คุณเคยเดินบนโรงกลั่นน้ำสะอาดไหม หรือนึกภาพการดูหนังในโรงเชือดเก่า ไปจนถึงสวนที่สร้างขึ้นบนท่าเรือที่กลายเป็นที่ที่เด็กๆ เดินย่ำน้ำเล่นได้
เวลาเรานึกถึงพื้นที่เก่าๆ ส่วนใหญ่เราจะนึกถึงการนำไปทำประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ว่าด้วยพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ของใครของมัน แต่ว่าบางครั้งพวกพื้นที่เก่าๆ นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความเปลี่ยนแปลง จากบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งาน ปิดตาย ปล่อยไว้จนอาจกลายเป็นจุดอับของเมือง
ในหลายประเทศเริ่มมองคำว่า ‘ประโยชน์’ เสียใหม่ กำไรของพื้นที่หนึ่ง ของตึกอาคารหนึ่งนั้นมีความสัมพันธ์กับเนื้อเมือง กับชุมชน กับผู้คน ดังนั้นแล้วก็เลยมักมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือผนวกพื้นที่สาธารณะเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก เป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่จำเป็นต้องสร้างเป็นพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะ มีหน้าตาเป็นสวน เป็นลานอย่างที่เราคุ้นเคย ความหมายของพื้นที่สาธารณะกว้างขวางขึ้นทั้งในแง่การปรับพื้นที่เดิมๆ เข้าเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตขึ้นมาใหม่ หรือการสร้างพื้นที่ขึ้นใหม่โดยมีความเป็นพื้นที่สาธารณะ บริการเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่พบปะของผู้คนผนวกเข้าไปด้วย
เพื่อเป็นการทลายจิตนาการของพื้นที่สาธารณะ City Cracker จึงขอชวนไปชมโครงการพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ที่อาจจะไม่ได้ใช้งาน (unuse) และคาดไม่ถึง (unusual) ตั้งแต่โรงกรองน้ำแห่งใหม่ของสิงคโปร์ที่มีสวนอยู่ด้านบน โครงการปรับแทงค์น้ำเก่าๆ รอบเมืองให้กลายเป็นสวนและพื้นที่สาธารณะ โรงยิมแนวตั้งที่ใช้เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนแออัดปล่อยพลังและเรียนรู้ความมีน้ำใจ หรือจะเป็นโปรเจ็กต์ที่ออสเตรเลียที่ชวนทอดบันไดและเปิดหลังคาให้คนหย่อนใจกับวิวริมน้ำ ใกล้มาหน่อยก็เป็นโซลกับโครงการปรับทางด่วนกลางเมืองเป็นสวนลอยฟ้า- พี่น้องกับ High Line อันโด่งดัง หรือไทยเองก็กำลังจะมีสวนป่าที่ตรงกลางเคยเป็นโรงงานยาสูบและมีรักษาอาคารบางส่วน หรือใช้วัสดุจากอาคารโรงงานเก่า
The Keppel Marina East Desalination Plant สวนรูปไข่บนโรงกลั่นน้ำจืด
