CITY CRACKER

มารู้จัก Circular Economy ระบบเศรษฐกิจที่หมุนขยะกลับไปใช้ใหม่

โลกสมัยใหม่ รวมถึงโลกอุตสาหกรรมมีแนวคิดสำคัญหนึ่งคือความเป็นเส้นตรง (linear) มนุษย์เชื่อเรื่องการเดินไปข้างหน้า การพัฒนาเป็นเหมือนเส้นตรงที่เราจากจุดหนึ่งของห้วงเวลาไปสู่อีกจุดหนึ่ง แล้วไอ้เจ้าความเป็นเส้นตรงนี้ก็เลยเป็นกรอบคิดของโลกอุตสาหกรรม โลกที่เทคโนโลยีและเครื่องจักรทำให้การผลิตทำได้ในปริมาณมากๆ ในความคิดของการผลิตแบบยุคอุตสาหกรรมก็มีความเป็นเส้นตรงอยู่ในนั้น คือคิดเรื่องการผลิต ใช้ และทิ้ง

 ในความคิดแบบศตวรรษที่ 20 ก็เลยเน้นการทำกำไร หรือหามูลค่าจากการผลิตสินค้าเป็นจำนวนมาก และเน้นผลิตสินค้าขึ้นใหม่ ทำออกมาเยอะๆ และเมื่ออีกศตวรรษผ่านไปจนเราก้าวเข้าสู่ปี 2000 ก็พบว่าวิธีแบบโลกสมัยใหม่และโลกอุตสาหกรรมกลับทำร้ายโลก พร้อมสะท้อนมาทำร้ายเรา สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือปริมาณคาร์บอนพร้อมกับขยะจำนวนมหาศาลที่ลอยเกลื่อนอยู่ในท้องทะเล ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อสภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ การกระทำของเรากำลังส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้

ดังนั้น โลกก็เลยหันมาทบทวนคุณค่าและการหามูลค่าจากแนวคิดการผลิต ระบบเศรษฐกิจของสินค้าแบบเดิมที่กำลังผลิตขยะมหาศาลทั้งจากตัวสินค้า กระบวนการผลิต และสิ่งประกอบอื่นๆ เช่นแพ็กเกจจิ้ง กำลังค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน คือแนวคิดการผลิตที่เน้นการใช้ซ้ำ เป็นการคิดในระดับการวางระบบที่เน้นมองเห็นมูลค่าของทุกๆ อย่างตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็นความคุ้มค่ารูปแบบใหม่ที่คุ้มทั้งกับผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และโลก

How the Second Industrial Revolution Changed People's Lives - HISTORY
history.com

Anthropocene กับความรับผิดชอบของเราต่อโลก

เราพอจะเข้าใจว่ามนุษย์เราก่อผลกระทบในทางลบกับโลก และระบบนิเวศอย่างเข้มข้นและจริงจัง แต่คำว่าผลกระทบอย่างจริงจังเริ่มมองเห็นเมื่อนักวิทยาศาสตร์ให้คำนิยามยุคสมัยของเราว่าเป็นยุค ‘Anthropocene’ การนิยามยุคสมัยที่บอกว่ายุคที่เรากำลังอยู่นี้เป็น ‘ยุคมนุษย์’ (anthropo+scene) คือยุคสมัยที่กิจกรรม (โดยฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจ) ของมนุษย์เราส่งผลกระทบต่อโลกและระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม

การแบ่งยุคมนุษย์ยังค่อนข้างลำลองและคลุมเครือ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่ายุคปัจจุบันเป็นยุคที่เราส่งผลกับความเป็นไปของโลกจริงๆ ในปี 2016 คณะทำงาน  Anthropocene Working Group เห็นพ้องกันว่า ยุคมนุษย์แตกต่างกับยุคโฮโลซีน (Holocene) หรือยุคก่อนหน้าที่เริ่มต้นในปี 1950 อันเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของปี 1800 ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนและก๊าซมีเทน จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศ ไปจนถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งผลทั้งกับผืนดิน สิ่งแวดล้อม กระทั่งการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์

