We shape our buildings, and afterwards, our buildings shape us- Winston Churchill
นัยสำคัญจากคำกล่าวของวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีคนสำคัญของอังกฤษยุคสงครามโลกคือการบอกว่าพื้นที่ทางกายภาพ ตั้งแต่ตึกอาคาร ไปจนถึงเมืองที่เราสร้างขึ้นนั้น ส่งผลกับตัวตนของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรารู้ดีว่าการอยู่ในตึกอาคารที่ทึบร้างส่งผลกับจิตใจ ในขณะเดียวกันในระดับเมือง เราก็เข้าใจว่าพื้นที่เช่นสวนส่งผลกับร่ายกายและหัวใจอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากกายและใจแล้ว ทัศนคติ มุมมองของผู้คนก็สัมพันธ์และเบ่งบานได้จากการมีพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่เช่นจัตุรัส ลานโล่ง และพื้นที่สวน เป็นสิ่งที่เราเรียกอย่างหลวมๆ ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ การเกิดขึ้นของพื้นที่สาธารณะนั้นสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของชีวิตทางสังคมและสำนึกสาธารณะ พื้นที่นอกบ้านนี้จึงเป็นพื้นที่ที่เราก้าวออกไปพบเจอ ปะทะ แลกเปลี่ยนความคิดและตัวตนกับสังคมหรือคนอื่นๆ เป็นที่ๆ ที่เรารู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไปรับรู้ ถกเถียงและร่วมตัดสินใจขับเคลื่ององคาพยพของสังคมและเมืองที่เราร่วมอยู่นี้อย่างเป็นรูปธรรม
คำว่าประชาธิปไตยเป็นคำที่มีความหมายอย่างกว้างขวาง ด้านหนึ่งนั้นประชาธิปไตยเกี่ยวข้องกับปวงชน จิตสำนึกสำคัญของการเป็นประชาธิปไตยคือการปรากฏตัวของปวงชนอันนำไปสู่การรับฟังเสียงของคนอื่น แน่นอนว่าพื้นที่สาธารณะจึงมักเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการและประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยในฐานะพื้นที่รวมตัวของผู้คน ในสมัยกรีกมีข้อเสนอว่า ความเป็นประชาธิปไตยของกรีกปรากฏ- และเบ่งบานได้ในระดับการออกแบบเมือง จากการมีจัตุรัส มีลาน และมีอะกอร่าอันโด่งดังที่ร่วมสร้างสำนึกสาธารณะให้ประชาชน หลังจากยุคกรีก ในประวัติศาสตร์แทบจะทุกพื้นที่ในโลก เรามักจะมีลานกว้าง มีสวนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้และการเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นสนามหลวง ไฮด์ปาร์ก กระทั่งเทียนอันเหมิน และจัตุรัส Tahrir Square ที่กรุงไคโรอันเป็นจุดเริ่มต้นของ Arab Spring
คำว่าพื้นที่สาธารณะ ในฐานะของพื้นที่ที่เกิดจากวิธีคิดแบบประชาธิปไตย และเป็นพื้นที่บ่มเพาะประชาธิปไตย ในแง่หนึ่งจึงไม่ได้สัมพันธ์แค่การเป็นพื้นที่ของม็อบ การชุมนุมประท้วงอันเป็นกิจกรรมสำคัญของปวงชนในการต่อสู้เรียกร้อง แต่พื้นที่สาธารณะนั้นยังสัมพันธ์กับปวงชนในแทบทุกมิติ ทั้งในเวลาปกติที่เป็นพื้นที่ใช้งานส่วนกลาง พื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้ พักผ่อนพบปะ หรือเฉลิมฉลอง ซึ่งในขณะเดียวกันก็เก็บงำประวัติศาสตร์และความทรงจำของผู้คนทั้งดีและร้ายไว้
Agora และ Pnyx จัตุรัสที่ผู้คนก้าวไปรับฟังคนอื่น
เวลาเราจิตนาการถึงอารยธรรมกรีก เรามักเห็นภาพ The School of Athen ซึ่งนอกจากภาพของเพลโตและอริสโตเติล สองนักปราชญ์ผู้วางรากฐานให้โลกความคิดแบบตะวันตกแล้ว ภาพวาดสำคัญของราฟาเอลนี้ยังแสดงถึงจิตวิญญาณแบบกรีก โดยเฉพาะการให้ภาพของ Agora ภาพที่เป็นอุดมคติของนครรัฐกรีกโบราณที่มีพื้นที่กลางเมืองที่นักคิด นักปรัชญา จิตรกร กวี เข้ามาใช้พื้นที่ส่วนกลางนี้ถกเถียงพูดคุยกัน ‘อย่างเป็นสาธารณะ’
Agora จึงเป็นทั้งสถาปัตยกรรม และเป็นส่วนหนึ่งของผังเมืองแบบกรีก ที่มีการวางพื้นที่เพื่อให้ ‘ประชาชน’ ออกมารวมตัวกัน การมีจัตุรัส ที่เป็นทั้งตลาดสด โรงเรียนกลางแจ้ง พื้นที่ที่นักคิดถกเถียงกันทั้งกับนักคิดด้วยกันเองและกับกวีหรือศิลปินอื่นๆ การสร้างพื้นที่เช่นนี้จึงสัมพันธ์กับแนวคิดประชาธิปไตยที่ค่อนข้างเป็นอุดมคติของกรีกโบราณ พื้นที่สาธารณะจึงเป็นพื้นที่สร้าง ‘ชีวิตสาธารณะ’ ของผู้คนให้เป็นรูปธรรม เป็นที่เราไปรับรู้เรื่องราวของรัฐ เมือง และคนอื่น เป็นที่ๆ ย้ำกับเราว่าสังคมนั้นกำลังก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ
ความสำคัญของอะกอร่าจึงทั้งเกิดจากประชาธิปไตย และเป็นพื้นที่ส่งเสริมประชาธิปไตย มีผู้คนมาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทั้งในระดับทางการและข่าวลือซุบซิบนินทา ประชาชนได้ออกไปรับฟังเสียงและความเห็นของคนอื่นซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย
ในภาคปฏิบัติ กรีกโบราณนอกจากจะมีจัตุรัสเป็นหัวใจของเมือง(ที่เป็นพื้นที่ของประชาชนไปพร้อมกัน) แล้ว ตัวจัตุรัสเช่นอะกอร่านี้มักเกิดการถกเถียงสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับเหตุบ้านการเมือง โดยนอกจากตัวอกอร่าแล้ว กรีกยังออกแบบและสร้าง Pnyx ไว้เป็นส่วนหนึ่งของเมือง เจ้า Pnyx นี้เป็นอัฒจรรย์กลางแจ้งที่อยู่ขึ้นไปนอกเมืองระดับเดินหนึ่งเหนื่อยถึง ตัวสถาปัตยกรรมเป็นเหมือนโรงละครกลางแจ้งที่โด่งดังสไตล์กรีก โดย Pnyx เป็นที่ๆ คนจะย้ายจากอะกอร่า ไปชุมนุมกันที่ลานนั้น รับฟังการปราศรัย และร่วมกันตัดสินใจทิศทางต่างๆ ของสังคมที่เป็นรูปธรรมต่อไป
เสียงอึกทึกและบันทึกบนลานกว้าง จากไฮด์ปาร์ก ถึงสนามหลวง
แน่นอนว่ากรีกโบราณเป็นต้นธารความคิดของประเทศตะวันตก ทั้งในระดับแนวคิดและสุนทรียภาพต่างๆ กระนั้นแนวคิดทั้งประชาธิปไตย ไปจนถึงการออกแบบเมือง โลกตะวันตกก็ย่อมสืบทอดมาจากกรีกด้วย กรีกมีลานจัตุรัส เมืองในยุคหลังๆ จึงสืบทอดการสร้างจัตุรัส รวมถึงสวนขนาดใหญ่ไว้ ทั้งเป็นฟังก์ชั่นเพื่อการรวมตัวของผู้คน เป็นพื้นที่พบปะค้าขายและใช้ชีวิต ในขณะเดียวกันก็เป็นความสวยงามหนึ่งของเมือง
Bertrand Levy แห่ง University of Geneva พูดถึงความสำคัญและมิติทางสังคมของจัตุรัสในเมืองไว้ในบทความ ‘Urban Square as the Place of History, Memory, Identity’ ว่าจัตุรัสเป็นหัวใจของเมือง เป็นที่ๆ คนเมืองเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความทรงจำ
ดังนั้นเองในลานกว้างและจัตุรัสแทบทุกเมืองจึงเป็นพื้นที่ของประชาชน เป็นที่ของผู้คนทั้งในเวลาปกติ และการรวมตัวเพื่อต่อสู้เรียกร้อง ในลอนดอนมีไฮด์ปาร์ก ต้นทางสำคัญที่ทำให้คำว่าไฮด์ปาร์กมีความหมายถึงการปราศรัย ในขณะเดียวกันสนามหลวงยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็กลายเป็นพื้นที่พักผ่อน เป็นตลาดนัดเพื่อรับมือวิกฤติเศรษฐกิจหลังสงครามโลก และเป็นที่จอมพล ป. จัดให้มีการไฮด์ปาร์กหรือให้มีการปราศรัยตามแบบไฮด์ปาร์กที่ลอนดอน
ประเด็นสำคัญนอกจากการเปิดพื้นที่ให้ประชาชน จึงอยู่ที่การมองเห็นพื้นที่สาธารณะเป็น ‘พื้นที่ของประชาชน’ เป็นที่ๆ ทุกคนสามารถใช้งานได้ ซึ่งนอกจากการเข้าถึงได้ เป็นที่ของคนทุกคนแล้ว ยังมีการคำนึงถึงการใช้งานที่หลากหลาย ครอบคลุม นอกจากนี้ พื้นที่สาธารณะยังสัมพันธ์กับการเป็นพื้นที่ความทรงจำ ที่ผู้คนเข้ามาทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้ พื้นที่เช่นสนามหลวงเองก็เคยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เป็นทั้งพื้นที่ประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็เก็บงำเรื่องราวที่มีทั้งบาดแผลและความภาคภูมิใจของเมือง
ในที่สุดแล้ว เรากลับมาที่ความคิดที่พื้นฐานที่สุด ที่เราอาจไม่ได้คำนึงมันอย่างจริงจัง ว่าพื้นที่กายภาพในที่สุดสัมพันธ์กับความรู้สึกนึกคิดของผู้คน และด้านหนึ่งก็สัมพันธ์กับความก้าวหน้าและความสถาวร คำว่าประชาธิปไตยเองก็เป็นอีกหนึ่งคำที่ไม่แค่สัมพันธ์กับคำว่า ‘การเมือง’ หรือการเรียกร้อง
แต่กลับเป็นสิ่งที่แทรกอยู่ในทุกอณูตั้งแต่อิฐ หิน แผ่นกระเบื้องที่ประกอบขึ้นกลายเป็นลาน เป็นสวน เป็นที่ๆ ถูกคิดเพื่อปวงชน เป็นพื้นที่ชุมชนจากการชุมนุมรวมตัวรวมตัวของผู้คน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Montree Sommut
- Vanat Putnark
Writer