การเข้าใจปัญหาและใช้ทรัพยากรที่มีในการสร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์กับผู้คนและบริบท คือหลักการของการออกแบบที่ไม่ได้ใช้เฉพาะกับการออกแบบกายภาพ แต่หมายรวมถึงการใช้ในการออกแบบและปกครองเลยก็เป็นได้
ริดวาน คามิล (Ridwan Kamil) คือสถาปนิกที่ประสบความสำเร็จ และผันตัวมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองบันดุง (Bandung) ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการผันจากสถาปนิกมาเป็นผู้ว่าฯ นั้น มาจากความมุ่งมั่นที่อยากเปลี่ยนแปลงเมืองบันดุง อันเป็นบ้านเกิดของเขา ให้กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ เป็นเมืองที่มีความสุข และเป็นที่รักของทุกคน
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ควรต้องเร่งแก้ไข ในความคิดเขา เขามองว่ามันต้องทำในระดับโครงสร้าง คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ของเมือง ทั้งด้านขนส่ง น้ำ สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ ฯลฯ อันเป็นสิ่งที่เมืองขาดมานานจากการสร้างเมืองรองรับคนแค่สามแสนคน เพราะปัจจุบันด้วยการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัว ทำให้ประชากรมีมากถึง 2.5 ล้านคน และกำลังจะโตขึ้นเรื่อยๆ จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ
และเขารู้ดีว่าสิ่งเหล่านี้จะทำไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในทุกระดับ เขาเริ่มต้นด้วยการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในสมัยแรกราว 48% ด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่น ซึ่งสิ่งนี้เป็นเสมือนใบเบิกทางในแรกที่ทำให้เขาก้าวเข้าใกล้ความหวังที่อยากให้เป็นมากขึ้น แต่มันก็ไม่ง่ายที่วิสัยทัศน์ของนักออกแบบจะนำไปสู่การปฏิบัติในระบบราชการที่ล้าหลัง ขาดประสิทธิภาพ และเต็มไปด้วยการคอรัปชั่น
เวลาของเขาส่วนใหญ่นอกจากการวางแผนงานแล้วยังต้องใช้ในการทำความเข้าใจทั้งกับนักการเมือง ข้าราชการ รวมถึงพลเมือง เพื่อให้ทุกๆ ภาคส่วนเปลี่ยน mindset ว่าการพัฒนาเมืองคือเรื่องของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
พัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม จากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
ในฐานะนักออกแบบ สิ่งแรกที่คามิลทำคือการเชื่อมทรัพยากรของเมืองเพื่อสร้างโซลูชั่น เขาบอกว่าเมื่อเราเห็นเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหา แต่ในขณะเดียวกันเราเห็นกลุ่มทางสังคม ตลอดจนเยาวชนคนรุ่นใหม่ผู้มีความรู้และมีการศึกษาจำนวนมากที่อยู่ในเมือง พวกเขาล้วนมีศักยภาพและอยากสร้างประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งถ้าเราเอาสองส่วนนี้มาเจอกันผ่านการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้สังคมเป็นส่วนสำคัญของการสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหา ด้วยการสร้างระบบนิเวศให้คนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการรายย่อยได้ก่อเกิดไอเดียที่เป็นประโยชน์ ที่ไม่เพียงช่วยเมืองแก้ปัญหา แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดรายได้ ทั้งต่อตัวเขาและเศรษฐกิจโดยรวม แน่นอนว่าท้ายที่สุดมันส่งผลต่อการดึงดูดคนมาเรียน มาทำงาน และพักอาศัยที่เมืองนี้มากขึ้น
สิ่งนี้รัฐอาจไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด เพราะด้วยกฎเกณฑ์และระเบียบทางโครงสร้างที่มีอยู่มากมาย แต่คือการสร้างความร่วมมือ สนับสนุนองค์กรทางสังคม และภาคเอกชนให้มามีส่วนร่วม อย่าง bandung creative city forum ที่สนับสนุนการใช้การออกแบบสำหรับแก้ปัญหาเมือง โดยเริ่มจากการออกแบบวิธีคิด ประเมินปัญหา หาโซลูชั่น สร้างต้นแบบ (prototype) และสร้างการมีส่วนร่วมกับประเด็นปัญหาของเมืองต่างๆ
หนึ่งเครื่องมือสำคัญที่คามิลใช้ คือการสร้าง ‘รัฐบาลเปิด’ หรือ open government เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นปัญหาและมีส่วนในแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา ด้วยข้อมูลที่ตอบโจทย์ตรงความต้องการของพลเมืองอย่างแท้จริง โดยทุกหน่วยราชการจะมี social media account ที่เป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถส่งความเห็น ข้อร้องเรียน ให้คะแนน ประเมิน และตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐได้ และรัฐเองจะใช้ข้อมูลนั้นในการนำไปปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น และมีความโปร่งใสมากขึ้น
โปร่งใสและตรวจสอบได้ ข้อมูลสำหรับการจัดการในอนาคต
การใช้งบประมาณของเมืองนั้นประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลว่าเงินจำนวนต่างๆ นั้นจะถูกใช้ไปทำอะไร และอยู่ในขั้นตอนไหน มีการสร้างแอปพลิเคชั่นต่างๆ ให้พลเมืองสามารถแจ้งเตือนเหตุร้าย ปัญหา ตลอดจนอำนวยความสะดวกเรื่องใช้ชีวิตในเมือง รวมถึงในการลดขั้นตอนการขออนุญาตกับภาครัฐ โดยสิ่งสำคัญคือแอปพลิเคชั่นจะเป็นกลไกในการเก็บบิ๊กดาต้า (Big Data) เพื่อให้รัฐวางแผนการจัดการได้ดีขึ้น
การเปิดแพลตฟอร์มนี้เองคือกลไกที่เชื่อมปัญหากับคน เชื่อมประชาชนกับรัฐ ที่จะทำงานไปด้วยกันในการแก้ปัญหาเมือง ตลอดจนสร้างความหวังและความเชื่อมั่นของผู้คนที่มีต่อรัฐให้กลับคืนมา
นอกจากนี้ การสร้างการมีส่วนร่วมยังรวมถึงการดึงเอกชนมาเป็นหุ้นส่วนในการลงทุนพัฒนาเมือง หรือ Public Private Partnership (PPP) โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดโครงการได้ทันท่วงที โดยวางหลักเกณฑ์และผลตอบแทนที่โปร่งใสอย่างการสร้างระบบโมโนเรล (monorail) ไปจนถึงการสร้างเทคโนโพลิส (Technopolis) เพื่อเป็นสถานที่ในการบ่มเพาะ start up และธุรกิจสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ที่มีอยู่มากในเมือง
‘พื้นที่สาธารณะสีเขียว’ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ที่ควรค่าแก่การลงทุน
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนโดยรัฐเพื่อซื้อที่ดินจำนวนมากในเมือง เพื่อสร้างเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว ด้วยปัจจัยแวดล้อมและการได้รับการสนับสนุนจากองค์กรท้องถิ่นทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมของเมืองในการใช้การออกแบบเพื่อการพัฒนาเมืองจนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในการคิด การสร้างการมีส่วนร่วม และผลงานที่เป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาที่เมืองบันดุงได้รับการคัดเลือกเป็น city of design จากองค์กร UNESCO (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ในปี 2015
การที่ผู้ว่าการเมืองเป็นนักออกแบบ หรือสถาปนิก ก็มีส่วนไม่น้อยในการทำให้การบริหารเมืองนั้นเห็นภาพกว้าง เห็นเครื่องมือ (โดยเฉพาะการออกแบบ) ในทุกขั้นตอน ที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองที่สร้างคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรมได้สำเร็จ
เพราะแท้จริงแล้วเมืองนั้นออกแบบได้ การออกแบบคือการประเมินปัญหาและหาทางออก ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนและพื้นที่อย่างแท้จริง และเราทุกคนคือนักออกแบบ หากรัฐหรือผู้นำสร้างกลไก วิธีการ เพื่อพลังและความคิดสร้างสรรค์ที่ทุกคนมีได้เปล่งประกายร่วมกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Montree Sommut
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker