เด็กมีแนวทางการเล่นที่หลากหลายแตกต่างกันตามความที่สนใจและศักยภาพของผู้เล่น การเล่นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการปลดปล่อยพลังออกมา การเล่นบางรูปแบบเน้นการใช้ความคิดและการไตร่ตรองมากกว่าการเกิดกิจกรรมทางกาย ในบางการเล่นอาจมีการสร้างบทบาทและกฎเกณฑ์สมมติขึ้น หรือมีการใช้จินตการ การเล่นถือเป็นการฝึกทักษะทั้งทางกาย และทางสติปัญญา อันมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กทั้งทางกายภาพ สังคม และการตระหนักรู้
ช่วงศตวรรษที่ 19 การเล่นถูกให้ความหมายไว้หลากหลาย มีทฤษฏีกล่าวว่าการเล่นเป็นการปลดปล่อยพลังงานส่วนเกิน เป็นการฝึกสัญชาตญาน และเป็นหนทางที่ใช้ระบายความเครียดท่ามกลางยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Spencer 1896, Groos 1898, Patrick 1916) แต่ก็มีบางคนที่เห็นต่างออกไปว่าการเล่นเป็นการเติมเต็มพลังให้ร่างกายและเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ (Lazarus 1883) ในขณะที่บางคนมองว่าการเล่นเป็นการจำลองสถานการณ์จริงที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ในวัยเด็ก (Hall 1906) ต่อมาในศตวรรษที่ 20 ได้มีทฤษฎีเกี่ยวกับการเล่นว่าเป็นสิ่งที่มีผลต่อการพัฒนาตัวตนและการตระหนักรู้ของเด็ก มีส่วนช่วยในพัฒนาการทั้งทางด้านสังคม ร่างกาย และจิตใจ การเล่นจึงถือเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ (Henricks 2014)
ผู้ใหญ่อาจหลงลืมความสนุกและความเพลิดเพลินของการเล่นไป เนื่องจากภาระ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่มีมากขึ้น การมองเห็นและรับรู้พื้นที่ของผู้ใหญ่กับเด็กจึงมีความแตกต่างกัน สนามเด็กเล่นจึงมักถูกออกแบบให้มีระเบียบ มีแบบแผน และมีความปลอดภัย แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่าเด็กชอบเล่นในที่ที่มีลักษณะตรงข้ามกับสิ่งที่ผู้ใหญ่มองว่าควรจะเป็น เด็กๆ จะตื่นเต้นที่ได้พบเจอสิ่งแปลกใหม่ ชอบการสำรวจและทำความรู้จักกับสิ่งรอบตัว สำหรับพวกเขาการเล่นจะเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่แม้ไม่มีเครื่องเล่นก็ตาม เด็กสามารถใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนสิ่งรอบตัว เช่น ดิน ทราย ก้อนหิน ต้นไม้ ทุ่งหญ้า น้ำ เนิน โต๊ะ เก้าอี้ ผนัง ฯลฯ ให้กลายเป็นอุปกรณ์หรือองค์ประกอบที่ใช้ในการเล่น รวมทั้งสร้างสรรค์เรื่องราวและวิธีการเล่นขึ้นมาเอง
ดังนั้นก่อนที่เราจะออกแบบพื้นที่เล่นให้กับเด็ก จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงพัฒนาการของเด็ก ความเหมาะสมกับสรีระของร่างกาย ความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม ลักษณะการใช้งานพื้นที่สำหรับการเล่น ความสำคัญของการเล่น เหตุผลเบื้องหลังความต้องการเพื่อให้การออกแบบพื้นที่เล่นนั้นเหมาะสมกับกลุ่มเด็กในแต่ละวัย แต่ละพื้นที่
รูปแบบของการเล่น
นักสังคมวิทยา มิลเดร็ด พาร์เทน (Mildred Parten) ได้จำแนกการเล่นจากพฤติกรรมเชิงสังคมของเด็ก (ญาณี 2009; Rock 2020) ตั้งแต่การไม่เล่นแต่อาจมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดินไปมา ลุกนั่ง หรืออาจมีการสังเกตสิ่งรอบตัวหรือพฤติกรรมของผู้อื่น การเล่นคนเดียว เด็กจะสร้างความบันเทิงสนุกสนานให้กับตัวเองโดยไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การเล่นในรูปแบบนี้มันเกิดกับเด็กในช่วงอายุ 2 – 3 ปี ซึ่งยังเป็นช่วงวัยที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง เด็กบางคนอาจสนุกสนานกับการเป็นผู้ชม คอยสังเกตพฤติกรรมหรือการเล่นของผู้อื่น อาจมีการถามคำถามหรือให้คำแนะนำผู้อื่นแต่ไม่ได้เข้าไปเล่นด้วยถือเป็นการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม หรือการเล่นคู่ขนานที่เด็กเล่นด้วยกันหรือนั่งเล่นอยู่ข้างกัน แต่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เช่น การเล่นชิงช้าข้างกัน การต่อบล็อคของตัวเอง
พฤติกรรมต่อมาคือการเล่นร่วมกัน เป็นการต่อยอดมาจากการเล่นแบบคู่ขนาน คือเด็กเริ่มเล่นด้วยกัน พูดคุยกันมากขึ้น เริ่มมีการจัดการการเล่น หรือมีการสร้างบทบาทสมมติของแต่ละฝ่ายขึ้น การเล่นแบบนี้จะช่วยพัฒนาทักษะหลายด้าน ทั้งทักษะในการเข้าสังคม ทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะในการร่วมมือ ทักษาะในการใช้ภาษา ซึ่งช่วยสร้างมิตรภาพระหว่างเด็ก ตัวอย่างการเล่นรูปแบบนี้ได้แก่ การเล่นก่อเนินทรายด้วยกัน การเล่นสร้างบ้านด้วยกัน แบบสุดท้ายคือการเล่นร่วมกันเป็นกลุ่มโดยมีการสร้างรูปแบบแนวทางการเล่นที่เป็นแบบแผน หรือมีกฎเกณฑ์สำหรับการเล่น โดยทุกคนในกลุ่มจะมีเป้าหมายในการเล่นแบบเดียวกัน การเล่นในรูปแบบนี้ต้องอาศัยทักษะทางสังคมหลายด้าน จึงกระตุ้นพัฒนาการด้านสังคมได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าไปอยู่ร่วมกับคนจำนวนมากในสังคม เช่น การเล่นบอร์ดเกม การเล่นเกมปริศนา
อย่างที่บอกว่าการเล่นช่วยพัฒนาทักษะทางด้านต่าง ๆ ทั้งทักษะทางกาย ทักษะเชิงสติปัญญา ทักษะการเข้าสังคม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการพัฒนาตัวตนของเด็กแต่ละคน ซึ่งอาจเกิดจากการเล่นหลายรูปแบบทั้งการสวมบทบาทสมมติที่ช่วยเสริมสร้างจินตนาการ การเล่นแบบแข่งขันที่ช่วยพัฒนากระบวนการคิดการวางแผนเพื่อหาความเป็นไปได้ในการเอาชนะ การเล่นทางกายภาพช่วยส่งเสริมให้เกิดความแข็งแรงของร่างกายและกล้ามเนื้อ การเล่นโดยการสร้างนอกจากจะเสริมสร้างจินตนาการแล้วยังเสริมเรื่องการคาดเดาความเป็นไปได้ ในการประดิษฐ์สิ่งของออกมาได้สำเร็จ การเล่นเชิงสัญลักษณ์ เป็นการเล่นผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การร้องเพลง การเคาะจังหวะหรือเล่นดนตรี การเล่นตลก การสร้างงานศิลปะ ช่วยให้เด็กกล้าการแสดงออก และเปิดโอกาสให้เด็กได้สร้างประสบการณ์ รวมทั้งได้ใช้ความคิดและความรู้สึกในการทำกิจกรรม และสุดท้ายการเล่นเชิงสำรวจ การเล่นรูปแบบนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักสิ่งรอบตัวมายิ่งขึ้น ต้องใช้ทักษะการตั้งคำถามและคิดหาคำตอบ จึงทำให้เกิดการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
การออกแบบพื้นที่สำหรับการเล่น
พื้นที่เล่นควรมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการเคลื่อนไหวและการทำกิจกรรมทางกาย กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน ทั้งการมองเห็น การได้กลิ่น การได้ยิน การรับรู้รสชาติ และการสัมผัส ช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ทักษะในการบริหารจัดการหรือประดิษฐ์เครื่องมือต่าง ๆ และมีกิจกรรมที่ได้ท้าทายความสามารถตนเอง เช่น การปีนป่าย สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบจึงมีตั้งแต่เรื่องความเสี่ยง การออกแบบให้ตอบสนองต่อการใช้งานของเด็กทุกกลุ่ม ไปจนถึงการแบ่งสัดส่วนของเด็กแต่ละช่วงวัย
1. การควบคุมความเสี่ยง
การเล่นกับความเสี่ยงเป็นสิ่งที่คู่กัน แต่หากออกแบบพื้นที่สำหรับการเล่นให้ไม่มีความเสี่ยงเลย จะทำให้พื้นที่สำหรับการเล่นมีความน่าเบื่อ ไม่มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมโลดโผน ผจญภัย หรือสำรวจสิ่งใหม่ รวมทั้งไม่เหลือช่องว่างให้เด็กได้ใช้จินตนาการ ในการออกแบบสนามเด็กเล่นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความท้าทาย ในขณะเดียวกันควรประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แล้วออกแบบเพื่อช่วยลดอันตรายเหล่านั้น เช่น เด็กเล็กที่ทักษะด้านการตระหนักรู้ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ระยะของช่องว่างที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กเล็กและควรหลีกเลี่ยงอยู่คือ 9 – 23 เซนติเมตร เครื่องเล่นที่มาจากการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันต้องมีการตรวจสอบเรื่องความแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นแยกออกจากกันในขณะที่เด็กเล่นเครื่องเล่นชนิดนั้นอยู่ เลือกใช้วัสดุที่ปลอดภัยและมีความเหมาะสมกับการใช้งาน สำหรับบริเวณใกล้เครื่องเล่นที่อาจมีการกระแทก ต้องเลือกใช้วัสดุพื้นที่ช่วยลดแรงกระแทก เช่น พื้นยาง EPDM หรืออาจเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น เศษไม้อัดรวมกัน (Wood chips)
สำหรับเครื่องเล่นหรือพื้นที่เล่นที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกันอย่างต่อเนื่องในระยะทางยาวควรมีพื้นที่ที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่าย ทำหน้าที่เป็นจุดพักให้เด็กได้ตัดสินใจว่าจะเล่นต่อหรือย้อนหลับ หรือมีทางเลือกในการไปต่อที่อาจเป็นทางที่ง่ายกว่าเดิม จุดเปลี่ยนถ่ายนี้ควรกว้างอย่างน้อย 2 เมตร หากมีการเปลี่ยนระดับควรมีราวจับเพื่อให้เด็กใช้ช่วยในการพยุงตัวอยู่ทั้งสองฝั่งของบันได ขนาดราวจับสำหรับเด็กควรมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 24 – 39 มิลลิเมตร โดยขนาดที่มีความเหมาะสมมากที่สุดคือ 32 มิลลิเมตร ความสูงของราวจับที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 56 – 66 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ต่างระดับควรมีองค์ประกอบทางตั้งที่ช่วยป้องกันเด็กตกไปยังด้านล่าง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรมีที่กั้นเมื่อพื้นมีระดับต่างกัน 50 เซนติเมตรขึ้นไป โดยที่กั้นต้องมีความสูงอย่างน้อย 74 เซนติเมตร และมีที่กั้นเมื่อพื้นมีระดับต่างกัน 75 เซนติเมตรขึ้นไปสำหรับเด็กทุกช่วงวัย โดยที่กั้นต้องมีความสูงอย่างน้อย 97 เซนติเมตร
2. การออกแบบที่ตอบสนองต่อการใช้งานของเด็กทุกกลุ่ม
พื้นที่สำหรับการเล่นควรมีการออกแบบให้เด็กทุกคน รวมถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางด้ายร่างกายสามารถเข้ามาใช้งานร่วมกันได้ เพื่อสร้างให้เด็กคุ้นเคยกับการมีฏิสัมพันระหว่างกัน การออกแบบพื้นที่ในรูปแบบนี้มีชื่อเรียกว่า inclusive play space พื้นที่รอบเครื่องเล่นต้องไม่เป็นขั้นบันได หากมีการยกระดับพื้นใกล้เครื่องเล่นควรใช้พื้นลาดเอียงความชันน้อยกว่า 1:48 ในการเข้าถึง การเปลี่ยนระดับพื้นที่ภายในบริเวณสนามเด็กเล่นไม่ควรมีการเปลี่ยนระดับมากกว่า 30 เซนติเมตร โดยใช้พื้นที่ลาดที่มีความชันน้อยกว่า 1:16 หากสนามเด็กเล่นมีหลายชั้น ในกรณีที่ความสูงต่างกันไม่เกิน 3.5 เมตร ทางลาดควรมีความชันน้อยกว่า 1:12 และหากมีความสูงต่างกันไม่เกิน 4 เมตร ทางลาดควรมีความชันน้อยกว่า 1:14 โดยเส้นทางสัญจรภายในพื้นที่เล่น รวมถึงบริเวณทางเข้าออกต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 152 เซนติเมตร ไม่มีสิ่งกีดขวางยื่นเข้ามาในเส้นทางสัญจร มีเครื่องเล่นหลากหลาย และมีเครื่องเล่นโลดโผลนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของเครื่องเล่นทั้งหมดตั้งอยู่บริเวณที่เข้าถึงได้ง่าย ในกรณีที่มีราวจับ ราวจับควรอยู่ที่ระดับความสูง 51 – 71 เซนติเมตร สำหรับเครื่องเล่นที่ต้องการให้เด็กเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ ควรออกแบบเครื่องเล่นโดยคำนึงถึงระยะที่เด็กนั่งรถเข็นสามารถเอื้อมถึง
3. การแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการใช้งานของเด็กแต่ละช่วงวัย
การออกแบบสนามเด็กเล่นควรมีพื้นที่ที่หลากหลายเพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาจมีพื้นที่สำหรับการคลาน พื้นที่เชิงปิดสำหรับการมุดที่สามารถเข้าถึงได้จากหลายทิศทาง ม้าโยก ลานทราย สะพานลื่นที่ความสูงน้อยกว่า 122 เซนติเมตร ส่วนพื้นทีเล่นสำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ปี อาจประกอบด้วย เชือกหรือพื้นที่สำหรับการปีนป่าย ชิงช้า ม้าหมุน ม้ากระดก สะพานลื่นที่มีความสูงมากขึ้น การออกแบบพื้นที่เล่นที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัยอาจทำให้เด็กเกิดอุบัติเหตุได้
สนามเด็กเล่นซอร์ลู (Zorlu Playground)
สนามเด็กเล่นนี้ตั้งอยู่ที่เมืองอิสตันบูล ตุรกี สร้างขึ้นในปี 2014 บนพื้นที่ 1,600 ตารางเมตร มีแนวความคิดในการออกแบบให้เด็กสามารถได้เข้าไปอยู่ในโลกจินตนาการของตัวเอง นำสีสันเข้ามาช่วยในการออกแบบเพื่อสร้างแรงดึงดูด เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วเด็กจะชอบสีสันที่สดใส รวมทั้งมีการนำรูปทรงที่หลากหลายเข้ามาใช้ในพื้นที่ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและกระตุ้นจินตนาการ มีหลากหลายโซน โดยรูปแบบของการเล่นในแต่ละพื้นที่จะเหมาะกับช่วงวัยที่แตกต่างกัน รวมทั้งเด็กสามารถเลือกเล่นในบริเวณที่ตัวเองชอบและมีตรงกับบุคลิกของแต่ละคน ในขณะเดียวกันก็มีนั่งของผู้ใหญ่บริเวณด้านข้างของพื้นที่ เพื่อสังเกตการณ์และระวังความปลอดภัยของเด็ก
‘Low Play-Islands’ บริเวณทางเข้าของสนามเด็กเล่น เป็นพื้นที่ที่รวบรวมเครื่องเล่นที่หลากหลายและมีความซับซ้อนของการเล่นในระดับง่ายไว้ด้วยกัน เช่น เนินขนาดเล็ก แทมโพลีน สปินเนอร์ อวนปีน เปลญวนและสะพานลื่น ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีความปลอดภัย โดยการควรคุมความสูง ขนาด และระยะห่างของแต่ละองค์ประกอบ รวมถึงเลือกใช้ EPDM ซึ่งเป็นวัสดุปูพื้นที่มีความนิ่ม จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับเด็กเล็ก ใช้เสาไม้เข้าเป็นองค์ประกอบทางตั้งเพื่อเพิ่มบรรยากาศของการผจญภัย มีการเลือกใช้พื้นสีสันสดใสตัดกับสีธรรมชาติของไม้
‘Deep Valleys, a Bridge and a Giant Slide’ ถัดเข้ามาด้านในมีการลดระดับพื้นที่ลงไปให้เกิดเป็นหุบขนาดใหญ่ การกดระดับพื้นที่ลงมาจากระดับพื้นที่รอบข้างนี้จะสร้างความรู้การเป็นพื้นที่ลี้ลับน่าค้นหา บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเครื่องเล่นโครงตาข่ายสำหรับปีนป่าย และมีชิงช้าที่ได้รับการออกแบบให้มีความสอดคล้องกับโครงตาข่าย มีการออกแบบพื้นที่โดยใช้สีและวัสดุเดียวกับพื้นที่ของทางส่วนหน้าเพื่อให้รู้สึกถึงความเชื่อมต่อ
‘Mountainrange coulisse’ ด้านริมของสนามเด็กเล่นมีการสร้างสรรค์เครื่องเล่นภายใต้รูปแบบของกำแพงที่วางสลับซ้อนกันหลายชั้น และมีการใช้องค์ประกอบต่าง ๆ เข้ามาผสมผสาน เพื่อเพิ่มรูปแบบการใช้งาน (function) ให้กับกำแพง สร้างให้เป็นพื้นที่สำหรับการเล่นเชิงโลดโผน ผจญภัย (active) หลากหลายรูปแบบ ทั้งการปีนป่าย การวิ่ง การซ่อนหา การคลาน และการลื่น
‘Two towers’ หอคอยสูงสองหอตั้งอยู่คนละมุมภายในพื้นที่ ทำให้จากบนหอคอยจะสามารถมองเห็นสนามเด็กเล่นในมุมมองที่แตกต่างกัน ภายในแต่ละหอคอยมีการสร้างเส้นทางและรูปแบบการขึ้นไปยังจุดสูงสุดให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน สร้างให้เกิดความน่าสนใจจากการที่ต้องเผชิญการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ
จะเห็นได้ว่าสนามเด็กเล่นซอร์ลอซูเป็นสนามเด็กเล่นที่เน้นการฝึกทักษะทางกาย มีพื้นที่ให้เด็กได้เล่นโลดโผนในรูปแบบที่หลากหลาย มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่สำหรับการเล่นของเด็กในช่วงวัยที่แตกต่างกัน เลือกใช้วัสดุที่รอบรับการกระแทกเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเล่นของเด็ก ออกแบบสนามเด็กเล่นให้ทุกพื้นที่อยู่ในวิสัยทัศน์ที่ผู้ใหญ่สามารถมองเห็นได้ นำสีสันเข้ามาใช้เพื่อสร้างความดึงดูดและน่าสนใจ ในขณะเดียวกันก็นำวัสดุธรรมชาติเข้ามาใช้เป็นองค์ประกอบ เช่น ไม้ หิน หญ้า เพื่อสร้างบรรยากาศของการผจญภัย สร้างเส้นทางและรูปแบบการเล่นที่หลากหลายให้เด็กสามารถเลือกได้เล่นได้เอง เป็นการช่วยฝึกทักษะด้านการตัดสินใจและค้นหาความชอบของตัวเอง ออกแบบมุมมองและการเข้าถึงในแต่ละพื้นที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกถึงการผจญภัยหรือการค้นพบ ทำให้เด็กรู้สึกสนุกกับการค้นหาเส้นทางต่าง ๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
famlii. n.d. “Why Kids Need 12 Types of Play.” https://www.famlii.com/why-kids-need-different-types-of-play/.
Henricks, Thomas S. 2014. “Play as Self-Realization.” American Journal of Play 6 (2): 190–213. http://scholar.google.com/scholar?hl=en&btnG=Search&q=intitle:Play+as+Self-Realization+Toward+a+General+Theory+of+Play#0.
Lueder, Rani, and Valerie Bergrice. 2008. Ergonomic for Children.
Masiulanis, Katherine, and Elizabeth Cummins. 2017. How to Grow a Playspae: Development and Design.
Rock, Amanda. 2020. “11 Types of Play Important to a Child’s Development.” January 23, 2020. 2020. https://www.verywellfamily.com/types-of-play-2764587.
Shackell, Aileen, Nicola Butler, Phil Doyle, and David Ball. 2008a. “Design for Play: A Guide to Creating Successful Play Spaces.” Department for Culture, Media and Sport Department for Children, Schools and Families, 156. http://eprints.mdx.ac.uk/5028/%0Awww.playengland.org.uk.
———. 2008b. “Design for Play: A Guide to Creating Successful Play Spaces.” Department for Culture, Media and Sport Department for Children, Schools and Families, no. June: 156. http://eprints.mdx.ac.uk/5028/%0Awww.playengland.org.uk.
ญาณี, เหล่าวิริยะรัตน์. 2009. “ผลของการเล่นบําบัดที่มีต่อพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กอนุบาล.”