สถาปัตยกรรมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือตัวแทนของยุคสมัยที่สะท้อนคุณค่า ความเข้าใจ และเรื่องราวให้เกิดการรับรู้ และระลึกถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ผ่านรูปทรงและที่ว่างอันเป็น‘สัญลักษณ์’ ที่ผู้คนได้สร้างความหมายเรื่องความเท่าเทียมและประชาธิปไตยให้กับสถานที่แห่งนี้
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกออกแบบเพื่อเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย และเป็นเครื่องเตือนใจให้เราผดุงรักษาระบอบนี้ไว้ ให้สถิตสถาพรอยู่ตลอดกาล โดยมีวัตถุประสงค์ตามดำริของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ต้องการสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่งหลังได้รำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ และคุณค่าของการได้มาซึ่งประชาธิปไตย
สถานที่เชิงสัญลักษณ์แห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อนุสรณ์สถานเชิงสัญลักษณ์ในการเรียกร้องประชาธิปไตยปี 2475 โดยปีกทั้ง 4 มีความสูงขนาด 24 เมตร พร้อมด้วยกระบอกปืนจำนวน 75 กระบอก ที่รายล้อมอยู่ และพานรัฐธรรมนูญความสูง 3 เมตร ที่ตั้งอยู่บนยอดป้อมกลางอนุสาวรีย์ เหล่านี้คือองค์ประกอบอันมีความหมายที่ถูกสร้างขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญนี้
ตลอดระยะเวลา 81 ปี นับตั้งแต่การก่อสร้างในปี 2482 สถานที่แห่งนี้ตลอดจนถนนราชดำเนินได้กลายเป็นพื้นที่เชิง ‘สัญลักษณ์’ ของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค และระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นเครื่องเตือนใจที่กลายเป็นสถานที่ในการสร้างประสบการณ์ร่วมของคนในสังคม และยังเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์อันเต็มไปด้วยชัยชนะ การสูญเสีย ความขัดแย้ง และการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้อง และประชาธิปไตยของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า
อาทิ การชุมนุมของประชาชนและนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม2519 การชุมนุมของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และการชุมนุมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ พ.ศ. 2556 และอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่ได้ใช้พื้นที่เชิงสัญลักษณ์นี้ในการเรียกร้องประชาธิปไตย
เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สังคมได้ร่วมกันผ่านมา ซึ่งได้ประทับความทรงจำ ความคิด และความรู้สึก จนทำให้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีพลังเชิงสัญลักษณ์ ความศักดิ์สิทธิ์ และการเป็นพื้นที่ทางการเมือง มากกว่าการเป็นพื้นที่ประชาธิปไตยสำหรับการแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างกัน
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะการออกแบบพื้นที่ และสถานที่ตั้งที่ล้อมรอบด้วยถนนจนทำให้เข้าถึงได้ยาก ทั้งความเข้าใจของสังคมไทยที่มีต่ออนุสาวรีย์ในลักษณะรูปเคารพ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้าง ที่มีไว้มอง บูชา ระลึกถึง และกระทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
ในยุคสมัยที่ทุกคนต่างตื่นตัวต่ออนาคตของประชาธิปไตย (ที่ยังไม่สมบูรณ์) พื้นที่แห่งนี้ได้กลับมาอยู่ในความสนใจ และเป็นศูนย์กลางของบทสนทนาอีกครั้ง ในอีกแง่หนึ่ง หากสถาปัตยกรรมจะสามารถทำหน้าที่เพื่อขับเคลื่อน และรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและระบบคุณค่า อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาทบทวน เพื่อทำให้พื้นที่อนุสาวรีย์สามารถดำรงบทบาทของการเป็น ‘พื้นที่แห่งประชาธิปไตย’ ที่ร่วมสมัยกว่า ‘พื้นที่เชิงสัญลักษณ์’ อย่างที่ผ่านมา
จะดีกว่าไหม ถ้าเปลี่ยนให้พื้นที่ประชาธิปไตยกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่พูดคุย แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ระหว่างกันได้ ให้สถานที่นี้ได้สร้างบทสนทนา และเหตุการณ์ที่มีชีวิตให้กับผู้คน ให้สมกับการเกิดขึ้นและได้มาของระบอบประชาธิปไตย และให้เป็นมากกว่าการอยู่บนพาน ซึ่งหมายถึงบทสนทนาของผู้คนที่เปิดกว้างและรับฟังอย่างเคารพในความแตกต่าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Montree Sommut
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker