะต้องรีไซเคิลได้ 100% และสามารถนำกลับมาใช้เป็นวัสดุพื้นฐาน (raw material) ใหม่ได้ทั้งหมด หรือโปรเจ็กต์ Gleis 21โครงการอาคารพักอาศัยแบบ co-housing ในกรุงเวียนนาที่เน้นออกแบบโดยมีความหลากหลายของลักษณะการอยู่อาศัย เน้นการเข้าถึงได้และลดงบประมาณ เพื่อให้บ้านและที่พักอาศัยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งยังใช้โมเดลการอยู่อาศัยร่วมเพื่อรวมผู้คนเข้าหากันด้วย
ความคิดที่เราเริ่มได้เห็นจากทางโครงการนั้นก็จะเห็นว่าการก้าวไปสู่งานออกแบบใหม่ๆ การมุ่งไปสู่ความยั่งยืนนั้นประกอบขึ้นทั้งจากองค์ประกอบความคิดเล็กๆ จากความคิดเรื่องวัสดุ เช่น อิฐ พื้น สัมพันธ์กับหลายแขนงความเชี่ยวชาญ เช่น เทคนิคการก่อสร้าง ผนังกำแพงรูปแบบใหม่ ไปจนถึงไอเดียน้อยใหญ่ที่ร่วมประกอบขึ้นเป็นตึก เป็นเมือง เป็นถนนหนทางที่มีทั้งผู้คน มีแขนงความสามารถที่หลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยทางโปรเจ็กต์ก็ได้รวบรวมผลงานโครงการต่างๆ ไว้ ซึ่งสามารถเข้าถึงผ่านเว็บไซต์ของทางโครงการ
ความพิเศษของ New European Bauhaus ถือเป็นการขับเคลื่อนที่น่าสนใจและรอบด้านด้วยการนับรวมมิติทางวัฒนธรรมเข้ามาร่วมขับเคลื่อนไปสู่อนาคตรูปแบบใหม่ และดูเหมือนว่าจะเป็นการเน้นย้ำคำกล่าวที่ว่า การก้าวไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตใหม่นี้จะนับรวมทุกคนเข้าร่วมด้วย เป็นกระแสที่เกี่ยวข้องกับทุกคน กับทุกศาสตร์ทุกแขนง กรณีของ New European Bauhaus คือศิลปะ วัฒนธรรมและงานออกแบบนั้นก็เป็นอีกหนึ่งแกนสำคัญที่จะร่วมไปกับโลกของวิทยาศาสตร์ โลกเศรษฐกิจและขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของยุโรปต่อไป และภายในนั้นเองก็รวมเอาเสียงและความคิดของผู้คนเข้าไว้ด้วย
และจากผลงานที่ทำให้เราเห็นถึงความเกี่ยวโยงของผู้คนที่ร่วมกันประกอบจนกลายเป็นกระแสอันจะนำไปสู่แนวทางการใช้ชีวิต การออกแบบ สิ่งปลูกสร้างและเมืองรูปแบบใหม่นั้น ก็ดูจะเป็นการเน้นย้ำถึงคำมั่นที่ว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
Illustration by Montree Sommut
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://ec.europa.eu/info/strategy/priorities-2019-2024/european-green-deal_en
https://thematter.co/science-tech/wellcome-to-anthropocene/8781
https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/IP_21_111
https://www.dezeen.com/2021/03/12/new-european-bauhaus-ambassadors-bjarke-ingels/
https://europa.eu/new-european-bauhaus/index_en
https://europa.eu/new-european-bauhaus/about/high-level-roundtable_en
- CITY CRACKER
Little crack, hack city.