CITY CRACKER

Co-Living: อยู่เมืองใหญ่ไม่ต้องเหงา วัฒนธรรมการอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ที่ไม่เดียวดาย

ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่เมืองเริ่มมีความหนาแน่นสูงขึ้น ส่งผลให้อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานผู้อยู่อาศัยมากขึ้นตาม เมื่อเมืองเริ่มหนาแน่นด้วยอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และปริมาณประชากรที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ที่อยู่อาศัยที่มีอยู่อย่างจำกัดมีราคาสูงและยากต่อการเข้าถึง อีกทั้งบางคนเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองคนเดียวก็เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว การแชร์ที่อยู่อาศัย หรือ Co-Living  เลยเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

จากการสำรวจรูปแบบการอยู่อาศัยของคนอเมริกาของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) พบว่า ปี 2015 คนช่วงวัย 25 – 34 ร้อยละ 7.4 แชร์ที่อยู่อาศัยกับผู้อื่นเพิ่มขึ้นจากปี 2005 ที่มีเพียงร้อยละ 5.7 และในอนาคตประชากรร้อยละ 70 จะเข้ามาอยู่อาศัยในเมืองมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การนิยมอยู่อาศัยแบบ Co-Living ที่เป็นการอยู่ร่วมชายคาเดียวกับผู้อื่น แต่ยังคงมีพื้นที่ส่วนตัวให้เราได้ใช้ และมีพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องกินข้าว ห้องครัว สำหรับการสร้างพื้นที่ทางสังคมร่วมกัน

ทั้งนี้ข้อดีของ Co-Living Space ยังเป็นที่อยู่อาศัยที่ราคาเป็นมิตรกับคนเมือง เนื่องจากพื้นที่บางส่วนของที่อยู่อาศัยไม่ได้มีการใช้งานตลอดเวลา หากทุกห้องต้องมีพื้นที่เหล่านั้นอาจใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งาน ได้ทำให้พื้นที่ห้องส่วนตัวมีขนาดเล็กลงจึงสามารถปล่อยเช่าห้องในราคาที่ถูกลงได้

อันที่จริงแล้วการแชร์บ้านหรือแฟลตร่วมกัน ประชาคมนานาชาติ บ้านพักนักศึกษา หอพักนักเรียน บ้านผู้สูงอายุ ไปจนถึงที่อยู่อาศัยที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์พัฒนาขึ้นก็ถือได้ว่าเป็น Co-Living Space ดังที่ กุย เพอร์ดริกซ์ (Gui Perdrix) ได้ให้นิยามการอยู่อาศัยรูปแบบนี้ว่าเป็นพื้นที่ของคนที่ไม่รู้จักกัน หรือไม่มีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติมาอยู่ร่วมกัน ซึ่งก็ต้องมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย

 

at-bangkok.com

 

อนาคตของการอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิด Co-Living 

จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการแชร์ที่อยู่อาศัยร่วมกัน ทำให้ แอนตัน แอนด์ ไอรีน (anton & irene) ร่วมกับสเปซเทน (Space 10) ศึกษารูปแบบและปัจจัยหลักที่ผู้คนคำนึงถึงในการแชร์ที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการเราจะอยู่อาศัยกันอย่างไรในปี 2030 (how will we live in the year 2030) ผ่านการทำแบบสำรวจออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการอยู่อาศัยร่วมกัน โดยมีคนจำนวน 14,000 คน จาก 150 ประเทศ ซึ่งมีทั้งคนในทวีปอเมริกาเหนือ คนในทวีปยุโรปตอนเหนือ และคนในทวีปเอเชีย ช่วงอายุระหว่าง 18-39 ปี มาตอบแบบสอบถาม ซึ่งเหตุผลหลักที่การอยู่อาศัยร่วมกันได้รับความนิยม เนื่องจากที่อยู่อาศัยแบบ Co-Living Space มีพื้นที่ทางสังคมและเปิดโอกาสให้คนมาพบปะกันได้ คนส่วนใหญ่จึงเลือกอยู่อาศัยในเมืองท่ามกลางคนแปลกหน้า แม้จะรู้สึกโดดเดี่ยว แต่การได้ร่วมอยู่อาศัยกับผู้อื่นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันก็ช่วยให้ความโดดเดี่ยวนั้นลดลงได้

นอกจกานี้ผลสำรวจยังพบว่าคนจำนวนมากโหยหาการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมขนาดกลางที่ไม่ใหญ่มาก คือมีขนาด 4-10 คน ที่สามารถทำความรู้จักกันได้อย่างทั่วถึง ยกเว้นกลุ่มคู่รักที่มีลูกจะเลือกอยู่ในชุมชนขนาด 10 – 25 คน เพราะจะได้มีผู้ช่วยดูแลเด็กได้มากขึ้น

โดยคุณสมบัติหลักที่พึงมีของผู้ที่เข้ามาแชร์พื้นที่ร่วมกัน คือ ความสะอาด ความซื่อสัตย์ และการเอาใจใส่ผู้อื่น ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากสบายใจที่จะอยู่กับผู้ที่ไม่มีลูกหรือเด็กเล็กมากกว่า โดยลิเดีย ฉ่อย โจแฮนสัน (Lydia Choi-Johansson) ผู้เชี่ยวชาญด้านที่อยู่อาศัยของอิเกียได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าหลายกรณีเด็กเป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในชุมชน เนื่องจากแต่ละคนจะมีวิถีการเลี้ยงลูกในแบบของตัวเองขณะเดียวกันคนรอบข้างก็ไม่อยากเข้าไปก้าวก่ายรูปแบบการเลี้ยงลูกของผู้ร่วมอาศัย

ปัจจุบันเป็นยุคที่ขอบเขตระหว่างความเป็นส่วนรวมและความเป็นส่วนตัวเริ่มกลมกลืนเข้าหากัน และแม้ว่าผู้ที่เข้ามาอยู่ใน Co-Living จะชอบรูปแบบของความเป็นชุมชนที่มีการใช้พื้นที่และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว การออกแบบพื้นที่จึงต้องมีความชัดเจนในการจัดสรรว่าพื้นที่ส่วนใดบ้างคือพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ส่วนใดบ้างคือพื้นที่ส่วนตัว โดยพื้นที่ส่วนตัวต้องสร้างให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย เป็นพื้นที่ที่จะได้แสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้ เช่น สามารถตกแต่งห้องเองได้ตามรูปแบบที่ตัวเองชอบ

ประเด็นหลักที่คนคำนึงถึงในการอยู่อาศัยภายใต้แนวความคิด Co-Living คือการรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน และมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเพื่อพัฒนา หรือบริหารจัดการที่อยู่อาศัยนั้น รวมทั้งคนส่วนใหญ่ยอมที่จะจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมเพื่อได้รับสิ่งของที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น อาหารเพื่อสุขภาพแทนอาหารทั่วไป หรือการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะ

 

bustle.com

 

การเปลี่ยนแปลงของ Co-Living เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่

ในยุคแรกจะเป็น Co-Living 1.0 ที่ส่วนใหญ่การอยู่อาศัยจะเป็นนักศึกษา เด็กจบใหม่-วัยเริ่มทำงาน และผู้ทำงานออนไลน์ หรือชอบการย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากการอยู่ร่วมกับผู้อื่นจะได้มีคนช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย ไม่รู้สึกเหงา และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วัฒนธรรมการอยู่อาศัยรูปแบบนี้จึงได้รับความนิยม ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยก็ต้องมีห้องส่วนตัวเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัย เช่นห้องนอนและห้องน้ำ กระทั่งจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางให้ได้พบปะกันและกัน

แม้โคลีฟวิ่งจะดูคล้ายกับการแชร์บ้านพัก แต่ก็มีข้อแตกต่างกันตรงที่การอยู่อาศัยแบบนี้เราไม่ต้องกาเพื่อนร่วมบ้าน (Housemate) ไม่ต้องคำนวณบิลเอง เนื่องจากมีนิติบุคคลคอยดูแล และสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ภายในพื้นที่จะได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีเสมอ ส่วนใหญ่แล้ว Co-Living Space จะตั้งอยู่ใกล้ตัวเมือง หรือระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกต่อการเดินทาง

อย่างในสหรัฐอเมริกา จะมีวีลีฟ (WeLive) บริษัทผู้พัฒนาจากโคเวิร์กกิ้งสเปซชื่อว่าวีเวิร์ก (We Work) มาเป็นโคลีฟวิ่ง ด้วยการพพัฒนาพื้นที่บางส่วนของวีเวิร์กมาเป็นที่อยู่อาศัย ภายใต้แนวคิด Co-Living Space หรือการมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทำงานและทำกิจกรรม เช่น ครัว บาร์ ห้องออกกำลัง โต๊ะปิงปอง ห้องซักผ้า และพื้นที่ทำงาน

นอกจากนี้ ในเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่นก็มีแชร์เฮ้าส์ แอลที โจไซ (Share House LT Josai) หรือที่อยู่อาศัยสำหรับวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน มีลักษณะภายนอกเหมือนบ้านเดี่ยวทั่วไป แต่ภายในมีการออกแบบโดยแบ่งสัดส่วนพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนกลางอย่างชัดเจน แต่ละคนจะมีห้องนอนส่วนตัวของตัวเอง และมีเพียงห้องน้ำ ห้องครัว ที่รับประทานอาหาร ที่นั่งเล่น เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน

 

lt-josai.com

 

ต่อมาในยุค Co-Living 2.0 ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้มองเห็นศักยภาพในการต่อยอดที่อยู่อาศัยภายใต้แนวความคิด Co-Living จึงขยายเป้าหมายมายังคนช่วงวัย 30 ที่มีรายได้สูงขึ้นและยินดีลงทุนในที่อยู่อาศัยมากขึ้น ไม่ได้คำนึงเรื่องของการประหยัดค่ามใช้จ่าย แต่เหมาะกับผู้ที่มาอยู่อาศัยต่างถิ่นที่อยากได้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน และได้มีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีพื้นที่ส่วนตัวที่กว้างขวางสะดวกสบายและมีความปลอดภัย ซึ่งเป้าหมายหลักคือกลุ่มคนที่ทำงานในระดับโลก (Global citizens) ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ และเปลี่ยนที่พักอาศัยบ่อยๆ การได้อยู่ในสถานที่ที่ได้พบปะคนจำนวนมากและหลากหลายเชื้อชาติจะช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวให้แก่ผู้อยู่อาศัย และได้แลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น

ยุค Co-Living 3.0 หรือปัจจุบัน ผู้คนเริ่มให้ความสนใจและศึกษาเกี่ยวกับการอยู่อาศัยแบบ Co-Living อย่างจริงจัง ซึ่ง กุย เพอร์ดริกซ์ และ แมต เลสนิเอก (Gui Perdrik and Matt Lesniak) ผู้ริเริ่มการอยู่อาศัยภายใต้แนวความคิด Co-Living 3.0 ได้เสนอแนวความคิดในการอยู่อาศัยร่วมกันว่า นอกจากคนที่หลากหลายมาอยู่ร่วมกันโดยแบ่งพื้นที่ส่วนกลางกันและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว อีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือผลกระทบทางธรรมชาติ และผลกระทบทางสังคม

โดยมีแนวความคิดหลักของการอยู่อาศัยรูปแบบนี้คือ CASIAGO อันเป็นการรวมตัวย่อของประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญในการออกแบบพื้นที่ Co-Living 3.0 โดยตัวย่อทั้งหมดมาจาก Community (ความเป็นชุมชน) Affordability (ราคาจับต้องได้) Scalability (ควบคุมขนาดและคุณภาพ) Individuality (ความเป็นส่วนตัว) Adaptability (การปรับเปลี่ยนได้) Government Cooperation (การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ) และ Ownership (ความรู้สึกเป็นเจ้าของ)

moonstartup.org

 

ซันไชน์ เอ็มบาสซี่ (Sunshine Embassy) ก็เป็นอีกหนึ่ง Co-Living 3.0 ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองมายอร์กา ประเทศสเปน เป็นบ้านที่รองรับคนได้ 16 คน ให้ความสำคัญกับความเป็นชุมชน เพื่อนบ้าน และสิ่งแวดล้อม ออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก จึงเปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ รวมทั้งมีการกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน จึงสร้างมูลนิธิซันไชน์ (Sunshine Foundation) ขึ้นมา ซึ่งเป็นพื้นที่กลางที่เปิดให้ผู้ที่อยู่อาศัยภายในพื้นที่ข้างเคียงเข้ามาใช้ในการทำกิจกรรมได้ด้วย จึงทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ที่อยู่อาศัยใน ซันไชน์ เอ็มบาสซี่ กับผู้ที่อยู่ภายในพื้นที่ข้างเคียงให้ได้มาพบปะและรู้จักกัน หลักการที่สำคัญอีกข้อของ Co-Living แห่งนี้คือต้องสร้างวิถีการอยู่อาศัยมีความสอดคล้องกับเป้าหมายด้านผลกระทบทางภูมิอากาศของโลก (global climate) เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน โดยในพื้นที่โครงการมีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตพลังงานไว้ใช้เอง (Lectura 2019)

ปัจจุบันเป็นยุคที่ขอบเขตระหว่างความเป็นส่วนรวมและความเป็นส่วนตัวเริ่มกลมกลืนเข้าหากัน และแม้ว่าผู้ที่เข้ามาอยู่ใน Co-Living จะชอบรูปแบบของความเป็นชุมชนที่มีการใช้พื้นที่และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว การออกแบบพื้นที่จึงต้องมีความชัดเจนในการจัดสรร อย่างพื้นที่ส่วนตัวก็ต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ผู้อาศัย และพื้นที่ส่วนรวมก็ต้องสามารถใช้งานร่วมกันได้ เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์กันและกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก

anton & irene + SPACE10. 2020. “One Shared House 2030.” 2020. http://onesharedhouse2030.com/.

Donati, Angelica. 2019. “Is Co-Living 2.0 The Next Big Thing In Residential Real Estate?” Forbes. 2019. https://www.forbes.com/sites/angelicakrystledonati/2019/03/22/is-co-living-2-0-the-next-big-thing-in-residential-real-estate/#3de7c2105150.

Lectura, De. 2019. “Coliving 3.0: The Future Of Housing Is Arriving.” Moon Startup. 2019. https://www.moonstartup.org/post/coliving-3-0-the-future-of-housing-is-arriving.

LT Josai. 2020. “LT城西.” Lt-Josai. 2020. https://lt-josai.com/.

Panicha, Imsomboon. 2015. “Co-Living Culture วัฒนธรรมใหม่ที่ชวนคุณมาอยู่ด้วยกันและอยู่ข้างๆ กันบนโลกใบนี้.” 2015. http://www.culturedcreatures.co/co-living-culture/.

Perdrix, Gui. 2019. “What Is Coliving? Part 2/4: A Universal Definition for Coliving as a Lifestyle.” Colivingdiaries. 2019. https://www.colivingdiaries.com/blog/what-is-coliving-part-2-4-a-universal-definition-for-coliving-as-a-lifestyle.

Souza, Eduardo. 2019. “What Is Co-Living?” ArchDaily. 2019. https://www.archdaily.com/915335/what-is-co-living.

SPACE10. 2018. “Welcome to One Shared House 2030: This Is How You Designed It.” Medium. 2018. https://medium.com/space10/welcome-to-one-shared-house-2030-this-is-how-you-designed-it-b592d510b4e3.

Winston, Anna. 2016. “Co-Working Company WeWork Unveils Its First Co-Living Apartments in New York.” Dezeen. 2016. https://www.dezeen.com/2016/04/06/wework-welive-co-working-company-co-living-apartments-new-york/.

Content by Attana Vasuwattana
Illustration by Montree Sommut
Share :