CITY CRACKER

มองแผนการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่นผ่านโอลิมปิกเกมปี 1964

อย่างที่ทราบกันว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกในปี 2020 ก่อนจะถูกงดจัดไปเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามตอนนี้ญี่ปุ่นประกาศจัดงานโอลิมปิกเหมือนเดิมแล้วในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ และได้มีการปรับเปลี่ยนบางส่วนเช่นจำนวนผู้เข้าชมและกีฬาที่จัดแข่งขัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

งานโอลิมปิกเกมครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เพื่อนบ้านแดนปลาดิบของเราได้เป็นเจ้าภาพ โดยรอบแรกเกิดขึ้นเมื่อค.ศ 1964 ประมาณเกือบ 60 ปีที่แล้ว หลังญี่ปุ่นเคยพลาดการเป็นเจ้าภาพมาแล้วหนึ่งครั้งในปี ค.ศ. 1940 เนื่องจากเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้โอลิมปิกเกมที่ญี่ปุ่นในครั้งปี 1964 ถือเป็นงานสำคัญมาก รัฐบาลของญี่ปุ่นในยุคนั้นจึงเร่งพัฒนากรุงโตเกียว สถานที่จัดงานหลัก เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาชมเกมกีฬาสุดยิ่งใหญ่ รวมถึงสร้างโครงพื้นฐานสำคัญอื่นๆ วางแบบแผนของการพัฒนาประเทศที่กลายมาเป็นรากฐานสำคัญจนถึงปัจจุบัน

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในครั้งนั้นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่เกียรติยศของการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งสัญญาณให้โลกได้รับรู้ และมองญี่ปุ่นในมุมของประเทศพัฒนาแล้ว City Cracker จึงอยากชวนดูแผนพัฒนาเมืองผ่าน 5 โครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่นที่ส่งผลมาให้เราได้เห็นและได้ใช้กันต่อในปัจจุบันกัน

japantimes.co.jp

Public Utility In Tokyo ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ของโตเกียว

ญี่ปุ่นในช่วงนั้นถือว่ายังอยู่ในช่วงของการรักษาตัวจากบาดแผลที่เกิดจากสงคราม ทำให้ระบบสาธารณูปโภคทั้งหลายยังไม่ดีพอ ทั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ดี แม่น้ำที่มีมลพิษ ดื่มน้ำไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงคุณภาพอากาศต่ำ และเครือข่ายถนนที่ไม่ดีพร้อมๆ กันจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนประชากร ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่เมื่อญี่ปุ่นได้รับเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิก ทางรัฐบาลไม่รอช้าเร่งวางแผนการพัฒนาเมืองตามสโลแกนหลัก ที่ภายหลังได้กลายมาเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองว่า “เร็วขึ้น สูงขึ้น แข็งแรงขึ้น” (faster, higher, stronger) โดยเริ่มจากการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ หมู่บ้านจัดสรร โรงแรม สวนสาธารณะ และปรับปรุงระบบประปาและน้ำเสีย จนกลายมาเป็นแม่น้ำลำคลองที่สะอาดอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

Photographers: Pressens Bild/AFP/Getty Images, Sankei Archive/Getty Images, AP Photo

Shinkansen รถไฟความเร็วสูงชินคันเซน

ขนส่งสาธารณะถือเป็นงานสำคัญ รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นระหว่างโตเกียวและโอซาก้า หรืออีกชื่อหนึ่งที่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ คุ้นเคยในชื่อว่า ‘รถไฟหัวกระสุน’ เป็นความคิดริเริ่มที่รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการขนส่งสาธารณะ จึงดำเนินการก่อสร้างเพื่อเปิดใช้งานสำหรับโอลิมปิกเกมปี 1964 ซึ่งเสร็จพร้อมเปิดใช้งานเพียงแค่ 9 วันก่อนหน้าวันงานเท่านั้น นอกจากนี้ในสมัยนั้นชินคันเซ็นยังถูกใช้เพื่อขนส่งชุดโทรทัศน์เพื่อกระจายไปตามบ้านต่างๆ ให้ผู้ชมสามารถดูเกมกีฬาได้จากทางไกล นับเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้กีฬาโอลิมปิกครั้งนั้นของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แน่นอนว่าเจ้ารถไฟหัวกระสุนยังคงใช้งานจนมาถึงปัจจุบัน โดยได้ผลตอบรับกลับมาอย่างดีเสมอมา เพราะไม่ใช่แค่เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศ แต่ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับการขนส่งสาธารณะที่ทำให้ปัจจุบันชินคันเซ็นเป็นหนึ่งในวิธีการเดินทางภายในประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

Photographers: Pressens Bild/AFP/Getty Images, Sankei Archive/Getty Images, AP Photo

Tokyo Monorail and Tokyo Metropolitan โตเกียวโมโนเรลและเครือข่ายถนน

ในช่วงสมัยนั้น ชาวญี่ปุ่นยังคงนิยมรถส่วนตัว ทำให้ความแออัดของการจราจรใจกลางเมืองโตเกียวเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งแตกต่างจากญี่ปุ่นในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลยุคนั้นเห็นถึงปัญหานี้ และต้องการแก้ไขก่อนที่จะเปิดงานโอลิมปิกเกม 1964 จึงได้สร้างโตเกียวโมโนเรล (Tokyo Monorail) -โมโนเรลแรกของโลกที่ใช้ในการขนส่งในเมือง และทางด่วนโตเกียวเมโทรโพลิแทน (Tokyo Metropolitan) ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เข้าถึงจากสนามบินฮาเนดะในบริเวณอ่าว และพาผู้คนไปส่งยังสถานที่ต่างๆ ในโตเกียว

ต่อมาได้มีการขยายทางด่วนโตเกียวเมโทรโพลิสแทนเพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เมืองหลวงทั้งหมด เห็นได้ชัดว่าโอลิมปิกในปี 1964ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกรุงโตเกียว กลายเป็นงานแข่งขันทางกีฬาที่ทำให้เกิดเครือข่ายถนนขนาดมหึมา บรรเทาความแออัดของการจราจรในเมืองที่ใหญ่ ที่เรียกได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและส่งผลดีมาจนถึงปัจจุบัน

oldtokyo.com

Yoyogi Park สวนสาธารณะโยโยงิ

อีกหนึ่งสถานที่ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ สวนโยโยงิ สวนสาธารณะในเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว มีทั้งสนามหญ้ากว้าง สระน้ำ และพื้นที่ป่า เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการวิ่งจ๊อกกิ้ง ปิกนิก และกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ ตั้งอยู่ใกล้กับชิบูย่าและฮาราจูกุ ย่านที่ทุกวันนี้ยังคงเป็นเสมือนพื้นที่ทางวัฒนธรรมของเยาวชนญี่ปุ่น ที่ใครๆ ก็ต้องรู้จัก

แต่เดิมในช่วงปี 1964 สวนสาธารณะแห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านโอลิมปิกมาก่อน ทำให้พื้นที่นี่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในสมัยนั้น ทั้งตัวพื้นที่อยู่ใกล้กับย่านสำคัญทางเศรษฐกิจ และจำนวนนักท่องเที่ยวมาแวะเวียนเข้ามา จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่รัฐบาลตั้งใจพัฒนาพื้นที่ในส่วนนี้ เป็นพื้นที่แรกๆ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสวนสาธารณะสีเขียวแทน รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้เพียงสร้างสถานที่ หรือพัฒนาเมืองมาเพื่อรองรับแค่โอลิมปิกเกมเท่านั้น แต่ได้มองการณ์ไกลถึงว่า สิ่งที่่ทำนั้จะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้จะจบเกมโอลิมปิกไปแล้วก็ตาม

japan.apike.ca

Kokuritsu Yoyogi Kyōgijō สนามกีฬาแห่งชาติโยโยงิ

สนามกีฬาแห่งชาติโยโยงิ (Yoyogi National Gymnasium) อีกพื้นที่สำคัญที่ถูกใช้เป็นสนามกีฬาหลักสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเมื่อปี 1964 จัดแสดงกิจกรรมว่ายน้ำ ดำน้ำ และบาสเก็ตบอล สนามกีฬาแห่งนี้ถือว่าเป็นอาคารกีฬาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้รับการออกแบบจากจากสถาปนิกชื่อดังอย่าง Kenzo Tange ที่ออกแบบอย่างโดดเด่น ตั้งแต่หลังคาแบบแขวน อันเป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมเข้ากับสุนทรียศาสตร์สมัยใหม่แบบตะวันตก ทำให้สนามกีฬาแห่งชาตินี้เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและสำคัญไม่แพ้ใคร ซึ่งในขณะนี้กำลังได้รับสร้างใหม่เพื่อเป็นสนามกีฬาแห่งใหม่ ที่พร้อมสำหรับการแข่งขันกีฬาโตเกียว 2020 โดยพิธีเปิดและปิดการแข่งขันกีฬาโตเกียว 2020 รวมถึงการแข่งขันกรีฑาและการแข่งขันฟุตบอลนั้ันก็จะจัดขึ้นที่นี่เช่นกัน

archimaps.tumblr.com

อ้างอิงข้อมูลจาก

bloomberg.com

nikkoken.or.jp

olympics.com

shotarohondamoore.medium.com

tokyoweekender.com

english.kyodonews.net

japan-guide.com

Graphic Design by Napon Jaturapuchapornpong
Share :