ภาพของขยะที่ลอยกระจายอยู่ในท้องทะเล ถุงพลาสติก ขยะพลาสติก คราบน้ำมัน ไปจนถึงมลพิษจำนวนมหาศาลที่ลอยอยู่รอบๆ ตัวเรา ทั้งในท้องทะเลกว้างใหญ่ แม่น้ำ ผืนดิน รวมถึงท้องฟ้าที่เคยสดใส แนวคิดเรื่องแอนโทรโพซีนจึงเป็นการนิยามที่สะกิดมนุษย์ให้ตระหนักรู้ว่าสิ่งแวดล้อมที่กำลังเสื่อมสลายไปนั้นเป็นความรับผิดชอบของเรา เป็นผลที่เกิดมาจากวิถีชีวิตและกิจกรรมของเราทุกคน และเราต้องรับผิดชอบกับยุคสมัยที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่

nytimes.com

จาก linear สู่ circular วงจรที่มูฟออนเป็นวงกลม

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนลึกๆ แล้วค่อนข้างสัมพันธ์กับมิติทางปรัชญา จากเดิมที่มองโลกแบบเส้นตรง (linear) ที่เป็นเพียงกรอบความคิดหนึ่งของโลกยุคโมเดิร์น ก็ได้กลายเป็นมองด้วยมุมมองเป็นวัฏจักร หรือวงรอบ (circle) ซึ่งแนวคิดเรื่องวัฏจักรนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในกระบวนคิดแบบสมัยใหม่อยู่แล้ว เช่น การเวียนว่ายตายเกิด ฤดูกาล และความหมุนเวียนของสรรพสิ่ง

พอถึงจุดที่โลกเราเกิดปัญหา ระบบเศรษฐกิจอันหมายถึงวิธีคิดในการผลิต และหากำไรในยุคเดิมจึงถูกนำมาทบทวนใหม่ แกนสำคัญหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงเกิดจากความคิดเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากร แต่เดิมเรามีทรัพยากรจำนวนมาก และพิจารณาว่าแรงงานมนุษย์นั้นมีมูลค่ามากกว่า การผลิตจึงเน้นไปที่การทำกำไรจากทรัพยากรเหล่านั้น และเป็นการผลิตขึ้นใหม่  ด้วยความที่เรามองแรงงานและเวลาเป็นสิ่งที่แพง การเก็บกลับมาใช้ รีไซเคิลจึงเป็นสิ่งที่ถูกละเลยเสมอ ระบบเศรษฐกิจโดยทั่วไปจึงเป็นการผลิตเพื่อใช้แล้วทิ้ง และผลิตใหม่ให้ได้มากหรือได้กำไรสูงสุด

ปัญหาของระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงคือการมี waste จะแปลว่าขยะอย่างเดียวก็ไม่เชิง แน่นอนว่าปลายทางของสินค้าทั้งหลายคือการถูกทิ้งและซื้ออันใหม่มาใช้ ของประกอบต่างๆ ทั้งหีบห่อ ถุงพลาสติกก็ล้วนออกแบบเพื่อใช้แล้วทิ้ง (dispose) นอกจากขยะแล้วคำว่า waste ยังหมายรวมถึงของเหลือทิ้งอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการผลิตทั้งน้ำเสีย สารเคมี พลังงานที่เสียไป คาร์บอน ควัน กระทั่งความร้อนที่เกิดในระหว่างการผลิตและดำเนินกิจการต่างๆ

SCG Circular Way - SCG Circular Economy
scg.com

 

ความคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นการคิดใหม่ทั้งระบบ คือการเลิกคิดถึงคำว่า waste แต่มองว่าทุกส่วนของกิจกรรมการผลิตและกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์เรามีมูลค่า เป็นสิ่งที่ต้องคิดว่าสามารถสร้างคุณค่าและความหมาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเฉลียวฉลาดในการนำไปใช้งาน หรือการออกแบบสิ่งต่างๆ เอาไว้

แน่นอนว่าแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเช่นการรีไซเคิล ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่เราได้ยินบ่อยๆ จนชินชา แต่การรีไซเคิลในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องที่มากกว่าการเก็บขวดแก้วไปทำกระถางต้นไม้ แต่คือวางระบบที่มีการหมุนเวียนและมีของเสียทิ้งน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย (ที่นอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าแล้วยังกระทบกับโลกน้อยที่สุด) ไปจนถึงการออกแบบอย่างฉลาด และความเข้าใจเรื่องวัสดุที่สามารถพัฒนาได้อย่างไม่หยุดยั้ง

ความสำคัญของคำว่า ‘ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน’ คือการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดเรื่องการทิ้งและเรื่องของเสีย เป็นความคิดที่ต้องการผลิตสินค้าใหม่ๆ จากขยะที่กำลังเป็นปัญหา การออกแบบระบบขนส่งมวลชนที่ดึงเอาความร้อนไปให้ความอบอุ่นกับสิ่งอื่นๆ โรงงานอุตสาหกรรมที่หมุนเวียนน้ำเสียกลับไปใช้ใหม่ในระบบของตัวเอง  ไปจนถึงหีบห่อ จานช้อนส้อมที่เคยใช้แล้วทิ้งอาจย่อยสลาย หรือกลายเป็นสิ่งอื่นๆ ได้อย่างไม่รู้จบ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

government.nl

researchgate.net

ellenmacarthurfoundation.org

nationalgeographic.org

 

Illustration by Montree Sommut
Share :