CITY CRACKER

ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และรับมือ Climate Change ด้วยนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว

ปล่อยฝุ่นควันลดการแผ่รังสีของแสงอาทิตย์ ปล่อยบอลลูนหรือยานอวกาศในชั้นบรรยากาศเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์กลับมายังผิวโลก จนถึงการแพร่ของสาหร่ายในทะเลเพื่อเพิ่มการดูดซับคาร์บอน

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่นิยายหรือความเพ้อฝันอีกต่อไป แต่เป็นแนวคิดจากนักวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Geoengineer เพื่อดัดแปลงโลกให้รับมือกับภาวะโลกร้อนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนะกระจก ที่เรากำลังนับถอยหลังสู่ความหายนะหากเราไม่ทำอะไรในวันนี้

reutersevents.com

นับถอยหลังสู่โลกที่ไม่เหมือนเดิม

การเริ่มปีใหม่ เท่ากับเป็นการเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่กำหนดที่โลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายใน 30 ปีข้างหน้า หรือปี 2050 ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ในขณะที่ภายในปี 2030 เราต้องบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เราเรียกว่า SDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาโลกให้ไปในทิศทางที่ลดการทำลายโลก เป็นไปเพื่ออยู่ร่วมกับโลก ก่อนที่การทำลายโลกจะนำไปสู่หายนะในท้ายที่สุด

ภูเขาฟูจิไร้หิมะปกคลุม วันที่อากาศร้อนนานขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดจนโรคระบาด คือสัญญาณเตือนแสดงให้เห็นถึงการขาดสมดุลในธรรมชาติอันเนื่องจากการพัฒนา ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของเรา แต่หมายถึงเงินหรือผลกระทบที่เราต้องจ่ายมากขึ้นในวันนี้และอนาคต นอกจากกระทบต่อความเป็นอยู่และการเงิน การเปลี่ยนแปลงสภาพระบบนิเวศคงยากที่จะย้อนกลับไปแก้ไข และคงไว้ซึ่งความเป็น Ecosystem ที่เรารู้จัก

จากอนุสัญญาดังกล่าว ระบุว่า หากยังคงปล่อยให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปโดยไม่ทำอะไร จะส่งผลให้อูณหภูมิของโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้  นั่นเป็น tipping point ที่ส่งผลต่อการสูญพัน และสูญเสียระบบนิเวศน์ที่ไม่อาจย้อนกลับ ไม่นับรวมคลื่นความร้อน พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง การขาดพื้นที่เพาะปลูก ขาดเแคลนอาหาร ปริมาณปลาที่จับในทะเล การกัดเซาะชายฝั่งจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จากการละลายของน้ำแข็งในขั้วโลก ทั้งหมดจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของหลายร้อยล้านชีวิตบนโลกใบนี้

 

straitstimes.com

เป้าหมายของมนุษยชาติคือให้โลกยังดำรงอยู่

ปัญหาและวิกฤติที่เกิดขึ้นจึงเป็นเป้าหมายและการประกาศเจตนารมณ์ของหลายประเทศทั่วโลก ในการหยุดยั้งไม่ให้โลกเดินทางถึงจุดอวสาน ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะต้องร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อให้อูณหภูมิของโลกไม่สูงขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส (เทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม) โดยสถานการณ์ล่าสุด ปี 2019 อูณหภูมิของโลกสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่สู้ดีนัก หลังจากภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นว่าการหยุดกิจกรรมของมนุษย์และรวมถึงการผลิตต่างๆ ช่วยให้การปลดก๊าซเรือนกระจกลดลงมากกว่า 50% ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงสาเหตุหลักของปัญหาและทางออกไปในตัว

 

การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

Green Recovery คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมระบุว่า แนวทางการพัฒนาเช่นนี้จะช่วยในเรื่องเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยให้เราพร้อมในการรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า หลายประเทศกำลังพูดถึงแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูประเทศหลังโควิด เพื่อการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ และสร้างคุณภาพชีวิตคนให้ดีดังเดิม ในขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับปัญหาของ climate change ไปด้วย เพราะเรากำลังหมดเวลาลงทุกขณะ

 

สหรัฐอเมริกา กับนโยบาย Green New Deal

Green New Deal เป็นแนวนโยบายเสนอโดยสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาในการที่จะสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเพื่ิอลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 มีการคาดการว่าหากไม่ทำอะไรเศรฐกิจสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบหลายพันล้านดอลล่าจากวิกฤติ climate change ในครั้งนี้ แต่ถ้าดำเนินการตามแผน green new deal นอกจากช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกันก็สร้างงานและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไปด้วย และหัวใจของสิ่งแวดล้อมที่ดีคือสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับทั้งอากาศบริสุทธิ์ อาหารปลอดภัย และสุขภาพที่ดี เพื่อให้แน่ใจว่าการก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวจะสร้างประโยชน์ให้กับคนในสังคมอย่างแท้จริง

แผนงาน green new deal มีประเด็นหลักๆ คือปรับเปลี่ยนการผลิตพลังงานจากฟอสซิลสู่การลงทุนในพลังงานสะอาด ปรับประงบการก่อสร้างอาคาร ลดการใช้พลังงานให้น้อยลง มีมาตรการในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำปศุสัตว์ และการเกษตร เพื่อให้ลดการปล่อยก็าซเรือนกระจก นอกจากนั้นยังมีการอบรมทักษะใหม่ๆ ให้กับพลเมืองเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดีโจไบเดนจะนำสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ climate agreement และเดินหน้า green new deal ที่หยุดยั้งไปในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ได้

 

ยุโรป กับ European Green Deal

European Green Deal คือแนวทางในการเปลี่ยนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของยุโรปเพื่อเข้าสู่ Green Economy and Circular Economy เพื่อทำให้ยุโรปเป็นทวีปที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งเจตนารมณ์นี้ไม่เพียงมุ่งดำเนินการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แต่ยังทำให้เศรษฐกิจสามารถสร้างงาน สร้างการแข่งขัน ฟื้นฟูระบบนิเวศ ตลอดจนสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกด้วย

แนวนโยบายนี้มาพร้อมกับมาตรการทางกฎหมาย แนวทางการดำเนินการ กฎเกณฑ์ ตลอดจนองค์ความรู้ที่ชัดเจนเพื่อให้แต่ละประเทศไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมภายใต้กรอบระยะเวลาที่แน่นอน โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนรวมกันราว 100,000 ล้านยูโร ภายใน 7 ปี (ค.ศ. 2021 – 2027) เพื่อสร้างและสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งด้านการขนส่งระบบราง การผลิตพลังงานสีเขียวทั้งบนฝั่งและในทะเล  การผลิตอาหารสะอาดปลอดภัย อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดการใช้ขยะ อุตสาหกรรมการรีไซเคิล แผนการปรับเปลี่ยนอาคารเพื่อลดการใช้พลังงาน ตลอดจนแผนในการฟื้นฟูระบบนิเวศ

สิ่งสำคัญคือการสนับสนุนเงินทุนกับธุรกิจต่างๆ เพื่อกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ล่าสุดในเยอรมันกลังมีความเป็นไปได้ของการพัฒนาพลังงานจากไนโตรเจนในระดับอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล

 

A 25-kilowatt solar array, part of a community-owned energy cooperative, in Bristol, England.
e360.yale.edu

 

จีน กับ Green Recovery

จีนประกาศในเวทีสหประชาชาติในปีนี้เรียกร้องให้ทุกประเทศใช้โอกาสของการฟื้นฟูจากโรคระบาดของโควิด-19 เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว (green recovery) โดยจีนประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ก่อนปี 2060 ซึ่งปัจจุบันการปล่อยก๊าซของจีนคิดเป็น 28% ของการปล่อยทั้งโลก โดยภายในปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 65% จากปริมาณก๊าซที่ปล่อยในปี 2005 จะมีการเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนในพลังงานสะอาดเป็น 25% เพิ่มพื้นที่ป่า 6 พันล้านคิวบิกเมตร และผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และลม 1.2 พันล้านกิโลวัตต์

 

สิงคโปร์ กับ Green Tax

Green Tax หรือ ภาษีสิ่งแวดล้อม คือมาตรการที่ใช้ในควยคุมและการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ว่าด้วยการจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิงคโปร์ได้เริ่มประกาศใช้  Green Tax ในปี 2020 ไปจนถึงปี 2032 เพื่อจัดเก็บภาษีกับอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 25,000 ตันต่อปี หรือมากกว่า โดยจะคิดภาษี 5 สิงคโปร์ดอลล่าต่อตัน และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึง 15 เหรียญในปีถัดไป อุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้เงินจำนวนจากการเก็บภาษีจะนำมาจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อลดโลกร้อน และเป็นเงินช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ ทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ เพื่อปรับไปสู่ green economic ในการใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซให้น้อยลง อีกทั้งยังใช้เป็นเงินอุดหนุน เป็นเงินค่าไฟให้กับครอบครัวชาวสิงคโปรที่ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นจากการจัดเก็บภาษีคาร์บอนดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ค่าไฟเพิ่มราว 1% สิงคโปร์เป็นหนึ่งใน 67 ประเทศทั่วโลกที่เริ่มนโยบาย Green tax ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์คาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ราว 1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ภายใน 5 ปีแรก และประกาศใช้ carbon tax เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง เพื่อให้ทันเป้าหมายภายในปี 2030 ที่ต้องลดลง 36% จากจำนวนก๊าซที่ปล่อยในปี 2005

 

ไทยกับนโยบายลดการปล่อยก๊าซและการสนับสนุนพลังงานสะอาด

มาที่บ้านเราอย่างไทยที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 20-25 % ภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมารัฐได้ออกมาตรการลดหย่อนทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนกับอุตสาหกรรมที่ช่วยลดการปล่อบก๊าซเรือนกระจก เช่นการผลิตพลังงานสะอาด เป็นต้น

 

 

อาวุธที่ต่อกรกับโลกร้อน

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เป็นแนวทางในการใช้รับมือกับภาวะโลกร้อนที่หลายประเทศใช้ร่วมกันมี 2 แนวทางคือ 1) การลดการปล่อยก๊าซ สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด การขนส่ง และรถไฟฟ้า และ 2) การหาวิธีเก็บก๊าซผ่านการดูดซับด้วยเทคโนโลยี อย่าง Geoengineer (แนวคิดการสร้างนวัตกรรมในการดูดซับคาร์บอน หรือลดการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ เช่น การพ่นฝุ่นควันในชั้นบรรยากาศลดการส่องของแสงอาทิตย์ การปล่อยบอลลูนหรือกระจกให้ลอยในชั้นบรรยากาศเพื่อสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์กลับไป เป็นต้น)

ดูเหมือนว่าอาวุธชิ้นสำคัญที่จะต่อกรกับภาวะโลกร้อน และคุ้มค่าการลงทุนที่สุดกลับไม่ใช่เทคโนโลยีล้ำสมัย แต่คือต้นไม้ที่มีการวิจัยยืนยันแล้วว่า การฟื้นคืนของระบบนิเวศจะช่วยให้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเป็นไปตามเป้า เพราะพื้นที่ธรรมชาติจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ราว 11 พันล้านตันต่อปี ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า การรักษาสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ ตลอดจนการเพิ่มต้นไม้ในพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น ซึ่งต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้จนถึงปี 2030 ทั้งหมดนี้ต้องมีนโยบายทั้งเชิงกำกับและเชิงจูงใจ เพื่อให้การขับเคลื่อนดังกล่าวบรรลุผล แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือผู้ดำเนินนโยบายโดยเฉพาะผู้นำต้อง political will และเชื่อว่า climate change นั้นมีอยู่จริงและมันแก้ไขได้

 

เราจะลงทุนเพื่อโลกที่ร้อนหรือโลกยั่งยืนขึ้น ?

ด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ส่งผลให้รัฐในหลายประเทศรวมถึงไทยกำลังออกมาตรการรวมถึงแผนฟื้นฟูประเทศครั้งใหญ่ การใช้เงินจำนวนมหาศาลในครั้งนี้ หากไม่วางแผนอย่างถี่ถ้วนอาจนำไปสู่การเร่งการผลิต เร่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสร้าง business as usual ให้กลับมาโดยเร็ว ซึ่งนั่นอาจเป็นการซ้ำเติมภาวะโลกร้อน และภารกิจที่เรามีร่วมกัน คือหยุดยั้งหรือชะลอโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอีก 30 ปีข้างหน้า

โลกหลังวิกฤติโควิดอาจไม่ต้องการ business as usual แบบเดิมที่นำพาเรามาสู่ปัญหาอย่างทุกวันนี้ และจะยิ่งเลวร้ายขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า คงเป็นการดีหากเงินจำนวนดังกล่าวจะใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่ไม่เพียงนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรมองถึงการใช้โอกาสนี้เปลี่ยนตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่จะทำให้เราสร้างคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ สร้างความเท่าเทียม และสร้างโลกให้ยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิมโลกที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้ทันกับความเสื่อมสลายของโลก ก่อนที่เราจะไม่เหลือโลกให้คนในรุ่นต่อไปได้อาศัย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

theguardian.com

e360.yale.edu

theguardian.com

prachachat.net

ec.europa.eu

straitstimes.com

nytimes.com

en.m.wikipedia.org

wri.org/climate

 

 

 

Illustration by Montree Sommut

 

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :