CITY CRACKER

เมืองบันดุง กับการใช้แนวคิดอุทยานนครพัฒนาเมือง เมื่อครั้งเป็นอาณานิคมดัตช์

แนวคิดอุทยานนคร (Garden City) เกิดขึ้นในช่วงที่เราจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 หลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ประมาณ ค.ศ. 1750 – 1850) ขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรป จึงมีผู้คนอพยพจากชนบทเข้าสู่เมืองตามแหล่งงาน ทำให้เมืองมีการขยายตัวเป็นเมืองมหานคร (Metropolis) ขึ้น ซึ่งจะมีความหนาแน่นของอุตสาหกรรมและการอยู่อาศัยโดยเฉพาะรูปแบบสลัม (Slum) และส่งผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่สีเขียวหรือสวนที่แตกต่างไปจากศตวรรษที่ 17

 

กล่าวคือ สวนเป็นองค์ประกอบสำคัญของพระราชวัง บ้านขุนนาง และชนชั้นสูง ที่ใช้สำหรับพักผ่อนส่วนตัวเท่านั้น (Pleasure Garden) หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการปรับพื้นที่สวนของกษัตริย์ ขุนนาง และชนชั้นสูง เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้งานได้ กลายเป็นแนวคิด สวนสาธารณะ (Public Park) เช่น สวนรีเจ้นท์ (Regent Park) ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของป่าสำหรับล่าสัตว์ (Hunting Forest) ของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ ต่อมา จอห์น นาช (John Nash) สถาปนิกผังเมือง ได้เปลี่ยนให้พื้นที่นี้เป็นสวนสำหรับพักผ่อนของราชวงศ์และขุนนางในช่วงทศวรรษที่ 1810 – 1820  และเปิดให้สาธารณะเข้าใช้งานในปี ค.ศ. 1841 ในแนวคิด Pleasure Ground ที่ได้รับความนิยมในอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 1850 – 1900 เช่นกัน

สวนรีเจ้นท์ ปี ค.ศ. 1830 หลังจากเปลี่ยนเป็นสวนสำหรับราชวงศ์และขุนนาง และเปิดเป็นสาธารณะในปี ค.ศ. 1841
credit: british-history.ac.uk/survey-london/vol19/pt2/plate-49

แนวคิดสวนสาธารณะในเมือง (Urban Park) เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงที่มีการล่าอาณานิคมจากยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ (ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20) ได้แก่ เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รวมถึงอาณานิคมของดัตช์หรือเนเธอแลนด์ ได้แก่ หมู่เกาะประเทศอินโดนีเซีย หรือในขณะนั้นเรียกกันว่า หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Dutch East Indies) ราวศตวรรษที่ 17 – 18 หลังจากดัตช์ได้เข้าครอบครองเมืองปัตตาเวีย (จาการ์ตา ปัจจุบัน) ชาวดัตช์รวมถึงชาวยุโรปอื่นๆ ได้อพยพมายังหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์เป็นจำนวนมาก เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่จากการทำธุรกิจ การอพยพของชาวยุโรปจึงเป็นการนำวัฒนธรรม และแนวคิดมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของสังคมใหม่ ซึ่งรวมถึงวิถีชีวิตประจำวัน เทคโนโลยีการสร้างบ้าน การออกแบบเมืองและการออกแบบสวนเพื่อแสดงถึงคุณภาพชีวิตที่ดี และความทันสมัยของเมือง

 

เมืองบันดุง : เมื่อแรกสร้างและการเปลี่ยนแปลง

เมืองบันดุง (Bandung หรือ Bandoeng (ดัตช์)) เป็นเมืองบนเกาะชวาฝั่งตะวันตก นับว่าเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของอินโดนีเซีย รายล้อมด้วยพื้นที่ภูเขาไฟ และอยู่ในเขตแม่น้ำจิกาปันดุง (Tjikapoendoeng) ทำให้มีสภาพภูมิอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปี และมีปราการทางธรรมชาติ จนได้ชื่อว่าเป็น เมืองท่ามกลางภูเขาของอาณาจักรอินเดียตะวันออกของดัตช์ (The Mountain City of Netherlands India) (Reitsma 1926) เมื่อแรกเริ่มอาณานิคมดัตช์เข้าใช้พื้นที่บริเวณภูเขาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปลูกชาและกาแฟ ราวศตวรรษที่ 18 จึงมีการตัดถนนเชื่อมเมืองปัตตาเวีย ศูนย์กลางอาณานิคม เกิดกลุ่มนักธุกิจที่ทำการค้าแถบภูมิภาคปารายางัน (Parahyangan) ขึ้น เกิดการตั้งถิ่นฐานของชาวอาณานิคมขึ้นในเมืองบันดุง และเริ่มออกแบบวางผังเมือง ที่พักอาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ บริเวณทางทิศเหนือของเมืองบันดุง (เดิม) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการพัฒนา มีทางรถไฟคั่นกลางเมือง ทำให้มีเกิดการแบ่งพื้นที่ออกเป็นเมืองบันดุงเหนือเป็นพื้นที่ของชาวอาณานิคมและยุโรป และเมืองบันดุงใต้เป็นพื้นที่ของชาวพื้นเมือง

ถนนภายในเมืองบันดุง ปี ค.ศ. 1901 – 1903
credit: colonialarchitecture.eu/obj?sq=id%3Auuid%3Aafde82dd-3c5e-4cdf-aef2-54bdec2724e9

เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 เมืองบันดุงเริ่มหนาแน่นขึ้น (โดยเฉพาะเมืองบันดุงเหนือ) จนกลายเป็นศูนย์กลางของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เกิดกลุ่มนักธุรกิจการค้าปารายางัน โดยมีปีเตอร์ เซจ์ธูฟ (Pieter Sijthoff) เป็นผู้ดูแลเมือง (Resident Assistant) และเกิดการตั้งถิ่นฐานของชาวอาณานิคมและยุโรป จึงมีการปรับปรุงเมืองหลายด้าน ทั้งการเพิ่มถนนทางสัญจร การสร้างสถานศึกษา การปรับปรุงคุณภาพบ้านเรือน การย้ายสุสานของชาวยุโรปและชาวจีน การสร้างศาลาว่าการเมือง (Societat Concordia) การสร้างตลาดใหม่ และการออกข้อกำหนดการใช้รถม้าแทนรถลาก (ค.ศ. 1898 – 1906) โดยการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสะดวก และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ชาวยุโรปเป็นสำคัญ และโดยเฉพาะการสร้างสวนสำหรับเสำหรับพักผ่อน พื้นที่รับประทานอาหารในช่วงเวลาสุดสัปดาห์จากการทำงาน รวมถึงการสร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ของคนเมือง

สวนปีเตอร์ เซจ์ธูฟ (Pieter Sijthoff Park หรือ Pieters Park) เป็นสวนแห่งแรกของเมืองบันดุง สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1885 ขนานนามตามผู้ดูแลเมืองในขณะนั้น เมื่อมีการสร้างอาคารโดยรอบมากขึ้น สวนจึงถูกใช้งานในกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งพื้นที่ทำกิจกรรมช่วงกลางวันของนักเรียนโรงเรียนควีก (Kweekschool) พื้นที่ซ้อมวงดุริยางค์ทหารชาวดัตช์ (Dutch Army Drum Band) และพื้นที่พบปะสังสรรค์รับประทานอาหารพร้อมกับฟังเพลงบรรเลงวงออร์เคสตรา (Orchestra) ในยามเย็น สวนจึงเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญและจำเป็นของชาวยุโรปเป็นอย่างมาก เมื่อมีการขยายตัวของเมืองมากขึ้น ปริมาณของสวนในเมืองก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และหมายรวมถึงเศรษฐกิจของเมืองที่ดีขึ้นไปด้วยเช่นกัน ซึ่งนำไปสู่การผลักดันให้เมืองบันดุงกลายเป็นเทศบาลเมืองบันดุง (Gemeente Bandoeng) ในปี ค.ศ. 1906

เมืองบันดุงได้รับการวางผังตามแนวคิดอุทยานนคร (Garden City หรือ Tuinstad (ดัตช์)) โดยสำนักวิศวกรรมทั่วไปและสถาปัตยกรรมในกำกับของดัตช์ (Algemeen Ingenieurs-en Architecten bureau (AIA)) ประกอบกับแนวคิดในการย้ายเมืองหลวงจากปัตตาเวียในช่วงปี ค.ศ. 1918 – 1925 ซึ่งพบว่าในช่วงนี้มีการสร้างสวนในเมืองเพิ่มขึ้นหลายแห่ง จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งดอกไม้ (City of Flowers หรือ Parijs van Java (ดัตช์))

ผังเมืองบันดุง ปี ค.ศ. 1933 credit: geocities.ws/bandungcity/map.html

หลังจากปี ค.ศ. 1925 มีการวางผังเมือง (Town planning) อีกครั้งโดยมีโทมัส กาส์เตน (Thomas Karsten) วิศวกรรมชาวดัตช์ที่เริ่มต้นสร้างสถาปัตยกรรมและการวางผังเมืองให้สัมพันธ์กับลักษณะของภูมิประเทศและบริบทภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชนพื้นเมืองได้เป็นอย่างดีเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้วางผังเมืองปัตตาเวีย เซมารัง ยอร์กยาการ์ตา และสุราการ์ตามาก่อนหน้านี้ จนเกิดเป็นผังเทศบาลเมืองบันดุง (Uitbreidingsplan Stadsgemeente Bandoeng) ปี ค.ศ. 1933 ขยายพื้นที่บริหารราชการออกจากศูนย์กลางเมืองให้กว้างขึ้น และกระจายศูนย์กลางเมืองให้ทั่วเมือง เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สัมพันธ์กับจำนวนประชากรที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น พื้นที่ศูนย์กลางเมืองนี้หมายรวมถึงพื้นที่สวนสาธารณะหรือทุ่งหญ้าที่กระจายตัวตามอาคารสถานที่ราชการ สถานศึกษา และที่พักอาศัย

ในแนวคิดของอุทยานนคร (Garden City) ทำให้พื้นที่เปิดโล่งสีเขียวในเมืองมีความสำคัญและจำเป็น โดยยึดหลักการออกแบบ 3 ประการ ได้แก่ 1) สร้างเมืองให้เป็นเมืองต้นแบบของเมืองอาณานิคม 2) จัดการและสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองเพื่อตอบสนองการเป็นอุทยานนคร และ 3) เตรียมความพร้อมของเมืองบันดุงเพื่อรองรับการเป็นเมืองหลวงของอาณานิคมดัตช์ จนถึงปี ค.ศ. 1930 – 1935 เทศบาลเมืองบันดุงพยายามที่จะเปลี่ยนสวนในเมืองเป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดเล็ก โดยมีการติดป้ายชื่อต้นไม้ ชื่อวิทยาศาสตร์ และปลูกพืชพรรณให้มีความหลากหลายในเมืองมากขึ้น เช่น สวนยูบีเลเอ็ม (Jubipeum Park) สวนจีลากี (Tjilaki Plein) เป็นต้น และการปรับเมืองตามผังเมืองปี ค.ศ. 1933 ยังไม่แล้วเสร็จ ก็เกิดเหตุการณ์สงครามโลก และประกาศเอกราชของอินโดนีเซียเสียก่อน ทำให้การพัฒนาเมืองบันดุงหยุดชะงักไป

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการประกาศเอกราชของประเทศอินโดนีเซีย (ค.ศ. 1945) พื้นที่เมืองและสวนในเมืองบันดุงเสื่อมโทรม และทรุดโทรมลง เนื่องจากไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง เป็นมรดกของอาณานิคม และไม่มีผู้ว่าการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนา จึงส่งผลต่อการใช้งานสวนผิดวัตถุประสงค์ และบางแห่งปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ เช่น ที่พักอาศัย มัสยิด เป็นต้น ทำให้พื้นที่สวนในเมืองลดลง จนเมื่อปี ค.ศ. 2013 – 2018 ผู้ว่าราชการเมืองบันดุง ริดวัน กามิล (Ridwan Kamil) ได้กำหนดนโยบายให้ฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวและมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองบันดุงไว้ โดยปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่สวนทั่วเมือง ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่เมืองบันดุงเหนือเท่านั้น เพื่อให้เกิดการใช้งานขึ้น เพิ่มความน่าสนใจด้วยรูปแบบ Theme Park ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดการใช้งานของคนเมือง เช่น สวนซุปเปอร์ฮีโร่ สวนสุขภาพ สวนศิลปะ สวนกีฬา สวนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

ตำแหน่งสวนในเมืองบันดุงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (1) สวนปีเตอร์ เซจ์ธูฟ (Pieter Sijthoff Park) (2) สวนอินซูลินเด (Insulinde Park) (3) สวนโมลุกเกอ (Molukken Park) (4) สวนไอเซอมาน (Ijzerman Park) (5) สวนยูบีเลเอม (Jubileum Park) (6) สวนโอรังเญอ (Oranje Plein) (7) สวนจีลากี (Tjilaki Plein) (8) สวนจีเบออูจีง (Tjibeunjing Plein) (9) สวนจีตาฮูม (Tjitareom Plein) (10) สวนซาบาง (Sabang Plein) (11) สวนเฮ้าท์มาน (Houtman Plein) (12) สวนออชิเด (Orchidee Plein) (13) สวนลิมเบอร์ก สตีรัม (Limburg Stirum Plein) และ(14) สวนจีอัมปากา (Tjiampaka Plein)
(ดัดแปลงจากผังเมืองบันดุง ปี ค.ศ. 1946 (http://colonialarchitecture.eu/obj?sq=id%3Auuid%3A4f916b07-2dbc-4d91-a818-17df68f7f139)

 

สวนในเมืองบันดุง

การศึกษาสวนในเมืองบันดุงได้อ้างอิงจากภาพถ่ายทางอากาศ แผนที่ และผังเมือง ในช่วงปี ค.ศ. 1918 – 1933 ที่มีแนวคิดของการย้ายเมืองหลวงจากเมืองปัตตาเวียมายังเมืองบันดุง พบว่า สวนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมือง ทั้งอาคารราชการ สถานศึกษา และบริเวณชุมชนของชาวยุโรป จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่า การสร้างสวนในเมืองเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการวางผังเมืองในภาพรวมทั้งหมด

พบว่ามีสวน (Park) อย่างน้อย 5 แห่ง ได้แก่ สวนปีเตอร์ เซจ์ธูฟ (Pieter Sijthoff Park หรือ Pieters Park) สวนอินซูลินเด (Insulinde Park) สวนไอเซอมาน (Ijzerman Park) สวนยูบีเลเอม (Jubileum Park) สวนโมลุกเกอ (Molukken Park) และทุ่งหญ้า (Plein) ที่พื้นที่เปิดโล่งที่เป็นสนามหญ้าและปลูกต้นไม้ที่ผู้คนสามารถเข้าใช้งานได้อีกหลายแห่ง ได้แก่ สวนโอรังเญอ แนสซอ (Oranje Nassau Plein) สวนจีลากี (Tjilaki Plein) สวนจีตาฮูม (Tjitareom Plein) สวนจีเบออูจีง (Tjibeunjing Plein) สวนออชิเด (Orchidee Plein) สวนเฮ้าท์มาน (Houtman Plein) สวนลิมเบอร์ก สตีรัม (Limburg Stirum Plein) สวนปันดาวา (Pandawa Plein) สวนรูทคานส์ (Rotgans Plein) สวนซาบาง (Sabang Plein) และสวนจีอัมปากา (Tjiampaka Plein) (Budiman 2015) บางแห่งไม่ระบุปีที่สร้างที่แน่ชัด แต่พบอยู่ในแผนที่เมืองบันดุงปี ค.ศ. 1933 ที่มีโทมัส กาส์เตน (Thomas Karsten) เป็นผู้วางผัง

จากการคงเหลืออยู่ของสวนในเมืองและอาคารแวดล้อมสามารถกล่าวได้ว่า สวนในเมืองเป็นส่วนสำคัญของการออกแบบเมือง เนื่องจากสวนถูกสร้างขึ้นให้มีระบบภายในของตัวเอง คือ มีการออกแบบให้สัมพันธ์กับอาคาร ถนน และสร้างสภาพแวดล้อมที่สวยงามในตัวของสวนเอง ซึ่งเป็นไปได้ว่า การมีสวนในเมืองช่วงปี ค.ศ. 1918 – 1925 เป็นอิทธิพจากการมีความรู้ด้านระบบสวนสาธารณะในเมือง ที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันของยุโรปที่เป็นช่วงเริ่มต้นการพัฒนาของระบบสวนในเมืองสมัยใหม่ การออกแบบวางผังเมืองบันดุงจึงเป็นการปรับจากแนวคิดการออกแบบ Garden City ที่เกิดขึ้นในยุโรป โดยเปรียบเทียบกับการออกแบบเมืองบันดุงในช่วงอาณานิคมดัตช์เป็นแนวคิดของการสร้างจุดศูนย์กลางของเมือง และจัดเมืองเป็นชั้น ๆ โดยศูนย์กลางของเมืองอยู่บริเวณจุดศูนย์กลางของวงกลม และวงกลมถัดมาจะเป็นพื้นที่สีเขียว และในชั้นนอกเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนในชนบท

 

ปีเตอร์ เซจ์ธูฟ  (Pieter Sijthoff Park) สวนที่เก่าที่สุดในเมืองบันดุง

สวนปีเตอร์สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1885 โดยตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์ของผู้ดูแลเมืองคือ ปีเตอร์ เซจ์ธูฟ (Pieter Sijthoff) ในขณะนั้น สวนนี้ได้รับการอกแบบโดย แอ ตูซแชร์ (R. Teuscher) นักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์ พื้นที่สวนตั้งอยู่หน้าบ้านพักของผู้ดูแลเมือง และเปลี่ยนเป็นที่ทำการเทศบาลเมือง (Gemeente Bandoeng) ในปี ค.ศ. 1906 และเป็นศาลาว่าการเมืองบันดุงปัจจุบัน (Kurniawan 2016)

สวนมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมค่อนข้างจัตุรัส มีศาลา (Gazebo) บริเวณกลางสวน มีคูน้ำโดยรอบ และมีสะพานเชื่อมการใช้งานเป็นแห่ง ๆ ภายในสวนมีต้นไม้หลายหลายชนิด ทั้งไม้ยืนต้นเพื่อร่มเงา ไม้ยืนต้นประดับ ไม้พุ่มและไม้ดอก จึงมีการบรรยายไว้ว่า สวนปีเตอร์มีความเรียบง่ายแต่น่าดึงดูดใจ (Katam 2014) พืชพรรณที่ใช้ ได้แก่ ยางอินเดีย (Ficus elastic) พืชตระกูลมะกอก (Canarium commune) แคแสด (Spathodhea campanulat) จามจุรี (Samanea saman) หมากแดง (Cyrtostachys renda) ตาว (Arenga piñata) พืชสกุล Cassia (ตระกูลราชพฤกษ์) พืชสกุล Agathis (ตระกูลสน) พืชสกุล Casuarina (ตระกูลสนทะเล) พืชสกุล Mimusops (ตระกูลพิกุล) พืชสกุล Lagerstroemia (ตระกูลตะแบก) พืชสกุล Araucaria (ตระกูลสน) ไม้ประดับ เช่น ราตรี (Cestrum nocturnum) หางนกยูงไทย (Caesalpinia pulcherrima) พืชสกุล Aglaia (ตระกูลประยงค์) พืชสกุล Murraya (ตระกูลแก้ว) พืชสกุล Ixora (ตระกูลเข็ม) พืชสกุล Gardenia (ตระกูลพุด) เป็นต้น

สวนปีเตอร์เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ของชาวยุโรป โดยเฉพาะชนชั้นนำและนักธุรกิจของเมือง เป็นพื้นที่พูดคุย เดินเล่น รับประทานอาหาร รวมถึงเป็นพื้นที่แสดงความร่ำรวยอีกด้วย พื้นที่สวนมีการใช้งานที่หลากหลายในแต่ละช่วงเวลา ทั้งเป็นพื้นที่พักผ่อนกลางวันของนักเรียนโรงเรียนควีก (Kweekschool) ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของสวน เป็นพื้นที่ของผู้ใช้งานธนาคารยาวาส์เช (De Javasche Bank) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสวน เป็นพื้นที่นัดพบหนุ่มสาวในช่วงบ่าย เป็นพื้นที่รับประทานอาหารฟังเพลงทั้งออร์เคสตรา เพลงท้องถิ่น และการแสดงดนตรีของทหาร บริเวณศาลา (Gazebo) ในยามค่ำคืน สวนจึงมีชีวิตชีวาตลอดทั้งวัน เป็นทั้งพื้นที่พบปะ พูดคุย เดินเล่นชมสวน ชมเมือง พักผ่อน รับประทานอาหาร ค้าขาย แสดงดนตรี ศิลปะ จนถึงการเดินสวนสนามแสดงความแข็งแกร่งของทหาร เป็นต้น

สะพานข้ามคลอง รอบสวนปีเตอร์ (ค.ศ. 1930-1940)
http://bandoengers.blogspot.com/2010/03/pieterspark.html

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และการประกาศเอกราชของประเทศอินโดนีเซียปี ค.ศ. 1945 สวนมีความเสื่อมโทรมและทรุดโทรมลง เนื่องจากสวนเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของอาณานิคมมาก่อน ประกอบกับวิสัยทัศน์และการพัฒนาของผู้ว่าราชการเมืองคนต่อ ๆ มา ไม่เห็นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะสีเขียว จึงมีการเปลี่ยนชื่อสวนเป็น สวนเมอร์เดกา (Taman Merdeka) ตามชื่อถนนทางทิศตะวันออก เป็นที่อยู่ของคนไร้บ้านและพื้นที่การค้าประเวณี มีบางช่วงเวลาใช้จัดงานเทศกาลประจำปีบางครั้ง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1996 ได้เปลี่ยนชื่อสวนอีกครั้งเป็น สวนเทวี ซาร์ติกา (Taman Dewi Sartika) พร้อมกับการประดับประติมากรรมครึ่งตัวของเทวี ซาร์ติกา ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุคคลสำคัญของชาติ จากการรณรงค์ให้เกิดการศึกษาแก่ชนพื้นเมืองผู้หญิงในช่วงอาณานิคม

ประติมากรรมครึ่งตัวเทวี ซาร์ตีกา

ในทศวรรษที่ 1980 สวนปีเตอร์ได้รวมกับพื้นที่สวนหลังบ้านของอาคารบ้านพักของผู้ดูแลเมือง (ค.ศ. 1906) เป็นพื้นที่สวนศาลาว่าการเมืองบันดุง (Complex of Taman Balai Kota Bandung) พื้นที่สวนหลังบ้านพักของผู้ดูแลเมืองในขณะนั้นเป็นพื้นที่สนามหญ้ามีต้นจามจุรี 2 ต้น และเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ ใช้ทำกิจกรรมทั้งนั่งเล่น พักผ่อน ออกกำลังกาย กิจกรรมทางศิลปะ และสนามซอกเกอร์ (Soccer Field) ในปี ค.ศ. 1950 ได้ต่อเติมอาคารใช้งานเป็นที่ทำการเทศบาลเมืองบันดุงและปรับทางเข้ามายังพื้นที่สวน ทำให้กลายเป็นสวนหน้าอาคารราชการ ในช่วงปี ค.ศ. 1950 – 1980 ได้จัดระเบียบสวนใหม่แบ่งพื้นที่สวน ถนน และลานจอดรถ ปรับพื้นที่หน้าอาคารเป็นลานพลาซ่าขนาดใหญ่ ประดับประติมากรรมต่าง ๆ ได้แก่ ประติมากกรรมแรด ประติมากรรมปลาทอง ตามตำนานท้องถิ่นของอินโดนีเซีย ประติมากรรมนกพิราบคู่ เพื่อบอกเหตุการณ์การปล่อยนกพิราบ 800 ตัวที่สวนแห่งนี้

ปัจจุบันพื้นที่สวนศาลาว่าการเมืองบันดุง (Complex of Taman Balai Kota Bandung) ออกเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ สวนเทวี ซาร์ติกา (Taman Dewi Sartika) สวนบาดัก (Taman Badak) สวนบาไล โกตา (Taman Balai Kota) สวนลาบิริน (Taman Labirin) และสวนเซอยาราห์ (Taman Sejarah)

บริเวณแม่น้ำจีกาปายังด้านข้างพื้นที่สวนที่ออกแบบให้มีการใช้งานเป็นสนามเด็กเล่น (Play Pool) ในแม่น้ำ และออกแบบทางเดินเท้าใหม่

เป้าหมายของการออกแบบพื้นที่สีเขียวในเมืองนั้น เป็นความสำคัญและจำเป็นต่อผู้อยู่อาศัยชาวอาณานิคมและชาวยุโรปที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในเมือง โดยยึดตามแนวคิดและวัฒนธรรมของยุโรปเป็นหลัก การออกแบบสวนในเมืองช่วงอาณานิคมจึงมีลักษณะ 3 ประการ คือ 1) การสร้างสวนควบคู่ไปกับพื้นที่พักอาศัยของชาวอาณานิคมและยุโรป 2) การสร้างสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา และ 3) การสร้างสภาพแวดล้อมของสถานที่ราชการ สวนจึงกระจายตัวอยู่ในบริเวณที่พักอาศัย อาคารราชการ สถานศึกษา บริเวณเมืองบันดุงเหนือที่เป็นส่วนที่พัฒนาขึ้นในช่วงอาณานิคมเป็นส่วนใหญ่ (Margono and Zuraida 2019)

แนวคิดการออกแบบเมืองนั้นได้ยึดความแนวคิดของอุทยานนคร (Garden City) โดยเน้นลักษณะตามบริบทของเมือง นั่นคือ อุทยานนครในเขตเมืองร้อน (Tropische Stad) กล่าวคือ สร้างที่พักอาศัยที่ทันสมัยแบบชาวตะวันตก แต่มีลักษณะการจัดวาง และเลือกใช้พืชพรรณและออกแบบสวนให้มีความเป็นธรรมชาติแบบป่าเมืองร้อน และเชื่อมต่อกันด้วยถนนที่ปลูกต้นไม้ตามแนวถนนทั้งสองข้างทาง โดยเฉพาะถนนหลักของเมือง เช่น ถนนเรียว (Riouwstraat) (ถนนแอล แอล แอร์ เอ มาร์ตาดีนาตา (Jalan L.L.R.E. Martadinata ปัจจุบัน) ถนนวิลเฮลมินา บูเลอร์วาร์ด (Wilhelmina boulevard) (ถนนดีโปเนอโกโร (Jalan Diponegoro)) เป็นต้น

สวนจึงเป็นวัฒนธรรมของยุโรปที่มีอิทธิพลต่อภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย การพัฒนาเมืองรวมถึงสวนจึงเป็นการแสดงความศิวิไลซ์ (Modernization) ในมุมมองของชาวยุโรป แต่สิ่งที่ทำให้สวนยังคงถูกรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ การมีพื้นที่สาธารณะของเมืองที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันของผู้คนในเมือง ชื่นชมความงามของเมือง เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย เป็นพื้นที่พักผ่อนทั้งกายและใจ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่แสดงออกทางศิลปะ การแสดง นิทรรศการ และเทศกาลต่าง ๆ ทำให้ผู้คนในเมืองตระหนัก เห็นความสำคัญ นำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเมืองในทุก ๆ ด้าน

 

เมื่อผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อมทำให้เกิดการคิดและสร้างสรรค์ทั้งงานส่วนตัวและงานส่วนรวม จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เมืองบันดุงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) โดยองค์การสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อปี ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา (UNESCO 2016)

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
“30 September Movement.” 2019. 2019. https://en.wikipedia.org/wiki/30_September_Movement.

Budiman, Hary Ganjar. 2015. “City Park Developments in Bandung in Dutch East Indies Era (1918-1942) (Indonesian).” Patanjala : Jurnal Penelitian Sejarah Dan Budaya 7 (2): 185. https://doi.org/10.30959/patanjala.v7i2.91.

Katam, Surdarsono. 2014. Gemeente Huis (Indonesian). Kiblat.

Kurniawan, Deddy. 2016. “Changes in the Shape and Dimensions of Parks Affect Park Functions and Human Behavior (Case Study: Taman Balai Kota Bandung 1885-2016) (Indonesian).” Universitas Komputer Indonesia.

Margono, Romi Bramantyo, and Siswanti Zuraida. 2019. “Public Space as an Urban Acupuncture: Learning From Bandung, Indonesia.” Journal of Applied Science (Japps) 1 (1): 022–033. https://doi.org/10.36870/japps.v1i1.5.

Miftahul Falah, Agusmanon Yuniadi, and Rina Adyawardhina. 2019. “Green Open Space in Bandung’s Urban Plan from the Late 19th to the Mid 20th Century (Indonesian).Pdf.” Sosiohumaniora – Jurnal Ilmu-Ilmu Sosial Dan Humaniora 21 (2): 130–39. https://doi.org/10.24198/sosiohumaniora.v21i2.21020.

Reitsma, S. A., ed. 1926. Bandoeng The Mountain City of Netherlands India. Batavia (Java): G. Kolff & Co., Weltevreden. http://colonialarchitecture.eu/obj?sq=id%3Auuid%3Ad348537d-5957-4bbf-aec7-b018d8cfb80b.

Roosmalen, P.K.M. van. 2011. “Designing Colonial Cities : The Making of Modern Town Planning in the Dutch East Indies and Indonesia 1905-1950 Confrontation of Administrators with Local Setting for the Making of Modern Town Fi Rst Half of the Twentieth Century .” The Newsletter, no. January 2011: 5–8.

UNESCO. 2016. “10 Things to Know about BANDUNG UNESCO City of Design.” 2016. https://www.designcities.net/wp-content/uploads/2016/01/10-things-Bandung.pdf.

 

Content by Nakrob Saithep
Illustration by Montree Sommut
Share :