CITY CRACKER

‘หลาดบ้านร่ม’ ฟื้นฟูยะลาด้วยตลาด ผ่านการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน

‘ยะลา’ เป็นหนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อุดมสมบูรณ์ทั้งในมิติทางวัฒนธรรม ธรรมชาติ และความหลากหลาย ดินแดนปักษ์ใต้ที่เต็มไปด้วยสีสัน ที่แน่นอนว่าหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรง ด้วยภาพของความรุนแรง ผลกระทบจากความรุนแรงทั้งต่อตัวพื้นที่เองและมุมมองจากด้านนอก ยะลาเลยยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่คราวนี้เป็นความเงียบเหงาและความพยายามลบภาพเพื่อเปิดบ้านสร้างความคึกคัก นำพาชีวิตชีวาให้กลับมาสู่พื้นที่อีกครั้ง

ก่อนนี้ไม่นานยะลาเริ่มพยายามมีโครงการเพื่อเผยแพร่ภาพสงบสุขของยะลา โดยการเชิญชวนผู้คนให้กลับมาเยี่ยมเยียนพื้นที่เช่นเบตง หนึ่งในปลายทางท่องเที่ยวอันรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมอาหารที่ผสมผสานทั้งจีน อิสลาม และไทยเข้าไว้ โดยมีบรรยากาศงดงามรายล้อม ล่าสุดภายใต้การนำของเทศบาลนครยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ทีมงานจากสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย รศ. ดร.พีรดร แก้วลาย หัวหน้าโครงการ อาจารย์ขวัญ พงษ์หาญยุทธ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบริการสาธารณะ คุณกิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา สถาปนิกบริษัทฉมาโซเอ็น และคณะ ได้วางโครงการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านร่มให้มีความคึกคักมากขึ้น โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันของสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ที่จะใช้การออกแบบเข้ามามีส่วนช่วยเพื่อพัฒนา ซึ่งการออกแบบจะเป็นทำงานโดยเน้นการรับฟังความต้องการของชุมชน เพื่อออกแบบไปสู่แผนการพัฒนาและสร้างโอกาสต่อไป ทั้งยังเน้นการออกแบบที่ไม่ได้หยุดเพียงพื้นที่กายภาพ แต่รวมถึงการพัฒนาชุมชนในส่วนอื่นที่สอดคล้องกับบริบทโดยรอบอีกด้วย

 

บรรยากาศที่คึกคักไปด้วยผู้คน หลังจากชุมชนบ้านร่มเริ่มมีตลาดนัด

ตลาดบ้านร่ม พื้นที่ด้านนอก ชุมชนเก่าแก่ และการขุดฟื้นรากเหง้าผ่านการจับจ่าย

แต่เดิมพื้นที่บริเวณชุนบ้านร่มเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีบริบททางวัฒนธรรมพร้อมกับเป็นพื้นที่ที่ออกนอกตัวเมืองไปเล็กน้อย จึงรายล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม จุดเริ่มของการพัฒนาจึงเริ่มที่โครงการ ‘หลาดบ้านร่ม’ เป็นการจัดตลาดนัดขึ้นเพื่อทดลองนำร่องในพื้นที่สวนสาธารณะ เป็นโครงการที่ตั้งใจสร้างแลนมาร์กและกิจกรรมความเคลื่อนไหวขึ้นในพื้นที่ชุมชนอีกครั้ง

‘ความสำคัญของโครงการคือเราฟังความต้องการของชุมชน’ อาร์ม ภัทรพล บุญสาและเฟียต สรธัญ แย้มสุข Landscape Architect หนึ่งในทีมออกแบบจากฉมาโซเอ็นอธิบายให้เราฟังว่า จุดเด่นของโครงการนี้อยู่ที่การทำงานร่วมกันของหน่วยงานสองฝ่าย ไม่เพียงแต่ใช้องค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยและการให้คำปรึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังอยู่ที่ตัวงานออกแบบ และการใช้งานออกแบบโดยทีมภูมิสถาปนิกที่เชี่ยวชาญการทำงานกับชุมชน ซึ่งการทำงานในครั้งนี้ได้ใช้ทั้งการศึกษาบริบท และความต้องการเฉพาะมาออกแบบหาแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับตลาดบ้านร่ม แน่นอนว่าพื้นที่ตลาดเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของชุมชน นอกจากเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายของพื้นที่เองแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็นเสน่ห์ที่ผู้มาเยือนจะได้แวะพัก จับจ่าย และรับประทานของอร่อย อันเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของวัฒนธรรมปักษ์ใต้ของบ้านเรา

 

 

ทีมออกแบบอธิบายว่าตัวตลาดนั้นมีประวัติศาสตร์และบริบทที่ยาวนาน แต่พื้นที่ซบเซาลงตามกาลเวลา และที่สำคัญคือตัวชุมชนตั้งอยู่นอกเขตเมือง แต่ก็มีจุดเด่นในแง่ของพื้นที่ทางกายภาพ มีภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ มีแม่น้ำที่สวยงาม และด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน จุดเด่นปัจจุบันของชุมชนจึงเป็นความสามารถในการประกอบอาหารโบราณ การจัดตลาดนัดจึงเหมาะแก่การสร้างพื้นที่ทางกายภาพเป็นงานทดลองที่ทำได้ทันที

โครงการ ‘หลาดบ้านร่ม’ เลยถือกำเนิดขึ้น โดยเริ่มจากเป็นการใช้พื้นที่สวนสาธารณะจัดขึ้นเป็นตลาดนัดที่เน้นไปเรื่องการขายอาหาร รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย หัวหน้าโครงการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า โครงการตลาดบ้านร่มที่จัดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาเป็นการจัดตลาดครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นการจัดตลาดขายจริงเป็นครั้งแรก เพราะในครั้งก่อนหน้าเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมเป็นการจัดตลาดทดลองเปิดให้ชิมอาหารก่อน

 

บริเวณนี้เป็นจุดสำหรับนั่งพักผ่อนชมวิวของแม่น้ำปัตตานี

 

ในแง่ของการออกแบบ โครงการตลาดนั้นไม่เพียงแต่เปิดพื้นที่ตลาดเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนาในมิติอื่นๆ ด้วย แน่นอนว่าส่วนหนึ่งคือการใช้งานออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่กายภาพ จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นภายในตลาด มีการปรับปรุงทางเข้า ป้าย จุดเช็คอิน ปรับปรุงเส้นทางเข้าถึงตลาด มีการใช้งานออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์จากตัวพื้นที่ เช่นการออกแบบพื้นที่ริมน้ำเป็นจุดรับประทานอาหาร ทำให้ได้รับประทานอาหารอร่อยไปพร้อมกับชมวิวทิวทัศน์ โดยรวมแล้วตัวโครงการเน้นการเข้าถึงและให้ภาพบ้านร่มในมุมมองที่สงบงาม อิ่มเอม และปลอดภัย

ทางโครงการระบุว่าจะพิจารณาการดำเนินการต่อไปว่าจะเปิดทำการในความถี่เท่าใด จึงจะสอดคล้องกับความต้องการของชาวยะลา อาจพิจารณาเปิดตลาดเป็นเดือนละครั้งในวันอาทิตย์ หรือสองอาทิตย์ครั้งก็จะทำการทดลองเพื่อหาคำตอบต่อไป

 

ด้านขวาจะเป็นร้านค้าต่างๆ ของผู้คนในชุมชน ส่วนด้านซ้ายจะเป็นจุดนั่งรับประทานอาหาร บรรยากาศโดยรอบก็จอแจไปด้วยผู้คนจำนวนมาก

ดึงบริบทเข้าสู่การพัฒนาสินค้าและวัฒนธรรม

การทำงานจากหลายภาคส่วน การทดลอง และการพัฒนาจากหลายด้านพร้อมกัน ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของการพัฒนาชุมชนบ้านร่ม ในมุมมองของสถาปนิกที่ทำงานกับชุมชน ทางทีมออกแบบยังระบุว่าเป้าหมายโครงการตลาดในครั้งนี้ นอกจากจะเน้นการออกแบบกระบวนการการมีสวนร่วมเพื่อรับฟัง และออกแบบให้สอดคล้องทั้งกับบริบทและความต้องการแล้ว การทำงานออกแบบก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการปรับพื้นที่หรือภูมิทัศน์เท่านั้น แต่ยังการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือตัวสินค้าที่จะขายในตลาดให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกับด้านอื่นๆ ด้วย

ดังกล่าวว่าบ้านร่มมีความแข็งแรง นอกจากชุมชนเข้มแข็งพร้อมจะก้าวเดินไปข้างหน้าแล้ว พื้นที่ชุมชนยังประกอบไปด้วยจุดแข็งสองด้านสำคัญคือภูมิทัศน์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอาหาร ดังนั้นการพัฒนาอย่างเป็นระบบของโครงการจึงไม่ได้อยู่ที่แค่การจัดตัวตลาดนัดและสาธารณูปโภคจำเป็นอื่นๆ แต่ยังมีการค้นคว้า พูดคุย ทดลงจนนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ที่สอดคล้องกับตลาด ดึงเอาฝีมือที่เคยอยู่ในพื้นที่ครัวจนออกมาเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ

 

การพัฒนานี้จึงเป็นการพัฒนาไปถึงตัวชุมชน สร้างผู้ประกอบการเพื่อคิดต่อยอด สร้างสรรค์จนกลายเป็นธุรกิจที่อาจกลายเป็นสินค้าสำคัญและเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อไป จากไก่ย่างกอและแบบเดิมพัฒนาไปสู่แฮมเบอร์เกอร์ หรือการปรับขนมมาดูฆาตง หรือข้าวเหนียวพันไม้ย่างไปสู่ขนมหลากรสที่สนุกสนาน แปลกใหม่ และสอดคล้องกับความสนใจของผู้ซื้อ การปรับพัฒนานี้เป็นอีกนึ่งวิธีการพัฒนาสำคัญ คือส่งเสริมวิธีคิดเชิงสร้างสรรค์จนนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ที่อาจนำไปสู่จุดขายใหม่ๆ เป็นอีกหนึ่งสิ่งดึงดูดให้พื้นที่เกิดชีวิตชีวา มีจุดขายใหม่ๆ ที่จะดึงดูดผู้คนในพื้นที่หรือนักท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

การพัฒนาฟื้นฟูหลังภาวะวิกฤตเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยากที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันและการมองอย่างรอบด้าน ตลาดบ้านร่ม จังหวัดยะลาเองก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของร่การวมกันพัฒนา เพื่อนำมาชีวิตชีวา นำภาพของความปลอดภัย นำเอาเสน่ห์อันงดงามพร้อมอาหารอร่อย นำเอาวัฒนธรรมที่เราคุ้นเคยกลับมาให้มีชีวิตอีกครั้ง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

thainews.prd.go.th

ขอบคุณข้อมูลการสัมภาษณ์ ภัทรพล บุญสา และ สรธัญ แย้มสุข Landscape Architect จากบริษัท Shma Soen company

 

Share :