CITY CRACKER

‘Forest bathing’ เปิดประสาทสัมผัสรับการบำบัดจากพลังของธรรมชาติด้วยการอาบป่า

แม้ยุคสมัยจะผันเปลี่ยนไป หรือเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตมากขึ้น แต่กระนั้นธรรมชาติยังคงสัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์อย่างแยกไม่ขาด ซึ่งปัจจุบันเราจะได้เห็นว่ามนุษย์ให้ความสำคัญกับกิจกรรม เช่น การเดินป่า ออกสัมผัสดินหญ้า หรือไลฟ์สไตล์คนเมืองที่ชอบเที่ยวต่างจังหวัด เนื่องจากว่าตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันธรรมชาติและจิตใจของมนุษย์นั้นเกี่ยวเนื่องกันอย่างมาก ทั้งในแง่การสร้างแรงบันดาลใจและชักจูงอารมณ์ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ กระทั่งการหยั่งรากลึกไปถึงวัฒนธรรมและการใช้ชีวิต

ยุคหนึ่งพระเจ้าไซรัสแห่งเปอร์เซีย (Cyrus ll of Persia) ก็เคยสร้างสวนไว้บนยอดเขาของเมือง เพราะเขามองว่าสวนนั้นจะช่วยให้ชาวเมืองมีสุขภาพแข็งแรงและมีจิตใจสงบ นอกจากนี้แพราเซลซัส (Paracelsus) นักพฤกษศาสตร์ในศตวรรษที่ 16 ยังได้กล่าวว่า “ศิลป์และศาสตร์ของการรักษาเกิดธรรมชาติ มิใช่แพทย์” และงานศิลปะมีชื่อเสียงหลายๆ ชิ้นบนโลก เช่น บทเพลง บทกวี ก็ล้วนแต่มีแรงบันดาลใจมากจากธรรมชาติทั้งสิ้น จึงเป็นคำถามว่าร่างกายของมนุษย์ หรือชีวิตมนุษย์นั้นเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้อย่างไร ศาสตร์วิชาและปรัชญาก่าแก่ของหลายลัทธิทั่วมุมโลกบอกไว้ว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ และช่องว่างเล็กๆ ในร่างกามนุษย์ ช่วยให้เราเข้าใจกฎและความเกี่ยวพันของมนุษย์กับธรรมชาติในเบื้องต้นได้

ก่อนที่เราจะมีสภาพเป็นหุ่นยนต์โดยสมบูรณ์ อยากให้วางมือจากงานตรงหน้า หยุดการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด แล้วพาตัวเองออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ เพื่อทอดกายสู่อ้อมกอดอันเงียบสงบของป่าไม้ใบเขียว  ด้วยการหาเวลาพาร่างกายไป ‘อาบป่า’ (Forest bathing) ใช้ชีวิตอย่างเชื่องช้าท่ามกลางธรรมชาติ ฟังเสียงป่า สัมผัสเปลือกไม้ ดมกลิ่นหญ้า และเอาเท้าจุ่มน้ำ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นพลังขึ้นมาใหม่ไปด้วยกัน

 

Forest Bathing - Global Wellness Institute
globalwellnessinstitute.org

 

‘Shinrin-Yoku’ การอาบป่าของญี่ปุ่น

การอาบป่า (Forest bathing) เป็นการทดสอบการบำบัดดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกกว่า ชินรินโยกุ (Shinrin-Yoku) มีมาตั้งแต่ปี ศ.ศ. 1980 โดยคำว่า Shirin แปลว่า ป่า และ Yoku แปลว่า การอาบ ซึ่งเป็น Nature Therapy หรือธรรมชาติบำบัดรูปแบบหนึ่งที่เป็นการเข้าไปใช้เวลาอยู่ในป่าลึกคนเดียวโดยให้ธรรมชาติเข้ามาช่วยบำบัด-เยียวยา-รักษาร่างกายและจิตใจ หรือซึมซับธรรมชาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับร่างกายผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ซึ่งเกี่ยวโยงโดยตรงกับสภาพแวดล้อมของร่างกาย เช่น อากาศ อุณหภูมิ กลิ่น และเสียง

จากการวิจัยเกี่ยวกับปฏิกิริยาของสมองต่อการรับรู้ของถึงการมีอยู่ของพืช โดยมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ให้ผู้ทะสอบมองดูต้นไม้ (ในวิจัยใช้พืชตระกูล Dracaena) ) ที่ถูกจัดวางไว้ในที่ทำงาน พื้นที่เมือง และที่อยู่อาศัย พบว่าระดับฮีโมโกลบินในเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าของผู้ทดสอบมีระดับสูงขึ้นมากกว่าตอนที่ต้นไม้ไม่ได้ถูกวางเอาไว้ แสดงให้เห็นว่าการมีอยู่ของพืชในบริเวณรอบตัวมีผลต่อสุขภาพสมองของมนุษย์

ดังนั้นแล้วธรรมชาติจึงสัมพันธ์และสร้างความสุขให้กับมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เพราะมนุษย์นั้นรับรู้ได้ด้วยสัญชาตญาณว่า ธรรมชาติมีคุณมากมายแก่สมองและจิตใจ ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านอารมณ์ความรู้สึกที่มีความสุขและความผ่อนคลายเมื่อตัวเราอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และด้วยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่หลากหลาย การอาบป่าจึงได้กลายมาเป็นวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างแยกไม่ออก

 

mediarabe.info

 

ขั้นตอนของการบำบัดแบบชินรินโยกุ

การบำบัดแบบชินรินโยกุหรือการอาบป่า มีความหมาย ขั้นตอน และผลลัพธ์คล้ายกับการบำบัดด้วยธรรมชาติ(Nature Therapy) โดยมีคำจำกัดความว่าเป็น ‘ชุดของการฝึกฝนและรักษาเพื่อสร้างผลลัพธ์ด้านการป้องกันทางการแพทย์โดยใช้ธรรมชาติเป็นสิ่งเร้า’ ซึ่งก่อให้เกิดความผ่อนคลายทางจิตใจและเพิ่มประสิทธิภาพภูมิคุ้มกัน โดยขั้นตอนการบำบัดด้วยธรรมชาติจะเป็นไปตามแผนภูมิด้านล่าง

เริ่มจากการมีภาวะเครียดก่อนการบำบัด เมื่อความเครียดนั้นถูกเร้าด้วยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ใบไม้ ลม หรือเสียง ความเครียดจะค่อยๆ ถูกกำจัดและเกิดการเยียวยาทำให้จิตใจผ่อนคลาย เพิ่มระดับภูมิคุ้มกันขึ้นมาในร่างกาย กลายเป็นผลลัพธ์ด้านการป้องกันร่างกายหรือเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางการแพทย์ต่อไป การอาบป่าแบบ ชินรินโยกุจึงเป็นหนึ่งในขั้นตอนการรักษาและสร้างภูมิคุ้มกันที่สามารถเยียวยาสุขภาพกายและใจได้เป็นอย่างดี

ทันทีที่เราเข้าไปในพื้นที่ป่าแล้วการบำบัดแบบชินรินโยกุก็จะเริ่มขึ้นทันทีโดยมีขั้นตอนตั้งตาการวางมือและปิดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ทำตัวให้ช้าลงขณะที่เคลื่อนตัวผ่านป่าเพื่อให้เห็นและได้สัมผัสมากขึ้น หยุดยืนหรือนั่งดมกลิ่นรอบตัวด้วยการหายใจเข้าลึกๆ ใช้การสังเกตอย่างมีสติพยายามหลีกเลี่ยงการคิดถึงสิ่งที่ต้องทำเพียงแค่เงียบเสียงลง ใช้สายตามองสีของธรรมชาติ สุดท้ายสัมผัสกับธรรมชาติให้นานที่สุด โดยระยะเวลาที่แนะนำคืออย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อประสบการณ์การอาบป่าที่ได้ผล

การอาบป่าแบบชินรินโยกุนอกจากจะช่วยเยียวยาเรื่องสุขภาพใจแล้ว ในด้านสุขภาพกายวิธีนี้ยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เช่นเพิ่มเซลล์ที่ใช้ฆ่าเซลล์มะเร็งโดยธรรมชาติ ช่วยเรื่องระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่นป้องกับโรคความดันโลหิตสูง ระบบทางเดินหายใจ เช่นต้านโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดและอาการวิตกกังวล ทำให้ให้ผ่อนคลายจิตใจ สร้างความมั่นใจ และพึงพอใจในตนเองอีกด้วย

 

Forest bathing therapy in Japan - how to forest bath as a therapy
diariesofmagazine.com

 

การอาบป่าทำอะไรกับร่างกายของเราบ้าง

การอาบป่าหรือการบำบัดด้วยป่านั้นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของชินรินโยกุ หรือ Nature therapy อย่างที่เรารู้จักกันล้วนอาศัยการใช้ประสาทสัมผัสของเราในการซึมซับธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติจะทำปฏิกิริยาผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเรา และเกิดเป็น 6 ปฏิกิริยา ดังนั้น

  1. การมองเห็น วิลเลียม เจมส์ (William James) นักจิตวิทยาและนักปรัชญาในยุคศตวรรษที่ 19 ให้ความเห็นว่าสายตาของมนุษย์สามารถสนใจและจับจ้องกับธรรมชาติได้อย่างเป็นปกติและไม่รู้ตัว โดยการมองและการเกิดความสนใจนั้นเมื่อเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ จะทำให้ผู้มองผ่อนคลาย นอกจากนี้ สตี เฟน แคปแลนด์ (Stephen Kaplan) นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยมิชิแกนยังได้กล่าวไว้ว่า “เมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติเราจะเข้าสู่สภาวะความหลงใหลที่นุ่มนวล (Soft fascination) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดความสงบในจิตใจ โดยการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการไม่ต้องใช้สายตาจับจ้องสิ่งเร้ารอบข้าง”
  2. การได้ยิน หากคุณได้ใช้เวลาอยู่ท่ามกลางต้นไม้อาจได้ยินเสียงนกร้อง เสียงดังก้องของฟ้าร้อง เสียงน้ำไหล แรงลมจากกิ่งไม้ใบไม้ที่เสียดสี เสียงโหยหวนและอื่นๆ ซึ่งเสียงของธรรมชาติส่วนมากจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย เช่น เสียงฝนตกที่มักทำให้ง่วงนอนหรือผ่อนคลายบรรยากาศได้ นั่นเป็นเพราะเสียงฝนหรือเสียงธรรมชาตินั้นมีความถี่ที่สม่ำเสมอ มีความดังที่ต่อเนื่องยาวนาน เป็นคลื่นรบกวนที่หลอกให้สมองลดการตื่นตัวลงและสงบนิ่งมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการใช้เสียงธรรมชาติในการบำบัดอาการเครียดและนอนไม่หลับ รวมไปถึงใช้กล่อมเด็กให้นอนหลับได้สนิทอีกด้วย
  3. การได้กลิ่น กลิ่นที่มาจากธรรมชาติมีสารสำคัญที่เรียกว่า ไฟทอนไซด์ (Phytoncides) คือน้ำมันหอมระเหยที่พืชปล่อยออกมาเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อรา เชื้อโรค และแมลง แต่สำหรับมนุษย์สารจากน้ำมันหอมระเหยจะช่วยให้เราผ่อนคลายและสร้างภูมิคุ้มกันได้ เช่น ช่วยสร้างเซลล์กำจัดมะเร็ง (Nature Killer cell) ฟทอนไซด์จากพืชประเภทต้นโอ๊กช่วยลดปริมาณเชิงจุลินทรีย์ในอากาศได้ถึง 250 เท่าต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งเป็นการช่วยทางออกในการปรับปรุงปอดและระบบหายใจ ไฟทอนไซด์จากพืชประเภทปาล์ม มะนาว และออริกาโนยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้หลับสนิท สภาพจิตใจเป็นปกติ และไฟทอนไซด์จากพืชประเภทสะระแหน่ยังมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวกระตุกอีกด้วย
  4. การสัมผัส อย่างที่ทราบกันดีว่าการสัมผัสคือการแสดงความรู้สึกอย่างหนึ่ง เช่น การกอดเมื่อรู้สึกรัก โหยหา อบอุ่น การลูบ หรือแตะไหล่ เมื่อต้องการแสดงความเห็นใจหรือให้กำลังใจ การกอดต้นไม้และสัมผัสกับพื้นผิวของธรรมชาติก็เป็นวิธีหนึ่งที่สร้างความผ่อนคลายได้ดี ดังที่ ชิงลี่ (Qing Li) แพทย์และประธานสถาบัน Japanese Society for Forest Medicine กล่าวไว้ในหนังสือ Forest bathing ว่า “ชินรินโยกุเปรียบเสมือนสะพาน ระหว่างเรากับโลกธรรมชาติ เชื่อมโยงเรากับธรรมชาติและมันพาเรากลับบ้านไปสู่ตัวตนที่แท้จริงของเรา”
  5. การรับรส สำหรับการผ่อนคลายด้วยประสาทรับรสจากการใช้ธรรมชาติบำบัด อาจไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยตรงอย่างการเลียหรือลิ้มรสใบไม้สดๆ แต่ธรรมชาติสามารถเข้าเยียวยามนุษย์ได้โดยเป็นอาหารในลักษณะที่ถูกกับร่างกาย แต่การผ่อนคลายไม่ได้เกิดจากการรับรสชาติที่ถูกปากเท่านั้น ยังรวมไปถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมด้วยซึ่งสอดคล้องกับหลักการรักษาสมดุลของธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย ยิ่งไปกว่านั้นการชิมยังมีส่วนช่วยทำให้เราดื่มด่ำและจดจำบรรยากาศ ณ สถานที่นั้นได้ดีขึ้นอีกด้วย
  6. การรับรู้ด้วยความรู้สึก ในบริบทนี้เจาะจงถึงการเกิดความรู้สึก Awe ซึ่งหมายถึง ความกลัว ความรู้สึกเปราะบาง และความเคารพต่อธรรมชาติที่กว้างใหญ่ทรงพลังและลึกลับ เช่น การอยู่ท่ามกลางป่าที่มีต้นไม้อายุหลายร้อยปี การนอนดูดาว ดูพระอาทิตย์ตก มองดูภูเขาสูงหรือมหาสมุทรกว้าง โดยความรู้สึกพิศวงนี้ตามมาด้วยพลังงานแห่งความคิดสร้างสรรค์ ความสนุก ความรู้สึกอิสระและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ซึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการผ่อนคลายจากความเครียดแล้ว ความรู้สึกนี้คงเป็นเหมือนยาที่เข้าไปรักษาได้ตรงจุดและได้ผลชะงัก

 

WEB_AN3A7957
diariesofmagazine.com

 

ปฏิกิริยาของร่างกายที่เปลี่ยนไปเมื่อได้อาบป่า

คุณสมบัติและประโยชน์มากมายจากการบำบัดด้วยธรรมชาติหรือการอาบป่านี้ ได้มีนักวิจัยทำการทดสอบอย่างจริงจังว่าแท้จริงแล้วธรรมชาติเข้าไปทำอะไรกับร่างกายเรากันแน่ โดยการตรวจวัดด้วยวิธีทางการแพทย์เพื่อให้ทราบถึงองค์ประกอบและปฏิกิริยาในร่างกายที่เปลี่ยนไป ดังนี้

ระดับการเต้นของหัวใจ (Heart-Rate Metrics) ทั้งระดับการเต้นของหัวใจและระดับความดันเลือด (PR) ของผู้รับการทดสอบลดลงเมื่ออยู่ในพื้นที่ป่าเมื่อเทียบกับในพื้นที่เมือง ซึ่งผลลัพธ์สอดคล้องกับงานวิจัยของสถาบัน Cannadian Ontario Health Study ที่วิจัยความสามารถในการออกกำลังกายของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีพื้นที่สีเขียวมาก ว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีพื้นที่สีเขียวน้อย

โรคทางกายภาพ (Physiological Disease State) สำหรับการทดสอบทางกายภาพ ได้ทดสอบกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยให้กลุ่มผู้ทดสอบเดินทางไปทริปในพื้นที่ธรรมชาติเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยผลปรากฏว่าหลังการจัดทริป ผลความดันโลหิต BP และ CV มีระดับลดลง การทำงานของหัวใจหรือความเหนื่อยลดลง รวมไปถึงระดับน้ำตาลกลูโคส อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการควบคุมโรคเบาหวานอีกด้วย

ด้านสภาพจิตใจ (Psychological) การทดสอบได้ทดลองกับชาวญี่ปุ่นผู้มีปัญหาด้านความเครียดเรื้อรัง รู้สึกต่อต้าน วิตกกังวลและรู้สึกกดดัน ให้ใช้เวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติในระยะเวลาหนึ่ง จากการวิจัยและชี้วัดที่ได้รับความร่วมมือจากผู้พัฒนาระบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ในเกาหลีใต้ ได้มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีร่วมกับสภาพแวดล้อมในป่าในการทำการบำบัดตามความต้องการของคนไข้ ผลการวิจัยปรากฏว่าสารคอร์ติซอลในน้ำลายซึ่งบ่งบอกถึงความเครียดนั้นลดลง รวมไปถึงความวิตกกังวลก็ลดลงด้วยเช่นกัน

การวัดผลด้านจิตใจ (Sensory Metrics) จากการทดสอบด้วยการให้ดูภาพของสวนผลไม้ แล้ววัดค่าสภาพอารมณ์ (Profile of mood states, POMS) และระดับการเต้นของหัวใจพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของการกระตุ้นระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System, PNS) ทำให้อารมณ์สงบและผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากผลการวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีการทดสอบด้าน ความวิตกกังวล (Autonomic Nervouse System Effect) และสารจากต่อมไร้ท่อ (Endocrine Function) ซึ่งผลลัพธ์ล้วนออกมาในทิศทางเดียวกัน

 

standard.co.uk

 

Triangle Park กับการสร้างป่าในเมืองของสหรัฐฯ  

ในยุคที่เมืองเปลี่ยนไป วิถีชีวิตถอยห่างออกจากธรรมชาติ และกลายเป็นชีวิตแบบใหม่ที่อยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีต ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นคือเมื่อไม่มีป่าก็ไม่มีพื้นที่รับน้ำ ไม่มีตัวช่วยกรองฝุ่น และไม่มีธรรมชาติร่มเย็นให้ได้สัมผัส หลายประเทศจึงเริ่มมองเห็นความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้น และมีนโยบายสร้างป่าในเมืองเพื่อให้ธรรมชาติเหล่านั้นปรับสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพกายใจของผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง

ด้วยประสิทธิภาพของป่าไม้ใบเขียวที่ช่วยทั้งระบายความร้อนของเมือง เป็นพื้นที่รับน้ำ และดูดซับมลพิษทางอากาศนั้น จึงเป็นที่มาในการพัฒนาโครงการป่าในเมืองของหลายประเทศ ซึ่งเมืองแคมบริดจ์ รัฐแมตซาชูเซตส์ ก็กำลังจะพัฒนาแผนแม่บท (Master Plan) เพื่อให้เป็นแนวทาง เป็นเป้าหมาย เป็นวัตถุประสงค์ และเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการเป็นป่าในเมืองให้กับสหรัฐฯ

Triangle Park คือสวนสาธารณะขนาด 2 เอเคอร์ ตั้งอยู่ที่แคมบริดจ์ (Cambridge) รัฐแมตซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็ก 1 ใน 3 แห่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ open space เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่เหลืออยู่ภายในพื้นที่ที่กำลังพัฒนาของแคมบริดจ์ โดยสวนแห่งนี้กำลังจะถูกสร้างเป็นพื้นที่กันชน (Buffer Zone) จากถนนที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนและรถรา แนวคิดการออกแบบสวนแห่งนี้คือการนำป่าและธรรมชาติกลับสู่สภาพแวดล้อมในเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และมอบการพักผ่อนหย่อนใจทั้งแบบพาสซีฟและแอคทีฟให้กับผู้ที่อาศัยและทำงานในละแวกใกล้เคียง

 

mommypotamus.com

 

มาถึงตรงนี้เรารู้แล้วว่าธรรมชาติมีผลดีกับตัวเราอย่างไร แต่สำหรับคนเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่าคอนกรีตแทบทุกช่วงเวลา ต้องเผชิญหน้ากับความวุ่นวายและมลภาวะสารพัดรูปแบบจนร่างกายแทบรับไม่ไหว อีกทั้งความเจริญก็ดึงเราออกห่างจากธรรมชาติมากไปทุกที นานๆ ทีถึงจะได้มีโอกาสไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ คงสงสัยว่าการออกไปสัมผัสธรรมชาตินั้นต้องทำเท่าไรถึงจะดี

การ Take a nature pill หรือการออกไปสัมผัสธรรมชาติครั้งหนึ่ง อาจใช้เวลาเพียง 20 – 30 นาทีต่อครั้ง หรือประมาณ 120 นาทีต่อสัปดาห์ หากการพาตัวเองไปแช่อยู่ในป่าเป็นเรื่องยากจนเกินไป อาจเปลี่ยนเป็นเข้าไปในสวนสาธารณะเล็กๆ (Pocket Park) สักแห่งใกล้ๆ บ้านของคุณ เพื่อให้ธรรมชาติช่วยลดสภาวะความเครียดและเยียวยาจิตใจ

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเมืองที่แออัดหรือวุ่นวายขนาดไหน ลองมองหาต้นไม้ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อพักสายตาแล้วเริ่มลงมืออาบป่ากันได้เลย เพราะถึงแม้เวลา สภาพแวดล้อม หรือการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปแต่พื้นฐานปัจจัยของการเกิดสุขภาวะที่ดีก็ยังคงต้องอาศัยพลังจากธรรมชาติเช่นเดิม ดังนั้นแล้วการอาบป่าจึงไม่จำกัดว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน แต่สามารถเกิดได้ทุกที่บนโลกนี้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Corraliza, Lisbeth C. Bethelmy and José A. Transcendence and Sublime Experience in Nature: Awe and  Inspiring Energy. March 13, 2019. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6424873/#:~:text=Awe%20was%20defined%20by%20feel ings,and%20harmony%20with%20the%20universe. (accessed December 29, 2020).

DiGiulio, Sarah. Why scientists say experiencing awe can help you live your best life. Febuary 20, 2019. https://www.nbcnews.com/better/lifestyle/why-scientists-say-experiencing-awe-can-help-you-live-yourncna961826 (accessed December 31, 2020).

Feder, Sarah. Five important facts about urban forests. August 19, 2019. https://medforest.net/2019/08/14/fiveimportant-facts-about-urban-forests/ (accessed December 28, 2020).

Forelich, A. (2017, May 22). Plants use sound to find water and survive, new research shows. Retrieved from Inhabitat: https://inhabitat.com/new-research-suggests-plants-use-sound-to-find-water-and-survive/

ForestryEngland. Forests for wellbeing booklet. n.d. https://www.forestryengland.uk/resource/wellbeing-booklet (accessed December 31, 2020).

Harumi Ikei, Chorong Song and Yoshifumi Miyazaki. Physiological Effects of Touching Wood. July 18, 2017. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5551239/#:~:text=After%20sitting%20at%20rest%20with,t he%20materials%20for%2090%20s.&text=In%20conclusion%2C%20our%20study%20revealed,materials %2C%20thereby%20inducing%20physiological%20relaxation. (accessed December 29, 2020).

Kirkpatrick, Noel. 20 Minutes in Nature a Day Is Your Ticket to Feeling Better. March 2, 2020. https://www.treehugger.com/urban-park-feel-better-study-4864384 (accessed December 31, 2020).

Livni, Ephrat. QUARTZ. Febuary 21, 2018. https://qz.com/1208959/japanese-forest-medicine-is-the-art-of-usingnature-to-heal-yourself-wherever-you-are/ (accessed 12 28, 2020).

Margaret M. Hansen, * Reo Jones, and Kirsten Tocchini. Shinrin-Yoku (Forest Bathing) and Nature Therapy. Published online, US: US National Library of Medicine, 2017.

Info-4all.Phytoncide คือ … คุณสมบัติของ phytoncides พืชที่มี phytoncides. September 15, 2019. https://th.info4all.ru/obrazovanie/fitoncid-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-svojstva-fitoncidov-rasteniyasoderzhashie-fitoncidi/ (accessed December 29, 2020).

Sattayasai, Kanathip Singsai and Jintana. “Roles of Inflammation in Neurodegenerative Diseases.” 2017. file:///C:/Users/BTL-AIO/Downloads/80343-Article%20Text-224320-1-10-20170627.pdf (accessed December 31, 2020).

Sheikh, Knvul. How Much Nature Is Enough? 120 Minutes a Week, Doctors Say. June 13, 2019. https://www.nytimes.com/2019/06/13/health/nature-outdoors-health.html (accessed December 31, 2020).

THE 5 ELEMENTS OF NATURE AND THEIR RELATIONSHIP WITH THE HUMAN BODY. July 11, 2020. http://dallasyogafest.org/2017/07/11/the-5-elements-of-nature-and-their-relationship-with-the-humanbody/ (accessed December 28, 2020).

TokyoRoomFinder. (2020, April 28). Shinrin Yoku, a Japanese therapy into the forest. Retrieved from Tokyo Room Finder: https://blog.tokyoroomfinder.com/living-in-japan/shinrin-yoku/ SOCIOLOGY UndubZapp. ทำไมเสียงฝนตกพรำๆ ถึงทำให้เรามีสมาธิ ผ่อนคลาย และหลับสนิท. June 19, 2020. https://today.line.me/th/v2/article/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0 %B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%9D%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%81%E0 %B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B3%E0%B9%86+%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%97%E 0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E (accessed December 29, 2020).

Williams, Florence. “The Cordial air.” In The Nature Fix: Why Nature Makes Us Happier, Healthier, and More Creative, by Florence Williams. 2017.

Valtin, T. (2018, August 9). The Healing Power of Awe. Retrieved from Sierra club: https://www.sierraclub.org/planet/2018/08/healing-power-awe

ยุพเกษตร, วนบุษป์. อาบป่า…ยามหัศจรรย์ที่มองไม่เห็น. April 10, 2019. https://www.creativethailand.org/view/articleread?article_id=31964 (accessed 12 29, 2020)

https://worldlandscapearchitect.com/the-resurgence-and-resilience-of-urban-forestry/#.YDR5BOgzaUk

 

Illustration by Montree Sommut

 

Share :