จากแผ่นดินที่โดนยึดครองโดยญี่ปุ่น ผู้ได้รับความเสียหายจากสงครามเย็น มาสู่ประเทศสุดทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซีย ‘เกาหลีใต้’ ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งศตวรรษในการพลิกฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำ กลายเป็นประเทศยอดฮิตที่หลายคนปักหมุดไว้เป็นอันดับหนึ่ง ไปเที่ยวได้ตลอดไม่ว่าจะฤดูไหน โดยเฉพาะกรุงโซล ทั้งถนนหนทางแสนโรแมนติกเหมือนในซีรี่ส์ คาเฟ่มุมถ่ายรูปสุดชิค รวมถึงวัดวาอารามมรดกทางประวัติศาสตร์ของชาติ
การพัฒนาเมืองและประเทศตลอดช่วงกลาง-ปลายศตวรรษที่ 20 อาจพูดได้ว่ามีการแปลงโฉมปรับปรุงสถานที่สำคัญหลายแห่งในเมือง ตามเป้าหมายการเร่งพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ ไม่วายแม้แต่สถานที่ทางประวัติศาสตร์อย่าง ‘หมู่บ้านบุกชอนฮันอก’ (Bukchon Hanok Village) หรือ ‘ฮันอก’ (Hanok) ย่านเก่าแก่ อันเป็นที่อยู่ของครอบครัวขุนนาง ข้าราชการระดับสูงสมัยราชวงศ์โชซ็อน เมื่อ 600 กว่าปีก่อน ก่อร่างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมบ้านเรือเกาหลีแบบดังเดิม ภายหลังย่านมีการก่อสร้างพัฒนารวมกว่า 1,200 หลัง จนถึงปัจจุบันที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเดินเล่นสวมชุดฮันบกย้อนเวลาไปสมัยนั้น เลียบเคียงไปกับพระราชวังเครียงบก (Gyeongbokgung Palace) พระราชวังดั้งเดิมที่อยู่ไม่ไกลจากกัน
ที่น่าสนใจคือ แม้ตลอดสิบปีมานี้บุกชอนฮันอกจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและเทรนด์การท่องเที่ยว แต่ที่นี่ยังคงมีผู้คนอาศัยกันอยู่มากมายไม่ต่างจากอดีต ภายใต้โมเดลการพัฒนาและมาตรการของทางการโซล (Seoul Metropolitan Government) ที่ได้ส่งเสริมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เก็บรักษามรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และกระตุ้นเม็ดเงินไปพร้อมๆ กัน
หมู่บ้านของขุนนาง ชุมชนหลังสงคราม และการอนุรักษ์ ‘ฮันอก’
มุมถ่ายรูปสวยๆ บรรยากาศย้อนยุค ในหมู่บ้านบุกชนฮันอกที่เราเห็นทุกวันนี้ เป็นผลพวงมาจากการก่อสร้าง ‘ฮันอก’ หรือบ้านเกาหลีแบบดั้งเดิมกว่าพันหลังเพื่อเร่งสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้น ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930-1940 เกาหลีใต้อยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น และต่อเนื่องจนถึงช่วงทศวรรษที่ 1960 หลังจากที่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลง ในเวลานั้นทางการโซลมีแผนเร่งพัฒนาเมืองให้เท่าทันตะวันตก นึกภาพกรุงโซลสมัยนั้นที่ยังมีรถม้า อาคารตึกแถวจำนวนมาก ไร้ซึ่งตึกระฟ้า
จนทศวรรษ 1970 ที่เปรียบเสมือนยุคทองด้านเศรษฐกิจของประเทศ ย่านบุกชนฮันอกได้รับการควบคุมจำกัดความสูงอาคาร และรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอย่างเข้มงวด หลังจากที่ถูกกำหนดให้เป็นย่านทางมรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ (Historic and Cultural Heritage District) ดังที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โดยรอบพระราชวังเคียงบก ถึงอย่างนั้นเมื่อลองฟังเสียงประชาชนผู้อยู่อาศัย กลับไม่คล้อยตามเสมอไป แม้เป็นการจัดระเบียบจากความหวังดีของภาครัฐ หลายคนได้ออกมาเรียกร้องด้วยความรู้สึกที่ว่า โดนละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของตัวเอง เพราะเป็นกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากเกินไป สุดท้ายจึงมีการผ่อนปรนข้อกำหนดที่ว่ามากขึ้น
ในแง่หนึ่งการกระทำเช่นนี้ หากหย่อนยานมากเกินไปอาจนำมาซึ่งข้อเสียมากกว่าข้อดี ดังที่มีการรื้อถอนบ้านแบบฮันอกจำนวนมากเพื่อก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ เพื่อรองรับผู้คนได้มากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้จำนวนสถาปัตยกรรมดั้งเดิมลดฮวบอย่างน่าเศร้า จากเกือบครึ่งเหลือเพียงประมาณ 900 หลัง ซึ่งกระทบต่อทัศนียภาพของย่าน ยิ่งเมื่อบวกกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ทำให้การลงทุนในสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ไม่ได้เม็ดเงินหรือผลกำไร สถานการณ์ความเป็นอยู่จึงซบเซา และน่าเป็นห่วงเข้าไปใหญ่
เมื่อใดเจอวิกฤต เมื่อนั้นจึงมีโอกาส ด้วยความไม่ย่อท้อ ทางชุมชนจึงแก้เกมโดยจัดตั้งตัวแทนเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐอีกครั้ง จนคลอดออกมาเป็นแผนการจัดการย่านตัวเมืองของโซล (Seoul Downtown Management Plan) ในปี 2000 ที่เน้นการอนุรักษ์อาคารเก่าทางประวัติศาสตร์เป็นหลัก นอกจากนี้ทางการโซลยังมอบหมายให้สถาบันโซล (Seoul Institute) ศึกษาทำวิจัยเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนอย่างละเอียด พร้อมจัดตั้งกลุ่มเฉพาะกิจบุกชน (Bukchon Task Force) ที่รวบรวมตัวแทนจากชุมชน สำนักงานเขต และทางการโซล เพื่อวางแผนพัฒนาร่วมกันในอนาคตต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากแผนการพัฒนารวม 4 ฉบับที่ใช้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน คือจุดเปลี่ยนสำคัญของหมู่บ้านบุกชนให้เติบโตร่วมกับเมืองอย่างร่วมสมัย
คืนประโยชน์แก่ชุมชน ผ่านการฟื้นฟู ‘ฮันอก’
กว่าจะออกมาเป็นผังย่านที่เป็นระบบอย่างปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย การพัฒนาย่านไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะประชาชนทุกคนล้วนเติบโต เมืองก็เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์โลก อย่างแผน Bukchon District Unit Plan ล่าสุดที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2010 ก็มีการเน้นจัดแบ่งโซนนิ่ง กำหนดประเภทการใช้งานอาคาร และระดับความสูงให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเป็นต้น แรกเริ่มเดิมทีการปรับปรุงเริ่มจากการเปิดให้ประชาชนขึ้นทะเบียนบ้านฮันอกของตัวเองกับทางการซึ่งทางการจัดสรรงบประมาณให้ต่อเติมปรับปรุงได้หลังจากนั้น ตีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 22.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะปี 2002-2017 และสามารถรีโนเวตได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นงานภายนอก หลังคา หน้าต่าง ผนัง หรือแผงกันความร้อน เว้นเสียแต่ไม่รวมเงินสำหรับค่าที่อยู่อาศัยภายนอกชั่วคราวระหว่างก่อสร้าง ซึ่งทำให้ชาวบ้านทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ และอยากดูแลรักษาร่วมกันได้เป็นอย่างดี
ในขณะเดียวกัน ด้านทางการโซลก็ทำการซื้อบ้านฮันอกบางส่วนเป็นทรัพย์สินของรัฐ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 28.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับระยะปี 2002-2017 เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ส่วนกลางรวมกว่า 18 แห่งแก่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วัฒนธรรมประเพณีบุกชน (Bukchon Culture Center) ศูนย์ให้ความช่วยเหลือ (Hanok Support Center) ห้องสมุดชุมชน (Bukchon Village Library) รวมถึงเกสต์เฮ้าส์ โฮสเทลรองรับนักท่องเที่ยว และที่น่าสนใจคือสถานที่หลายแห่งได้รับการออกแบบผ่านกระบวนการประกวดแบบจากสาธารณชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
แน่นอน อีกนโยบายที่ขาดไม่ได้เลยคือการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ดังที่เป็นไปตามแผน Bukchon Hanok Environmental Habilitation Plan ตั้งแต่ปี 2002 ครอบคลุมทุกถนน ตรอกซอกซอยในย่าน ทั้งการนำเสาไฟลงใต้ดิน ปรับปรุงพื้นถนนให้เรียบ ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย เพิ่มแสงไฟส่องสว่าง ทางข้าม ที่จอดรถ เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยี่ยมเยียนทุกคน
ก้าวสู่ ‘ฮันอก’ หลากหลายรูปแบบภายใต้การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ในเมื่อเป้าหมายสูงสุดอาจไม่ใช่ความเป็นอยู่อาศัยที่ดีของประชาชนอย่างเดียวแต่เป็นการที่ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง มีรายได้เกื้อหนุนเติบโตตามเศรษฐกิจและเมือง การท่องเที่ยวจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญ หากลองกดเปิดเว็บไซต์หลักของหมู่บ้านบุกชนฮันอกดูก็จะพบกับกิจกรรมจากศิลปิน ช่างฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญมากมายที่อยู่อาศัย และเปิดสตูดิโอเป็นย่านสร้างสรรค์ ให้ทั้งคนในย่านและนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้งานคราฟต์สุดพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอเครื่องเขิน สถาบันตำรับเกาหลีชาววัง โรงเรียนศิลปะเย็บปักถักร้อย หรือเวิร์กช็อปสิ่งทอจากวัสดุหญ้าและฟาง นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับเครือข่ายภาคพลเมืองหลายหน่วย เช่น The Civic Group for Making the City in which Citizen Want to Walk ที่ก่อตั้งโรงเรียนชั่วคราวเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมของที่นี่ และ The Network of Citizens who Love Traditional Korean House ผู้เป็นเนิร์ดในบ้านแบบฮันอกที่สื่อสารเรื่องราวของการทำงานอนุรักษ์ผ่านโลกออนไลน์และออฟไลน์แก่คนทั่วไป
จากรายงานสถิติระบุว่า มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปี สูงถึงปีละกว่าล้านคน พร้อมกับหน่วยที่ดินเพิ่มสูงขึ้น อย่างในปี 2017ที่ดินมีมูลค่ากว่า 4,334 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร ก้าวกระโดดขึ้นมาที่ 1,120 ดอลลาร์สหรัฐต่อตารางเมตร จากช่วงเริ่มต้นการพัฒนาในปี 2002 ซึ่งสามารถดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากผู้ประกอบการภายนอกได้
อย่างไรก็ดีการเติบโตของเม็ดเงินเช่นนี้เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน เพราะเมื่อไหร่ที่เลยจุดพอดีก็จะกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน ดังที่หมู่บ้านบุกชนฮันอกพบปัญหาขยะล้นพื้นที่ เสียงดังจากนักท่องเที่ยว และความแออัดของรถทัวร์ โชคดีที่การรับมือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เราเลยได้เห็นหมู่บ้านใช้วิธีแก้ปัญหาหลากหลายด้วยเทคโนโลยีร่วมสมัย ทั้งการติดตั้งป้ายขอความร่วมมือให้เบาเสียงตามแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism)ระบบนับจำนวนนักท่องเที่ยวแบบเรียลไทม์ ระบบ Smart Parking ที่บอกจุดจอดรถที่เหมาะสมให้ผู้มาเยือน และระบบถังขยะอัจฉริยะที่ตรวจจับปริมาณขยะเพื่อให้มีการเก็บอย่างเท่าทัน
เมื่อรวมกับสถานการณ์ที่บ้านเรือนลดลง โปรแกรมเชิงพาณิชย์จากภายนอกเพิ่มขึ้น ทางรัฐเองก็ให้ความช่วยเหลือเป็นแผน the Comprehensive Measures on Gentrification ขึ้นในปี 2015 ที่ช่วยจัดการเรื่องการเปิดร้านค้าใหม่ๆ ในพื้นที่ จัดตั้งศูนย์ร้องทุกข์ให้ประชาชน ทั้งยังช่วยปกป้องร้านค้าธุรกิจรายย่อยในย่านด้วย นับว่าเป็นการแบ่งรับแบ่งสู้ที่ดีเลยที่เดียว
หมู่บ้านบุกชนฮันอกจึงนับว่าเป็นการพัฒนาย่านที่สำคัญ จนกลายเป็นต้นแบบการอนุรักษ์บ้านฮันอก นำไปสู่บัญญัติ The National Act of the Promotion of Hanok and Architecture Assets ในปี 2014 ที่ปรับใช้ครอบคลุมทั่วทั้งเกาหลีใต้ทั้งยังได้รับรางวัล UNESCO Asia-Pacific Heritage Awards ประจำปี 2009 อีกด้วย
ด้วยความร่วมมือจากทั้งภาคประชาชนและภาครัฐนี่เอง ที่พิสูจน์ได้ว่าหากปราศจากการเก็บรักษา ความทรงจำ มรดกวัฒนธรรม และชีวิตของผู้คน ย่านก็คงเป็นเพียงเปลือกนอกที่สวยงามแต่ไร้ชีวิตชีวา
Reference
Illustration by Montree Sommut