ประเดิมด้วยโปรเจ็กต์ใหม่เพิ่งเปิดตัวและเตรียมเดินเครื่องในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ The Keppel Marina East Desalination Plant เป็นโรงกลั่นน้ำสะอาดแห่งที่สี่ของสิงคโปร์ อย่าลืมว่าสิงคโปร์เป็นเกาะ และการจัดหาน้ำสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการเป็นภารกิจสำคัญหนึ่งของประเทศ โรงกลั่นน้ำแห่งนี้พิเศษตรงที่สามารถกลั่นทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มได้ในโรงเดียว คือกรองน้ำจืดจากน้ำฝนของบ่อในช่วงหน้าฝน และหน้าแล้งจึงดึงน้ำทะเลมากลั่นเป็นน้ำจืดใช้ ความพิเศษคือพอตั้งโรงกลั่นน้ำกลางเมืองปุ๊บ (ไม่ไกลจาก Garden by the Bay) ก็เลยคิดเผื่อว่า งั้นสร้างให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะ เป็นที่หย่อนใจ และเป็นแลนมาร์กใหม่ของความภูมิใจซะเลย ด้วยความที่ส่วนกรองน้ำทั้งหมดจะอยู่ใต้ดิน แถมมีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำ ด้านบนก็เลยทำเป็นหลังสีเขียว เปิดเป็นสวน พื้นที่หย่อนใจและใช้เล่นว่าวในหน้าร้อน
Seoullo 7017 สวนลอยฟ้าจากทางด่วน High Line สาขาเกาหลี
นิวยอร์กมี High Line โซลก็มี Seoullo 7017 ถ้าเราดูซีรีส์บางเรื่องเราจะคุ้นๆ กับสวน- เป็นคล้ายๆ สะพานยาวๆ มีต้นไม้อยู่ในหลุมกลมๆ คือสวน Seoullo 7017 เป็นการปรับปรุงทางลอยฟ้าเก่าที่ทอดผ่านกลางกรุงโซล ปรับโฉมโดย MVRDV ด้วยความที่อยู่กลางเมืองติดกับ Seoul Station เจ้าสวนลอยฟ้าแห่งนี้ก็เลยปรากฏโฉมในซีรีส์บ่อยๆ ตัวสวนเป็นการปรับภูมิทัศน์และเปลี่ยนวิธีคิดด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างทางยกระดับที่สร้างไว้ในปี 1970 และปรับเข้าสู่ยุค 2000 ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2017 ก็เลยรวมเป็นสะพานที่อยู่ข้ามยุคสมัย 2017 ปัจจุบันสะพานแห่งนี้ถูกออกแบบให้เป็นสวนแนวยาวประมาณ 983 เมตรคือเกือบหนึ่งกิโล ในสวนจะมีพรรณไม้หลายประเภทจัดแสดดงในกระถาง 645 กระถาง รวบรวมพืชพรรณราว 228 สายพันธุ์ เป็นต้นไม้กว่า 20,000 ต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นไม้ปลูกขึ้นใหม่ และคาดว่าจะสูงเต็มระยะในอีกทศวรรษข้างหน้าพอดี
K-Farm แปลงผักวิทยาศาสตร์สำหรับการเรียนรู้ของคนเมือง
Medellin’s Water Reservoirs to Park- แทงค์น้ำชานเมืองสู่สวนสาธารณะ
เมืองใหญ่ๆ มักจะมีอ่างเก็บน้ำ มีแทงค์น้ำขนาดใหญ่ ที่เมืองเมเดลลิน (Medellin) ประเทศโคลัมเบียเองก็เช่นกัน ในราวปี 2013 ตอนนั้นบริษัทเกี่ยวกับระบบไฟได้ทำการวิเคราะห์แผนที่ระบบแสงไฟของเมืองเพื่อทำแผนพัฒนาระบบแสงไฟ (urban lighting) ให้กับเมือง ในการวิเคราะห์บริษัทก็พบจุดบอด เป็นวงมืดๆ ของเมืองเป็นเหมือนเกาะอยู่ทั่วไป ซึ่งวงมืดๆ ที่อยู่ชานเมืองบ้าง กลางพื้นที่อยู่อาศัยบ้างก็คือแทงค์น้ำหรือบ่อพักน้ำที่ทำหน้าเก็บและจ่ายน้ำให้กับเมืองนั่นเอง แน่นอนว่าพื้นที่มุมมืดนั้นนำไปสู่การบุกรุกที่ดินรอบๆ และกลายเป็นจุดบอด จุดอันตรายของเมือง
บริษัทพบว่าแทงค์น้ำมีมากถึง 144 แห่งทั่วเมือง และค่อยๆ วิเคราะห์เลือกจุดบอดสำคัญ ที่จะส่งผลต่อชุมชนและมีลักษณะภูมิศาสตร์และเงื่อนไขทางกายที่เหมาะสม คัดไปคัดมาจนเหลือแทงค์น้ำ 14 แห่ง และนำไปพัฒนาร่วมกับชุมชนจนกลายเป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ ตัวพื้นที่ก็มีทั้งที่เป็นทางเดินบนผิวน้ำ เป็นอาคาร เป็นน้ำพุ มีการติดไฟสว่าง ออกแบบถนนหนทาง จากแทงค์น้ำร้างๆ สยองขวัญก็กลายเป็นสวนหน้าตาล้ำสมัยที่มีน้ำ พืช และคอนกรีตอยู่ด้วยกันอย่างสวยงาม
CopenHill โรงไฟฟ้าจากขยะที่มีผิวเป็นลานสกีและพื้นที่กลางแจ้ง
CopenHill เป็นอีกหนึ่งงานออกแบบในฐานะการสร้างพื้นที่สาธารณะฟังก์ชั่นใหม่ของเมือง เป็นโปรเจ็กต์หมุดหมายของกรุงโคเปนเฮเกนและ BIG ที่แน่นอนว่า BIG ทำต้องไม่ธรรมดา เนินแห่งโคเปนเฮเกนนี้ตัวมันเองเป็นเนินจำลองที่ออกแบบให้ผู้คนมาเล่นสกี ทำกิจกรรมนอกอาคารพวกกิจกรรมสนุกๆ เช่นปีนเขา เล่นสโนว์บอร์ด ทว่า เจ้าเนินสีเขียวๆ นี้ภายใต้ผิวพื้นที่สาธารณะตัวมันกลับทำหน้าที่เป็นโรงงานเผาขยะที่ทำหน้าเผาขยะกว่า 4 แสนตัน และผลิตกระแสไฟฟ้าพร้อมพลังงานความร้อนให้กว่า 1 แสน 5 หมื่นครัวเรือน ภูเขาน้อยแห่งกรุงโคเปนเฮเกนนึ้จึงเป็นทั้งพื้นที่หย่อนใจ โรงเรียนสกี ที่วิ่งเล่น และเป็นพื้นที่กำจัดขยะพร้อมเลี้ยงพลังงานให้กับเมืองด้วย
Cineteca Matadero โรงฆ่าสัตว์และตลาดเนื้อสู่โรงหนังและศูนย์ภาพยนตร์
Matadero หมายถึงโรงฆ่าสัตว์ในภาษาสเปน ในสเปนรวมถึงที่มาดริดดูจะมีโรงเชือดหลายแห่ง ซึ่งในโรงเชือดเก่านี้มักจะเป็นตลาดค้าเนื้อ เป็นอดีตศูนย์กลางการค้าของเมืองขนาดใหญ่ และหลังจากไม่ได้ใช้แล้วเมืองก็ได้ปรับให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ Cineteca Matadero เป็นโรงฆ่าสัตว์ที่สร้างขึ้นช่วงศตวรรษ และเป็นโรงเชือดพร้อมตลาดเนื้อมากว่า 85 ปี โดยการปรับโฉมล่าสุดทางการก็ได้เปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์และหอภาพยนตร์ พร้อมศูนย์การเรียนรู้ของเมือง มีการใช้โครงอาคารปูนเก่าและเปลี่ยนพื้นที่อาคารส่วนใหญ่เป็นสีดำ นักออกแบบได้ทำการรักษาภาษาของพื้นที่เดิมผ่านการใช้ตระกร้าสานอันเป็นสิ่งที่ตลาดค้าเนื้อเคยใช้ในพื้นที่
ผลสุดท้ายเราก็ได้อาคารสีดำเท่ๆ พร้อมลวดลายตะกร้าที่ส่องสว่างดูทันสมัย ทั้งนี้ผู้ออกแบบอธิบายว่าการรักษาความทรงไม่ว่าจะดีหรือร้าย คือการมีอดีตของโรงเชือดก็เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ ซึ่งตัวศูนย์ภาพยนต์แห่งนี้จะกลายเป็นโรหนังสาธารณะ หอเก็บฟิล์ม พื้นที่ฉายหนังกลางแจ้ง และศูนย์การเรียนรู้
สวนป่าเบญจกิติ พื้นที่สาธารณะในโรงงานยาสูบเดิมกลางกรุงเทพฯ
สำหรับบ้านเราก็มีโครงการปรับพื้นที่เป็นสวน ซึ่งในกรุงเทพฯ ตามกำหนดที่วางไว้เรากำลังจะมี สวนป่าเบญจกิติ คือโครงการพัฒนาที่ดินข้างๆ สวนเบญจกิติปัจจุบัน เป็นโครงการที่จะเปลี่ยนพื้นที่โรงงานยาสูบและโรงบ่มยาสูบเดิม ให้กลายเป็น ‘สวนป่า’ เป็นสวนไม้ยืนต้นกลางกรุงเทพมหานคร ความพิเศษของสวนนี้คือการรักษามรดกในพื้นที่ไว้ เช่นการรักษาโรงยาสูบเดิมเพื่อปรับเป็นพิพิธภัณฑ์และแปลงนาสาธิต มีการใช้วัสดุเช่นคอนกรีตหรืออิฐในพื้นที่ผนวกเข้ากับตัวพื้นที่สวนป่าแห่งใหม่ ตามแผนมีการปรับใช้โกดังเก็บยาสูบเดิมเป็นอาคารกีฬาในร่ม ตัวพื้นที่รวมของสวนเบญกิติระยะที่สอง รับผิดการออกแบบโดยอาศรมศิลป์ ทั้งหมดจะมีพื้นที่ราว 259 ไร่ ในงบประมาณ 652 ล้านบาท สวนแห่งนี้น่าตื่นเต้นตรงถือเป็นสวนป่าแห่งแรกกลางกรุงเทพฯ เน้นการออกแบบโดยสัมพันธ์ธรรมชาติ เป็นสวนที่ช่วยซับและกรองน้ำให้กับพื้นที่รอบๆ เน้นความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่ที่ดีทั้งในแง่ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและกิจกรรมของคนและชุมชน
Vertical Gymnasiumโรงยิมแนวตั้งของเด็กๆ สำหรับหลบภัยความรุนแรง
คุณก็รู้ ที่นี่เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่บางส่วนยังเป็นชุมชนแออัด และมีปัญหาการค้ายาเสพติดและการปะทะกันของกลุ่มอันธพาลอยู่บ่อยครั้ง ที่ย่านการากัส แบริโอ (Caracas barrio) ภาพของชุมชนกลางเมืองที่แน่ขนัดไปตามภูเขาคือภาพสำคัญของชุมชนแออัดและดินแดนความรุนแรง ในตอนนั้นเด็กๆ มักจะตกอยู่กลางความรุนแรงและความขัดแย้ง มีเพียงสนามบอลเก่าๆ ไว้ใช้งาน ทางเทศมนตรีร่วมกับสตูดิโอสถาปนิก Urban Think Tank ก็เลยเสนอโปรเจ็กต์ Vertical Gymnasium ขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเป็นศูนย์เพื่อสร้างความแข็งแรงทั้งกายและใจให้เด็กๆ และชุมชน
ตัวโรงยิมแนวตั้งใช้พื้นที่สนามบาสร้าง ปรับเป็นโรงยิมแนวตั้งด้วยว่าที่ดินนั้นหายากในพื้นที่ชุมชนแออัด กลายเป็นตึกสูง 7 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยราว 7000 ตารางเมตร ตัวอาคารประกอบด้วยสาธารณูปโภคเกี่ยวกับสันทนาการและการออกกำลังกาย เช่น ยิม สตูดิโอเต้นรำ ลู่วิ่ง สนามบาสเก็ตบอล และมีพื้นที่สำหรับกิจการท้องถิ่น ตัวอาคารเปิดทำการในปี 2004 โดยใช้เวลาสร้างเพียงสามเดือนด้วยเทคนิกการสร้างที่เน้นประหยัดและสร้างได้เร็ว ตัวโรงยิมและศูนย์กีฬาแห่งนี้ได้รับผลดีเกินคาด มีผู้ใช้งานกว่า 15,000 คน และมีรายงานว่าอัตราการเกิดอาชญกรรมในพื้นที่เกี่ยวข้องลดลงถึง 30% ตัวยิมแนวตั้งนี้กลายเป็นหนึ่งโมเดลที่หลายเมืองใหญ่จะเริ่มใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อร่วมรับมือความรุนแรงและแก้ปัญหาเมืองต่อไป
Oslo Opera House ทอดสะพานขึ้นหลังคาโรงละครใช้หย่อนใจ
โรงละคร ศิลปะ โดยเฉพาะพื้นที่ศิลปะของชาตินั้นมักถูกสร้างขึ้นในนามของความสูงส่ง และห้ามแตะต้อง ทว่า โรงละครของกรุงออสโลนั้นมีแนวคิดการสร้างที่ตรงกันข้าม นอร์เวย์มองว่าธรรมชาติเป็นของทุกคนและควรจะเดินเข้าไปสัมผัสรับได้ ดังนั้นในการสร้างโรงละครออสโล (Oslo Opera House) ซึ่งตัวโรงละครตั้งอยู่พื้นที่อ่าวอันสวยงามของท่าเรือ ทางเมืองและสตูดิโอ Snøhetta ก็เลยเปิดพื้นที่เพื่อเชื้อเชิญผู้คนเข้าสู่โรงละคร โดยเปิดพื้นที่หลังคาให้เป็นพื้นที่เดินเล่น พักผ่อนหย่อนใจ ให้ทุกคนได้เข้าฟรี พื้นที่ของหลังคานั้นออกเป็นเหมือนเนินย่อมๆ ที่สามารถปีนขึ้นไปรับลมได้ในทุกฤดูกาล พื้นที่หลังคานี้ก็ได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะอีกรูปแบบที่มีความลื่นไหล และไม่เป็นทางการ เป็นที่พักผ่อนสบายๆ ในชีวิตประจำวัน
Tainan Spring ท่าเรือและห้างเดิมสู่ที่เล่นอันชุ่มฉ่ำของไต้หวัน
เมืองไถหนานเป็นเมืองโบราณ และเมืองสำคัญทางตอนใต้ของไต้หวัน ตัวเมืองมีลักษณะเป็นเกาะ และครั้งหนึ่งด้วยความที่เป็นเมืองท่า ไถหนานจึงมีท่าเรือและโครงข่ายคูคลองที่เป็นเหมือนเส้นเลือดของเมือง ทว่าก็คล้ายกับเมืองใหญ่คือคูคลองหมดความสำคัญ มีการสร้างถนนหรืออาคารทับลงบนเส้นทางเครือข่ายน้ำเดิม Tainan Spring เป็นโครงการพัฒนาของที่ MDRVD ชนะการประกวด คือบริเวณท่าเรือเดิมนั้นได้กลายเป็นห้างสรรพสินค้าร้าง และทางเมืองต้องการฟื้นฟูพื้นที่
ตัว Tainan Spring เป็นการปรับเอาโครงสร้างและตอหม้อเดิม โดยทั้งรักษาโครงสร้างอาคารบางส่วนไว้ และพลิกเอาประวัติศาสตร์ของน้ำกลับขึ้นมา กลายเป็นน้ำพุกลางเมือง ตัวสวนแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนป่าดิบ เป็นที่เล่น พื้นที่ชุ่มฉ่ำที่ใช้สร้างความสนุกสนานให้ผู้คน ตัวสวนกว่าครึ่งจะเป็นเหมือนสระว่ายน้ำของเมืองที่เด็กๆ และชาวเมืองจะได้เล่นน้ำ เป็นพื้นที่เย็นๆ ในวันที่อากาศร้อนๆ ได้แช่เท้าพร้อมได้สัมผัสกับวัฒนธรรมสายน้ำ ทั้งยังได้มองเห็นประวัติศาสตร์หลายๆ ชั้นทั้งการเป็นห้างสรรพสินค้า เป็นท่าเรือ และคูคลองมาก่อน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Prapawit Intun and Napon Jaturapuchapornpong
- Vanat Putnark
Writer